นอกกรอบ’ศรัทธา’ โดยสุชาติ ศรีสุวรรณ

แฟ้มภาพ

วาระหนึ่งที่ต้องการคำตอบจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาตลอดคือ “เมื่อไรจะมีรัฐบาลที่มาจากการ เลือกตั้งของประชาชน-เมื่อไรจะมี การเลือกตั้ง”

ถึงวันนี้มีความชัดเจนขึ้นมาระดับหนึ่งแล้วจากการเปิดเผยของ “ผู้มีอำนาจมากที่สุดในประเทศ” คือ “นายกรัฐมนตรี” ทำนองว่า “น่าจะจัดการเลือกตั้งได้ในราวปลายปี 2560 และมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนได้ในต้นปี 2561”

เหมือนกับว่านั่นเป็นคำตอบที่ได้กับการรอคอยมาตลอด

เหมือนกับว่า “รัฐบาลจากการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ประชาชนรอคอย”

Advertisement

เพียงแต่เอาเข้าจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่

รัฐบาลที่ประชาชนรอคอยควรจะเป็นรัฐบาลองอาจแข็งแกร่งอยู่ในศรัทธาของประชาชน

เป็นรัฐบาลที่ประกอบด้วยกลุ่มบุคคลที่เป็นความหวังว่าจะเป็นผู้มาสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้ชาติบ้านเมือง

Advertisement

เป็นผู้ชาญฉลาดในการมองการณ์ไกล วางแผนล่วงหน้าได้อย่างเหมาะสม และมีความรู้ความสามารถในระดับเก่งกาจที่จะจัดการบริหารให้ภารกิจบรรลุถึงเป้าหมายนั้น

ประเด็นที่น่าสนใจจึงมีอยู่ว่า “รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง” จะเป็นไปอย่างที่ “คาดหวังได้ว่าจะสร้างศรัทธาดังกล่าวได้จริงหรือ”

รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หมายถึงรัฐบาลที่มาจากนักการเมือง จากพรรคการเมืองต่างๆ ที่ประชาชนลงคะแนนเลือกเข้ามา

นักการเมืองอยู่ในความคาดหวังเช่นนั้นคือ

มีสภาวการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา นั่นคือ “ภาพลักษณ์นักการเมือง” และ “พรรคการเมือง” ถูกมองว่า “เลวร้ายอย่างยิ่ง”

ไม่ว่าจะเกิดจากการ “ทำตัวเอง” หรือ “ถูกใครบางคนบางกลุ่มวาดภาพให้ประชาชนรู้สึก” แต่ที่สุดแล้วนั่นคือความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

ก่อนหน้านั้นการเรียกร้องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลังรัฐประหาร เป็นเรื่องที่ประชาชนรู้สึกร่วมกันว่าเป็นสิ่งที่จะต้องร่วมใจทำให้เกิดขึ้น

รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ไม่เคยให้รับความไว้วางจากประชาชนมากกว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

นักการเมืองจะลุกขึ้นสู้เพื่อให้ความชอบธรรมของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารมีน้อยลงเรื่อยๆ และมักจะประสบความสำเร็จ

แต่ครั้งนี้ดูว่าจะไม่เป็นอย่างที่เคยเป็นมา

ในห้วงเวลาที่รัฐบาลจากการรัฐประหารบริหารประเทศ กลับกลายเป็นภาพลักษณ์ของนักการเมืองจากการเลือกตั้งยิ่งจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ

การออกกติกาโครงสร้างการบริหารจัดการประเทศที่มีทิศทางชัดเจนว่า ลดบทบาทของรักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และเพื่อช่องทางให้ “นักการเมืองที่ไม่ได้จากการเลือกตั้ง” ให้เข้ามามีบทบาทกันได้มากขึ้น หรือ “กฎหมายที่เปิดทางให้ตรวจสอบและลงโทษนักการเมืองอย่างเข้มข้น” ได้รับเสียงตอบรับ ยินดีปรีดาด้วยจากประชาชนอย่างล้มหลาม

และดูเหมือนว่าที่ผ่านมานักการเมืองเองไม่ได้ใส่ใจมากมายอะไรนักที่จะทำให้ภาพลักษณ์ของ “ตัวแทนที่ประชาชนเลือกเข้ามา” ดีขึ้น

ไม่ต้องพูดถึงดีขึ้นในระดับที่เรียกความไว้วางใจจากคนทั่วไปได้ กระทั่งไม่ให้เลวร้ายไปยิ่งกว่าเก่า ดูเหมือนจะทำไม่ได้เสียด้วยซ้ำ

ด้วยเหตุนี้เอง คำถามถึง “รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” จึงเป็นคำถามที่ชวนให้หวาดหวั่นไม่น้อย ว่าที่สุดแล้ว รัฐบาลที่จำนนต่อการบริหารจัดการภายใต้กติกาที่รังเกียจเดียดฉันท์ตัวเอง มีมาตรการลงโทษรุนแรงมากมายรอที่จะลงทัณฑ์ มีคณะบุคคลที่มาคอยชี้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำรัฐบาลแบบนี้จะเรียกศรัทธาอะไรจากประชาชนได้

รัฐบาลจากการเลือกตั้งที่คิดแค่เข้าไปมีส่วนร่วมในอำนาจ โดยไม่สนใจว่าตัวเองตกอยู่ในสภาพไหน

จะเหลืออะไรให้ประชาชนศรัทธา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image