ประชามติ รับไม่รับ ร่าง รธน. โดย วีรพงษ์ รามางกูร

กลายเป็นประเพณีปฏิบัติไปแล้วว่าก่อนที่จะมีประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร จะต้องนำร่างรัฐธรรมนูญไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ ว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์สองประการด้วยกัน

เมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติแล้วก็สามารถอ้างความชอบธรรมได้ รัฐธรรมนูญที่กำลังจะประกาศใช้นี้เป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบของประชาชนแล้ว คนไทยหรือต่างชาติจะมากล่าวโจมตีว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากคณะปฏิวัติรัฐประหารได้ไม่ถนัด เพราะผ่านประชามติ ได้รับการยอมรับของประชาชน แม้มิได้ร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งขึ้นมาเช่นรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540

ขณะเดียวกัน เมื่อสามารถกล่าวอ้างได้ว่าเนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับที่จะประกาศใช้นี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากประชาชนมาแล้ว จึงควรจะเป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ไขยาก และการแก้ไขจะต้องผ่านประชามติเช่นเดียวกัน

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ร่างแล้วทำท่าจะไม่ผ่าน สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. จึงใช้อำนาจคว่ำร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ พร้อมกับยุบสภาปฏิรูปไปพร้อมกันเสียเลย แล้วตั้งกรรมการร่าง รธน.ชุดใหม่ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่

Advertisement

มีผู้คนวิพากษ์วิจารณ์กันมาก ทั้งในวงวิชาการทางรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ พยายามค้นหาเจตนารมณ์ของคณะปฏิรูปแห่งชาติซึ่งยังกุมอำนาจรัฐอยู่ว่ามีเจตนาอย่างไร จึงมีข่าวว่าจะไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก

หลายคนคิดว่าเบื้องต้นคณะรัฐประหารไม่ต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน เพื่อจะได้ยืดเวลาของการอยู่ในอำนาจของรัฐบาลให้ยืดยาวต่อไป การคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก ฉบับ ดร.บวรศักดิ์ จึงน่าจะมีมูลเหตุมาจากเจตนารมณ์ดังกล่าว เป็นเหตุให้เกิดความไม่พอใจของประธานกรรมาธิการ จนมีการตั้งกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่

ในเบื้องต้นก็คงจะมีเจตนาไม่ให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ แม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติ จึงได้บัญญัติไว้ว่าต้องผ่านประชามติเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง ไม่ใช่กึ่งหนึ่งของผู้มาลงคะแนนเสียงประชามติ กล่าวคือ ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงมีอยู่ประมาณ 44 ล้านคน ต้องได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงมากกว่า 22 ล้านเสียง ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ คงไม่ใช่ความเผอเรอของผู้ร่างที่ร่างออกมาเช่นนั้น

Advertisement

ต่อมาคงจะเห็นแล้วว่า “ปัญหาเศรษฐกิจ” เป็นปัญหาที่หนักหนาสาหัสมาก เนื่องจากมูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการลดลงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน กล่าวคือมูลค่าการส่งออกในปี 2558 ลดลงกว่าร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับปี 2557 มูลค่าการส่งออกปกติจะเพิ่มขึ้นทุกปี มากบ้างน้อยบ้าง และเนื่องจากการส่งออกมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 60 ถึง 70 ของจีดีพี สุดแท้ว่าจะเป็นปีที่การส่งออกรุ่งเรืองหรือซบเซา เมื่อมูลค่าการส่งออกหดตัวรายได้ประชาชาติก็จะชะลอตัวลง คาดกันว่ารายได้ประชาชาติคงขยายตัวไม่เกินร้อยละ 2.5 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำมาก บางสำนักพยากรณ์ว่าอาจจะต่ำกว่าร้อยละ 2 ด้วยซ้ำไป

การที่ภาวะเศรษฐกิจอยู่ในภาวะย่ำแย่เช่นนี้ น่าจะมีผลต่อการตัดสินใจของคณะรัฐประหารว่าควรจะอยู่ในอำนาจต่อไปจนเศรษฐกิจพังไปในมือ หรือควรจะมีการเลือกตั้ง ให้รัฐบาลที่จะจัดตั้งขึ้นหลังจากการเลือกตั้งรับภาระนี้ไป

