คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ถ้าไหนๆ จะ ‘ล้อมคอก’ เมื่อวัวหายแล้ว…

 เมื่อราวกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้มีข่าวน่าสลด ที่นักเรียนหญิง ม.6 คนหนึ่งตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลงเนื่องจากความเครียดและเสียใจที่ถูกฉ้อโกงจากการสั่งซื้อโทรศัพท์สมาร์ทโฟนจากร้านค้าออนไลน์บน Facebook 

แม้ว่าในที่สุดจนถึงขณะนี้ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะสามารถจับเครือข่ายฉ้อโกงรายนี้ได้แล้วราว 4-5 คน ซึ่งเป็นคนที่รับจ้างเปิดบัญชีม้าและคนที่ไปกดเงิน แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าสามารถสาวไปถึงตัวการใหญ่หรือเจ้าของร้านนี้ได้หรือไม่ แต่เรื่องที่น่าเศร้าเพิ่มเติมที่ได้พบจากการค้นหาความคืบหน้าของคดีนี้ คือ ก่อนหน้านี้ มีเด็กวัยรุ่นอีกหลายรายที่ถูกหลอกลวงในลักษณะนี้อีกหลายคดี ที่ถึงกับเสียชีวิตไปก็มี 

ล่าสุดก่อนหน้า เดือนมกราคมปีนี้ นักเรียนชายอายุ 15 ปี นักเรียนชั้น ม.3 จาก จ.นนทบุรี ถูกเพจใน Facebook หลอกให้ลงเงินไปลงทุนโดยให้โอนเงิน จนตัดสินใจฆ่าตัวตายเช่นเดียวกับกรณีนักเรียนหญิงข้างต้น หรือเมื่อสองปีที่แล้ว ในเดือนกันยายน 2564 นักเรียนชายอายุ 14 ปีนักเรียนชั้น ม.2 ถูกหลอกขายโทรศัพท์สมาร์ทโฟนลักษณะเดียวกัน จนเครียดและเสียชีวิตเนื่องจากเส้นเลือดในสมองแตก

นอกจากนี้ ก็มีอีกหลายกรณีที่มีการแจ้งความดำเนินคดีหรือร้องเรียน แต่คดีเหล่านั้นก็ยังไม่ปรากฏผลคดีให้ติดตามต่อ

Advertisement

ทั้งหมดนี้ชี้ให้เราเห็นว่า ปัญหาเรื่องนี้มีมานานแล้วอย่างเรื้อรัง แม้รัฐจะพยายามมีมาตรการหลายอย่างที่อาจจะมองว่าเป็นการป้องกันแล้ว อย่างน้อยคือมีการตราพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ..2566 เพื่อเอาผิดผู้ยินยอมเปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝากและบรรดาบัตรและบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ (บัญชีม้า) หรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้หรือยืมใช้เลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (เบอร์ม้า) ในการก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ รวมถึงกำหนดโทษสำหรับผู้ที่เป็นธุระจัดหา โฆษณา เพื่อให้มีการนำบัญชีม้าหรือเบอร์ม้าไปให้ผู้อื่นใช้ได้โดยทุจริต ต้องมีโทษอาญาหนักเบาตามแต่พฤติการณ์ รวมถึงมาตรการที่กำหนดให้ผู้เสียหายสามารถติดต่อกับธนาคารเพื่อขอให้ระงับธุรกรรมที่น่าจะเป็นการหลอกลวงได้ภายใน 24 ชั่วโมง

แต่ทั้งหมดนั้นก็เป็นมาตรการภายหลังจากที่ความเสียหายเกิดขึ้น โดยมีผู้ถูกหลอกลวงและมีการโอนเงินเข้าให้แล้ว ซึ่งแม้อาจจะบรรเทาความเสียหายบ้าง และอาจจะพอดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องได้ แต่ก็เป็นการดำเนินการกับปลายทางและกลางทางเท่าที่จะมีหลักฐานชี้ไปหรือสาวถึงได้ แต่ว่าต้นทางนั้นก็ยังลอยนวลอยู่

แล้วต้นเหตุของเรื่องนี้คืออะไร 

Advertisement

ตามข้อเท็จจริงจากแต่ละกรณี การหลอกลวงนี้ หากไม่นับกรณีของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนใหญ่จะเป็นการถูกหลอกลวงผ่านทางแพลตฟอร์ม Facebook ที่ดำเนินการโดยบริษัท META 

