คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : สิบล้อตกถนน : ภาพสะท้อนการฉ้อฉลหาประโยชน์ จาก‘ต้นทุน’ของส่วนรวม

ภาพข่าวรถสิบล้อบรรทุกดินที่หัวยกล้อปล่อยท้ายลงไปในหลุมถนนสุขุมวิทช่วงซอย 64/1 นั้น ยากต่อการอธิบายบรรยากาศและความรู้สึก 

ภาพนั้นเป็นส่วนผสมประหลาดที่ชวนให้เรารู้สึกขบขันในเบื้องแรก ตามด้วยความรู้สึกกลัวและโกรธเกรี้ยวด้วยรู้สึกว่าอุบัติเหตุนี้ใกล้ตัวเราอย่างยิ่ง และมันจะสุ่มเกิดกับเราเมื่อไรก็ไม่รู้ตราบที่ยังใช้ชีวิตอยู่ในประเทศนี้ แม้แต่จะเป็นนครหลวงก็ตาม คล้ายกับว่าชีวิตของพวกเราราคาถูกลงไปทุกวันสวนกับค่าครองชีพ

จากแนวคิดรูบนเนยแข็ง” (Swiss cheese model) ของ เจมส์ ที รีสัน (James T. Reason) ที่ใช้อธิบายการเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงว่าเกิดจากปัจจัยผิดพลาดเล็กบ้างใหญ่บ้างที่แฝงอยู่เหมือนเนยแข็งซึ่งทุกแผ่นมีรูเรียงกันไม่เป็นระเบียบมาเรียงซ้อนกัน หากรูในแต่ละแผ่นนั้นอยู่กันคนละที่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่เมื่อไรที่รูพวกนั้นมันมาเรียงตัวกันจนทะลุตลอดได้เป็นรูขนาดใหญ่ อุบัติเหตุที่ร้ายแรงก็จะเกิดขึ้น

อุบัติเหตุรถบรรทุกจมถนนที่สุขุมวิทนี้ ถ้าจะมีรูบนเนยแข็งรูใหญ่ๆ สองรู ที่บังเอิญมาเรียงตัวในจุดเดียวกันพอดี รูหนึ่งที่ไม่ต้องสงสัยและเป็นจำเลยที่ 1” ของเรื่องนี้ คือรถบรรทุกดินคันนั้นบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเรื่องนี้ก็มีการชำแหละกันทะลุแล้วว่าน่าจะมาจากปัญหาเรื่องส่วยรถบรรทุก

Advertisement

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่ารูใหญ่อีกรูหนึ่ง คือ มาตรฐานของถนนในจุดเกิดเหตุ ไม่ว่าจะมาจากการก่อสร้างหรือซ่อมแซมก็ตาม ที่โดยปกติแล้วจะต้องเผื่อไว้สำหรับกรณีที่อาจจะต้องรับน้ำหนักเกินกว่าที่คาดหมายตามปกติ แต่ถนนในส่วนนั้นมีความแข็งแรงทนทานได้มาตรฐานหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นอีกรูบนเนยแข็งที่มาเรียงตัวกันจนเป็นอุบัติเหตุครั้งนี้ และอาจจะต้องมาร่วมเป็นจำเลยที่ 2” ด้วย

เพราะก่อนหน้านั้นไม่ถึงสองวัน ก็เพิ่งมีเหตุในลักษณะเดียวกันที่ถนนจตุรทิศช่วงแยกศรีอยุธยา โดยรถที่ประสบเหตุนั้นเป็นรถ SUV ที่โชคร้ายขับตามรถบรรทุกคันหนึ่งแบบพอดีพอร้าย จนตกลงไปในหลุมทะลุนั้นแบบเอาหน้าลง ซึ่งดูแล้วน่าหวาดเสียวกว่ากรณีรถสิบล้ออีก โชคดีเท่าไรที่ไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต

ทฤษฎีเรื่องอุบัติเหตุอีกเรื่องหนึ่ง คือ ทฤษฎี 300:29:1 ของ เฮอร์เบิร์ต วิลเลียม ไฮน์ริช (Herbert William Heinrich) อธิบายว่าอุบัติเหตุร้ายแรงที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บสาหัส หรือถึงแก่ชีวิต 1 ครั้งนั้น ก่อนหน้านั้นมักจะมีอุบัติเหตุในลักษณะเดียวกัน แต่ไม่ร้ายแรงเท่ามาก่อนประมาณ 29 ครั้ง และก่อนหน้า 29 ครั้งดังกล่าว ก็มักจะมีอุบัติเหตุเล็กน้อย หรือแค่เกือบจะเป็นอุบัติเหตุจากเรื่องลักษณะเดียวกันนั้นมาก่อน 300 ครั้งเช่นกัน

