ควบคุมจริยธรรมล้มเหลว

ควบคุมจริยธรรมล้มเหลว

กรณี ส.ส.พรรคก้าวไกล ถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศ จนที่ประชุมกรรมการบริหารและ ส.ส.มีมติลงโทษตัดสิทธิที่พึงมีในฐานะสมาชิกพรรค และกำหนดเงื่อนไขให้แถลงยอมรับผิดและขอโทษในทางสาธารณะต่อสังคมกับผู้เสียหาย

ปรากฏว่า มติเป็นหมัน ไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ เพราะ ส.ส.ผู้ถูกกล่าวหาปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตาม จนพรรคต้องประชุมใหม่ลงมติขับให้พ้นจากสมาชิกพรรคเพื่อให้ขาดสมาชิกภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยกเว้นหาพรรคใหม่สังกัดได้ภายใน 30 วัน

เนื่องจากกรณีนี้ผู้เสียหายถูกล่วงละเมิดทางเพศไม่ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษ แจ้งความดำเนินคดีอาญา การพิจารณาโทษตามกฎหมายตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจึงยังไม่สามารถดำเนินการได้

Advertisement

แต่กระบวนการลงโทษทางการเมืองและทางสังคมกำลังดำเนินไปอย่างน่าติดตามว่า ทั้งสองกรณีจะจบลงในลักษณะใด

เรื่องที่เกิดขึ้นจึงเป็นอีกกรณีตัวอย่าง สะท้อนความเป็นจริงหลากหลายมิติ ทั้งจิตสำนึกส่วนบุคคลของผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ถูกกล่าวหา ทั้งความเข้มแข็งของกลไกและกระบวนการควบคุมพฤติกรรมสมาชิกของพรรคการเมืองต้นสังกัด

ความเข้มแข็งของกลไกและกระบวนการควบคุมจริยธรรม ส.ส.และ ส.ว. ของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา ตลอดจนกระทั่งพลังความตื่นตัวของกลุ่มองค์กรทางสังคมต่างๆ

Advertisement

ก่อนหน้านี้เคยมีกรณี ส.ส.และ ส.ว.ถูกกล่าวหาทำนองเดียวกันนี้เรื่อยมา แต่กลไกและกระบวนการควบคุมและลงโทษทางจริยธรรมไม่สามารถจัดการได้ แถมยังมีแนวโน้มที่จะปกป้อง คุ้มครองช่วยเหลือกันเองมากกว่า

ผู้ถูกกล่าวหาบางคนไม่เพียงแต่ปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามมติของพรรคแล้ว ยังอ้างเอาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นทางออก ให้เป็นองค์กรตัดสินชี้ขาดความผิดของตัว

ทั้งๆ ที่ภารกิจหลักของคณะกรรมการการเลือกตั้งคือการจัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ ยุติธรรม เรียบร้อย ราบรื่น เป็นหลัก

หน้าที่ในการควบคุม กำกับ ตรวจสอบพฤติกรรมของ ส.ส.ควรเป็นอำนาจหน้าที่ของตัวเองตามหลักการการควบคุมตนเอง และอำนาจหน้าที่ของพรรคที่ ส.ส.ผู้นั้นสังกัด จนถึงสภาที่ ส.ส.หรือ ส.ว.ผู้นั้นสังกัดตามหลักการการควบคุมกันเอง

กรณีที่ผ่านๆ มาจึงพบว่า ทั้งการควบคุมตนเองและการควบคุมกันเองล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการร้องทุกข์กล่าวโทษ หากไม่มีผู้ร้อง กลไกและกระบวนการพิจารณาข้อเท็จจริงและตัดสินลงโทษ ไม่สามารถดำเนินการได้

ประเด็นนี้ในทางกระบวนการยุติธรรมทางอาญา พอมีเหตุผลเพราะเป็นบทบัญญัติตามกฎหมาย

แต่ในทางสังคมและทางการเมืองการควบคุมกันเองควรเปิดช่องทางให้กลไกที่เกี่ยวข้องคือ คณะกรรมการจริยธรรม มีอำนาจหยิบยกเรื่องขึ้นมาพิจารณาได้ เมื่อมีสมาชิกแห่งสภานั้น ทำเรื่องร้องเรียนให้สอบสวนและพิจารณาความผิด

ขณะเดียวกันกรรมการจริยธรรมสามารถหยิบยกขึ้นมาดำเนินการเอง เมื่อมีข้อมูล หลักฐานประจักษ์ ทั้งพยานบุคคลและเอกสารที่มีน้ำหนัก

และกำหนดหลักเกณฑ์เปิดช่องทางให้ประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งสามารถยื่นเรื่องร้องเรียนให้ดำเนินการพิจารณาได้ จนกระทั่งสิทธิในการยื่นเรื่องถอดถอนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ที่มีพฤติกรรมดังกล่าว

กรณีนี้พรรคก้าวไกล หรือพรรคอื่นๆ ที่อาจจะเกิดกรณีใหม่ขึ้นในอนาคต นอกจากใช้กระบวนการภายในจัดการกันเองแล้ว ต้องกระตือรือร้นส่งเรื่องร้องต่อที่ประชุมสภาแห่งตน เพื่อมีมติให้คณะกรรมการจริยธรรมของสภาดำเนินการตามกระบวนการ ข้อบังคับประมวลจริยธรรมที่บัญญัติไว้

หากพรรคต้นสังกัดเป็นเจ้าภาพส่งเรื่องเพื่อลงโทษสมาชิกของพรรคตนเองให้สภาพิจารณาเสียเองแล้ว สมาชิกสภาจากพรรคอื่นๆ ย่อมปฏิเสธได้ยาก

หากดื้อรั้นยังหาทางช่วยเหลืออุ้มกันต่อไป ย่อมถูกสังคมตำหนิประณามส่งผลถึงภาพลักษณ์และผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

เช่นเดียวกันหากพรรคต้นสังกัดมีมติขับ ส.ส.พ้นจากสมาชิกภาพเพราะผิดจริยธรรมร้ายแรงได้สำเร็จ แต่พรรคการเมืองบางพรรคกลับรับเอา ส.ส.ดังกล่าวเข้าเป็นสมาชิก เพื่อเพิ่มปริมาณ ส.ส.ของพรรคให้มากขึ้น

พลังสังคม กลุ่มองค์กรต่างๆ ต้องแสดงพลัง เคลื่อนไหวทุกรูปแบบ เพื่อกดดันทั้ง ส.ส.พรรคเก่าและพรรคใหม่ที่รับเข้าไป อย่างจริงจัง ตัดหางปล่อยวัด อย่าเลือก ส.ส.และพรรคนั้นๆ อีกเด็ดขาด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image