พระผู้เป็นครูแห่งแผ่นดิน : โดย รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

หากย้อนกลับไปในปี 2554 ปีนั้นเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยมติคณะรัฐมนตรีในยุคนั้นได้มีการถวายพระราชสมัญญานาม “พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน”

วันที่ 16 มกราคม ของทุกปีเป็นวันสำคัญของผู้ประกอบวิชาชีพครู ทั้งนี้ เพราะกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานเลขาธิการคุรุสภากำหนดจัดงานวันครู ซึ่งในปีนี้คณะกรรมการจัดงานได้ให้ความสำคัญต่อการรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยใช้ธีมงานว่า “พระผู้เป็นบูรพาจารย์แห่งแผ่นดิน”

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่พสกนิกรชาวไทยและนานาประเทศ ยกย่องว่าเป็นปราชญ์แห่งศาสตร์แขนงต่างๆ และเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ ด้วยตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์พระองค์ได้ทรงทุ่มเทพระปรีชาสามารถก่อเกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินับพันโครงการเพื่อช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรทั่วหล้า ที่สำคัญทุกโครงการล้วนเป็นโครงการที่ยกระดับคุณภาพชีวิตพสกนิกรให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข ซึ่งจะหาพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในโลกนี้ที่ทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตายิ่งใหญ่เสมอพระองค์ได้ ที่สำคัญทุกโครงการและทุกพระราชกระแสล้วนแล้วแต่เป็นต้นแบบให้คนรุ่นหลังได้เดินตามรอยที่พระองค์ทรงชี้ทางสว่างให้ทั้งสิ้น และเหนือสิ่งอื่นใดพระองค์จึงเปรียบเสมือนครูของแผ่นดินที่แท้จริง

ครูเป็นวิชาชีพที่ได้รับการยอมรับในสังคมไทยมายาวนานถึงแม้ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนผ่านไป อย่างไรก็ตาม ครูยังเป็นปูชนียบุคคลที่สำคัญ ครูยังเป็นเรือทองประคองสังคมและเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาของสังคมไทยตลอดไป

Advertisement

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวาระที่วันครูบรรจบครบรอบอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 16 มกราคม 2560 ผู้เขียนในฐานะครูคนหนึ่ง ขอถือโอกาสนี้กระชับวงล้อมปันความคิดเพื่อเสริมเติมเต็มให้ผู้ประกอบวิชาชีพครู ตลอดจนบุคคลและองค์กรที่เกี่ยวข้องจะได้ร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาการศึกษาของชาติให้ก้าวไปข้างหน้าและตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ตลอดจนการเดินตามนโยบายรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเหนือสิ่งอื่นใดคือการก้าวข้ามกับดักและหลุมดำที่กัดกร่อนการศึกษาของชาติมายาวนาน ที่สำคัญการบ้านหรือโจทย์ที่สังคมมอบให้ผู้เกี่ยวข้องได้ดำเนินการ บริหารจัดการให้การศึกษาของชาติทัดเทียมกับนานาประเทศ

มักมีผู้กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาจะสำเร็จได้ ครูคือหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อน แต่ในทางกลับกันวันนี้พบว่าวิถีความเป็นครูต่างจากผู้ประกอบวิชาชีพครูในอดีตด้วยสังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ด้วยสังคมที่สะสมไปด้วยความต้องการที่ขาดความพอเพียง จึงส่งผลต่อครูผู้มีส่วนสำคัญในการจัดการศึกษา

กระทรวงศึกษาธิการ โดยรัฐมนตรีว่าการและทีมงานทุกยุคต่างกำหนดวิสัยทัศน์เพื่อการพัฒนาและผลิตบัณฑิตวิชาชีพครูที่หลากหลาย แต่รูปแบบและนวัตกรรมที่นำไปสู่การปฏิบัติไม่คงที่ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อเปลี่ยนผู้กำหนดทิศทางอนาคตการศึกษาของชาติทุกครั้ง

Advertisement

หลายปีที่ผ่านมาผู้คนในสังคมยังไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างเป็นรูปธรรมว่ารัฐมนตรีคนใดซึ่งมีที่มาแตกต่างกันไม่ว่าจะมาจากนักวิชาการ นักบริหารธุรกิจ นักการศึกษา และนักการเมือง ใครเป็นผู้ที่ทำให้ครูและการศึกษาของชาติก้าวไกลไปจากปัจจุบัน และคำถามตลอดจนกระแสเรียกหาก็คงจะตราตรึงกับสังคมตลอดไปตราบใดที่ครูและการศึกษายังเป็นอยู่ดังปัจจุบัน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบคำขวัญวันครูประจำปี 2560 ว่า “ชาติพัฒนา ด้วยครูดี มีคุณภาพ ศิษย์ซาบซึ้งในพระคุณครู” และหากย้อนไปในวันครูประจำปี 2559