Advertisement

สำหรับเรื่องถนนชำรุดทรุดตัวจนรถตกลงไปนี้ หากเรื่องที่ถนนสุขุมวิทถือเป็นเรื่องใหญ่ 1 ครั้ง และมองว่าเหตุที่ถนนจตุรทิศนั้นเป็นเหตุระดับกลางที่จะเกิดขึ้นประมาณ 29 ครั้ง (ซึ่งของไทยในกรุงเทพฯน่าจะไม่ถึง 29 ครั้งด้วยซ้ำ) ส่วนเรื่องเล็กๆ น้อยๆ 300 ครั้งที่เริ่มชี้ปัญหานี้ ก็เป็นเรื่องที่ชาว กทม.ส่วนใหญ่มีประสบการณ์กันทั้งสิ้น โดยเฉพาะในถนนเส้นหลักๆ ที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าหรือโครงการใหญ่ๆ ของรัฐอื่นๆ เช่น ผู้ที่ใช้เส้นทางรามอินทราแจ้งวัฒนะ ในแนวรถไฟฟ้าสายสีชมพู คงนึกออกว่าบ่อยครั้งในตอนเช้า ที่รถติดแบบชวนเสียสติ เนื่องจากเกิดปัญหาถนนทรุดหรือพังแล้วต้องปิดซ่อม หรือมีรถที่ขับผ่านมาตกหลุมลงไปยางแตกกีดขวางทางจราจรกันบ่อยๆ

นอกจากนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นบนท้องถนนที่เป็นปัญหาการจราจรที่ชาวกรุงเทพฯและในหลายเมืองต้องประสบพบเจอ คือการที่มีรถใหญ่ เช่น รถบรรทุก รถประจำทาง จอดเสียกลางถนน หรือเกิดอุบัติเหตุกีดขวางช่องทางจราจรทุกช่อง ในเวลาเร่งด่วนกันจนเป็นความโชคร้ายตามธรรมดาที่อาจประสบพบเจอได้ในแต่สัปดาห์

รวมถึงปัญหาที่บรรดาผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการใหญ่ๆ ของรัฐและเอกชนนั้น นึกจะปิดช่องทางจราจรเพื่อทำงานเมื่อไรอย่างไรก็ได้ เช่น ปิดถนนให้เหลือช่องทางเดียวในเช้าตรู่วันจันทร์ก็ยังมี ซึ่งแสดงถึงการทำงานตามแผนโดยไม่ได้เกรงอกเกรงใจผู้ใช้รถใช้ถนนเลยแม้แต่น้อย

ปัญหาเรื่องมาตรฐานของถนนและการกำกับดูแลควบคุมการก่อสร้างหรือการดำเนินการอื่นๆ เกี่ยวข้องไม่ให้เป็นอันตรายหรือก่อความเดือดร้อนต่อประชาชนส่วนรวมนี้ ก็เป็นอีกเรื่องที่ทาง กทม.และผู้ว่าฯคนปัจจุบันต้องตรวจสอบและรับผิดชอบ ไม่ว่าการทำสัญญาก่อสร้างซ่อมแซมตลอดจนการตรวจรับนั้น จะกระทำในสมัยที่ผู้ว่าฯกทม.นั้นจะเป็นใครก็ตาม

ปัญหาเรื่องนี้ทั้งหมดทั้งมวลอยู่ที่การที่นายทุนและผู้ประกอบการนั้นไม่เกรงใจกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการบรรทุกขนส่ง หรือกฎหมายควบคุมการก่อสร้างหรือมาตรฐานการก่อสร้างต่างๆ ที่ล้วนแต่เป็นกฎหมายที่มีไว้เพื่อรักษาความปลอดภัยสาธารณะและการรักษาสาธารณูปโภคหรือสาธารณสมบัติที่ประชาชนมีไว้ใช้ร่วมกัน คือถนนหนทาง นอกจากนี้ก็ยังไม่เกรงใจผู้คนที่อาจจะได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการประกอบการต่างๆ ของพวกเขาด้วย

