อนิจจัง ไม่เที่ยง ชะตา ร่างรัฐธรรมนูญ เส้นทาง การเมือง

ชะตากรรมอันเกิดขึ้นกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ก็ดำเนินไปในลักษณาการเดียวกันกับชะตากรรมอันเกิดขึ้นกับ “ร่างรัฐธรรมนูญ”

สะท้อนลักษณะซึ่งเป็น “พลวัต”

แม้จะมีอำนาจอันแข็งแกร่งจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นเหมือนดั่ง “เกราะ” คุ้มกัน

แต่ก็ต้อง “แก้ไข” มาแล้วถึง 3 หน

Advertisement

ขณะเดียวกัน ความพยายามในการ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ที่มีเป้าหมายเพื่อสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับ “ถาวร” ขึ้นมา เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปและวางรากฐานประเทศไทย

แต่คำว่า “ถาวร” ก็ดำเนินไปอย่างมี “พลวัต”

ตัวอย่างของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นฉบับแรกที่เรียกว่า “ถาวร” พอถึง พ.ศ.2489 ก็ต้องยุติบทบาทลงชั่วคราว

Advertisement

และก็มีโอกาสหวนคืนอีกในเดือนธันวาคม 2494

ดำรงอยู่อย่างนานกระทั่งถึงรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2501 ก็ถูกเข้ามาแทนที่โดย “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2502”

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็น “ชะตากรรม” ของ “รัฐธรรมนูญ”

 

ต้องยอมรับว่า “ร่างรัฐธรรมนูญ” ภายหลังสถานการณ์รัฐประหารมีพื้นฐานมาจากบทบัญญัติมาตรา 35 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557

ดำเนินการตามสโลแกน “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”

เบื้องต้นขับเคลื่อนโดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อันมี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน

ทุ่มเททำงานตาม “คำชี้แนะ” อย่างซื่อสัตย์และมั่นคง

มั่นใจเป็นอย่างสูงว่าจะสามารถสนองเจตจำนงและความต้องการของ “คสช.” ในฐานะเจ้าของ “เรือแป๊ะ” ได้อย่างครบถ้วน

แต่พอถึงเดือนกันยายน 2558 ก็ถูก “คว่ำ”

เป็นการคว่ำโดยที่ประชุมใหญ่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตามโพยอัน “กระซิบ” ด้วยเสียงอันดังมาจากเจ้าของ “เรือแป๊ะ”

นานอีกหลายเดือนกว่า นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ จะเข้าใจ

เข้าใจว่าเหตุใดชะตากรรมของ “ร่างรัฐธรรมนูญ” จึงลงเอยอย่างนั้น เหตุใด “คสช.” จึงไม่อยากให้เดินหน้าต่อไป

นั่นก็คือ “เขาอยากอยู่ยาว”

 

คล้อยหลังการคว่ำ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ฉบับ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ก็มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้น โดยมอบหมายให้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน

ดำเนินการ “ยกร่าง” โดยมีการสืบทอดทิศทาง

1 จากมาตรา 35 ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 และ 1 จากเนื้อหาด้านหลัก อันดำรงอยู่ใน“ร่างรัฐธรรมนูญ” ฉบับ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ

และ 1 เป็นไปตามความต้องการของ “คสช.” ครบถ้วน

 

เส้นทางของ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ฉบับของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ค่อนข้างราบรื่นเพราะสามารถผ่านการทำ “ประชามติ” ท่ามกลางความพอใจของ “กองเชียร์”

มีความมั่นใจเป็นอย่างสูงว่าจะสามารถประกาศและบังคับใช้ได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2560

แต่แล้วผลสะเทือนจาก “ร่างรัฐธรรมนูญ” ฉบับผ่านประชามติเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ก็ทำให้มีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เป็นครั้งที่ 3

แก้ไขเพื่อที่จะสามารถแก้ไขเพิ่มเติม “ร่างรัฐธรรมนูญ”

ชะตากรรมของ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ จึงต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ประกาศและบังคับใช้

ไม่มีใครบอกได้ว่า “ร่างรัฐธรรมนูญ” ฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ จะเป็นอย่างร่างของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ หรือไม่

เพราะยังไม่มีการประกาศและบังคับใช้ สถานะจึงเป็นเพียง “ร่างรัฐธรรมนูญ”

โอกาสที่จะเกิดการแก้ไขอันนำไปสู่การแก้ไขก็ยังมีความเป็นไปได้อยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image