คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ‘ซอฟต์เพาเวอร์’ กันอีกสักครั้ง

ยอมรับตรงๆ ว่า ค่อนข้างเอาใจช่วยนโยบายหนึ่งครอบครัว หนึ่งซอฟต์เพาเวอร์ของรัฐบาล แบบออกนอกหน้าราวกับจะยื่นใบสมัครเป็นนายแบก ไม่ใช่เพราะว่าเป็นคนในวงการเขียนหนังสือที่อาจจะได้อานิสงส์จากเรื่องนี้ รวมถึงไม่ใช่เพราะมีผู้ใหญ่ที่เคารพและมิตรสหายที่รู้จักกันหลายท่านได้เข้าไปเป็นกรรมการและอนุกรรมการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติด้วย 

แต่เป็นเพราะนโยบายนี้น่าจะเป็นเรื่องที่รัฐบาลซึ่งนำโดยพรรคเพื่อไทยผู้รับผิดชอบอย่างเต็มที่น่าจะผลักดันไปได้อย่างเต็มที่ได้โดยมีแรงต้านน้อยที่สุดแล้ว เมื่อเทียบกับนโยบายอื่นๆ ที่ดูเหมือนจะมีอุปสรรคเต็มไปหมด โดยเฉพาะเรื่องเงินดิจิทัลที่ยังไม่รู้ว่าจะได้หรือไม่ได้อย่างไร

แรงต้านที่น้อย ถ้าไม่นับเรื่องที่ถูกถากถางเสียดสี นั้นน่าจะเป็นเพราะนโยบายนี้ไม่จำเป็นต้องใช้เงินงบประมาณมากมายอะไร อาจจะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย กฎ หรือระเบียบต่างๆ บ้าง แต่ก็ไม่ได้มากมายอะไร แต่ในที่สุดแล้วมันอาจจะส่งผลในทางที่ดีต่อประเทศในระยะยาวกว่าที่คิดในหลายมิติ

ขอออกตัวก่อนว่า ถึงจะไม่ถึงกับเป็นผู้รู้จริงในเรื่องนี้ แต่ผู้เขียนก็พอจะทราบว่า นิยามอันแท้จริงของซอฟต์เพาเวอร์” (Soft power) ในความหมายของ ศาสตราจารย์ โจเซฟ ไนย์ (Joseph S. Nye) นี้เดิมเอาไว้ใช้อธิบายถึงการใช้วัฒนธรรมและค่านิยมของประเทศใดประเทศหนึ่ง กล่อมเกลาให้ผู้คนพลเมืองในประเทศอื่นมีความคิดความเชื่อที่สอดคล้องและเป็นประโยชน์ต่อนโยบายระหว่างประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของประเทศเจ้าของซอฟต์เพาเวอร์ ซึ่งเป็นอำนาจโน้มนำนอกเหนือจากการใช้อำนาจเชิงการทหารหรืออำนาจทางเศรษฐกิจการค้าโดยตรง ดังนั้นซอฟต์เพาเวอร์ในความหมายอันเคร่งครัดตามตำราก็น่าจะไม่ได้หมายความอย่างที่รัฐบาลเข้าใจ หรือที่ คุณแพทองธาร ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการยุทธ์ศาสตร์นี้กล่าวปาฐกถาในหลายงาน และก็ไม่ได้เอาไว้อธิบายการใช้อิทธิพลกับคนในชาติด้วย 

Advertisement

แต่ก็อยากลองเสนอว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่เราอาจจะขยายความไปใช้คำนี้ออกไปในความหมายที่ลื่นไหลยืดหยุ่นกว่านั้นให้รวมไปถึงการใช้สื่อและงานทางวัฒนธรรมและค่านิยมเพื่อทำงานกับผู้คนในประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมายบางประการ ซึ่งอาจจะได้ผลดีกว่าการใช้อำนาจรัฐในเชิงบังคับด้วย 