รูปแบบการหลอกลวงผ่านช่องทาง Facebook ที่พบเจอกันบ่อยๆ นอกจากการตั้งร้านค้าออนไลน์ปลอมที่หลอกกันดื้อๆ คือให้โอนเงินแล้วไม่ส่งของให้แล้วยังหลอกล่อให้โอนเงินกลับมาเพื่อให้ได้เงินคืน เช่นกรณีที่เด็กนักเรียนหญิงตามข่าวตกเป็นเหยื่อแล้ว ก็ยังมีอีกหลายรูปแบบ เช่น การปลอมแปลงเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงทางด้านธุรกิจของประเทศไทย หรือปลอมเป็นองค์กรธุรกิจยักษ์ใหญ่ โดยอ้างว่ากำลังระดมทุนและสัญญาว่าจะให้ผลตอบแทนล่อใจ กรณีนี้ยังรวมถึงการสร้างเพจปลอมเป็นชื่อนักลงทุนผู้มีชื่อเสียง หลอกล่อให้ผู้ที่หลงเชื่อเข้าไปติดตามในกลุ่ม LINE เพื่อหลอกให้โอนเงินหรือให้คลิกลิงก์ดูดเงินจากธนาคารได้

การหลอกลวงของมิจฉาชีพนั้นบางครั้งก็มีเป้าหมายเป็นเจ้าของเพจต่างๆ ใน Facebook โดยหลอกให้คลิกลิงก์ปลอมเพื่อขโมย Login และ Password ที่จะทำให้สามารถยึดเพจไปใช้ในทางทุจริตได้ หรือล่าสุดที่มีการเตือนภัยกันในหมู่ผู้ขายของออนไลน์ตัวจริง ที่ถูกมิจฉาชีพติดต่อมาว่าจะขอรับสินค้าไปขาย แต่ขอให้ไปกรอกรายละเอียดในลิงก์ที่ส่งมา ซึ่งโชคดีว่าผู้ที่ได้รับข้อความนึกเอะใจสงสัยเพราะข้อมูลที่ต้องกรอกนั้นมีทั้งเลขบัญชีและรหัสบัญชีอื่นๆ ที่น่าสงสัย

นอกจากนี้ ก็มีการหลอกลวงในรูปแบบของการหลอกลวงขายสินค้าไม่มีคุณภาพ แต่ปลอมเป็นสินค้า Gadget หรือเครื่องเสียง ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยม โดยเพจพวกนี้จะมีวิธีการหลอกขายเช่นไปต่อคิวที่ห้างสรรพสินค้าชื่อดัง เพื่อรอคิวซื้อของยี่ห้อ XXX แต่รู้สึกโง่มาก เพราะมารู้ว่าขายออนไลน์ในราคา 999 บาทเท่านั้นหรือไม่ก็โพสต์ลักษณะที่ว่า บริษัทผู้ผลิตสินค้าดังกล่าวจะเลิกกิจการในประเทศไทยจึงขายล้างสต๊อก จึงนำมาขายในราคาพิเศษ ฯลฯ ซึ่งเมื่อมีผู้หลงเชื่อซื้อ ถ้าไม่ได้สินค้าไปเลย ก็จะได้สินค้าปลอมคุณภาพต่ำไปเป็นขยะที่บ้าน

ล่าสุดที่ได้พบ คือการปลอมเป็นเพจอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการฉ้อโกงออนไลน์ ขอให้ผู้ตกเป็นเหยื่อติดต่อแจ้งข้อมูลโดยคลิกที่ลิงก์ต่อไปนี้ ด้วยการใช้ถ้อยคำที่เห็นมาตั้งแต่ไกลก็รู้ว่าปลอม คือทั้งรูปเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของไทย แถมชื่อหน่วยงานอย่างสภาทนายความก็เป็นสหภาพทนาย

ผลร้ายจากการปล่อยปละให้มีเพจปลอมและมิจฉาชีพเกลื่อนในระบบ รวมถึงสามารถยิงโฆษณาไปยังผู้ใช้งานได้เป็นวงกว้าง ที่ถ้าเพียงหาเหยื่อได้สัก 10 คน ใน 10,000 คนที่อัดโฆษณาไปแล้วก็ยังกำไรอยู่ นอกจากจะส่งผลร้ายต่อผู้ที่ถูกหลอกลวงเป็นรายบุคคลแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อผู้ค้าออนไลน์ที่ค้าขายบนช่องทางที่ถูกต้องหรือสุจริตด้วย 

