ดุลยภาพดุลยพินิจ : เศรษฐกิจติดแจก

ดุลยภาพดุลยพินิจ : เศรษฐกิจติดแจก

ในที่สุดท่านนายกฯคนใหม่ของเราก็ได้แถลงอย่างชัดเจนแล้วว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตยังเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่แต่ไม่ได้แจกให้ทุกคน คาดว่าน่าจะเริ่มจ่ายได้ในเดือนพฤษภาคม ปี 2567

การที่รัฐบาลแถลงว่ายังเป็นเงินกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่หมายความว่ารัฐบาลคิดว่าภายใน 3-4 เดือนข้างหน้านี้เศรษฐกิจไทยจะยังไม่ดีขึ้น แม้ว่าจะผ่านช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวไปแล้ว รวมทั้งผ่านฤดูเก็บเกี่ยวที่พืชผลที่มีแนวโน้มราคาสูงขึ้น แสดงว่ารัฐบาลคาดว่าสถานภาพทางเศรษฐกิจยังซึมลึกและซึมยาว เพราะต้องกระตุ้นด้วยเงินอีก 5 แสนล้านบาท เท่ากับ 1 ใน 4 ของงบประมาณแผ่นดิน ที่จริงรัฐบาลจะต้องหาสาเหตุให้ได้ว่าทำไมเศรษฐกิจไทยถึงโตช้ากว่าประเทศอื่น แม้แต่เรื่องท่องเที่ยวไทยที่เคยจัดเป็นที่ 4 ของโลกในด้านรายรับ แต่การท่องเที่ยวไทยก็ยังโตช้ากว่าประเทศอื่น อาจหมายความว่าเราพึ่งพาตลาดนักท่องเที่ยวจีนมากเกินไป ลักษณะซึมลึก ซึมยาว เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง โมเดลที่กระตุ้นเศรษฐกิจครั้งเดียวจบจะไม่อาจแก้ปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน

การวิจัยของนักวิชาการไทยยืนยันว่า คนไทยส่วนใหญ่มีการออมต่ำ มีหนี้มาก มีเงินเก็บไม่พอสำหรับวัยเกษียณ แถมมีแบบแผนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เก่งในด้านบริโภคมากกว่านำมาใช้หารายได้ การแจกจะทำให้แนวโน้มนี้ถาวรมากขึ้น กลายเป็นนิสัยติดแจก ติดการพึ่งพา ลดความจำเป็นที่จะคิดอ่านหาทางเพิ่มโอกาสทางรายได้ของตนเอง

Advertisement

ที่น่ากังวลมากก็คือ กลัวว่าเมื่อคนไทยเสพติดเศรษฐกิจติดแจก เวลาคนไทยมีปัญหาขึ้นมาก็คิดว่าก็คิดพึ่งรัฐบาลฝ่ายเดียว ดังนั้นการจะลงทุนหรือทำกิจกรรมอะไรก็จะไม่รอบคอบ ไม่คิดต้นทุนกำไรให้ชัดเจน ผู้เขียนเคยถามเกษตรกรว่า รายได้น้อยไปกู้มาไม่กลัวถูกริบที่ดินที่ไปจำนองไว้หรืออย่างไร เกษตรกรบางคนตอบว่าไม่เป็นไรหรอก พอมีหนี้เยอะๆ อีกไม่นานรัฐบาลก็ยกหนี้ให้ ซึ่งก็น่าจะจริงเพราะนักวิชาการบอกว่ารัฐบาลต่างๆ ได้รวมกันแล้วพักหนี้เกษตรกรถึง 13 ครั้งแล้ว รัฐบาลนี้ไม่ใช่รัฐบาลแรกที่ชอบแจก แต่รัฐบาลอื่นๆ ที่ผ่านมาก็ชอบแจกเหมือนกัน เพราะการแจกได้หน้าแต่ไม่แก้ปัญหา