ทั้งนี้ ก็ด้วยมาจากต้นตอ คือการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นละเลยไม่ควบคุมกำกับหรือบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเพราะการทุจริตคอร์รัปชั่น หรือการปล่อยปละละเลยไม่เอาธุระที่ไม่เกี่ยวกับการทุจริต แต่ผลก็ออกมาไม่ได้ต่างกัน

รวมถึงข่าวใหญ่เมื่อหลายเดือนก่อน ที่ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นถึงขนาดกล้าเรียกตำรวจไปกินเลี้ยงที่บ้าน พอไม่พอใจคุยกันไม่รู้เรื่องก็สั่งให้ลูกน้องจบชีวิตเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายอย่างอุกอาจ ก็เป็นอีกเรื่องอีกภาพหนึ่งที่ชี้แสดงให้เห็นปัญหาเรื่องนี้

เหตุที่นายทุน ผู้ประกอบการ และผู้มีอิทธิพลนั้นไม่ได้เกรงกลัวต่ออำนาจรัฐและกฎหมาย นั้นก็เป็นเพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รักษากฎหมายเองนั้นก็ไม่ได้เกรงใจประชาชนด้วยอีกทอดหนึ่ง

เหตุที่ทำไมเจ้าหน้าที่รัฐไม่เกรงใจประชาชน พูดไปแล้วก็คงจะเบื่อกันเปล่าๆ แต่ก็ไม่มีคำอธิบายไหนจะสมเหตุสมผลไปกว่าว่า เรื่องนี้เป็นเพราะภายใต้การปกครองในระบอบเผด็จการรัฐประหารและสืบทอดอำนาจมาอย่างยาวนาน

เพราะตามปกติของกลไกของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนอย่างที่ควรจะเป็นนั้น เมื่อประชาชนให้อำนาจฝ่ายการเมืองเข้าไปใช้อำนาจรัฐผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเลือกตั้งระบบใดหรือรูปแบบไหนก็ตาม ก็ถือว่าผู้ใช้อำนาจรัฐฝ่ายการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชนนั้น ต้องเกรงใจและรับผิดชอบต่อประชาชนที่ทั้งเลือกและไม่เลือกตน ซึ่งฝ่ายการเมืองนี้ก็จะไปแต่งตั้งและให้คุณให้โทษแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นฝ่ายประจำอีกทอดหนึ่ง

หากระยะเวลาที่อยู่ภายใต้การปกครองของฝ่ายการเมืองที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชนมาเกือบ 10 ปีนั้นยาวนานพอที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่รู้สึกว่าจะต้องเกรงใจ หรือรับผิดชอบต่อประชาชน ผู้ควรจะต้องมองในฐานะของเจ้าของประเทศ และอำนาจสูงสุดของรัฐทั้งปวง นั่นเพราะการเข้าสู่ตำแหน่ง หรือการให้คุณให้โทษต่อหน้าที่การงานของพวกเขา มาจากฝ่ายการเมืองที่ไม่ได้มีที่มาจากประชาชนหรือต้องรับผิดชอบต่อประชาชน แตกต่างจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในระบบที่เป็นประชาธิปไตยตามที่ควรจะเป็น

นอกจากการไม่เกรงใจด้วยการทุจริตต่อหน้าที่เพื่อละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย อันเป็นหน้าที่ซึ่งประชาชนคาดหวังหรือถ้าพูดกันตรงๆ คือยอมจ่ายภาษีเพื่อจ้างหรือเลี้ยงเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มาทำงานดังกล่าวแล้ว วิธีการแก้ตัวก็แสดงให้เห็นถึงความไม่เกรงใจประชาชนเช่นกัน นั่นคือการแก้ตัวที่เหมือนกับมองว่าประชาชนนั้นโง่พอที่จะเชื่อคำแก้ตัวแบบนั้น หรือถึงไม่ได้โง่จนเชื่อ แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรพวกตนได้อยู่ดี

