คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : เรื่องที่ถ้า ‘ไม่ได้เป็นพ่อแม่’ หรือ ‘ส.ส.’ คงไม่เข้าใจ

ไม่ว่าจะเรื่องร้ายแรงระดับที่เยาวชนสักคนก่อคดีสะเทือนขวัญ หรือเรื่องเล็กน้อยเพียงเด็กทารกร้องไห้จ้ารบกวนผู้คนบนเครื่องบิน ถ้าใครกลุ่มหนึ่งจะชี้นิ้วติฉินตำหนิพ่อแม่ หรือผู้ที่เลี้ยงดูเด็ก หรือเยาวชนนั้น ก็จะมีใครสักคนจากอีกฝั่งฟากความคิดปล่อยใช้ท่าไม้ตายหรืออาจจะเรียกว่าข้อแก้ตัวอยู่ประโยคหนึ่งว่า “…เรื่องแบบนี้ ไม่เคยเป็นพ่อแม่ไม่มีทางเข้าใจหรือไม่เคยมีลูกก็ว่าเขาได้ง่ายๆ สิ 

จากนั้นก็เป็นได้ทะเลาะกันอย่างยับเยินยืดยาวไปทุกครั้ง เพราะฝ่ายที่ไม่ซื้อ หรือไม่รับข้อแก้ตัวแบบนี้ก็จะสวนออกมาว่าเรื่องแบบนี้ไม่ต้องเคยเป็นพ่อแม่ก็ได้ เป็นผู้รู้คิดสติดีปัญญาไม่พร่องก็น่าจะรู้ว่าผิดหรือถูก หรือแม้แต่คนที่เคยมีประสบการณ์เคยเป็นพ่อเป็นแม่คนเองส่วนหนึ่งก็ไม่ได้เห็นด้วยกับข้ออ้างข้อเถียงแบบนั้นด้วยซ้ำ

เกริ่นมาอย่างนี้ไม่ใช่ว่าจะมาชวนคุยกันเรื่องการเลี้ยงลูกแต่อย่างใด เพียงแต่แวบนึกเรื่องนี้ขึ้นมาได้เมื่อเห็นการออกมาปกป้องทั้งจาก ส..คนสำคัญของพรรค และกองเชียร์ประจำด้อมส้มต่อกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิงของพรรคก้าวไกลท่านหนึ่ง ตกเป็นเป้าโจมตีเรื่องที่ตั้งสามีตนเองเป็นผู้ช่วย ส..อันเป็นตำแหน่งที่มีเงินเดือน หรือประโยชน์จากรัฐแล้ว ก็อดนึกถึงคำพูดแก้ตัวในลักษณะที่ว่า “…เรื่องแบบนี้ ไม่เคยเป็น…(เติมคำในช่องว่าง)…ก็ไม่มีทางเข้าใจขึ้นมาเสียอย่างนั้น

ถ้ายังไม่ลืมว่าก่อนหน้านี้เคยมีเรื่องที่ปรากฏข้อมูลเปิดเผยว่าบรรดาสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.หลายคนได้แต่งตั้งลูกหลาน หรือมิตรสหายของตัวเองเข้ารับตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัวกันแบบเต็มอัตราตามสิทธิอำนาจ ทั้งที่ตั้งให้ตัวเองโดยตรงและที่เอาไปฝากเลี้ยงให้เป็นทีมงานของ ส..รายอื่นที่รู้จักสนิทสนมกันก็ตาม 

Advertisement

เรื่องนี้เป็นที่ติฉินกันในหมู่ผู้คนฝ่ายประชาธิปไตยโดยมองว่าเป็นการที่ ส..เหล่านั้นผันเอางบประมาณแผ่นดินจากภาษีประชาชนมาแบกรับเลี้ยงดูลูกหลานญาติมิตรของบรรดา ส..แบบกินเงินเดือนและค่าตอบแทนคนเดียวไม่พอ ยังพาลูกหลานญาติมิตรคู่สมรสมาช่วยรับผลประโยชน์ด้วย เหตุควรตำหนินี้จึงเป็นเหมือนข้อห้ามโดยปริยายสำหรับนักการเมือง หรือ ส..ของฝ่ายประชาธิปไตยว่าถ้าเรื่องนี้เป็นเรื่องไม่ดี ดังนั้น ส..น้ำดีฝ่ายประชาธิปไตยก็ไม่น่าที่จะทำเรื่องนี้เช่นเดียวกับ ส..ที่เคยไปว่าเขาไว้ 

