ดุลยภาพดุลยพินิจ : อนาคตมหาวิทยาลัยไทย

ดุลยภาพดุลยพินิจ : อนาคตมหาวิทยาลัยไทย

โลกในศตวรรษที่ 21 คือยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงที่หลากหลาย รวดเร็วและรุนแรง ซึ่งส่งผล กระทบทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อม สถาบันอุดมศึกษาก็มิได้มีข้อยกเว้น ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยในอเมริกาปิดตัวไปกว่า 500 แห่ง จาก 4,400 กว่ามหาวิทยาลัย และประเมินว่า อีก 10 ปีถัดจากนี้มหาวิทยาลัยจะปิดตัวครึ่งหนึ่งของที่เหลืออยู่คืออีกประมาณ 2,000 กว่าแห่ง (Christensen 2011)

การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างนี้มีที่มาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 1) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร เนื่องจากเด็กเกิดใหม่ลดลงทุกปี เมื่อ 10 ปีก่อนมีเด็กเกิดใหม่กว่า 1 ล้านคน แต่ในปัจจุบันพบว่ามีเพียงปีละ 500,000 คน และคาดการณ์ไว้ว่าในอนาคตจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ในอีก 10 ปีข้างหน้า ประชากรไทยในวัยอุดมศึกษาจะลดลงถึง 1 ล้านคน ในขณะที่ประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 2) การเปลี่ยนแปลงไปของพฤติกรรมและทัศนคติของนักศึกษาหรือคนรุ่นใหม่ ที่ค้นพบว่าความรู้ไม่ได้มีแค่ในห้องเรียน มีพฤติกรรมในการหาความรู้ที่เฉพาะเจาะจงตามที่ต้องการอย่างไม่ต่อเนื่อง และหลากหลายอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งยังมองว่าประสบการณ์จริงนั้นสำคัญกว่าการเรียนในห้องเรียน และ 3) การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่มีความทันสมัย โดยเฉพาะการเรียนผ่านช่องทางออนไลน์ ส่งผลให้การแข่งขันระหว่างมหาวิทยาลัย ไม่ได้มีเฉพาะแค่ภายในประเทศ แต่ยังรวมไปถึงมหาวิทยาลัยจากทั่วโลกที่ผู้เรียนสามารถเรียนผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา นอกจากนี้ นักศึกษาเริ่มใช้ Generative AI แล้วแต่อาจารย์ยังตามไม่ทัน มหาวิทยาลัยไทยจึงจำเป็นต้องปฏิวัติตนเองให้ทันจนสามารถตอบสนองความต้องการนี้ได้

การที่มหาวิทยาลัยจะปฏิวัติตนเองได้นั้นต้องเริ่มต้นจากการคิดนอกกรอบ (think outside the box) ก่อนที่จะถูกบริษัทเอกชนเข้ามาแย่งภารกิจเป็นส่วนๆ เช่น ธุรกิจการเงินที่ได้ถูกแย่งและแยกบริการด้านการเงิน (financial services) เป็นบริการย่อยๆ แยกออกจากกัน เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการใช้บริการที่แตกต่างกัน ธุรกิจการสื่อสารมวลชน ที่ปัจจุบันเห็นได้ชัดเจนถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการนำเสนอข้อมูล (content) ผ่านสื่อช่องทางต่างๆ ซึ่งมีความหลากหลายมากขึ้น เป็นต้น ซึ่งในอนาคตมหาวิทยาลัยอาจเกิดการปฏิวัติได้ทั้งจากตัวมหาวิทยาลัยเอง หรือจากธุรกิจอื่นที่มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ความต้องการของสังคมได้ดีกว่า ซึ่งอาจเป็นการเปลี่ยนบริการของมหาวิทยาลัยเป็น modules online, value research หรือบริการสังคม แผนงานคนไทย 4.0 ได้จัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกันเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงระยะยาวโดยวิธีการคาดการณ์อนาคต (strategic foresight) จากการศึกษาพบว่าปัจจัยขับเคลื่อนที่มีความไม่แน่นอนสูง แต่มีผลกระทบมากต่ออนาคตของมหาวิทยาลัยมีอยู่ประมาณ 3 ประเด็นหลักคือ

Advertisement

1) ที่มาของแหล่งรายได้ ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่อาศัยรายได้จากรัฐ แต่เมื่อจำนวนนักศึกษาลดลงเงินอุดหนุนจากรัฐก็ลดลงด้วย เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยต้องตัดสินใจว่าจะแปลงโฉมมหาวิทยาลัยให้ปฏิบัติการเช่นเดียวกับองค์กรเอกชนที่แสวงหากำไร จะพึ่งพางบประมาณของรัฐส่วนใหญ่ หรือจะเป็นส่วนผสมของทั้งสองกลยุทธ์ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

2) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน หากพิจารณาเป็นสองขั้ว มหาวิทยาลัยมีทางเลือกที่จะเป็นมหาวิทยาลัยกายภาพเฉกเช่นปัจจุบัน หรือเป็นมหาวิทยาลัยเสมือนคือมีการสอนออนไลน์เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วมหาวิทยาลัยก็มักจะเลือกที่จะเป็นลูกผสม ปัจจุบันนี้ มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ลงทุนในอาคารและอุปกรณ์การเรียน การสอน แต่ในอนาคตการลงทุนจะต้องไปในด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น การเลือกการลงทุนจะมีผลต่อการจัดการเรียนการสอนว่าจะเป็นการเรียนเชิงกายภาพแบบเดิม หรือจะเป็นการสอนออนไลน์มากขึ้น หรือจะผสมผสานกันอย่างไร

3) ปฏิสัมพันธ์กับประเทศจีน ในปัจจุบันประเทศจีนมีความสำคัญต่อประเทศไทยทั้งในด้านการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยว อีกทั้งยังพึ่งพานักศึกษาจีนให้มาทดแทนนักศึกษาไทยที่ลดลง และอัตราการพึ่งพานี้น่าจะสูงขึ้นในอนาคต รวมทั้งอาจต้องปรับการเรียนการสอนที่ใช้ภาษาและเทคโนโลยีดิจิทัลของจีนมากขึ้น

Advertisement

สำหรับการเรียนรู้ตลอดช่วงวัยจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่ชัดเจนและมีความแน่นอนจึงไม่ใช่ปัจจัยที่จะนำมาใช้เพื่อสร้างฉากทัศน์ในอนาคต แต่สามารถนำมาใช้เป็นปัจจัยสร้างแผนระยะสั้นได้ในปัจจุบัน

ทางเลือกฉากทัศน์ของมหาวิทยาลัยไทยน่าจะเป็นทางเลือกที่เป็นลูกผสมระหว่างมหาวิทยาลัยเสมือนกับมหาวิทยาลัยกายภาพ คือ จัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์และจัดการเรียนการสอนที่จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กับอาจารย์ผู้สอน เช่น ฉากทัศน์มหาวิทยาลัยแบบ Alibaba ที่เป็นธุรกิจออนไลน์เต็มตัว แบบ Cordon Bleu United เป็นที่รวมให้ความรู้เฉพาะทาง (niche market) หรือแบบที่เน้นเครือข่ายทางสังคมออนไลน์ เช่น WeChat Uni เป็นต้น

เทคโนโลยีในอนาคตจะช่วยให้นานาประเทศไร้พรมแดนมากยิ่งขึ้น แต่ทรัพยากรจะมีจำกัดมากขึ้น ดังนั้น มหาวิทยาลัยไทยควรที่จะสร้างแพลตฟอร์มกลางที่สามารถแบ่งปัน (open-source) และใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ (sharing system) สำหรับทุกคน และสืบเนื่องจากทรัพยากรที่จะมีจำกัดมากขึ้น การรับรู้และส่งต่อข้อมูลข่าวสารจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การเรียนผ่าน YouTube เป็นต้น คำถามคือ มหาวิทยาลัยจะสามารถทลายและหยุดการสร้างพรมแดน ไม่ว่าจะเป็นพรมแดนระหว่างคณะในมหาวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยกับหน่วยงานภายนอกเองก็ตาม

อีกทั้งมหาวิทยาลัยอาจต้องเร่งรัดการนำแนวคิดแบบ digital-first มาใช้ ครอบคลุมระบบการทำงานทั้งหมด เช่น การลงทะเบียน การเงินการคลัง และประมวลผลสอบ วิธีการใช้ประโยชน์จากข้อมูลดิจิทัล ฯลฯ ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญมาก ไม่ว่าในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เทคโนโลยีดิจิทัลจะต้องเป็นเสาหลักของวิธีในการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย เพราะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะให้คุณค่ากับมหาวิทยาลัยที่สามารถใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีได้อย่างคุ้มค่า

การจะพัฒนาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มที่จะค้นหาว่าอะไรที่ควร “เลิก” และ “เริ่ม” หากมองในมุมของนักเศรษฐศาสตร์ การจัดสรรทรัพยากร (resource reallocation) จะเกิดได้ต้องเริ่มต้นด้วยแรงจูงใจของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่ส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ถ้าโครงสร้างแรงจูงใจ (incentive structure) ไม่ได้รับการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อาจารย์ในมหาวิทยาลัยก็จะยังคงมีความปัจเจกสูง มหาวิทยาลัยก็จะอยู่กับที่ ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง แล้วมหาวิทยาลัยไทยก็จะถูกจารึกไว้ว่าเป็นสิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image