ตัวอย่างของย่อหน้าข้างต้นนี้ ขอให้ลองไปตามหา คำแก้ตัวเกี่ยวกับข้อสังเกตเรื่องสติ๊กเกอร์ส่วยรถบรรทุกที่ฟังอย่างไรก็ไม่ขึ้น หรือคำให้การที่กลับไปกลับมาว่าทำไมยังไม่ชั่งน้ำหนักรถบรรทุกคันที่เกิดเหตุ หรือทำไมปล่อยให้ผู้รับเหมาหรือผู้ประกอบการมาตักดินของกลางกลับไปที่ไซต์งานก่อสร้าง มาพิจารณาก็ได้ ว่าวิญญูชนจะยอมรับฟังคำแก้ตัวแบบนั้นว่าเป็นเรื่องสมเหตุสมผลหรือไม่ 

การแก้ตัวแบบขอไปทีหรืออ้างเหตุผลส่งๆ โดยไม่สนใจความน่าเชื่อถือใดๆ ทั้งเชิงข้อเท็จจริงและตรรกะ คือสิ่งที่สังเกตได้ว่าเกิดขึ้นและดำรงอยู่ภายใต้การปกครองของขั้วอำนาจเดิม เช่นเดียวกับการทุจริตและการไม่เห็นหัวประชาชนจึงเป็นร่องรอยที่หลงเหลืออยู่ของการปกครองแบบเผด็จการรัฐประหารอย่างหนึ่งที่ชัดเจน

เพราะการทุจริตคอร์รัปชั่นในลักษณะนี้นั้น ไม่ต่างจากการฉ้อโกงเอาต้นทุนและโอกาสของส่วนรวมไปเป็นประโยชน์สร้างความมั่งคั่งส่วนตน แล้วปล่อยให้คนอื่นๆ ในสังคมและประเทศเป็นผู้ร่วมจ่ายต้นทุนแห่งความมั่งคั่งนั้นให้ ทั้งในเชิงทรัพย์สินในรูปแบบของภาษี ในรูปแบบของเวลาที่ต้องสูญเสียไป เอาง่ายๆ ก็คือจากการจราจรที่ติดขัดแบบไร้เหตุผลและไม่จำเป็นที่มีสาเหตุจากการทุจริตเรียกรับประโยชน์ข้างต้น รวมทั้งต้นทุนชีวิตและร่างกาย ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุจนผู้ไม่เกี่ยวข้องต้องบาดเจ็บหรือเสียชีวิตไปโดยไม่สมควร

แม้ว่าจะไม่พอใจอะไรอย่างไรเกี่ยวกับที่มาของอำนาจ แต่ถึงกระนั้น อย่างน้อยที่สุดในขณะนี้ พรรคที่ผู้ถูกเสนอชื่อได้เป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นแกนนำรัฐบาลคือพรรค

เพื่อไทย ก็มาจากการเลือกตั้งจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน และเคยเป็นพรรคการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์กับขั้วอำนาจเดิมที่เป็นผู้ก่อรัฐประหาร คือถ้าจะมองว่าเป็นชัยชนะเบื้องต้นที่สุดของประชาชนที่จะนำประเทศกลับมาสู่ครรลองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างที่ควรจะเป็นก็ได้

ถึงในที่สุดการดำเนินนโยบายใดๆ ก็ตาม ในที่สุดจะพบอุปสรรคจนไม่อาจผลักดันไปได้อย่างลุล่วง ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าเพราะการได้เป็นรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยก็ประกอบด้วยเหตุปัจจัยหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการต่อรองเชิงอำนาจกับฝ่ายต่างๆ จนไม่อาจทำงานบริหารประเทศ หรือผลักดันโครงการต่างๆ ได้อย่างเป็นอิสระเต็มที่ก็ตาม 

แต่อย่างน้อยก็อยากจะขอไว้เรื่องนี้ คือการกำกับดูแลข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลให้การดำเนินการต่างๆ เป็นไปตามกฎหมายนั้นกลับมาสู่ระบบที่ต้องเกรงใจ หรือรับผิดชอบต่อประชาชนตามที่ควรจะเป็น ตลอดจนการขจัดการคอร์รัปชั่นหรือการแสวงประโยชน์โดยมิชอบแลกกับการยอมให้มีผู้ละเมิดกฎหมาย

ที่ผ่านมานั้น ประชาชนแพ้อดหมดหวังในทางการเมืองมาหลายเรื่องแล้ว อย่างน้อยก็ขอเรื่องนี้ให้เชื่อได้ว่า อย่างน้อยเราก็คืบเข้าไปใกล้ประชาธิปไตยที่สมควรจะเป็นอีกสักฟุตสักเมตรก็ยังดี

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image