เมื่อความปรากฏว่า ส..หญิงของพรรคนั้นแต่งตั้งสามีของตนให้ทำงานในตำแหน่งเช่นนั้นและกินเงินเดือนจากรัฐ ก็เป็นธรรมดาที่ต้องถูกย้อนรอยนำมาเปรียบเทียบกัน โดยเฉพาะกับฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพรรคก้าวไกล หรือแม้แต่เพียงแค่หมั่นไส้ก็ตาม

จริงๆ แล้วการตั้งสามี บุตรหลาน มิตรสหาย มาเป็นผู้ช่วยดำเนินการ หรือทีมงานของสมาชิกรัฐสภานั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่สมควรหรือไม่ เรื่องนี้ ส..ชื่อดังอย่าง นายวันชัย สอนศิริ เคยออกมาให้ความเห็นในครั้งที่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และมีข้อติฉินในลักษณะเดียวกันนี้ว่าการตั้งภรรยา ลูก หรือเครือญาติ เข้ามาช่วยงานนั้น หากเขาทำงานจริงๆ ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าตั้งมาอยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำงานอะไร จึงควรถือว่าเป็นเรื่องที่ควรประณาม 

Advertisement

คำตอบของนายวันชัยจริงๆ ก็เป็นไปในทางเดียวกันกับนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส..บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่เห็นว่ากรณีของ ส..หญิงข้างต้นนั้น “…ความสำคัญอยู่ที่ว่า ตั้งใครแล้วคนนั้นเขาทำงานจริงหรือไม่ อยู่ในบทบาทจริงหรือไม่ ไปถามคนในพื้นที่ได้ว่าเขาทำงานจริง หรือตั้งไว้เฉยๆ…” 

จับเอาเฉพาะใจความ หรือสาระ คือคุณวันชัยและคุณวิโรจน์อย่างน้อยก็เห็นตรงกันว่า การที่สมาชิกรัฐสภา (ไม่ว่าในฐานะ สนช. ..หรือ ส..) แต่งตั้งคนที่รู้จัก หรือเครือญาติให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยงานส่วนตัวที่ได้รับค่าตอบแทนจากรัฐตามสิทธิอำนาจ หากตั้งมาแล้วผู้ได้รับการแต่งตั้งทำงานจริงก็ไม่ใช่เรื่องผิดร้ายฉ้อฉลอะไร ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นและเหตุผลของกองเชียร์พรรคก้าวไกลหลายท่าน

โดยทั่วไปแล้วมนุษย์เรามีวิธีชี้ผิดชี้ถูกว่าสิ่งไหนควรทำ หรือไม่ควรทำด้วยกันสองวิธี ได้แก่ การใช้ตรรกะกับความรู้สึกซึ่งทั้งสองวิธีต่างก็เป็นการใช้เหตุผลด้วยกันทั้งคู่ หากเราจะยอมรับว่าความรู้สึกนั้นก็คือเหตุผลอย่างหนึ่ง (เหมือนชื่อหนังสือ ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ เล่ม 19 ของพี่ตุ้ม หนุ่มเมืองจันท์ นั่นแหละ)

การใช้ตรรกะเป็นเครื่องชี้วัดนั้นคือการวิเคราะห์ด้วยระเบียบวิธีคิดที่มาจากความรู้มาเปรียบเทียบกับหลักการว่า หากเป็นตัวเราในสถานการณ์นั้น ด้วยเหตุผลและข้อมูลที่เรามี เราจะทำหรือไม่ทำเรื่องนั้น หรือสิ่งนั้น ถ้าเราไตร่ตรองแล้วน่าจะทำก็แปลว่าสิ่งนั้น (น่าจะ) “ถูกแต่ถ้าเราไม่ทำ สิ่งนั้นก็ (น่าจะ) “ผิดส่วนการใช้ความรู้สึกก็ไม่ได้ต่างกัน คือการใช้ความรู้สึกของเรามาตรวจวัดว่าในสถานการณ์เช่นนั้นเราจะรู้สึกอย่างไร และความรู้สึกนั้นจะทำให้เราตัดสินใจทำ หรือไม่ทำในเรื่องนั้นไปในทางใด 

วิธีการนำไปสู่เหตุผลทั้งสองรูปแบบมีช่องว่างและจุดอ่อนกันคนละแบบ การใช้เหตุผลเชิงความรู้สึกเป็นเรื่องอัตวิสัย เพราะสิ่งที่เรารู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติหรือทำได้นั้น คนอื่นในสังคมอาจจะไม่ได้รู้สึกอย่างนั้นด้วยก็ได้ ส่วนการใช้เหตุผลเชิงตรรกะก็ต้องแน่ใจว่าตรรกะของเรามีระเบียบวิธีอันสมเหตุสมผลหรือไม่ หลักการที่เรายึดถือถูกต้องชอบธรรมแล้วหรือเปล่า และข้อมูล ความรู้ หรือประสบการณ์ที่เรานำมาใช้เป็นเครื่องมือในการชี้วัดไตร่ตรอง เป็นข้อมูลที่ถูกต้องรอบด้านแล้วหรือยัง

