แฟลชสปีช : พลัง ‘โครงสร้างอำนาจ’

แฟลชสปีช : พลัง ‘โครงสร้างอำนาจ’

ความสำเร็จแล้วของรัฐบาลคือการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้ามาเหลือแค่ 20 บาทตลอดสายในบางสาย และการลดค่าสาธารณูปโภคบางอย่าง

เป็นของขวัญให้ประชาชน และเป็นความหวังของรัฐบาลผสมชุดใหม่ที่ถูกท้าทายตั้งแต่เริ่มต้น ว่าจะสร้างผลงานต่างจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้หรือไม่ ให้มีความหวังและกำลังใจขึ้นมา

ความแตกต่างที่ชัดเจนคือการทำงานของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ที่ยืนหยัดทำตามที่ประกาศไว้ว่า “จะทำแบบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย” ซึ่งแม้เทียบจากคำพูดจะไม่ต่างจากที่อดีตนายกรัฐมนตรี พยายามพร่ำบอกประชาชนตลอดเวลาถึงความทุ่มเทของตัวเองต่อภารกิจผู้นำประเทศ แต่หากลงไปในรายละเอียดของวิธีคิด วิธีทำในการสร้างผลงาน กลับมองเห็นความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

Advertisement

ความเอาจริงเอาจังของ “ท่านนายกฯเศรษฐา” จะทำให้มีผลงานในลักษณะนี้ทยอยออกมาให้เห็นได้เรื่อยๆ เพื่อให้ประชาชนชื่นชอบ และเป็นความหวังกำลังใจให้ทีมงาน

กระนั้นก็ตามเมื่อเวลาผ่านไป นโยบายใหญ่ๆ ที่ประกาศไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งจะต้องถูกเรียกร้องหยิบมาเป็นวาระให้จัดการให้เกิดขึ้น ซึ่งในหลายนโยบายไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้ภายใต้แนวคิด “ยืนอยู่กับความเป็นจริง” ที่ “พรรคเพื่อไทย” ใช้เป็นธงนำกับการเริ่มต้นกลับมาบริหารประเทศ

ที่เห็นชัดคือ 2 นโยบายที่เริ่มขับเคลื่อนให้ออกมาเป็นผลงานรูปธรรมแล้ว อย่าง “การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ให้ประชาชนคนละ 10,000 บาท” และ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ”

Advertisement

ยิ่งนับวันยิ่งเห็นได้ว่าไม่ง่ายเลยที่จะทำให้เกิดขึ้นตามความตั้งใจดีของพรรคเพื่อไทย

และยิ่งนับวันจะยิ่งรู้ว่าอุปสรรคใหญ่คือ “โครงสร้างอำนาจของประเทศ” ที่ถูกออกแบบไว้ไม่เอื้อต่อความเปลี่ยนแปลงที่ให้อำนาจประชาชนเป็นผู้ตัดสิน

ความ “มั่งคั่ง มั่นคง ยังยืน” ของประชาชนมีความสำคัญที่จะต้องสร้างขึ้น น้อยกว่าการรักษาไว้ และส่งเสริมให้ “กลุ่มอภิสิทธิ์ชน และทุนผูกขาด”

แน่นอนว่าเมื่อพรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็นแกนนำรัฐบาล แนวทางการนำพาประเทศคือการพลิกโอกาสการสร้างความรุ่งเรื่องให้ชีวิตและการทำมาหากินของประชาชนเป็นความมุ่งมั่น

ภาพของความตั้งใจที่จะสร้าง “ซอฟต์เพาเวอร์” เพื่อเปิดโอกาสให้ “ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้ในวิถีชีวิตคนไทย” ไม่ถูกกดข่มด้วยค่านิยมเก่าๆ ที่ด้อยค่าความแปลกใหม่ และพยายามส่งเสริม “ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง” ให้เกิดขึ้น อยู่ได้ และพัฒนาต่อไปอย่างหลากหลาย เพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้าด้วยคนตัวเล็ก ตัวน้อย

เพื่อทำความคิดให้เป็นจริงในแนวทางเช่นนั้นได้ โจทย์ใหญ่ของพรรคเพื่อไทยคือ “ต้องกล้าหาญพอจะตัดโครงสร้างการทำธุรกิจให้เหมาะสม”

ที่ต้องเริ่มก่อนคือการสร้างแนวความคิดที่ว่า “ทุนใหญ่ต้องมุ่งเข็มไปลงทุนในธุรกิจที่แข็งขันกับทุนต่างประเทศได้ ทุนใหญ่ต้องกรุยทางให้ธุรกิจของประเทศเติบโตในตลาดใหญ่ของโลก ไม่ใช่ทุนยิ่งใหญ่ยิ่งหาทางกดข่ม แข่งขัน แย่งชิงการยึดครอง ผูกขาดตลาด ทำลายธุรกิจรายเล็กรายน้อยอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน”

ถ้ายังเริ่มทำแนวคิดนี้ให้เป็นที่ยอมรับของ “ทุนใหญ่ทั้งหลายไม่ได้” แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ธุรกิจรายย่อยจะผลิหน่อ และเติบโตได้ในโครงสร้างอำนาจทางธุรกิจที่ไม่เห็นโทษภัยของการขยายความเหลื่อมล้ำเช่นนี้

คล้ายกับว่าความสำเร็จในการทำรายได้ของ “หนังสัปเหร่อ” จะเป็นประกายความฝันว่า “ซอฟต์เพาเวอร์” ที่รัฐบาลจะทุ่มเทส่งเสริมสามารถเกิดขึ้นในประเทศได้จริง

แต่หากมองให้ลึกลงไปจะเห็นว่า “ธุรกิจหนัง” และ “ธุรกิจเพลง” ในปัจจุบันที่เหมือนคนตัวเล็กตัวน้อยมีโอกาสประสบความสำเร็จนั้น โดยแท้จริงแล้ว “การผูกขาดของธุรกิจนี้ถูกทำลายด้วยความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทำให้คนตัวเล็กตัวน้อยเข้าถึงตลาดได้อย่างเสรี ทำให้ตลาดพ้นจากการถูกครอบโดยทุนใหญ่ที่ผูกขาดเหมือนก่อนหน้านั้น”

เป็นแค่โอกาสเกิดและเติบโตได้ตามความเปลี่ยนแปลงของโลก

ซึ่งจะดี และทำให้ความหวังของคนที่คิดสร้างสรรค์โอกาสเป็นจริงได้ หากรัฐบาลจะส่งเสริมให้ทุนใหญ่ไปแข่งขันเพื่อสร้างแบรนด์ของชาติในตลาดโลก เหมือนประเทศอื่นๆ เขาทำกัน เลิกที่จะมาทำลายความฝันของคนตัวเล็กตัวน้อย ด้วยการแย่งผลิตสินค้าที่มีแนวโน้มที่ดีในตลาดภายในประเทศ เหมือนที่เป็นอยู่

ใช้อำนาจรัฐเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง แทนที่จะรอตามยถากรรมให้ความเปลี่ยนแปลงของโลกนำพา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image