อย่างไรก็ตาม หากท่านที่เคารพใดรู้สึกว่าถ้าได้เห็นได้อ่านคำนี้ในความหมายที่ผิดไปนิยามทางวิชาการของท่านแล้วเกิดอาการคันยุบยิบจนเกินทน ถ้าไม่เลิกอ่านแล้วข้ามคอลัมน์นี้ไปสักสัปดาห์ ก็แนะนำว่าให้ลอง Copy เนื้อหาข้อความของคอลัมน์ตอนนี้ลงไปแปะใน Word หรือแอพพลิเคชั่นที่แก้ไขข้อความได้ แล้วแทนที่คำว่าซอฟต์เพาเวอร์ด้วยคำว่า ไลต์เพาเวอร์” “คัลเจอร์รัลฟอร์ซ” “อำนาจกล่อมเกลาหรือมะม่วงหาวมะนาวโห่อะไรก็ได้เท่าที่ท่านพอจะทนทานอ่านต่อไปได้ก็แล้วกัน

ความพยายามใช้การสื่อสารเพื่อสร้างค่านิยมใหม่ผ่านสื่อทางวัฒนธรรมนี้เป็นเรื่องที่มีอยู่แล้ว บางท่านอาจจะพอทราบว่าในซีรีส์ของเกาหลีใต้ ที่ผู้ชายในเรื่องถ้าเป็นฝ่ายตัวเอกแล้วนั้นส่วนใหญ่ก็จะนิสัยดี อบอุ่น สุภาพ มีความละเอียดอ่อนโรแมนติก ก็เป็นความพยายามของผู้ผลิตซีรีส์และสื่อที่ร่วมมือกันสร้างค่านิยมใหม่และปรับพฤติกรรมให้ชายชาวเกาหลีใต้เพื่อแก้ไขหรือลดปัญหาการไม่ให้เกียรติต่อผู้หญิงและลดความรุนแรงในครอบครัวที่เริ่มมาจากฝ่ายชาย นี่เป็นความพยายามในการใช้สื่อทางวัฒนธรรมเพื่อกล่อมเกลาชี้นำเปลี่ยนแปลงสังคมแทนการใช้อำนาจในระดับจริงจังอย่างอำนาจรัฐ

Advertisement

นอกจากนี้ การสื่อสารด้วยสื่อทางวัฒนธรรมนั้น ยังอาจจะใช้เพื่อหล่อเลี้ยงคุณค่าและพฤติกรรมบางอย่างในสังคมได้ด้วย เรื่องนี้ถ้าใครเคยไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นช่วงปีใหม่ คงได้เห็นว่าธรรมเนียมหรือประเพณีอย่างหนึ่งในวันปีใหม่ของคนญี่ปุ่นคือไปไหว้พระ (ซึ่งจริงๆ คือเทพเจ้าชินโต) ที่ศาลเจ้าที่ใกล้บ้านหรือศาลเจ้าที่มีชื่อเสียงเพื่อขอพรปีใหม่และซื้อเครื่องราง ซึ่งกิจกรรมประเพณีนี้ก็มีทั้งคนหนุ่มสาวหรือวัยรุ่นเองก็ยังไปเข้าร่วม บางคนก็แต่งชุดประจำชาติไปด้วย 

เรื่องนี้ถ้าใครเป็นคอการ์ตูนญี่ปุ่นหรือนิยายโดยเฉพาะแนวรักโรแมนติก ก็คงจะพอรู้ว่า ในการ์ตูนหรือนิยายหลายเรื่องได้ใช้ฉากการไปไหว้พระขอพรปีใหม่นี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการด้านความสัมพันธ์ของตัวเอก การที่ชายหญิง (รวมถึงชายชายหรือหญิงหญิง) ถ้าชวนกันไปไหว้พระปีใหม่นั้นคือการบอกว่ากำลังมีใจให้กันนี่เอง จริงอยู่ที่ไม่ว่าจะมีการใส่ฉากแบบนี้ลงไปในการ์ตูนหรือนิยายหรือไม่ คนญี่ปุ่นเองก็มีกิจกรรมไปไหว้พระไหว้เจ้าในวันปีใหม่กันอยู่แล้ว แต่การที่การ์ตูนและนิยายวัยรุ่นนำประเพณีนี้เสริมลงไปเป็นฉากสำคัญของเรื่อง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้วัยรุ่นและคนหนุ่มสาวเห็นว่าธรรมเนียมประเพณีนี้เป็นเรื่องโรแมนติกและยังร่วมสมัยอยู่ 