คำขวัญที่นายกรัฐมนตรีมอบไว้แก่ครูคือ “อนาคตก้าวไกล ด้วยครูดี มีคุณภาพ” คำขวัญวันครูที่นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำประเทศทุกท่านได้มอบเพื่อครูนั้น เป็นเพียงแนวคิดหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าผู้นำต้องการหรืออยากจะเห็นครูมีส่วนในการพัฒนาการศึกษาของชาติอย่างไร แต่ด้วยคำขวัญวันครูที่มีมานานนับหกสิบปียังไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่าครูได้นำไปสู่การปฏิบัติมากน้อยแค่ไหน

พูดถึงคำขวัญหรือปรัชญาตลอดจนปณิธานที่บุคคลหรือองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะสถาบันการผลิตครูอย่างวิทยาลัยครูในอดีต ซึ่งมีบทบาทหน้าที่โดยตรงในการผลิตนักศึกษาหรือบัณฑิตวิชาชีพครูล้วนแล้วแต่มีข้อคิด เพื่อให้ศิษย์ของสถาบันนำไปสู่การประกอบวิชาชีพในอนาคตโดยเฉพาะความเป็นครู ผู้เขียนใคร่ขอยกตัวอย่างคำขวัญของวิทยาลัยครูแห่งหนึ่งคือ วิทยาลัยครูสวนสุนันทา ที่ได้ชื่อว่ามีความเป็นเลิศในการผลิตครูเมื่อในอดีตที่ผ่านมา มีความว่า “ชาติคงอยู่เพราะครูดี” ด้วยข้อความที่สั้นแต่กระชับไปด้วยสาระที่ครูของทุกสถาบันการศึกษาควรที่จะนำไปสู่การปฏิบัติสำหรับการประกอบวิชาชีพ เพราะวันนี้ประเทศชาติหรือสังคมจะคงอยู่ก็เพราะครูดี ครูที่มีคุณภาพ ครูที่เป็นครูมืออาชีพอย่างแท้จริงจึงเป็นที่มุ่งหวังของทุกภาคส่วน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้มีกระแสพระราชดำรัสตอนหนึ่งที่มีต่อครูอาวุโสในโอกาสเข้าเฝ้าฯ ที่พระตำหนักจิตรดารโหฐาน วันที่ 21 ตุลาคม 2521 ความว่า “ถ้าครูไม่ห่วงประโยชน์ที่ควรจะห่วง หันไปห่วงอำนาจ ห่วงตำแหน่ง ห่วงสิทธิและห่วงรายได้กันมากๆ เข้าและจะเอาจิตใจที่ไหนมาห่วงความรู้ ความดี ความเจริญของเด็ก ความห่วงใยในสิ่งเหล่านั้นก็จะค่อยๆ บั่นทอนทำลายความเป็นครูไปจนหมดสิ้น จะไม่มีอะไรเหลือไว้พอที่ตัวเองจะภาคภูมิใจหรือผูกใจใครไว้ได้ ความเป็นครูก็จะไม่มีค่าเหลือให้เป็นที่เคารพบูชาอีกต่อไป”

ด้วยพระราชดำรัสที่ทรงคุณค่ายิ่ง หากครูตลอดจนผู้เกี่ยวข้องในแวดวงการศึกษาตระหนักและสำนึกน้อมนำไปปฏิบัติจะก่อเกิดผลดีต่อการดำเนินชีวิตและสังคมโดยรวม ทั้งนี้ เพราะพระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดินทรงเห็นแล้วว่าครูคือผู้มีส่วนสำคัญยิ่งต่อสังคมไทย โดยเฉพาะการสร้างเด็กหรือพัฒนาทุนมนุษย์ดังที่พระองค์ท่านได้ทรงปฏิบัติให้เห็นเป็นต้นแบบมาแล้ว

วันนี้โลกเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 สังคมโลกจึงเป็นสังคมแห่งการแข่งขัน ประกอบกับรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนตลอดจนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามยุทธศาสตร์ 4.0 จึงมีคำถามมาสู่สังคมการศึกษาว่า ถ้าจะปั้นเด็กไทยให้ก้าวไกลถึง 4.0 ใครคือผู้นำ แน่นอนหนึ่งในปัจจัยและตัวเลือกของคำตอบคงหนีไม่พ้นครูที่จะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนการศึกษาของชาติอย่างแท้จริง ครูจึงจำเป็นต้องปรับตนเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง นวัตกรรมและเทคนิคการสอนตลอดจนเทคโนโลยีสารสนเทศจึงเป็นหัวใจสำคัญที่ครูจะต้องแสวงหาหรือการถ่ายทอดให้ลูกศิษย์ได้รับการพัฒนาที่ดีที่สุด