นอกจากนั้นก็มีข่าวกระเส็นกระสายออกมาว่า หากร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างโดย คสช.ไม่ผ่านประชามติ คณะ คสช.ก็ต้องยอมรับผิดชอบ ความชอบธรรมในการที่จะบริหารประเทศก็จะหมดไปทันที เสียงเรียกร้องให้”ลาออก” ก็จะเริ่มกระหึ่มขึ้นเพราะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ เมื่อไม่ผ่านประชามติก็เป็นการยืนยันว่ารัฐบาลและ คสช.ต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อประชาชน เมื่อสิ่งที่ตนเสนอไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน เช่นเดียวกับร่างพระราชบัญญัติสำคัญที่ไม่ผ่านมติของสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลก็ต้องลาออกไป

หากกระแสดังกล่าวเกิดขึ้น รัฐบาลรวมทั้ง คสช.คงจะอยู่ในฐานะลำบาก เพราะจะอธิบายไม่ได้หรืออ้างไม่ได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ผ่านประชามตินั้นไม่ได้เสนอโดยรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี ด้วยเหตุนี้ร่างรัฐธรรมนูญต้องผ่านให้ได้

ความพยายามดังกล่าวจะเห็นได้จากการจะแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรสามารถผ่านได้ด้วยเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้ที่มาใช้สิทธิออกเสียง ประการหนึ่ง การให้ทหารก็ดี นักเรียนก็ดี ลงไปในหมู่บ้านเพื่อไปอธิบายข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นอกจากนั้นก็ยังมีรายการวิทยุและโทรทัศน์พยายามโน้มน้าวให้ผู้คนออกมาลงคะแนนเสียงผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

นอกจากนั้นประธานคณะกรรมาธิการยังออกมาขู่ประชาชนและนักการเมืองว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่าน รัฐธรรมนูญฉบับต่อไปจะ “หนัก” กว่านี้ พูดกันถึงว่าถ้าแพ้ชนะกันเพียงล้านเสียงก็จะหยิบเอาร่างฉบับนี้มาแก้ไขแล้วประกาศใช้เลย ส่วนที่แก้ไขอาจจะ “หนัก” กว่าเก่าก็ได้ตามที่ได้เตือนไว้แล้ว พวกเราประชาชนต้องคอยรับความเมตตาจากผู้ร่างรัฐธรรมนูญว่าจะให้น้อยหรือมากเพียงใด จะหนักหรือเบาเพียงใด

ร่างรัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไรก็ได้ สุดแท้แต่กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญจะมีความกรุณา เพราะไม่มีความกดดันจากประชาชนและสื่อมวลชน ไม่มีการแสดงออกทางความคิดความเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน ถ้าจะมีก็มีมาจากกลุ่มคนเล็กๆ ที่สนับสนุนการปฏิวัติรัฐประหาร กลุ่มที่ปฏิเสธระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย เพราะกลัวกลุ่มนักการเมืองเก่าจะได้รับเลือกจากประชาชนให้เป็นรัฐบาลอีก

เมื่อไม่มีความกดดันจากประชาชนและสื่อมวลชน การจะหยิบยื่นอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก็คงเป็นไปได้ยาก

แต่สถานการณ์อาจจะเปลี่ยนไป หากภาวะเศรษฐกิจยังคงเป็นเศรษฐกิจขาลง ราคาสินค้าเกษตรทุกตัวตกต่ำ อุตสาหกรรมลดกำลังการผลิตลง คนงานถูกปลดออก คนมีการศึกษาไม่มีงานทำ บัณฑิตว่างงาน ความคิดอ่านของประชาชนและสื่อมวลชนจะเปลี่ยนไป จะกลับมาเรียกร้องเอากับรัฐบาล เรียกร้องสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจการเมืองและสังคมมากยิ่งขึ้น