ตัวอย่างเรื่องทารก หรือเด็กเล็กร้องไห้งอแงบนเครื่องบินอาจเป็นตัวอย่างที่ดีของเรื่องนี้ได้ นั่นคือคนที่ไม่เคยมีลูกอาจจะตัดสินและตำหนิไปว่าการที่พ่อแม่ปล่อยให้เด็กร้องไห้โยเยบนเครื่องบินเป็นเพราะไม่สามารถจัดการดูแลลูกได้ดีพอจนก่อความเดือดร้อนรำคาญให้ผู้โดยสารคนอื่น ทำไมไม่รีบทำให้เด็กหยุดร้อง ถ้าไม่พร้อมจะเอาเด็กเล็กมาขึ้นเครื่องบินมาทำไม ฯลฯ 

แต่สำหรับผู้ที่มีประสบการณ์เป็นพ่อเป็นแม่ หรือเคยเลี้ยงเด็กจะรู้ว่าการที่เด็กร้องไห้มีปัจจัยหลายอย่างที่ยากต่อการควบคุม รวมถึงมีปัจจัยที่ต้องวัดด้วยประสบการณ์ เช่น เรื่องเสียง สภาวะแวดล้อม รวมถึงความกดอากาศต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดความไม่สบายเนื้อสบายตัว ซึ่งเด็กแต่ละคนก็จะตอบสนองไม่เท่ากัน เช่นนี้ การทำให้ทารก หรือเด็กเล็กหยุดร้องไห้ หรือสงบลงจนไม่รบกวนผู้โดยสารท่านอื่นไม่ใช่เรื่องที่ทำได้โดยง่ายแบบปิดสวิตช์ ด้วยประสบการณ์และความรู้สึกว่าถ้าเป็นลูกเรา เราก็ไม่ใช่ว่าจะควบคุมได้โดยสมบูรณ์แบบเช่นกันนั้นก็ทำให้เข้าใจ หรือเห็นใจพ่อแม่ หรือผู้ที่กำลังประสบปัญหากลืนไม่เข้าคายไม่ออกได้ง่ายกว่าคนที่ไม่มีประสบการณ์ที่อาจจะตัดสินด้วยตรรกะเพียงว่าพ่อแม่ต้องรู้วิธีรับมือกับลูกและจัดการให้เด็กไม่รบกวนผู้อื่นในที่สาธารณะ

เพราะยังมีสิ่งที่ต้องอาศัยประสบการณ์จึงจะรู้ หรือเข้าใจและตัดสินชี้ผิดถูกได้นี่เองเป็นเหตุให้เราได้พบว่าใครสักคนที่เคยวิเคราะห์วิพากษ์ประเด็นเรื่องใดเรื่องหนึ่งไว้อย่างเผ็ดร้อนด้วยการใช้หลักการ ตรรกะและเหตุผล แต่เมื่อตัวเองได้สัมผัสประสบการณ์เรื่องนั้นด้วยตนเองแล้วก็เปลี่ยนความคิด หรือการชี้ผิดถูกของตนไป

แม้จะยังไม่ได้ไปรื้อค้นว่าคุณวิโรจน์เคยให้สัมภาษณ์ในกรณีของ ส.. หรือย้อนหลังไปถึง สนช.นี้ว่าอย่างไร แต่เรื่องนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่พรรคก้าวไกลและฝ่ายก้าวหน้าประชาธิปไตยที่ได้เข้าไปมีตำแหน่งที่มีที่ได้ใช้อำนาจรัฐแล้ว ก็ได้รับประสบการณ์บางอย่างที่ถ้า หรือมีประสบการณ์เช่นนั้น หรือไม่ได้ไม่เคยเข้าไปอยู่ในตำแหน่งนั้นก็คงยากต่อการทำความเข้าใจ หรือตัดสินได้เพียงโดยตรรกะความรู้ความเข้าใจเพียงอย่างเดียวประสบการณ์นี้เองที่ทำให้มองรอบด้านขึ้นว่า ไอ้สิ่งที่ตัวเองเคยคิดว่าไม่ดีไม่สมควรนั้นจริงๆ แล้วมันก็มีเหตุผลที่เข้าใจได้ว่าทำไมต้องเป็นเช่นนั้น 

