สุจิตต์ วงษ์เทศ : บ้านเกิดไกรทอง (ผู้ปราบชาละวัน) อยู่บางกรวย จ. นนทบุรี

รูปปั้นไกรทองผู้ปราบชาละวันที่อยู่ในศาล (ภาพถ่ายและคำบรรยายภาพทั้งหมด โดย นราธิป ทองถนอม)

วัดบางไกรใน บ้านไกรทอง (หมอจระเข้ผู้ปราบชาละวัน) ผมไปถึงเมื่อเย็นวันอาทิตย์ 15 มกราคม 2560

โดยลัดเลาะไปทางถนนสวนผัก (เขตตลิ่งชัน กทม.) แล้วเข้าถนนแยกข้ามคลองมหาสวัสดิ์ (อ. บางกรวย จ. นนทบุรี) จากนั้นลัดผ่านหมู่บ้านจัดสรรต่างๆ อย่างสะดวกถึงวัด

มีเอกสารแจก (8 หน้า กระดาษ A4 พับครึ่ง) ปริ๊นต์เองจากเครื่อง มีประวัติย่อๆ พอได้ใจความดีเยี่ยมตามคำบอกเล่าชาวบ้าน จัดทำและพิมพ์เผยแพร่โดยชมรมนักเขียนและผู้จัดทำหนังสือวิทยาศาสตร์ (นจวท.) สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และบริษัท บิก ไลน์ จำกัด

ท่องเที่ยวท้องถิ่นมีเอกสารแจกแค่นี้ก็นับว่าสุดยอดแล้ว เพราะที่นี่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของราชธานี ดังนั้นนักวิชาการด้านนี้โดยตรง (ส่วนมาก) เขามองไม่เห็นหรอก ท้องถิ่นทำเองดีแล้ว

Advertisement

คำบอกเล่าชาวบ้านอย่างนี้ อ่านเพลินดี มีพลังกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ และมีคุณค่าวิชาการด้านประวัติศาสตร์สังคม แล้วกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ดีเพื่อท้องถิ่น

ป้ายหน้าศาลไกรทองระบุว่าไกรทองผู้ปราบชาละวันมีถิ่นฐานบ้านเกิดอยู่ที่นี่ และเป็นบรรพบุรุษของชาวบางนายไกร
ป้ายหน้าศาลไกรทองระบุว่าไกรทองผู้ปราบชาละวันมีถิ่นฐานบ้านเกิดอยู่ที่นี่ และเป็นบรรพบุรุษของชาวบางนายไกร

 

วัดบางไกรใน

ย่านบ้านไกรทอง ปัจจุบันมีวัดตั้งอยู่ เรียก วัดบางไกรใน ริมคลองบางนายไกร[ปัจจุบันคือ เลขที่ 101 หมู่ที่ 4 ถนนนครอินทร์ (พระราม 5) ต. บางขุนกอง อ. บางกรวย  จ. นนทบุรี]

วัดบางไกรใน เป็นชื่อใหม่ จากชื่อเก่าว่าวัดบางนายไกร เป็นวัดเก่ารุ่นอยุธยา อยู่ย่านเก่าคลองอ้อมนนท์ ใกล้วัดปรางค์หลวง ยุคต้นอยุธยา มีปริศนาลายแทงเกี่ยวกับจระเข้ว่า

“วัดบางนายไกร

มีตะเข้สระใหญ่              ไปไข่สระขวาง

ไข่แล้วโบกหาง              เอาคางทับไว้”

[คัดจากหนังสือ ชีวิตและผลงานของสุนทรภู่ กรมศิลปากรตรวจสอบและชำระใหม่ พิมพ์โดยคุรุสภา พ.ศ. 2530]

แผ่นป้ายของสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ดำเนินการบูรณะอุโบสถวัดบางไกรใน 2 ครั้ง พ.ศ. 2549, 2555 มีข้อความโดยสรุปว่า ประวัติของวัดไม่ปรากฏแน่ชัด แต่มีเรื่องเล่าเชิงตำนานว่า แต่เดิมมีชื่อว่า “บางนายไกร” โดยสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นที่ระลึกถึงไกรทอง (ผู้ปราบจระเข้ชาละวัน) ซึ่งมีนิวาสสถานเดิมอยู่แถบนี้

สิ่งสำคัญภายในวัด ได้แก่ อุโบสถ (เก่า) เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 7.50 เมตร ยาว 16.30 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเข้าสู่คลองบางนายไกร ด้านหลังเป็นที่ตั้งของฐานชุกชีที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิลงรักปิดทองเป็นประธานของอาคาร เมื่อพิจารณาจากรูปแบบสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมสันนิษฐานว่าอุโบสถหลังนี้คงสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย และมีการบูรณะสืบต่อมาหลายครั้ง

ไกรทอง

หมอปราบจระเข้ยุคอยุธยา เป็นชาวสวน ชื่อ ไกรทอง มีหลักแหล่งบ้านเรือนอยู่ในคลองบางกอกน้อย-อ้อมนนท์ เมืองนนทบุรี (เป็นผู้ปราบชาละวัน จระเข้นักเลงย่านแม่น้ำน่าน-ยม เมืองพิจิตร)

