รัฐฉานก่อนและหลังรัฐประหาร โดย ลลิตา หาญวงษ์

รัฐฉานเป็นรัฐที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเมียนมา และคนฉานหรือไทใหญ่ก็มีจำนวนมากถึง 4-6 ล้านคน คิดเป็นประชากรร้อยละ 10 ของเมียนมาทั้งประเทศ ในทางภูมิศาสตร์ รัฐฉานเป็นพื้นที่ชายแดนยุทธศาสตร์ที่อยู่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านมากถึง 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย จีน และลาว การค้าชายแดนจึงเป็นจุดแข็งของรัฐฉานมายาวนาน จะว่าเป็นจุดดีทั้งหมดก็อาจจะไม่ใช่ เพราะพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลตรงนี้ก็เป็นแดนสนธยาได้เหมือนกัน เนื่องจากเป็นเขตภูเขาสลับซับซ้อน จึงมีกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์มากมายอยู่ในบริเวณนี้

ในยุคที่อังกฤษปกครองพม่า อังกฤษจัดให้รัฐฉานเป็นเขตปกครองพิเศษที่เรียกว่า “Unadministered Area” และให้ผู้ปกครองของแต่ละเมืองปกครองกันเอง รัฐฉานจึงมีเจ้าฟ้า (sawbwa) ขุนศึก (warlord) และผู้ปกครองในท้องถิ่น (local chiefs) กระจัดกระจายอยู่เต็มไปหมด และยังเป็นแหล่งปลูกฝิ่นเป็นอันดับต้นๆ ของโลกนับตั้งแต่ยุคสงครามเย็นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ด้วยขนาดของรัฐฉานที่มีขนาดใหญ่ แต่ละเมืองและพื้นที่มีความแตกต่างกันทั้งด้านภูมิศาสตร์ ภาษา และวัฒนธรรม ที่สำคัญคือรัฐฉานไม่ได้เป็นที่อยู่ของชาวฉานเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เช่น ว้า ตะอาง (ปะหล่อง) ปะโอ จีน และอื่นๆ อยู่ด้วย กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ต่างมีกองกำลังเป็นของตนเองเพื่อปกป้องผลประโยชน์และบูรณภาพทางดินแดนของตนเอง ส่วนหนึ่งเป็นกองกำลังเก่าที่มีมานานหลายสิบปี และอีกส่วนหนึ่งเป็นกองกำลังกลุ่มใหม่ๆ ที่เพิ่งจะเกิดมาไม่เกิน 20 ปีมานี้ การสู้รบภายในรัฐฉาน ไม่ได้เป็นการต่อสู้ระหว่างกองกำลังในพื้นที่กับกองทัพพม่าอย่างเดียว แต่ส่วนใหญ่กลับเป็นการโจมตีกันระหว่างกองกำลังภายในรัฐฉาน

การสู้รบส่วนใหญ่เกิดขึ้นในรัฐฉานทางตอนเหนือ หรือพื้นที่ที่อยู่ติดกับชายแดนจีน และทวีความรุนแรงขึ้นมากหลังเกิดรัฐประหารในต้นปี 2021 กองกำลังสำคัญๆ ในรัฐฉานรวมตัวกันเป็นกลุ่มพันธมิตรร่วมรบ ฝ่ายหนึ่งเป็นของ RCSS หรือสภาฟื้นฟูรัฐฉาน ที่มีเจ้ายอดศึกเป็นประธาน กับกลุ่มของ SSPP หรือพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน กับ TNLA หรือกองทัพปลดปล่อย
ตะอาง (Taang) พื้นที่การสู้รบกระจุกตัวที่รัฐฉานตอนเหนือแถบเมืองน้ำตู สีป่อ และจ๊อกแม ในทางตะวันออกเฉียงเหนือ แถบเมืองโก และปางสาย เป็นพื้นที่สู้รบระหว่างกองกำลังฝั่งกองทัพพม่ากับ MNDAA หรือกองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา ของโกก้าง (Kokang)

Advertisement

การทำความเข้าใจการสู้รบในรัฐฉานปัจจุบันไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นหลังรัฐประหาร แต่มีที่มายาวนานตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1989 หลัง SLORC ขึ้นมาควบคุมสถานการณ์แทนนายพล เน วิน ที่ลาออกไป ในช่วงดังกล่าว SLORC พยายามเจรจาหยุดยิงกับกองกำลังหลายกลุ่มในรัฐฉาน แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ และยังมีกองกำลังสำคัญๆ เกิดขึ้นมาอีก โดยเฉพาะ UWSA หรือกองทัพรัฐว้าสามัคคี ฝั่งว้ามีความสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยมกับรัฐบาลจีน สร้างความไม่พอใจให้กับ MTA หรือกองทัพเมืองไต ภายใต้การนำของขุนส่า พ่อค้ายาเสพติดชื่อดัง ซึ่งเป็นกองกำลังเก่าแก่และมีอิทธิพลสูงสุดในรัฐฉานขณะนั้น