ม.ล.ปิ่น มาลากุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้หนึ่งที่ได้สร้างคุณูปการให้แก่วงการศึกษาไทยเป็นอย่างมาก ครั้งหนึ่ง ท่านได้สะท้อนแนวคิดถึงครูเพื่อให้ครูตระหนักในความเป็นครูหรือมีความอดทนมุ่งมั่นต่อการสร้างศิษย์ให้มีความเจริญก้าวหน้า แม้จะใช้เวลามากน้อยแค่ไหนก็ตาม ความตอนหนึ่งว่า “การอบรมบ่มนิสัยให้ศิษย์นั้น เพียงแต่วันละนาทียังดีถม ศิษย์จะดีมีชื่อหรือล่มจ่ม อาจเป็นเพราะอบรมหนึ่งนาที” แต่วันนี้ครู (บางโรงเรียน บางคน) ไม่ค่อยที่จะมีเวลาให้ศิษย์มากนัก ทั้งนี้ อาจจะเป็นด้วยภาระหน้าที่ที่เสริมเข้ามานอกเหนือจากภาระหลักที่โรงเรียนมอบหมาย หรืออาจจะเป็นเพราะวิถีชีวิตส่วนตัวของครูแต่ละคน

อย่างไรก็ตาม วันนี้สังคมเริ่มเห็นใจและเข้าใจครูมากขึ้นต่อความหนักในหน้าที่และบทบาทที่มีต่อศิษย์และที่น่าสังเกตจะเห็นได้ว่าครูวันนี้ไม่เคยออกมาเรียกร้องเพื่อสิทธิ ตลอดจนปัญหาที่ตนเองสร้างหรือด้วยปัจจัยใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าในวิชาชีพ การเข้าสู่ตำแหน่งหรือหนี้สินต่างๆ อย่างในอดีตที่ผ่านมา ทั้งนี้ อาจจะอนุมานได้ว่าเป็นเพราะว่าครูตระหนักในหน้าที่และความรับผิดชอบมากขึ้นยิ่ง เมื่อผลการประเมินการศึกษาที่ส่งผลให้คะแนนของศิษย์โดยรวมทั้งประเทศตกต่ำ หรือเพราะวันนี้ครูไม่มีแกนนำอย่างในอดีตที่คอยจับครูเป็นตัวประกัน โดยอาศัยจิตวิญญาณของความเป็นครูประท้วงหรือเรียกร้องต่อรองด้วยวิธีการต่างๆ
ล่าสุดรัฐบาลได้ปรับ ครม.บางตำแหน่ง หนึ่งในนั้นคือกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการคนใหม่นาม นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้ที่บอกว่า “ผมมากับดวง” รัฐมนตรีท่านนี้จะเป็นความหวังใหม่สำหรับการศึกษาและครูได้มากน้อยแค่ไหน เวลาและผลงานจะเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่เมื่อไม่นานมานี้รัฐมนตรีได้แสดงวิสัยทัศน์ด้านการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การศึกษาชาติด้วยการปาฐกถาเนื่องในงาน วัน “กำพล วัชรพล” ที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2560 ต่อหน้าครู ผู้บริหารการศึกษา สื่อมวลชน การนำเสนอมุมมองของรัฐมนตรีในวันนั้นถือได้ว่าเป็นการปาฐกถาที่ทรงคุณค่ายิ่ง ซึ่งขออนุญาตถ่ายทอดมายังครูและผู้สนใจทางการศึกษา

ความตอนหนึ่งรัฐมนตรีกล่าวว่า “จะนำพระราชดำรัสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในโอกาสคณะรัฐมนตรีที่ปรับใหม่ เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณฯ มาถ่ายทอดว่าให้สืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งให้ความสำคัญและติดตามการศึกษามาตลอด แม้จะทรงพระประชวร ประทับที่โรงพยาบาลศิริราชก็ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงองคมนตรีเกี่ยวกับการศึกษา แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในการจัดการศึกษาอย่างลึกซึ้ง ทรงแนะนำให้ครูต้องสอนให้เด็กมีน้ำใจไม่ใช่สอนเด็กให้แข่งขันกับเพื่อน ครูไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางเทคโนโลยีมาก แต่ต้องมุ่งปลูกฝังความดี ให้ครูรักเด็กและเด็กรักครู พร้อมจัดกิจกรรมให้นักเรียนทำงานร่วมกันเพื่อให้เห็นคุณค่าของความสามัคคี”

