สะพานแห่งกาลเวลา : 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่

สะพานแห่งกาลเวลา : 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่

เมื่อราวปีคริสต์ศักราชที่ 2 “ไฟโล แห่งไบเซนติอุม” (Philo of Byzantium) ผู้ทรงภูมิปัญญาชาวกรีกที่เป็นทั้งวิศวกร นักฟิสิกส์ และนักเขียน รวบรวมเอารายชื่อของ 7 สถานที่ หรือสิ่งก่อสร้างที่ “มหัศจรรย์” ยิ่งทั้งในเชิงศิลปะและการออกแบบ รวมทั้งสถาปัตยกรรมขึ้นไว้ กลายเป็นที่มาของ “7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณ” (Seven Ancient Wonders of the World) ที่สะท้อนถึงอัจฉริยภาพ จินตนาการล้ำเลิศและความอุตสาหะพยายามของมนุษย์

ถึงยุคนี้จาก 7 สิ่งมหัศจรรย์หลงเหลือเพียงพีระมิดแห่งกิซาเท่านั้นที่ยังปรากฏตกทอดมาให้เห็นแก่ตา เป็นที่มาของความพยายามจะรวบรวม “7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก” ยุคใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง

ความพยายามดังกล่าวเริ่มต้นในปี 2000 เมื่อมูลนิธิ “7 สิ่งมหัศจรรย์ใหม่” ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เริ่มรณรงค์เพื่อการนี้ โดยคัดเลือกสถาปัตยกรรมและโบราณสถานที่ยังคงปรากฏอยู่ให้เห็น 200 แห่ง มาให้ลงคะแนนเลือกกันแบบเปิดกว้างทั่วโลกผ่านอินเตอร์เน็ตและผ่านการสำรวจทางโทรศัพท์

Advertisement

การสำรวจดังกล่าวกลายเป็นหนึ่งในการสำรวจความคิดเห็น หรือการทำโพลที่ใหญ่โตที่สุดในโลก มีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นมากถึง 100 ล้านคน ผลของโพลที่กลายเป็น “7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่” ประกาศอย่างเป็นทางการที่กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส เมื่อปี 2007 ที่ผ่านมา

ต่อไปนี้คือ 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ที่ได้จากการสำรวจความคิดเห็นดังกล่าวครับ

เพตรา (ภาพ-CC BY 2.0/Wikimedia Commons)

1 นครเพตรา, ประเทศจอร์แดน นครโบราณเพตรา ได้รับเลือกให้เป็นมรดกโลกในปี 1985 กล่าวกันว่าเป็นนครที่แกะสลักจากหิน ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขาวาดี มูซา (หรือหุบแห่งโมเสส) ซึ่งอยู่ระหว่างทะเลเดดซี กับอ่าว อะกาบา ของจอร์แดน

Advertisement

เพตรา นอกจากจะอวดฝีมือแกะสลักอันวิจิตรตระการตา ซึ่งเชื่อว่าเป็นช่างฝีมือของชนเผ่านาบาทาอีน หรือนาบาเทียน แล้วยังมีระบบน้ำ (จืด) ที่ล้ำสมัยที่ประกอบด้วยแหล่งกักเก็บและอุโมงค์ส่งน้ำอีกด้วย

2 มาชู ปิคชู, เปรู ซากนครโบราณ มาชู ปิคชู ซ่อนตัวอยู่ในป่าทึบบนเทือกเขาแอนดีสที่ระดับความสูง 2,430 เมตร มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “นครที่หายสาบสูญของชาวอินคา” (lost city of the Incas) คาดว่าสร้างขึ้นในราวคริสต์ทศวรรษ 1400 โดยปาชากูเตค จักรพรรดิแห่งอินคา

3 กำแพงเมืองจีน สร้างขึ้นในราวศตวรรษที่ 7 ในสมัยราชวงศ์ฉิน เพื่อป้องกันการรุกรานของมองโกล เดิมทีเชื่อกันว่ายาวทั้งสิ้น 8,850 กิโลเมตร แต่ในการสำรวจหลังสุดพบว่าความยาวที่แท้จริงมากถึง 21,196.18 กิโลเมตร ถือว่าเป็นสิ่งปลูกสร้างด้วยฝีมือมนุษย์ที่ใหญ่โตที่สุดในโลก

4 ชิเชนอิตา, เม็กซิโก คือนครโบราณของชาวมายา ตั้งอยู่บนคาบสมุทรยูคาตัน สร้างขึ้นในราวศตวรรษที่ 7 เดิมเชื่อว่าตั้งใจจะให้เป็นศูนย์กลางทางศาสนา ปัจจุบันถือเป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญ พรั่งพร้อมด้วยสิ่งอัศจรรย์มากมาย อย่างเช่น สนามกีฬาขนาดใหญ่ หอสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ และพีระมิด เอล คาสติลโย ที่ทำเป็นขั้นบันได 365 ขั้น เป็นต้น

5 ประติมากรรมพระเยซู, บราซิล หรือที่เรียกกันในภาษาโปรตุเกสว่า “กริชตูเรเดงโตร์” หรือ
พระคริสต์ผู้ไถ่บาป เริ่มต้นก่อสร้างบนยอดสุดของภูเขากอร์โกวาดู ในปี 1926 แล้วเสร็จในปี 1931 ความสูง 30 เมตร (ไม่รวมฐานที่สูง 8 เมตร) ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งศรัทธาและความหวังของชาวบราซิล และชาวคริสต์ทั่วโลก

6 โคลอสเซียม, อิตาลี สนามกีฬา “กลางแจ้ง” ยุคโบราณที่สร้างขึ้นในใจกลางกรุงโรม เริ่มสร้างขึ้นในสมัยจักรพรรดิเวสเปเซียนแห่งจักรวรรดิโรมัน และสร้างเสร็จในสมัยของจักรพรรดิไททัส ในคริสต์ศตวรรษที่ 1 อัฒจันทร์เป็นรูปทรงกลม สร้างจากอิฐและหินทราย รองรับผู้ชมได้ราว 50,000 คน

7 ทัชมาฮาล, อินเดีย ใครที่เคยได้ไปชมด้วยตาตนเองมาแล้วคงทราบดีว่าทัชมาฮาลวิจิตรพิสดารเพียงใด สิ่งปลูกสร้างนี้เริ่มสร้างขึ้นในปี 1632 โดยจักรพรรดิชาห์ชะฮัน จักรพรรดิชาวโมกุล สำหรับใช้เป็นที่เก็บศพของสนมเอก มุมตาช มาฮาล ซึ่งเสียชีวิตหลังคลอดลูกลำดับที่ 14 และต่อมาถูกใช้เป็นที่ตั้งพระศพของจักรพรรดิชาห์ชะฮันเองด้วย ทัชมาฮาล
ประกอบด้วยตัวอาคารสุสาน, มัสยิด และเกสต์เฮาส์ รายล้อมด้วยสวน การก่อสร้างทัชมาฮาลสำเร็จสมบูรณ์ในปี 1643

ตามตำนานเล่าว่า จักรพรรดิมีดำริจะสร้างอนุสรณ์สถานสำหรับเป็นที่เก็บพระศพของพระองค์เองแยกต่างหากออกไปโดยใช้หินอ่อนสีดำเป็นหลัก แต่งานก่อสร้างดังกล่าวถูกระงับไป หลังจากองค์จักรพรรดิถูกโค่นลงจากราชบัลลังก์

โดยน้ำมือของบุตรชายของพระองค์นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image