โศกนาฏกรรม ในสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

ปัจจุบันนี้ละครย้อนยุคสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายกำลังฮิต ผู้เขียนจึงคันไม้คันมืออยากจะเขียนเล่าประวัติศาสตร์ไทยในช่วง รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงครองราชย์ระหว่าง พ..2223-7 เมษายน พ..2302 เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 31 แห่งอาณาจักรอยุธยา และเป็นพระองค์ที่ 4 ในราชวงศ์บ้านพลูหลวง เรียกกันอย่างสามัญชนว่า ขุนหลวงบรมโกษฐ รัชสมัยของพระองค์ 25 ปี เป็นยุครุ่งเรืองยุคสุดท้ายของกรุงศรีอยุธยาก่อนที่อาณาจักรจะล่มสลาย เป็นยุคที่วรรณกรรม ศิลปกรรม เฟื่องฟูที่สุด นอกจากนี้ ในช่วงที่พระพุทธศาสนาในศรีลังกาเสื่อมลงจาก เมื่อ พระเจ้าราชสิงห์ที่ 1 ขึ้นครองราชย์เมื่อ พ..2124 แต่พระองค์ทรงหันไปนับถือศาสนาฮินดูนิกายไศวะ และทำลายพระพุทธศาสนาด้วยการเผาคัมภีร์และปราบพระสงฆ์จนหมดสิ้น จนกระทั่ง พ..2293 พระเจ้าเกียรติศิริราชสิงหะ กรุงลังกา ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาได้ส่งทูตมาขอให้พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจัดส่งคณะสมณทูตกรุงศรีอยุธยาเดินทางไปยังศรีลังกาประกอบพิธีผูกสีมาแล้วอุปสมบทกุลบุตรชาวลังกา สามเณรสรณังกร ที่อุปสมบทเมื่อคราวนั้นก็ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระสังฆราชแห่งศรีลังกา จึงเกิดคณะสงฆ์อุบาลีวงศ์ (สยามนิกาย) ใช้เวลา 7 ปีเศษในการฟื้นฟูกระทั่งคณะสงฆ์อุบาลีวงศ์กลายเป็นนิกายที่ใหญ่ที่สุดของพระพุทธในศรีลังกาอยู่จวบจนถึงปัจจุบัน

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีพระนามเดิมว่าเจ้าฟ้าพร เสด็จพระราชสมภพเมื่อ พ..2223 ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าเสือ มีพระเชษฐาคือ เจ้าฟ้าเพชร เมื่อพระเจ้าเสือสวรรคต เจ้าฟ้าพรได้รับการสถาปนาเป็นพระมหาอุปราชในรัชสมัยพระเจ้าท้ายสระ (เจ้าฟ้าเพชร) แต่เมื่อพระเจ้าท้ายสระใกล้สวรรคตกลับตัดสินพระทัยยกราชสมบัติให้แก่ เจ้าฟ้านเรนทร พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ แต่เจ้าฟ้านเรนทรไม่รับสืบราชสมบัติเพราะเห็นว่ามีพระมหาอุปราช คือ พระเจ้าอาย่อมมีสิทธิในการสืบราชสมบัติก่อน และเจ้าฟ้านเรนทรจึงไปผนวชเป็นพระภิกษุเสียเลย 

พระเจ้าท้ายสระ จึงยกราชสมบัติให้แก่ เจ้าฟ้าอภัย(พระราชโอรสองค์รอง) เป็นเหตุให้เกิดการต่อสู้แย่งชิงราชบัลลังก์จนกลายเป็นสงครามกลางเมือง กินระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี ในที่สุด พระมหาอุปราช (เจ้าฟ้าพร) จึงได้ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พร้อมสำเร็จโทษเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์ และผู้สมรู้ร่วมคิดเป็นจำนวนมาก จัดเป็นโศกนาฏกรรมครั้งแรก

จากพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาได้เขียนไว้ว่า เจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ (เจ้าฟ้านเรนทร พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ) ซึ่งผนวชอยู่ที่วัดโคกแสงเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศผู้เป็นพระเจ้าอายิ่งนัก ทำให้ กรมขุนเสนาพิทักษ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) พระราชโอรสองค์โตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศระแวงว่า ราชบัลลังก์ที่ควรจะเป็นของพระองค์นั้นอาจคืนกลับไปให้เจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ผู้มีสิทธิในราชบัลลังก์ไม่น้อยกว่าพระองค์ เพราะต่างก็เป็นพระราช โอรสในพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกัน เมื่อพระราชบิดาทรงประชวรและเจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์เสด็จมาทรงเยี่ยม พระองค์จึงตรัสให้พระองค์เจ้าชื่นและพระองค์เจ้าเกิดไปนิมนต์เจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์เข้ามายังพระราชวังหน้า เมื่อเจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์เสด็จมาถึง พระองค์ได้ใช้ดาบฟันเจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ แต่ไม่ทรงได้รับบาดเจ็บเพียงถูกแต่ผ้าจีวรขาดเท่านั้น เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นดังนั้นจึงเกรงพระราชอาญาแล้วจึงเสด็จหนีไปซ่อนตัวที่ตำหนักกรมหลวงอภัยนุชิต พระมารดาของพระองค์

Advertisement

หลังจากนั้น เจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์เสด็จเข้าเฝ้าฯสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และพระองค์ตรัสถามว่า เหตุใดผ้าจีวรจึงขาด เจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ถวายพระพรว่ากรมขุนเสนาพิทักษ์หยอกท่าน

ในครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงพระพิโรธกรมขุนเสนาพิทักษ์มาก มีพระราชดำรัสให้ค้นหาตัวจนทั่วพระราชวัง แต่พบเพียงพระองค์เจ้าชื่นและพระองค์เจ้าเกิดที่สมรู้ร่วมคิดเท่านั้น จึงมีพระราชดำรัสให้นำตัวทั้ง 2 พระองค์ไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์

เมื่อเจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ถวายพระพรลาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแล้ว กรมหลวงอภัยนุชิตได้เสด็จมาอ้อนวอนเจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ให้ช่วยเหลือกรมขุนเสนาพิทักษ์ แล้วกรมหลวงอภัยนุชิตจึงพากรมขุนเสนาพิทักษ์เสด็จออกผนวชทันทีที่วัดโคกแสง มีพระนามฉายาว่าสิริปาโลต่อมากรมหลวงอภัยนุชิตป่วยหนักใกล้จะสิ้นพระชนม์ จึงทูลขออภัยโทษเจ้าฟ้ากุ้งต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศผู้เป็นพระราชสวามี ทำให้เจ้าฟ้ากุ้งรอดอาญาหลวงไปได้ นี่จัดได้ว่าเป็นโศกนาฏกรรมครั้งที่ 2

Advertisement

ภายหลังที่เจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์สิ้นพระชนม์ เจ้าฟ้ากุ้งจึงถูกแต่งตั้งเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลจะได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อจากสมเด็จพระราชบิดาอย่างแน่นอน แต่กลับถูกฟ้องเรื่องเสด็จเข้ามาลอบทำชู้กับเจ้าฟ้าสังวาลย์ ถึงในพระราชวังหลายครั้ง เมื่อนำตัวมาสอบความ กรมพระราชวังบวรฯ ก็รับสารภาพแล้ว จึงมีพระราชดำรัสลงพระราชอาญาเฆี่ยน ให้นาบพระบาทแล้วถอดให้เป็นไพร่เสีย ส่วนเจ้าฟ้าสังวาลย์ให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนองค์ละ 30 ที พร้อมทั้งถอดเป็นไพร่เช่นกัน เจ้าฟ้าสังวาลย์อยู่ได้ 3 วันก็สิ้นพระชนม์ ส่วนเจ้าฟ้ากุ้งต้องรับพระราชอาญาเฆี่ยนและเสด็จสวรรคตลง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงรับสั่งให้นำพระศพทั้งสองไปฝังยังวัดไชยวัฒนาราม นี่จัดเป็นโศกนาฏกรรมครั้งที่ 3

เมื่อตำแหน่งรัชทายาทว่างลง เนื่องจากเจ้าฟ้ากุ้งราชโอรสองค์โตต้องพระราชอาญาถึงสิ้นพระชนม์ เหล่าขุนนางข้าราชการทูลขอให้ทรงสถาปนา เจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิตขึ้นเป็นรัชทายาทแทน แต่เจ้าฟ้าอุทุมพรกลับขอให้สถาปนาพระเชษฐา กรมหลวงอนุรักษ์มนตรี หรือ เจ้าฟ้าเอกทัศน์ ขึ้นเป็นรัชทายาท แต่พระราชบิดาไม่ทรงยินยอม รับสั่งว่า

กรมขุนอนุรักษ์มนตรีนั้นโฉดเขลา หาสติปัญญาและความเพียรมิได้ ถ้าจะให้ดำรงฐานาศักดิ์มหาอุปราชสำเร็จราชการกึ่งหนึ่งนั้น บ้านเมืองก็จะเกิดภัยพิบัติเสียหาย เห็นแต่กรมขุนพรพินิตกอปรด้วยสติปัญญาเฉลียวฉลาดหลักแหลม สมควรจะดำรงเศวตฉัตรครองสมบัติรักษาแผ่นดินสืบไปได้ เหมือนดังคำปรึกษาด้วยท้าวพระยามุขมนตรีทั้งปวง 

จึงมีพระราชโองการให้เจ้าฟ้าเอกทัศน์ออกผนวช และสถาปนาเจ้าฟ้าอุทุมพรขึ้นเป็นมหาอุปราช

ในปี พ..2301 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศประชวรหนัก รับสั่งให้พระราชโอรสที่มีบทบาทสำคัญเข้าเฝ้า ตรัสมอบสมบัติให้เจ้าฟ้าอุทุมพร และให้คนอื่นๆ ถวายสัตย์ยอมเป็นข้าทูลละออง เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคต เหล่าขุนนางข้าราชการก็อัญเชิญเจ้าฟ้าอุทุมพรขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติตามพระบรมราชโองการ แต่เจ้าฟ้าเอกทัศน์กลับเสด็จขึ้นประทับบนพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ ซึ่งเป็นที่ประทับของกษัตริย์ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรเห็นว่าพระเชษฐาอยากครองราชย์เต็มที่ เลยสละราชสมบัติให้หลังจากครองราชย์ได้เพียง 10 วัน แล้วเสด็จออกผนวชที่วัดประดู่

ครับ ! อีกเพียง 9 ปีภายหลังสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคต กรุงศรีอยุธยาก็เสียให้แก่พม่า อันจัดว่าเป็นโศกนาฏกรรมสุดท้ายสืบเนื่องมาจากสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศนั่นเอง

 

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image