บางรายถูกแอบอ้างชื่อร้าน หรือขโมยรูปของร้านไปใช้แอบอ้างหลอกลวง เช่นกรณีของร้านโทรศัพท์ที่ถูกนำภาพไปแอบอ้างในกรณีของนักเรียนหญิง ม.6 แต่นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการซื้อของออนไลน์ที่ทำตลาดโดยถูกต้องผ่านทางแพลตฟอร์มนี้ด้วย เพราะบางคนหลังจากถูกหลอกลวงจากการซื้อสินค้าไม่มีคุณภาพจากเพจปลอมหรือพวกมิจฉาชีพเหล่านี้แล้ว พาให้ไม่กล้าซื้อผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่โฆษณาหรือทำตลาดทาง Facebook ไปเลย ทั้งๆ ที่เป็นของดีมีคุณภาพ แต่ขายถูกได้เพราะลดต้นทุนหน้าร้านและเน้นการทำตลาดออนไลน์ ก็ถูกเหมาว่าเป็นมิจฉาชีพไปด้วยอย่างไม่เป็นธรรม

แม้กลไกของ Facebook จะมีระบบให้ผู้ใช้งานสามารถแจ้งรายงานเพจปลอมหรือมิจฉาชีพได้ แต่ก็ปรากฏว่าระบบการรับเรื่องร้องเรียนนี้กลับใช้กลไก AI ที่มีความฉลาดน้อยจนการแจ้งไปนั้นไม่เกิดผลใดๆ หนำซ้ำยังตอบกลับมาว่า ได้ตรวจสอบโฆษณาดังกล่าวแล้ว เราตัดสินใจไม่ลบโฆษณา เนื่องจากไม่ขัดต่อกฎของชุมชน หากท่านไม่ชอบ ก็ขอให้บล็อกไปอย่าไปดูให้เจ็บใจอีกต่างหาก 

หรือแม้มีกรณีที่อาจจะพอตรวจจับได้ เช่นการปลอมแปลงเป็นกิจการหรือธุรกิจใหญ่ หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงจริงๆ อยู่บ้าง จนถูกระงับโฆษณา แต่ไม่ช้ามิจฉาชีพก็เรียนรู้ที่จะพลิกแพลงหนีได้อย่างไม่ยากเย็น เช่นถ้าแปลงเป็นนักลงทุนชื่อดังที่มีชื่อเสียงนั้นถูกจับได้ว่าเป็นเพจปลอม แต่ถ้ามิจฉาชีพตั้งชื่อว่าเป็นเพจของเซียนหุ้นโนเนมสักคน แม้จะใช้ข้อความเดียวกับข้อความที่เคยถูกจับได้และลบออก แต่ทางระบบของ Facebook ก็จะตีความว่าไม่เป็นการละเมิดต่อกติกาการใช้งานและชุมชน

การแพร่ระบาดโดยขาดการควบคุมนี้ทำให้มีผู้ตั้งข้อสังเกตหรือคิดไปได้ว่า Facebook จงใจปล่อยปละละเลยเพจปลอมหรือเพจมิจฉาชีพเหล่านี้ เพียงเพราะหวังรายได้จากการโฆษณาและไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆ ก็ไม่ทราบ

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ประชาชนทั่วไปหรือปัจเจกชนแต่ละคนจะสามารถแก้ไขได้ อาจจะต้องเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องเข้ามาช่วยล้อมรั้วตั้งแต่ต้นเหตุทางนี้ด้วย

เมื่อพิจารณาจากพันธกิจของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ข้อที่หนึ่งในตอนท้ายที่ว่า “…สร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมั่นคงปลอดภัย…” แล้ว จะเป็นไปได้หรือไม่ที่กระทรวงดังกล่าวจะรับเป็นเจ้าภาพในเรื่องนี้

อย่างน้อยอาจจะต้องเรียกผู้รับผิดชอบในประเทศไทยของแพลตฟอร์มดังกล่าวมาคุยว่าฝ่ายนั้นจะอ้างว่าตนเองเป็นแค่สื่อกลาง รับแต่ประโยชน์ค่าโฆษณาโดยไม่พยายามกลั่นกรองป้องกันแล้วจะไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆ ที่เกิดต่อเศรษฐกิจและสังคมเลยเช่นนี้ไม่ได้