ไกรทอง มีบ้านเรือนหลักแหล่งอยู่ริมคลองบางนายไกร เป็นคลองแยกฝั่งตะวันตกของคลองบางกอกน้อย-อ้อมนนท์

[ปัจจุบันอยู่ระหว่างถนนพระราม 5 นครอินทร์ กับ ถนนราชพฤกษ์ อ. บางกรวย   จ. นนทบุรี]

หน้าบันอุโบสถ (เก่า) รูปไกรทองขี่ชาละวัน
หน้าบันอุโบสถ (เก่า) รูปไกรทองขี่ชาละวัน
คลองบางนายไกรและบ้านเรือนของชาวบ้านที่อยู่ริมคลองหน้าวัด
คลองบางนายไกรและบ้านเรือนของชาวบ้านที่อยู่ริมคลองหน้าวัด

สุนทรภู่  รู้ดีเรื่องไกรทอง จึงเขียนเล่าไว้ในนิราศพระประธม (พ.ณ ประมวญมารค ว่าแต่งตอนบวชเป็นภิกษุ สมัย ร.3 เมื่อ พ.ศ. 2384) โดยนั่งเรือผ่านจะไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ (จ. นครปฐม) ดังนี้

บางนายไกรไกรทองอยู่คลองนี้ ชื่อจึงมีมาทุกวันเหมือนมั่นหมาย

ไปเข่นฆ่าชาละวันให้พลันตาย  เป็นยอดชายเชี่ยวชาญการวิชา

ได้ครอบครองสองสาวชาวพิจิตร          สมสนิทนางตะเข้เสน่หา

เหมือนตัวพี่นี้ได้ครองแต่น้องยา           จะเกื้อหน้าพางามขึ้นครามครัน

 

 

ป้ายรูปทรงหลักกิโลเมตรที่ตั้งอยู่ภายในวัดเขียนว่า วัดบางไกรใน โบราณสถานศาลนายไกรทองผู้ปราบพญาชาละวัน
ป้ายรูปทรงหลักกิโลเมตรที่ตั้งอยู่ภายในวัดเขียนว่า วัดบางไกรใน โบราณสถานศาลนายไกรทองผู้ปราบพญาชาละวัน

เสมียนมี (หมื่นพรหมสมพัตสร) กวีร่วมสมัยสุนทรภู่ แต่งนิราศสุพรรณ (ราว พ.ศ. 2387)  เล่าเรื่องไกรทองเมื่อนั่งเรือผ่านจะไปเมืองสุพรรณบุรี ดังนี้

มาถึงบางนายไกรในใจจิต                     นิ่งพินิจคุ้งแควกระแสสินธุ์

ท่านผู้เฒ่าเล่าไว้เราได้ยิน                      ว่าที่ถิ่นเรือนเหย้าเจ้าไกรทอง

แต่โบราณบ้านช่องอยู่คลองนี้               เพื่อนก็มีเมียงามถึงสามสอง

ตะเภาแก้วโฉมเฉลาตะเภาทอง เป็นพี่น้องร่วมผัวไม่กลัวอาย

จึงเรียกบางนายไกรเอาไว้ชื่อ                ให้เลื่องลือกว่าจะสิ้นแผ่นดินหาย

———————————-                  ————————————-

 

ไกรทอง พระราชนิพนธ์ ร.2

ไกรทองปราบจระเข้ชาละวัน เป็นนิทานประจำถิ่น บอกเล่าปากต่อปากรู้กันกว้างขวางทั่วไป ตั้งแต่ยุคอยุธยา

สืบถึงกรุงรัตนโกสินทร์ น่าจะเป็นนิทานยอดนิยม ร.2 จึงมีพระราชนิพนธ์บทละครนอก เรื่องไกรทอง (มีคำบอกเล่ามีเหตุจากสุนทรภู่ดูแคลนเจ้านายว่าแต่งกลอนไม่ได้อย่างสำนวนชาวตลาด ร.2 จึงทรงแต่งละครนอกเป็นสำนวนปากตลาด เพื่อเป็นพยานว่าแต่งได้)

กลอนตำนาน พระราชนิพนธ์เรื่องไกรทอง มีบอกไว้ท้ายเล่มว่า

พระราชนิพนธ์ไกรทองสองเล่ม เขียนเต็มตัวผจงลงเส้นสอ

ใครติเตียนแล้วเจียนจะเป็นบอ  ถึงจะต่อก็เต็มยากลำบากคิด

ทรงประดิษฐ์คิดใส่ให้เป็นกลอน            ไว้รำเต้นเล่นละครงอนจริต

แต่ก่อนเก่าได้ดูอยู่เป็นนิจ                     บำรุงจิตชาวประชาข้าราชการ

สัตว์ศักดิ์สิทธิ์

จระเข้ เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์มาแต่ยุคดึกดำบรรพ์ คนหลายพันปีมาแล้วยกย่องเป็นผู้พิทักษ์แม่น้ำลำคลอง จึงสลักรูปจระเข้ไว้บนปราสาทวัดพู ใกล้แม่น้ำโขง (แขวงจำปาสัก ลาว)

นอกจากนั้นมีธงจระเข้พร้อมนิทานประเพณีทอดกฐิน

ตัวจระเข้ชำแหละเครื่องในทิ้ง แล้วตากแห้ง ทำเครื่องดนตรีใช้ดีด เรียกจะเข้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image