ดุลยภาพดุลยพินิจ : ความรู้เมืองจากแผนที่ภาษีกรณีศึกษาเทศบาลนครยะลา

ดุลยภาพดุลยพินิจ : ความรู้เมืองจากแผนที่ภาษีกรณีศึกษาเทศบาลนครยะลา

เมืองเป็นแหล่งชุมนุมของผู้คนนับหมื่น/แสน เป็นแหล่งการผลิต-การจ้างงานมีร้านค้าสถานประกอบการ สร้างมูลค่าเพิ่ม การจ้างงาน และเสียภาษีให้รัฐ ภายใต้การบริหารแบบกระจายอำนาจเทศบาล และ อบต. เป็นหน่วยราชการท้องถิ่นที่มีบทบาทสูงในการผลิตบริการสาธารณะ การลงทุนพัฒนาบ้านเมืองก้าวหน้าสู่ “เมืองอัจฉริยะ” โดยใช้เทคโนโลยีและการบริหารแนวใหม่ เทศบาลนครยะลาเป็น 1 ใน 30 เมืองใหญ่เรียกว่า “เทศบาลนคร” ได้สำรวจแปลงที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประมวลเป็นแผนที่ภาษีที่น่าสนใจและมีคุณค่าช่วยให้เข้าใจเศรษฐกิจเมืองได้เป็นอย่างดี ในโอกาสนี้ขอนำงานวิจัยเล็กๆ มาเล่าสู่กันฟัง

รูปภาพที่ 1 อาณาเขตพื้นที่รับผิดชอบ เทศบาลนครยะลา

เทศบาลนครยะลา มีพื้นที่ 19.40 ตารางกิโลเมตร (รูปภาพที่ 1) ประชากรตามทะเบียนในระบบแดชบอร์ดประชาชนปี 2566 จำนวน 58,952 คน กระจายอยู่ในพื้นที่ 11 โซน โซน 2, 5, 9 มีแปลงที่ดินค่อนข้างมากจำนวน 4-5 พันแปลงในแต่ละโซน สิ่งปลูกสร้าง 2-3 พันหน่วย ร้อยละ 93 ของแปลงที่ดินเป็นโฉนดที่ดิน ที่ดินของราชพัสดุจำนวน 1,837 แปลง และการดูแลของการรถไฟ 535 แปลง จากจำนวนทั้งสิ้น 35,178 แปลง

Advertisement

รูปภาพที่ 2 จำนวนแปลงที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในเทศบาลนครยะลา 11 โซน

ใน 11 โซนของเมืองมีคุณลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น โซนศูนย์ราชการ โซนอยู่อาศัย โซนธุรกิจ โซนสถานศึกษา ฯลฯ ซึ่งส่งผลต่อมูลค่าทรัพย์สิน (รวมที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง) จากรูปภาพที่ 2 ได้ข้อสังเกตว่า โซน 3 เป็นย่านธุรกิจการพาณิชย์ โซน 7 มีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ถือเป็นแม่เหล็กทางเศรษฐกิจของเมืองเพราะการมีนักศึกษาครูบาอาจารย์นับหมื่นคนหมายถึงกำลังซื้อ และจูงใจให้มีร้านค้าสถานประกอบการ โซน 1 และ 2 เป็นย่านตลาดเก่า ประชาชนกว่า 90% เป็นชาวมุสลิม โซน 4 เป็นย่านชุมชนคนไทยเชื้อสายจีน โซน 8 พื้นที่เมืองเก่าของยะลามีร้านค้าขายปลีกจำนวนมาก โซน 6, 9 และ 10 เป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการ เช่น โรงพยาบาลยะลา สถานีตำรวจภูธรยะลา ศาลากลางจังหวัดยะลา และสำนักงานที่ดินจังหวัดยะลา

รูปภาพที่ 3 มูลค่าทรัพย์สิน (ราคาประเมิน) กระจายตามโซน

Advertisement

ราคาที่ดิน (ประเมิน) เป็นดัชนีที่สะท้อนฐานะเศรษฐกิจเมืองและใช้ประเมินภาษี ราคาสูงสุด 130,000 บาทต่อตารางวา แปลงที่ดินที่ราคาสูง (หลักแสนบาทขึ้นไป) กระจายกลุ่มอยู่ในโซน 1, 2 และ 4 รูปภาพที่ 4 แสดงการกระจายของราคาที่ดินเพื่อการเปรียบเทียบ

รูปภาพที่ 4 ราคาที่ดิน (บาทต่อตารางวา) เปรียบเทียบรายโซน

แม่เหล็กทางเศรษฐกิจของเมือง หมายถึงกิจกรรมที่ดึงดูดผู้คนจำนวนมากซื้อสินค้าหรือรับบริการ แผนที่ภาษีช่วยให้ทราบว่า แม่เหล็กฯกระจายในโซนใด ในอนาคตน่าจะมีงานวิจัย “ตัวทวีคูณท้องถิ่น” สามารถใช้แผนที่ภาษีเป็นเครื่องมือ สำรวจแหล่งการจ้างงาน-แหล่งบริโภค-หรือแหล่งผลิตสินค้าในเมืองได้เป็นอย่างดี

เทศบาลนครยะลา ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่มีการวางผังเมืองที่ดีและสวยงาม องค์การยูเนสโกประกาศให้ยะลาเป็นหนึ่งใน UNESCO Cities และเว็บไซต์หนึ่งจัดอันดับ “ยะลา” ให้เป็นผังเมืองที่ดีที่สุด อันดับที่ 23 ของโลกในปี 2560 จุดเริ่มต้นของการวางผังเมืองโดยพระรัฐกิจวิจารณ์ (สวาสดิ์ ณ นคร) อดีตข้าหลวงคนที่ 10 ของจังหวัดยะลา (พ.ศ.2456-2458) จำแนกการใช้ประโยชน์ที่ดินตามหลักวิชาการ ตัดถนนกว่า 400 สาย เชื่อมต่อกันเป็นใยแมงมุมคล้ายกับกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส การบริหารในยุคปัจจุบันผลักดันความก้าวหน้าจนทำให้ได้รับตรา “เมืองอัจฉริยะ” จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลโดยมีคุณลักษณะโดดเด่น 4 ด้าน ด้านบริหารภาครัฐ ด้านการดำรงชีวิต ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านเศรษฐกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image