การยุติความรุนแรงในครอบครัว แนวทางคุ้มครองสวัสดิภาพผู้(หญิง) ถูกกระทำตามกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม : โดยอุดมศักดิ์ โหมดม่วง

แฟ้มภาพ

ข่าวลูกชายจ้างเพื่อนให้ฆ่าพ่อตนเอง พ่อเลี้ยงข่มขืนลูกเลี้ยง สามีเมายาบ้าฆ่าเมีย สามีเมาสุราทำร้ายเมียและลูก เมียน้อยสาดน้ำกรดเมียหลวง เมียหลวงทำร้ายเมียน้อย ลูกติดยาทำร้ายแม่ แม่พาลูกเล็กไปขอทาน แม่ขี้เมาบังคับลูกไปขอทาน แม่บังคับลูกสาวขายตัวหาเงิน เป็นต้น ข่าวน่าสลดใจเหล่านี้เป็นเรื่องการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวที่ถูกนำเสนอทางสื่อแทบจะทุกวัน

แต่น่าเศร้าใจว่า สังคมกลับเห็นเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องธรรมดา พยายามปกปิดไม่ให้ใครรู้ ปัญหาจึงเกิดและทวีความรุนแรงขึ้น จนบ่มเพาะปัญหาความไม่สงบสุขในครัวเรือน ปัญหาเยาวชน ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาการปฏิบัติตามกฎหมาย และส่งผลกระทบต่อกระบวนการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรมและการบังคับใช้กฎหมายของประเทศโดยรวม

หากรัฐบาลยังคงเฉยเมย ไม่ใส่ใจการแก้ไขปัญหาเท่าที่ควร อาจถูกองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและประเทศตะวันตกบางประเทศหยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาเป็นข้ออ้างในการตั้งข้อรังเกียจ และอาจถึงขนาดกำหนดมาตรการกดดัน (sanction measure) ต่อประเทศไทยในอนาคตได้ ด้วยข้ออ้างว่าเราเพิกเฉยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยการกระทำรุนแรงต่อเด็กและสตรี

แต่เป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งว่า ปัญหาการกระทำด้วยความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว อยู่ในสายพระเนตรอันยาวไกลของเจ้าหญิงนักกฎหมาย พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เจ้าหญิงผู้มีพระจริยวัตรอันงดงามและทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตา พระองค์ทรงรณรงค์และทรงร่วมผลักดันจนองค์การสหประชาชาติได้กำหนดสองยุทธศาสตร์หลักในการแก้ปัญหาเหล่านี้ ได้แก่

Advertisement

หนึ่ง ยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการเชิงปฏิบัติของสหประชาชาติ (ฉบับปรับปรุง) ในการขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงในด้านการป้องกันอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (Model Strategies and Practical Measures on the Elimination of Violence against Women in the field of Crime Prevention and Criminal Justice)

สอง ยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการเชิงปฏิบัติของสหประชาชาติในการขจัดความรุนแรงต่อเด็กในการป้องกันอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (Model Strategies and Practical Measures on the Elimination of Violence against Children in the field of Crime Prevention and Criminal Justice)

ประเทศไทยได้อนุวัตรนำยุทธศาสตร์ของยูเอ็นดังกล่าวมาบัญญัติไว้ในกฎหมายหลายฉบับ เช่น รัฐธรรมนูญ, ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา, พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546, พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550, พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551, พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 และพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 เป็นต้น

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มาตรา 3 กำหนดนิยามคำสำคัญๆ ดังนี้

“ความรุนแรงในครอบครัว” หมายความว่า การกระทำใดๆ โดยมุ่งประสงค์ให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพ หรือกระทำโดยเจตนาในลักษณะที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพของบุคคลในครอบครัว หรือบังคับหรือใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรมให้บุคคลในครอบครัวต้องกระทำการ ไม่กระทำการ หรือยอมรับการ
กระทำอย่างหนึ่งอย่างใดโดยมิชอบ แต่ไม่รวมถึงการกระทำโดยประมาท

“บุคคลในครอบครัว” หมายความว่า คู่สมรส คู่สมรสเดิม ผู้ที่อยู่กินหรือเคยอยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส บุตร บุตรบุญธรรม สมาชิกในครอบครัว รวมทั้งบุคคลใดๆ ที่ต้องพึ่งพาอาศัยและอยู่ในครัวเรือนเดียวกัน

สิ่งสำคัญที่ควรต้องตระหนักก็คือ ปัญหาของไทยในขณะนี้ไม่ใช่ปัญหาเรื่องไม่มีกฎหมาย แต่อยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายที่ขาดการบูรณาการจากทุกภาคส่วนของสังคม

สำนักงานกิจการและโครงการในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ซึ่งรับสนองงานของพระองค์ท่านได้เล็งเห็นสภาพปัญหา จึงแสวงหารูปแบบและกระบวนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกระทำด้วยความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ที่ปฏิบัติได้จริงและเห็นผลได้ในเชิงประจักษ์ ในพื้นที่สำนักงานอัยการภาค 8 ได้คัดเลือกเทศบาลตำบลช้างซ้าย อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นท้องถิ่นต้นแบบ ทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพ (อัยการ ตำรวจ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา พยาบาล แพทย์ และนักพัฒนาสังคม)
ซึ่งทางคณะทำงานได้กำหนดยุทธศาสตร์หลักเน้นไปที่การป้องกัน เพื่อให้ครอบครัว ชุมชน/หมู่บ้าน มีความเข้มแข็งและช่วยเหลือพึ่งพาตนเองได้ในการจัดการกับปัญหา แต่หากยังเกิดปัญหาและเกินความสามารถของชุมชน/หมู่บ้าน ยังมีคณะทำงานระดับตำบลและระดับอำเภอมารองรับ

ตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจกรรมตามโครงการฯในปี พ.ศ.2559 ปัญหาการกระทำด้วยความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ในพื้นที่เทศบาลตำบลช้างซ้าย ท้องถิ่นต้นแบบได้ผลดีเยี่ยม เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นได้รับการแก้ไขเป็นผลสำเร็จโดยชุมชน/หมู่บ้าน ทุกกรณี

ส่วนใหญ่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวมักจะเป็นภรรยา และ/หรือบุตร ที่ต้องพึ่งพาสามี และ/หรือบิดา ในด้านต่างๆ เมื่อถูกกระทำมักจะไม่กล้าแจ้งความ ทำให้พนักงานสอบสวนไม่อาจดำเนินคดีกับผู้กระทำได้ หรือหากมีการร้องทุกข์ กระบวนการทางคดีก็ล่าช้าไม่ทันการณ์

ด้วยเหตุนี้ ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวจึงอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก จนทำให้ผู้กระทำเลยได้ใจก่อเหตุซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยผู้ถูกกระทำเหมือนหมดที่พึ่ง ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใครได้

ดังนั้น สำนักงานกิจการและโครงการในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เล็งเห็นเหตุและปัจจัยดังกล่าว จึงได้ผลักดันให้เกิดการคุ้มครองสวัสดิภาพอย่างเป็นรูปธรรม จนกระทั่งสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดสุราษฎร์ธานี ดำเนินการเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวได้อย่างเป็นรูปธรรมเป็นครั้งแรกและเป็นแห่งแรกของประเทศ ด้วยการยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสุราษฎร์ธานีให้ไต่สวนเพื่อมีคำสั่งออกมาตรการคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว (แม้จะไม่มีการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดี) ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 172 จำนวน 5 ราย (ขอสงวนสิทธิที่จะไม่เปิดเผยนาม) และศาลได้มีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองสวัสดิภาพ ห้ามมิให้ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวกระทำการ สรุปพอสังเขปได้ดังนี้

1.ห้ามมิให้เข้าไปในบริเวณบ้าน เคหสถานและสถานที่ทำงานของผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว

2.ห้ามมิให้เข้าใกล้ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวในระยะ 200 เมตร

3.ห้ามกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวน ทำร้าย ข่มขู่ หรือกระทำการใดๆ ให้ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวไม่สามารถใช้ชีวิตโดยปกติสุขได้

4.ห้ามเข้าใกล้ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวระหว่างเดินทางไปและกลับบ้านและสถานศึกษา

5.ห้ามส่งข้อความ พูดจาข่มขู่ ติดตาม หรือกระทำการใดอันเป็นการก่อกวนผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว

6.ให้มอบตัวผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวให้อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อให้การสงเคราะห์จนกว่าจะสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และได้แจ้งคำสั่งศาลให้ผู้กระทำและผู้กำกับการตำรวจภูธรท้องที่ทราบเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งศาล

รูปแบบและกระบวนการดังที่กล่าวมาข้างต้นเป็นรูปแบบและกระบวนการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวที่ปฏิบัติได้จริง มีสภาพบังคับตามกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรมในเชิงประจักษ์ ถ้ารัฐบาลต้องการครอบครัวที่อบอุ่น ชุมชน/หมู่บ้านที่เข้มแข็ง การนำรูปแบบและกระบวนการดังกล่าวข้างต้นไปให้ทุกเทศบาลและทุกองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศดำเนินการ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอเป็นแม่งานขับเคลื่อนจะเป็นการบูรณาการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวได้อย่างยั่งยืน มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในเชิงประจักษ์ในระยะเวลาอันใกล้อย่างแน่นอน

อุดมศักดิ์ โหมดม่วง
อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมาย
และการบังคับคดีจังหวัดสุราษฎร์ธานี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image