ในประเทศสิงคโปร์ รัฐบาลไม่แจกเงินเลยในช่วงโควิด-19 ผู้คนขาดรายได้รัฐบาลก็หางานให้ทำแล้วถึงให้เงิน ถึงจะเป็นงานง่ายๆ ก็ดีกว่าแจกฟรีๆ เช่น จ้างให้คนไปยืนตามตึกต่างๆ เพื่อสอดส่องผู้ที่ไม่รักษากฎสาธารณสุข เช่น การใส่หน้ากากอนามัยหรือการรักษาระยะห่าง หรือแจกเป็นคูปองให้แรงงานไปเพิ่มทักษะของตนเองกับสถาบันการฝึกอบรมและการศึกษาต่างๆ รัฐบาลไทยอาจจะพยายามหามาตรการง่ายๆ ที่จะสร้างรายได้ให้ผู้ไม่มีงานทำให้เบาะแสเกี่ยวกับคอร์รัปชั่น เช่น คอยถ่ายรูปตำรวจที่รับส่วย แหล่งมั่วสุมการพนันต่างๆ การตรวจสอบการใช้เงินของรัฐ ฯลฯ ทั้งนี้ ต้องสามารถรายงานตรงไปยังหน่วยพิเศษซึ่งไม่ใช่ สน.ในท้องที่

หากรัฐบาลคิดจะกระตุ้นดีมานด์โดยใช้วิธีลดหย่อนภาษีให้คนออกไปใช้เงินโดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ 7 หมื่นบาทต่อเดือนขึ้นไปก็นับเป็นวิธีกระตุ้นที่ดีกว่า “แจก” แต่น่าจะเริ่มจากให้กลุ่มที่มีรายได้ตั้งแต่ 5 หมื่นบาทขึ้นไปที่ได้รับการลดหย่อนภาษี หากใช้เงินไป 1 แสนบาทก็ได้ลดหย่อนภาษี 1 หมื่นบาท หรือจะทำให้เป็นอัตราเพิ่มขึ้น ถ้าใช้เงินไป 2 แสนบาทก็ได้ลดหย่อนภาษี 1.5 หมื่นบาท เป็นต้น ซึ่งวิธีนี้ก็ไม่ต้องไปกู้ ไม่ใช่แจก แต่ถ้ารัฐบาลจะหันมาใช้วิธีนี้ก็อยากให้แก้มาตรการที่รัฐบาลชุดที่แล้วใช้ ก็คือเรื่องมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” การลดหย่อนค่าใช้จ่ายห้องพัก แต่เดิมให้ 3 พันบาทต่อวันต่อคืน ซึ่งผลประโยชน์ไปตกกับโรงแรมหรูหรือโรงแรมขนาดใหญ่ มาเป็นโรงแรมขนาด 3 ดาวลงมามากกว่า เช่นให้ปรับเป็นค่าใช้จ่ายห้องพักได้ไม่เกิน 500 บาทต่อวันต่อคืน เป็นต้น

Advertisement

สำหรับเด็กที่อายุยังไม่บรรลุนิติภาวะก็ไม่ควรแจกเงินฟรี เพราะจะเอาไปดาวน์มอเตอร์ไซค์สร้างปัญหาต่อเนื่องไปอีก ควรให้ไปเพื่อใช้ลดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษามากกว่า

การเพิ่มวันหยุดเพื่อให้มีการท่องเที่ยวมากขึ้นก็นับเป็นการแจกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน แม้การเพิ่มวันหยุดจะเพิ่ม GDP ท่องเที่ยว แต่ก็ทำให้ GDP ภาคอื่นๆ ลดลง ควรได้มีการวิจัยดูว่าคุ้มหรือไม่ ข้อสำคัญก็คือทำให้คนไทยนอกจากจะติดแจกแล้วยังติดเที่ยว มิหนำซ้ำยังยืมเงินไปเที่ยวอีกด้วย