จุดเปลี่ยนของเรื่องนี้เกิดขึ้นในต้นปี 1966 เมื่อขุนส่าและ MTA ตัดสินใจเซ็นข้อตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลพม่า เพื่อแลกกับสันติภาพในรัฐฉาน ผู้นำของ MTA หลายคนได้ประโยชน์จากดีลนี้ เพราะได้สัมปทานการค้าและพื้นที่บางส่วนในรัฐฉานมาเป็นของตนเอง ภายใต้การควบคุมของกองทัพพม่า และ SLORC ยังติดยศให้อดีตผู้นำ MTA ด้วย

หลังขุนส่าวางมือ MTA ก็แตกไปทุกทิศทุกทาง หนึ่งในผู้นำฉานรุ่นใหม่ที่ออกมาตั้งขบวนการของตนเองก็คือ เจ้ายอดศึก ที่ตั้ง RCSS ขึ้นมา ภารกิจหลักของเจ้ายอดศึกคือการรวมกองกำลังหลากหลายกลุ่มในรัฐฉานเข้าไว้ด้วยกัน เพราะมองว่าถ้าปล่อยให้รัฐฉานเป็นศูนย์รวมขุนศึกและผู้มีอิทธิพลเป็นหย่อมๆ แบบนี้ก็คงจะรวมรัฐฉานให้เป็นปึกแผ่นได้ยาก เมื่อกองทัพพม่ารู้เรื่องนี้ก็ทำทุกวิถีทางเพื่อสกัดกั้นแผนการรวมกองกำลังในรัฐฉาน และส่งกองกำลังไปโจมตีพื้นที่ในรัฐฉานตอนกลางอย่างหนักหน่วง ทำให้ระหว่างปี 1996-1997 มีผู้อพยพจากรัฐฉานหนีภัยสงครามเข้ามาในเขตไทยนับแสนคน

Advertisement

จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ในรัฐฉานนั้นมีความสลับซับซ้อนจากกองกำลังหลายกลุ่ม และความขัดแย้งหลายมิติ ทั้งความขัดแย้งกันเอง หรือกับกองทัพพม่า แต่การสู้รบทั้งหลายก็ดูจะเบาบางลงเมื่อ RCSS ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลเต็ง เส่งในปี 2015 แต่ก็มีกองกำลังอีกหลายกลุ่มทั้งในและนอกรัฐฉานที่ลังเล และไม่ได้เซ็นข้อตกลงหยุดยิงในครั้งนั้น แม้เข้าสู่ยุครัฐบาล NLD ภายใต้การนำของ ด่อ ออง ซาน ซูจี แล้ว พม่าก็ยังไม่สามารถโน้มน้าวให้กองกำลังทุกกลุ่มลงนามในข้อตกลงฉบับนี้ได้

ความผิดพลาดครั้งใหญ่ของรัฐบาล NLD และกองทัพพม่า ที่สะท้อนทัศนคติคนพม่าเป็นใหญ่ (Burmese-centric) มีมาเนิ่นนานตั้งแต่เกิดข้อตกลงปางหลวงในปี 1947 ท้ายสุดแล้ว ข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นฉบับใด ก็ไม่สามารถรวมกองกำลังทุกกลุ่มเข้ามาได้จริง จะต้องมีบางกลุ่มที่ถูกกีดกันออกไป กลุ่มของ TNLA MNDAA และ AA หรือกองทัพอาระกัน ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการเจรจาในครั้งนั้น และในหลายพื้นที่ของกองกำลังที่ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศไปแล้ว ก็เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงอยู่ดี

หลังรัฐประหาร กองกำลังที่ขึ้นมามีบทบาทอย่างโดดเด่นในรัฐฉานคือ TNLA ซึ่งมีทั้งสรรพกำลังกับอาวุธ และสามารถรุกเข้าไปยึดพื้นที่หลายส่วนในรัฐฉานได้อย่างน้อยใน 8 เมือง จากรายงานล่าสุดของ International Crisis Group การสู้รบทั่วประเทศ เอื้อให้ TNLA เติบโตแบบก้าวกระโดด แม้ TNLA จะเป็น กองกำลังใหม่ที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 2009 แต่ก็เป็นที่พูดถึงในวงกว้าง เพราะมีนโยบายทั้งต่อต้านยาเสพติด และร่วมมือกับกองกำลังอื่นๆ ในกลุ่ม Brotherhood Alliance ร่วมกันต่อต้านอำนาจของกองทัพพม่าอย่างแข็งขัน

TNLA ยังมีจุดยืนหลายอย่างที่น่าสนใจ พวกเขาพยายามไม่ปะทะกับกองทัพพม่าโดยตรง เพราะรู้ดีว่ามีทรัพยากรจำกัด และแม้ว่า TNLA จะเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนจัดหาอาวุธให้กับกองกำลัง PDF ที่เป็นฝ่ายต่อต้านคณะรัฐประหาร แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่กล่าวถึงในสื่อโซเชียลมีเดียหรือที่อื่นๆ ทำให้ TNLA เป็นหนึ่งในกองกำลังเพียงหยิบมือที่มีภาพลักษณ์เชิงบวก อย่างไรก็ดี การที่ TNLA เติบโตอย่างรวดเร็ว ก็เป็นปัญหาในตัวเอง เพราะย่อมขัดผลประโยชน์กับกองกำลังอื่นๆ ในรัฐฉาน และปัญหานี้จะเป็นปัญหาใหญ่ภายในรัฐฉานต่อไปในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image