พร้อมกันนั้นรัฐมนตรีได้ฉายภาพให้เห็นถึงพิษภัยซึ่งเปรียบเสมือนมะเร็งร้ายที่กัดกร่อนวงการศึกษามาอย่างยาวนาน คือการต่อต้านการทุจริต

รัฐมนตรีกล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการในยุคของตนต้องโปร่งใส ไม่กินตามน้ำ ไม่มีค่าคอมมิสชั่น ไม่รับเงินใต้โต๊ะ บนโต๊ะ หรือหลังบ้าน ไม่ขโมยเงินเด็ก เงิน 100 บาท ต้องถึงมือเด็กครบทั้ง 100 บาท ไม่มีตกหล่นกลางทาง สำคัญยิ่งกว่านั้นต้องสอนเด็กให้เกลียดโกงตั้งแต่เด็ก” ฯลฯ

ในส่วนของการปฏิรูปการศึกษาและครูนั้น รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษทีมข่าวการศึกษา หนังสือพิมพ์มติชน ตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาคนมักจะบอกว่า ศธ.รวบอำนาจไว้
ที่ส่วนกลาง ซึ่งตนคิดว่าไม่ดี การปฏิรูปการศึกษาต้องปฏิรูปที่ห้องเรียน ต้องปฏิรูปครูและเพื่อไม่ให้การพัฒนาอยู่เฉพาะด้านบน เราต้องลงไปพัฒนาโรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือ ดูจากผลการประเมิน โครงการจัดสอบนักเรียนนานาชาติ ฯลฯ (มติชน วันที่ 4 มกราคม 2560,หน้า 17)

เมื่อพูดถึงการปฏิรูปการศึกษาตามแนวคิดของรัฐมนตรี โดยเฉพาะการลงไปพัฒนาโรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือ สอดคล้องกับข้อเสนอของนักวิชาการผู้มีสายเลือดครูเต็มตัวอย่าง ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เสนอได้อย่างเข้าถึงแก่นและคมชัดถึงรากเหง้าของปัญหาการศึกษา โดยให้รัฐมนตรีมองการศึกษาในมุมกว้างเปิดใจรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน ให้ฟังมากกว่านี้ โดยอย่าอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการ 1 เดือน ใช้เวลาเดินสายรับฟังปัญหาจากครู นักเรียน ผู้บริหารผู้ปกครองในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เห็นโจทย์การปฏิรูปการศึกษาและปัญหาของประเทศอย่างแท้จริง

แต่ในการปฏิรูปการศึกษาและการปฏิรูปครูนั้น ผู้เขียนฝากให้รัฐมนตรีมีมุมมองที่กว้างไกลโดยเฉพาะการนำองค์ความรู้ที่ท่านผ่านจากต่างประเทศมาประยุกต์กับวงการศึกษาและวิชาชีพครูไทย เช่น ตัวอย่างของการให้ความสำคัญต่อการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศที่มีการศึกษาดีที่สุดในโลกว่า ทำไมการศึกษาของฟินแลนด์จึงดีที่สุดในโลก ซึ่งเท่าที่ศึกษาข้อมูลพบว่าประเทศฟินแลนด์ให้ความสำคัญกับการสร้างครูดีครูเก่ง เป็นอันดับหนึ่ง อาชีพครูในฟินแลนด์ไม่ใช่ใครจะเรียนก็ได้อย่างบ้านเรา นักเรียนที่มีสิทธิเลือกเรียนครูในมหาวิทยาลัยจะต้องมีผลการเรียนดีเยี่ยมสอบได้อันดับ 1-5 ในชั้นเรียน นักศึกษาที่จะเป็นครูได้ต้องจบปริญญาโทเป็นอย่างน้อย ครูฟินแลนด์จึงเป็นครูที่เก่ง มีการศึกษาสูง รายได้งาม

ขณะที่การพัฒนาการศึกษาและครูของประเทศเพื่อนบ้านย่านอาเซียน ไม่ว่าสิงคโปร์หรือเวียดนาม วันนี้รัฐมนตรีและทีมงานต้องยอมรับว่าเขาทุ่มเทและมาแรงมากโดยเฉพาะเวียดนาม ล่าสุดในการเข้าร่วมทดสอบของ PISA ปีนี้เด็กเวียดนามทำผลงานเป็นที่จับตาของชาวโลก เมื่อสอบได้อันดับที่ 8 ของโลก ทั้งๆ ที่การทดสอบครั้งแรกเมื่อปี 2555 สอบได้อันดับที่ 17 ของโลก จากการศึกษาวิจัยของนักการศึกษาทั่วโลก พบว่าปัจจัยที่ทำให้เวียดนามประสบความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษาคือวัฒนธรรม เช่น การทำงานหนักของครู ความขยันของนักเรียนและบทบาทของพ่อแม่