นโยบายของรัฐบาลนี้ที่ดีและช่วยเพิ่มผลิตภาพการผลิตก็คือการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าให้เป็น 20 บาทตลอดสาย ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะนอกจากจะลดค่าครองชีพของประชาชนแล้ว ยังเป็นการสร้างนิสัยใช้ประชาชนหันมาเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ และยังเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้สาธารณูปโภคอย่างคุ้มค่าอีกด้วย การลดราคาทำให้มีคนมาให้มากขึ้น เผลอๆ ก็จะไม่ขาดทุนมากเท่าที่คิด และการใช้รถไฟฟ้ายังช่วยลดมลพิษทางอากาศ จุดอ่อนของนโยบายนี้ก็คือช่วยเหลือโฟกัสไปยังคนกรุงเทพฯ ซึ่งปกติคนกรุงเทพฯก็ได้รับประโยชน์จากการลงทุนของรัฐมากกว่าคนไทยในภูมิภาคอื่นๆ อยู่แล้ว เรื่องนี้ก็อาจหามาตรการ
อื่นๆ มาช่วยเหลือ สำหรับการลดใช้จ่ายด้านพลังงานก็น่าจะสนับสนุนปรับปรุงประสิทธิภาพของการใช้พลังงานหรือการปรับเปลี่ยนไปสู่การใช้พลังงานสะอาดมากกว่าลดราคาที่จะกระตุ้นการบริโภคให้เพิ่มขึ้น

นโยบายที่รัฐบาลควรสนใจต่อจากนี้ก็คือการสร้างสมรรถนะของประชาชน ผู้ประกอบการ สนับสนุนให้องค์กรเอกชนอิสระ วิสาหกิจชุมชน และองค์กรชุมชนต่างๆ ให้สามารถหารายได้และเพิ่มผลิตภาพ รวมไปถึงส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งจะเข้าใจความต้องการในท้องถิ่นและสามารถใช้แรงงานในท้องถิ่นให้เต็มที่ สนับสนุนและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขปัญหาของตนเอง

มาตรการหนึ่งที่อยากเห็นคือ รัฐอาจส่งเสริมและสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ที่เดินทางกลับท้องถิ่นไปเพิ่มทักษะในการหารายได้ให้ตนเอง ส่วนคนที่เห็นลู่ทางเขียนโครงการได้รัฐจะอาจอนุมัติเงินกู้เพื่อเป็นเงินทุนตั้งกิจการใหม่ สรุปว่าถ้ารัฐบาลอยากแจกก็แจกได้ แต่ควรแจกแบบมีเงื่อนไข เพิ่ม ผลิตภาพการผลิต

ส่วนการเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับแจกวันหยุดมากที่สุดก็ลองวิเคราะห์วิจัยดูว่า 10 ปีที่ผ่านมา ผลิตภาพของข้าราชการไทยเพิ่มมากหรือไม่ ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เคยเสนอว่า สมรรถนะของราชการไทยต่ำที่สุดในอาเซียนมาเป็น 10 ปีแล้ว ลองหาทางปฏิรูประบบราชการก่อนแล้วค่อยขึ้นเงินเดือนจะดีกว่า แต่ถ้าจะขึ้นเงินเดือนตามสมรรถนะก็ให้สร้างเกณฑ์วัดขึ้นมา อย่าไปขึ้นให้ทุกคนเช่น ตำรวจที่ไม่จับผู้ร้าย หรือข้าราชการที่ไม่บังคับใช้กฎหมายที่ตนดูแล และก็อย่าไปเอาเงินเดือนข้าราชการไปเทียบกับเงินเดือนเอกชนที่ กทม. เพราะในต่างจังหวัดนั้นเงินเดือนราชการถือว่าดีที่สุดแล้ว

รัฐบาลนี้เข้ามาอย่างถูกต้องตามครรลองประชาธิปไตย ประชาชนจึงคิดว่ามีสิทธิร่วมออกความเห็น อยากให้รัฐบาลใหม่เลิกคิดแบบการเมืองเก่าๆ ว่าผู้ออกความเห็นต้องการดิสเครดิตรัฐบาล บนฐานข้อมูลและผลที่ได้ในเบื้องต้นคราวนี้ก็คือ นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตมีความโปร่งใสและมีเหตุผลมากขึ้น บทเรียนสำคัญนโยบายควรมีการคิดวิเคราะห์วิจัยอย่างรอบคอบไม่ใช่ดึงจากกระเป๋าแบบโดราเอมอน ประเทศก็ไม่สามารถก้าวข้ามกับดักวงจรอุบาทว์เรื่องรายได้ต่ำและความเหลื่อมล้ำได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image