จนนึกเหมือนกันว่ามันจะเป็นอย่างไรนะ ถ้านิยายรักวัยรุ่นของไทย จะลองแต่งเรื่องให้คู่รัก (ไม่ว่าจะเพศใด) แสดงความสัมพันธ์ที่ก้าวหน้าด้วยการชวนกันไปใส่บาตรด้วยกันในวันปีใหม่หรือไปสวดมนต์ข้ามปีกันที่วัด

ล่าสุดของการใช้สื่อและงานทางวัฒนธรรมกล่อมเกลาจนมีผลต่อความคิดและการตัดสินใจของผู้คนในประเทศ ก็คือกรณีของภาพยนตร์จีนแนวอาชญากรรมระทึกขวัญเรื่อง No More Bets ซึ่งตีแผ่แวดวงการฉ้อโกงและค้ามนุษย์ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ผ่านโลกออนไลน์ โดยผู้สร้างอ้างว่าสร้างจากคดีจริง ส่งผลให้เกิดกระแสระแวงหวาดกลัวการมาเที่ยวประเทศไทยและประเทศรอบข้าง จนส่งผลให้ประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ต้องประท้วงทางการจีน และเป็นเรื่องเดียวกับที่รัฐบาลไทยต้องออกมาเสนอแนวทางสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวชาวจีนด้วยการขอความร่วมมือจากตำรวจจีนเพื่อมาร่วมมือให้ข้อมูลและเบาะแสเกี่ยวกับคนจีนที่อาจมาก่ออาชญากรรมในประเทศไทย รวมถึงมาร่วมลาดตระเวนในเมืองและสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อสร้างความมั่นใจอุ่นใจให้แก่นักท่องเที่ยวด้วย แต่ในที่สุดก็ถูกทัวร์ลงกันจนพับโครงการไป

คงไม่มีใครชี้ชัดได้ว่าผลของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ทำให้นักท่องเที่ยวจีนหายไปจากประเทศไทยเป็นจำนวนเท่าไร แต่จากการสำรวจออนไลน์ของจีนเอง ก็พบว่าจากกลุ่มตัวอย่างชาวจีน 54,000 คน มีถึง 85% ที่จะไม่มาเที่ยวประเทศในอาเซียนเพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย ถ้าเรื่องนี้เป็นความมุ่งหมายของรัฐบาลจีนจริงๆ ที่สนับสนุนภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อเตือนหรือลดจำนวนนักท่องเที่ยวที่อาจจะมาเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ในภูมิภาคนี้ ตามคำโปรยโฆษณาที่ว่าดูเรื่องนี้หนึ่งคน ก็ลดจำนวนเหยื่อลงได้หนึ่งคนก็เท่ากับเป็นการใช้หนังเรื่องเดียวส่งผลได้จริงตามประสงค์โดยไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจรัฐในเชิงบังคับใดๆ 

จากตัวอย่างสามเรื่องข้างต้นนี้ อาจจะพอยืดหยุ่นว่าการสื่อสารทางวัฒนธรรมต่อคนในชาติเองก็อาจเป็นรูปแบบหนึ่งของซอฟต์เพาเวอร์ได้บ้างหรือไม่?

ปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้นโยบายเกี่ยวกับซอฟต์เพาเวอร์นี้ถูกโจมตีถากถาง อาจจะเริ่มมาจากการนำคำนี้ไปประกาศเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ไม่ชัดเจนจนกลายเป็นช่องว่างให้วิพากษ์วิจารณ์ล้อเลียน แถมยังอาจจะซ้ำเติมด้วยการที่เมื่อเรื่องนี้กลายเป็นนโยบายรัฐบาลจนหน่วยงานราชการ เจ้าหน้าที่ และผู้มีตำแหน่งทั้งหลายล้วนก็ขานรับ จนทำให้คำๆ นี้กลายเป็นคำเกร่อ” (Buzz Word) ไปเสียแล้ว เรื่องอะไรก็ตามที่พอโยงเข้ามาได้จะถูกลากเข้ามาหาคำๆ นี้เสียหมด ซึ่งหลายเรื่องก็ดูไม่เข้าท่าจริงๆ นั่นแหละ เช่นว่าการที่ตัวแทนสาวไทยได้เป็นรองนางงามจักรวาลนั้นจะเป็นซอฟต์เพาเวอร์ไปได้อย่างไร ดังนั้น ถ้ามีอะไรอยากจะวิงวอนภาครัฐในฐานะของกองเชียร์นโยบายนี้ ก็อยากจะขอให้เพลาๆ การใช้คำว่าซอฟต์เพาเวอร์แบบไม่เข้าท่าเข้าทางพวกนี้ลงไปบ้าง