อย่างการตั้งคนไว้ใจใกล้ชิดให้เป็นทีมงานหรือผู้ช่วยนี้ ก็เป็นว่าเมื่อมามีประสบการณ์ในการเป็นสมาชิกรัฐสภาเข้าจริงๆ แล้วก็ได้รู้ว่าเรื่องนี้มันสมเหตุสมผลอยู่ หรืออย่างน้อยก็ไม่ใช่เรื่องผิดบาปเลวร้าย เป็นเรื่องเอื้อประโยชน์โดยไม่ชอบอะไรขนาดนั้น เพราะผู้ช่วยงานในตำแหน่งใดก็ตามก็ต้องเป็นคนที่ไว้ใจได้พอที่จะให้มาใกล้ชิด หรือได้รู้ความเคลื่อนไหว หรือความลับ หรือผู้เชี่ยวชาญประจำตัวก็ต้องเป็นคนที่ผู้แต่งตั้งยอมรับในความเชี่ยวชาญ หรือความรู้ความสามารถ เช่นนี้หากถอดเอาเรื่องความไม่ชอบธรรมของที่มาของตัว ส..เองออกไปแล้ว เรื่องเขาจะไปตั้งลูกแต่งสามี หรือภรรยา ให้ทำหน้าที่อะไรเป็นการส่วนตัวแม้จะได้รับค่าตอบแทนจากรัฐก็อาจจะไม่ใช่เรื่องฉ้อฉลไม่สมควรจริงๆ ก็ได้ และหาก ส..คนใดจะทำเช่นนั้นบ้างก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาตำหนิกัน

ก่อนหน้านี้ถ้าใครจำได้ก็เคยมีเรื่องที่บรรดา ส..ของพรรคก้าวไกลส่วนหนึ่งเคยมีความคิดความเชื่ออย่างหนึ่ง แต่ครั้งเมื่อได้เข้ามามีตำแหน่งหน้าที่เข้าจริงๆ แล้วประสบการณ์ก็ช่วยให้เปลี่ยนความคิดไปได้ คือเดิมทีแล้ว ส.. หรือผู้สนับสนุนของพรรคก้าวไกลตั้งแต่สมัยเป็นพรรคอนาคตใหม่อาจจะเคยเห็นว่าหน้าที่ของ ส..คือการทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรในทางนิติบัญญัติที่จะเสนอและเห็นชอบการตรากฎหมาย และการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลที่เป็นฝ่ายบริหารเท่านั้น ส่วนเรื่องการไปบวช งานศพ หรือลงพื้นที่ช่วยฉีดวัคซีนให้สุนัขและแมวของชาวบ้าน ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วม หรือซ่อมสะพานนั้นเป็นเรื่องของการเมืองท้องถิ่นอย่าง ส.. .. สมาชิก หรือผู้บริหารเทศบาล หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามหลักการกระจายอำนาจโดยแท้ที่ ส..ในแบบการเมืองใหม่นั้นไม่ควรเข้าไปยุ่ง 

แต่หลังจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมานี้เราจะได้เห็น ส..จากพรรคก้าวไกลทำตัวน่ารักกับชาวบ้านมากขึ้น เรียกว่างานบวชต้องได้พบ งานศพไม่เห็นขาด ถ้าพอมีอะไรเหลือพอช่วยประชาชนในเขตเลือกตั้งได้ ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรง หรือสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย ก็อาจจะใช้เงินส่วนตัว หรือเรี่ยไรกันมาบรรเทาปัญหาไปก่อนได้ แทนที่จะต้องเสนอเรื่องให้ทางเขตผ่าน กทม.เพื่อให้มาเปลี่ยนปลั๊กไฟในศาลาพักผ่อนของชุมชนที่กำลังเสีย และมีไฟรั่วอาจเป็นอันตรายต่อเด็กๆ ไปทำไม ในเมื่อควักเงินอย่างมากสี่ซ้าห้าร้อยบาทก็ไปซื้อปลั๊กไฟใหม่เอี่ยมได้มาตรฐาน มอก.มาติดตั้งให้ใหม่ได้เดี๋ยวนี้เลย

นี่เป็นตัวอย่างของเรื่องที่ประสบการณ์จะมาช่วยขัดเกลาหลักการให้เรียบเนียนยืดหยุ่นขึ้น และจะช่วยให้การทำงานการเมืองของทางพรรคที่ได้ชื่อว่าก้าวหน้าพยายามยึดถือหลักการเป็นการเมืองใหม่จะได้ปรับตัวอยู่ในโลกการเมืองได้อย่างสอดคล้องขึ้นกว่าการใช้อุดมคติและเหตุผลเป็นเครื่องชี้นำอยู่เครื่องมือเดียว

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image