ถ้าจะบอกว่าเรื่องนี้อยู่นอกเหนืออำนาจรัฐ ก็อาจจะพิจารณาว่าในครั้งที่บริการ Paypal เคยต้องพักการดำเนินกิจการในส่วนของประเทศไทยไปช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อบังคับให้ผู้ใช้ที่จะรับโอนเงินจากต่างประเทศได้ ต้องมีบัญชีธุรกิจที่มีการยืนยันตัวตนจากผู้ประกอบการ ว่าเป็นบริษัทที่มีการจดแจ้ง มีสถานที่ตั้งประกอบการชัดเจน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการเกี่ยวกับกฎหมายป้องกันการฟอกเงินของไทยและสากล แต่ในที่สุดจากการเจรจากันหลายฝ่ายก็ทำให้ Paypal ปรับลดมาตรฐานลงเหลือเพียงการยืนยันตนผ่านบริการยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัล (National Digital ID – NDID) ตามกฎหมายของประเทศไทยในที่สุด

ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า การบังคับให้กิจการแพลตฟอร์มของต่างประเทศต้องเคารพกฎหมายไทย และมีมาตรการเพื่อป้องกันอาชญากรรมนั้นเอาเข้าจริงก็เป็นเรื่องที่กระทำได้ ถ้าตั้งใจ หรือมีความจริงใจที่จะทำ

ในขั้นต้นอาจจะหามาตรการว่าผู้ที่จะมีสิทธิซื้อหรือยิงโฆษณาได้จะต้องเป็นผู้ที่ยืนยันตัวตนได้อย่างชัดเจน หรือถ้าเป็นโฆษณาที่มีลักษณะเป็นการโฆษณาซื้อขายสินค้าหรือชักชวนลงทุน ผู้โฆษณาจะต้องมีหลักฐานหรือจดแจ้งว่าเป็นผู้ประกอบการที่มีตัวตนจริง จึงจะมีสิทธิในการซื้อและยิงโฆษณาได้ ก็น่าจะเป็นการลดปัญหาต้นทางจากโฆษณาหลอกลวงหรือมิจฉาชีพไปได้

จริงอยู่ที่ปัญหาเรื่องโฆษณาหลอกลวงทั้งหมดที่กล่าวมานี้ สำหรับผู้ที่มีประสบการณ์หรือเฉลียวใจอยู่บ้างและตรวจสอบก็จะเห็นได้ว่าเป็นเพจปลอมหรือพอจะระมัดระวังตัวได้ เช่นถ้าแอบอ้างเป็นนักลงทุนชื่อดังของประเทศไทย แต่มีผู้ติดตามเพียงไม่กี่ร้อยคน ไม่มีโพสต์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีก หรือโฆษณาหลอกลวงขายของที่เห็นภาพประกอบก็รู้แล้วว่าไม่ใช่ประเทศไทย ก็อาจจะไม่หลงกล แต่เช่นนี้ก็เท่ากับเป็นการผลักภาระให้ผู้ใช้งานต้องเป็นฝ่ายระวังตัวกันเอง พลาดเมื่อไรก็โดนกันไปตามยถากรรม

ในที่สุดถ้ามันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ แพลตฟอร์มนี้ก็จะเต็มไปด้วยมิจฉาชีพที่ผู้ใช้งานต้องคอยระวังตัวเองตลอดเวลาแบบตัวใครตัวมัน เหมือนเดินเข้าไปในตรอกโจรที่อาจถูกปล้นจี้เมื่อไรก็ได้ ในที่สุดแพลตฟอร์มก็อาจจะตายไปเองเพราะไม่มีใครกล้าใช้งาน หรือต่อให้ใช้งานก็ระมัดระวังว่าอย่าไปซื้ออะไรหรือโอนเงินอะไรในแพลตฟอร์มนี้อย่างสุ่มสี่สุ่มห้า ในที่สุดก็จะไม่เหลือผู้ใช้งานหรือไม่มีผู้ใช้งานหน้าใหม่ รวมถึงไม่มีใครยอมจ่ายเงินซื้อโฆษณาเพราะซื้อไปก็ไม่คุ้มเพราะคนไม่มั่นใจเสียแล้ว ถึงตอนนั้นทางแพลตฟอร์มก็อาจจะตื่นขึ้นมาหาทางล้อมคอกเองก็ได้เพราะกลัวจะเสียผลประโยชน์ทางธุรกิจ แต่ถ้าเป็นอย่างนั้น จะมีหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ไปเพื่ออะไรกัน

แม้วัวหายแล้วค่อยมาล้อมคอกก็อาจจะไม่ใช่เรื่องแย่ ถ้าในที่สุดมันนำไปสู่การตรวจตราล้อมคอกที่ถูกจุด เพื่อจะไม่มีวัวของใครถูกลักไปได้อีก ไม่ว่าจะมีประสบการณ์หรือความรู้เท่าทันโลกออนไลน์มากน้อยเพียงไรก็ตาม

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image