เพราะเชื่อว่ายุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติของรัฐบาลนั้น คงมีความมุ่งหมายคือพยายามสนับสนุนให้เกิดสินค้าประเภทงานสร้างสรรค์และผลผลิตผลทางวัฒนธรรมในด้านต่างๆ ที่สามารถขายได้ในวงกว้างในระดับโลก ซึ่งหากทำสำเร็จในที่สุดแล้วสิ่งเหล่านี้จะเป็นการหว่านเมล็ดและเพาะพันธุ์ให้เกิดซอฟต์เพาเวอร์ (ไม่ว่าจะในความหมายอย่างเคร่งครัดหรือยืดหยุ่นลื่นไหล) กลับมาได้ในที่สุด แต่สินค้าผลงานสร้างสรรค์ที่จะส่งออกไปขายในระดับโลกได้ ก็ต้องได้รับการบริโภคหรือการเสพการซื้อจากคนในประเทศได้ในระดับเป็นที่ยอมรับเสียก่อน (คงไม่มีใครอยากซื้อนิยายต่างประเทศที่ยอดขายในประเทศตัวเองรวมกันไม่เกินห้าพันเล่ม) รวมถึงการแปลงงานนั้นให้อยู่ในรูปอื่นๆ เช่นจากนิยายหรือการ์ตูนเป็นซีรีส์ 

ซึ่งก็คงเป็นการบ้านอีกชิ้นหนึ่งของกรรมการและอนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ที่จะต้องช่วยเสริมสร้างการเสพงานเชิงวัฒนธรรมในประเทศ เช่นการส่งเสริมการอ่าน หรือการเปิดช่องทางฉายภาพยนตร์ให้มีความหลากหลายรวมถึงลดอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากกฎหมายและระเบียบแนวทางปฏิบัติของทางการด้วย

ในตอนนี้เรามีนิยายและซีรีส์บอยเลิฟที่ขายได้แบบไม่ต้องสงสัยแล้ว มีภาพยนตร์หลายเรื่อง โดยเฉพาะแนวสยองขวัญที่ได้รับการยอมรับแล้วในระดับโลกจนถึงขนาดถูกฮอลลีวู้ดซื้อไปรีเมก และกำลังจะมีภาพยนตร์สยองขวัญที่ฝรั่งสร้างจากวิดิโอเกมชื่อดังของไทย มียูทูบเบอร์วัยรุ่นสาวสายโคเวอร์ที่ได้ไปทำงานร่วมกับค่ายเพลงในญี่ปุ่นจนได้ร้องเพลงเปิดในการ์ตูนแอนิเมชั่นที่กำลังฉายทางโทรทัศน์ของญี่ปุ่นในขณะนี้ ไม่ต้องพูดถึงอาหารไทยและการนวดไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกไปก่อนหน้านี้อย่างมั่นคง รวมถึงมวยไทยที่ได้รับการบรรจุให้เป็นกีฬาสากลที่อาจนำไปใช้แข่งในกีฬาโอลิมปิกได้ในอนาคต 

หากที่ผ่านมานั้นจะเป็นความจริงอย่างที่วิเคราะห์กันว่า ช่วงเวลาอันสูญเปล่านับสิบปีจากระบอบรัฐประหารสืบทอดอำนาจ ทำให้ประเทศไทยเราเสียอำนาจในการแข่งขันไปเกือบทุกด้านแล้ว แต่สิ่งที่เรายังคงเหลืออยู่ คือความเชื่อมั่นในพลังของการทำงานเชิงวัฒนธรรมของไทยที่ยังเข้มแข็ง ขอเพียงการเสริมแรงที่ถูกที่ถูกทางของทางภาครัฐ

ในแนวรบทางวัฒนธรรมนี้ ประเทศเรายังมีอาวุธและขุนศึกที่ซุ่มซ่อนไว้อยู่มากพอที่จะพลิกเกมให้เรากลับมาชนะได้ในศึกนี้ และอาจจะเป็นกุญแจดอกแรกที่จะทำให้เรากลับมาชนะสงครามการแข่งขันบนเวทีโลกได้ในที่สุดด้วย

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image