จาก 2550 ถึง 2559 โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

แฟ้มภาพ

 

หลายคนถามว่า ทำไมรัฐธรรมนูญประเทศไทย ถึงได้ยุ่งยากสิ้นเปลืองนัก

เดี๋ยวร่างใหม่ ประกาศใช้ แก้ได้บ้างไม่ได้บ้าง หันไปหันมาฉีกทิ้งเสียแล้ว เป็นวงจรอยู่อย่างนี้ นับไปนับมา 19 กำลังจะครบ 20 ฉบับถ้าร่างนี้ผ่าน

แค่ 2 ปีมานี้ ยกร่างกันมา 2 ฉบับ ตกไปฉบับหนึ่ง ฉบับที่สองกำลังปรับแก้

Advertisement

ได้ข่าวว่าจะรื้อใหญ่ แต่รื้อยังไง จะผ่านด่านประชามติไหม ยังต้องลุ้น

ปัญหาคงจะไม่เกิดขึ้น ถ้ารัฐธรรมนูญ จะทำหน้าที่เหมือนรัฐธรรมนูญของชาวโลกทั่วไป

กล่าวคือ ทำหน้าที่ เป็นกฎหมายสูงสุด กำหนดรูปแบบ โครงสร้างรัฐ การใช้อำนาจอธิปไตย รับรองสิทธิเสรีภาพ การตรวจสอบ ฯลฯ

แต่สำหรับประเทศไทย รัฐธรรมนูญถูกมอบหมายให้ทำหน้าที่พิเศษต่างๆ นานา โดยเฉพาะกำหนดการเมือง เป็นไปตามที่กลุ่มผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องการ

ปัญหาของรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้น จึงอยู่ที่ “ความต้องการ” ของกลุ่มผู้อยู่เบื้องหลังรัฐธรรมนูญนั่นเอง

ถ้าความต้องการนั้น เป็นเรื่องปกติธรรมดา เช่น ส.ส.-ส.ว. มาจากเลือกตั้งพรรคไหนชนะ นายกฯมาจาก ส.ส. พรรคเสียงมากเป็นรัฐบาล ฯลฯ เหมือนสากลนิยมทั่วไป คงไม่มีอะไรยาก

นำเอารัฐธรรมนูญ 2517 หรือ 2540 มารีไซเคิล ไม่ถึงเดือน คงมีรัฐธรรมนูญใช้กัน

แต่เมื่อสเปกความต้องการมีความพิสดารซับซ้อน ต้องการสร้างความเสียเปรียบได้เปรียบ หรือสกัดบางกลุ่มบางขั้ว เรื่องจึงยุ่งยากขึ้น

เพื่อสนองตอบออเดอร์พิเศษอย่างนี้ การยกร่างย่อมต้องใช้ทีมงานพิเศษที่มองตารู้ใจ จะยกร่างด้วยสภา หรือองค์กรที่มาจากประชาชนไม่ได้ เพราะความพิเศษต่างๆ อาจหายไปง่ายๆ

รอบนี้เห็นชัดเลยว่า ความยุ่งยากมีมากขึ้น ยกร่างเสร็จ เสียงวิพากษ์วิจารณ์โจมตีกระหึ่ม ขนาดคนกันเองยังไม่เอา

ยังไม่หมดแค่นั้น ยังมีด่านสำคัญอีก คือจะต้องลงประชามติ ให้ประชาชนมาโหวตรับ-ไม่รับ

การลงประชามติ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ร่างรัฐธรรมนูญ ที่ยกร่างโดยประชาชนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

ประกอบกับ รัฐธรรมนูญ 2550 แก้ยากแก้เย็น ด้วยเหตุผลว่า เพราะผ่านประชามติ ถ้าจะแก้ต้องปลดล็อก ทำประชามติก่อน สุดท้ายเลยโดนฉีกไป

อาจจะเป็นอีกเหตุผล ให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ต้องผ่านพิธีกรรมประชามติ

จากประชามติ 2550 ถึงประชามติ 2559 วิธีคิดของคนยกร่างดูจะยังไม่ค่อยเปลี่ยน แต่ความคิดของผู้มีสิทธิออกเสียงเปลี่ยนไปมากแล้ว

การคาดหวังผลทำนองเดียวกับปี 2550 จำเป็นต้องทบทวนให้รอบคอบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image