ในส่วนบทบาทของครูนั้นจากการศึกษาพบว่า ครูเวียดนามจะต้องสอนภายใต้ระเบียบวินัยที่เคร่งครัด เสรีภาพน้อยเพราะถูกส่วนกลางควบคุมอย่างเข้มงวด โดยต้องรับผิดชอบงานสอนเป็นสำคัญและต้องเน้นผลการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นหลัก

นักเรียนเวียดนามเป็นคนขวนขวายมีความขยันเป็นพื้นฐาน และถูกปลูกฝังทัศนคติว่าความสำเร็จทางการศึกษาเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดของชีวิต เด็กเวียดนามจึงทุ่มเทอย่างจริงจังขยันมากกว่าเด็กชาติอื่น ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองก็มีความคาดหวังกับลูกสูง จึงติดตามผลการเรียนอย่างใกล้ชิด ที่สำคัญให้ความร่วมมือกับครูและยังช่วยระดมทุนให้โรงเรียนอีกด้วย

หันกลับมาบ้านเราแน่นอนทุกภาคส่วนต่างต้องการเห็นพัฒนาการศึกษามีความเท่าเทียมกับนานาชาติ ที่สำคัญการจัดการศึกษาในยุคของ คสช.และยุคที่รัฐบาลซึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จอย่างทุกวันนี้น่าจะทำได้ง่ายกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอดีต และคำถามที่ตามมาจากนี้ไปใครจะตอบโจทย์ได้อย่างตรงเป้า คำตอบและความหวังคงไม่ใช่อยู่ที่นโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่ครูคือผู้ที่มีส่วนสำคัญยิ่งในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงการศึกษาตัวจริง เสียงจริง ครูเป็นผู้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี สังคมให้การยอมรับการเดินหน้าเพื่อนำประเทศไทย และลูกหลานไทยไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 จึงไม่น่าที่จะพ้นขีดความสามารถ ถ้าครูทั้งประเทศ ตระหนัก สำนึก และน้อมนำคำพ่อสอนในความเป็นครูแห่งแผ่นดินที่แท้จริง ซึ่งในหลายปีที่ผ่านมาต้นแบบของพระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดินนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจในความเป็นครูให้เห็นเป็นตัวอย่างมาแล้วโดยเฉพาะในตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมา

ในเรื่องของคุณค่าทางใจของครูที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล มีดำริจะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพิจารณากำหนดมาตรฐานตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาใหม่ โดยจะขอให้กลับไปใช้มาตรฐานตำแหน่งเป็นครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ ตามระดับโรงเรียนอย่างสมัยก่อนนั้น เพื่อนครูโดยเฉพาะผู้บริหารสถานศึกษาคงไม่ต้องตระหนกตื่น เพราะนั่นเป็นเพียงการเล็งเห็นคุณค่าของคำว่าครูในอดีตที่มีมนต์ขลังต่อสังคม แต่วันนี้โลกเปลี่ยนไปมากคงไม่มีการกลับไปดังเดิมตามดำริของท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.เป็นแน่

เนื่องในวันครูปีนี้ จึงอยากให้ครูที่กระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศจงได้น้อมนำเอาพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ได้พระราชทานแก่ครูในหลายวาระ และในโอกาสต่างๆ ทั้งนี้ เพราะพระราชดำรัสที่พระองค์พระราชทานมานั้นล้วนแล้วแต่มีความสำคัญต่อผู้ประกอบวิชาชีพครูที่จะได้น้อมนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อการพัฒนาการศึกษาและการสร้างเด็กไทยซึ่งเป็นศิษย์ให้เป็นคนดี คนเก่ง สามารถนำชาติไทยให้เจริญก้าวหน้าแห่งอนาคตได้อย่างยั่งยืนสืบไป

ที่สำคัญวันนี้ครูต้องไม่ลืมพลิกใจให้พอเพียง เพื่อความสุขอย่างยั่งยืน ดังพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดินอย่างแท้จริงที่ได้พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย ซึ่งถือได้ว่าพระราชดำรัสของพระองค์ท่านทรงคุณค่ายิ่งที่ครูจะได้น้อมนำไปปฏิบัติทั้งในการดำเนินชีวิตส่วนตัว และหน้าที่การงาน ความตอนหนึ่งว่า “คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image