ขณะนี้ทางกองทัพคงจะพอทราบแล้วว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะสามารถผ่านประชามติหรือไม่ เพราะการข่าวของกองทัพนั้นมีการจัดตั้งที่มีประสิทธิภาพ ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งไม่ว่าเป็นการเลือกตั้งทั่วไปหรือเลือกตั้งท้องถิ่น ข่าวกรองของทหารจะบอกได้ว่าผู้ใดจะได้รับการเลือกตั้ง แพ้ชนะด้วยคะแนนเสียงเท่าใด มีผู้มาลงคะแนนเสียงจำนวนเท่าใดนั้น มีความละเอียดและแม่นยำกว่าการสำรวจของสำนักใดๆ ทั้งหมด

การที่กองทัพเร่งออกมาทำการบ้าน ทั้งการโฆษณาประชาสัมพันธ์ การลงพื้นที่ถึงหมู่บ้านอย่างที่เห็นนี้ ก็น่าจะพอประมาณได้ว่าข่าวกรองที่กองทัพได้รับนั้นเป็นอย่างไร

การลงประชามติซึ่งจะจัดทำขึ้นในวันที่ 31 กรกฎาคมนั้น ถ้าหากร่างรัฐธรรมนูญผ่านด้วยเสียงข้างมากจากผู้มาลงคะแนนเสียงประชามติ ปัญหาเบื้องต้นก็คงจะหมดไป การจัดการกับพรรคการเมืองน้อยใหญ่ก็คงจะเกิดขึ้น หน้าตาของการเมืองไทยก็คงจะเปลี่ยนไป ส่วนจะดำรงคงอยู่ได้นานกี่ปีก็คงต้องดูกันต่อไป

แต่ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ปัญหาหลายอย่างก็คงจะเกิดขึ้น ประการแรกก็คือจะมีการทวงถามว่า ผู้ใดจะเป็นผู้รับผิดชอบในการเสนอรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน ผู้เสนอจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร หรือไม่ต้องรับผิดชอบแต่อย่างไร เพียงแต่หยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งรวมทั้งร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ผ่านประชามติมาปัดฝุ่นแก้ไขเล็กน้อยแล้วประกาศใช้เลย การกระทำเช่นนั้นจะเป็นที่ยอมรับของประชาชนหรือไม่ ก็เป็นประเด็นความเสี่ยงทางการเมืองอยู่มาก การรณรงค์ว่า “รับไปก่อนแล้วแก้ทีหลัง” อย่างเมื่อครั้งมีประชามติรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญปี 2550 คงจะใช้ไม่ได้เสียแล้วกับการจะออกเสียงประชามติในวันที่ 31 กรกฎาคม 2559

แต่อย่างไรก็ตาม คนไทยนั้นมักจะตัดสินใจด้วยอารมณ์ ความรู้สึกรัก โลภ โกรธ หลง มากกว่าการใช้เหตุผลไตร่ตรอง ดังนั้นถ้า คสช.ใช้กลไกทหารร่วมกับ กปปส. ร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ออกรณรงค์ให้รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โอกาสที่ประชาชนจะมาลงคะแนนเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็คงจะมีสูง ไม่ใช่จะเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าไม่สร้างกระแสให้รับร่างรัฐธรรมนูญเสียแต่บัดนี้ โอกาสที่จะเกิดกระแสต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญก็จะพัฒนาได้สูงขึ้น

ถ้ารัฐบาลแพ้ประชามติ สถานการณ์การเมือง ความชอบธรรมและเสถียรภาพของรัฐบาลก็จะเสียไปทันที การเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบก็จะพัฒนาสูงขึ้นทันที เรื่องนี้รัฐบาลอาจจะไม่ได้คิดมาก่อน การจัดให้มีการลงประชามติเขาจึงไม่ทำกันอย่างพร่ำเพรื่อ แต่จะทำเฉพาะเรื่องสำคัญๆ แต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็เป็นเรื่องสำคัญ

ประชามติรับหรือไม่รับ จึงเป็นเรื่องสำคัญต่อรัฐบาลและ คสช.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image