หลักนิติธรรม บทบาทและอำนาจหน้าที่ขององค์กรอัยการ ภายใต้ร่าง รธน. โดย อรรถพล ใหญ่สว่าง (จบ)

หลักนิติธรรม บทบาทและอำนาจหน้าที่ขององค์กรอัยการ ภายใต้ร่าง รธน. ฉบับ กรธ. ลงวันที่ 29 มค. 2559 (จบ)
2.2อำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการในการดำเนินคดีอาญาในชั้นศาล

พนักงานอัยการในฐานะทนายความแผ่นดินมีหน้าที่ดำเนินคดีอาญา เพื่อจัดการกับผู้กระทำความผิด ให้ได้รับโทษและรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม ดังนั้น เมื่อพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีอาญาต่อศาลแล้ว พนักงานอัยการต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบและกระทำการอื่นๆ เพื่อค้นหาความจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษที่เหมาะสม แต่ในขณะเดียวกันพนักงานอัยการก็ต้องพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของผู้ต้องหาหรือจำเลย ดังนั้น พนักงานอัยการจึงต้องให้คำแนะนำแก่จำเลยในระหว่างการดำเนินคดีอาญาในชั้นศาล และเสนอพยานหลักฐานที่เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายจำเลยด้วยในระหว่างการดำเนินคดีอาญาในชั้นศาล พนักงานอัยการไม่ใช่คู่ความกับจำเลยทางเนื้อหา พนักงานอัยการจึงต้องคุ้มครองสิทธิและประโยชน์ของสาธารณชน ดำรงในความยุติธรรมโดยปราศจากอคติ ปฏิบัติอย่างเหมาะสมทั้งต่อผู้กล่าวหาและผู้เสียหาย จึงกล่าวได้ว่าพนักงานอัยการเป็นคู่ความกับจำเลยในความหมายทางเทคนิคเท่านั้น พนักงานอัยการจะยึดถือเอาประโยชน์ฝ่ายตนเป็นคู่ความทั่วไปไม่ได้

2.3 อำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการในการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาล

ในระบบองค์กรอัยการที่สมบูรณ์ พนักงานอัยการมีหน้าที่บังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุด รวมตลอดถึงการวินิจฉัยสั่งการอันเกี่ยวกับการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดด้วย ในบางประเทศเช่นประเทศฝรั่งเศส ถ้าศาลปล่อยจำเลย พนักงานอัยการจะเป็นผู้ออกคำสั่งให้พัศดีปล่อยตัวจำเลยไป ถ้าศาลลงโทษปรับ การเก็บค่าปรับทำในนามของพนักงานอัยการ ถ้าไม่ชำระค่าปรับ พนักงานอัยการจะสั่งให้เอาตัวจำเลยไปกักขังเพื่อบังคับให้ชำระค่าปรับ ถ้าศาลลงโทษจำคุก พนักงานอัยการจะเป็นผู้แจ้งให้พัศดีทราบผลของคำพิพากษาเป็นต้น

Advertisement

3.จริยธรรมและมาตรฐานการปฏิบัติงานของพนักงานอัยการในทางสากล

จริยธรรมและมาตรฐานการปฏิบัติงานของพนักงานอัยการในทางสากล มีแก่นจริยธรรมแห่งวิชาชีพพนักงานอัยการ ตรงกันในสาระสำคัญ ประกอบด้วยหลักการใหญ่ 6 ประการ กล่าวคือ

1.ต้องรักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของการเป็นพนักงานอัยการ

Advertisement

2.ต้องมีความเที่ยงธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตและความเป็นกลาง ปราศจากอคติ ไม่ยอมให้อิทธิพลหรืออคติใดๆ มาอยู่เหนือการวินิจฉัยหรือการปฏิบัติงานของพนักงานอัยการ

3.ต้องมีความเชี่ยวชาญในวิชาชีพกฎหมายและการปฏิบัติงานสมกับการเป็นพนักงานอัยการ โดยเป็นไปอย่างรอบคอบและรวดเร็ว

4.ต้องมีจิตสำนึกที่มุ่งมั่นในการรักษาผลประโยชน์ของสาธารณชนและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

5.ต้องดำเนินบทบาทที่แข็งขันในการตรวจสอบให้ได้ความจริงตามหลักนิติธรรมเพื่อนำไปสู่ความยุติธรรม

6.ต้องปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเหมาะสมและให้ความร่วมมือที่ดีในการอำนวยความยุติธรรม

 

4.หลักการฟ้องคดีอาญาโดยพนักงานอัยการในทางสากล

ปัจจุบัน หลักการฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการที่นานาอารยะประเทศใช้นั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระบบ คือ หลักการฟ้องคดีอาญาตามกฎหมาย (Legality Principle) และหลักการฟ้องคดีอาญาตามดุลพินิจ (Opportunity Principle) ดังนี้

4.1 หลักการฟ้องคดีอาญาตามกฎหมาย (Legality Principle)

หลักการฟ้องคดีอาญาตามกฎหมาย มีหลักว่า เมื่อมีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินการสอบสวน โดยไม่คำนึงว่าจะมีการร้องทุกข์กล่าวโทษหรือไม่ เมื่อสอบสวนแล้ว พนักงานอัยการเห็นว่ามีเหตุควรเชื่อว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิดกฎหมาย พนักงานอัยการต้องยื่นฟ้องคดีอาญาต่อศาลเสมอ ซึ่งถือว่าเป็นหลักประกันแห่งความเสมอภาคตามกฎหมาย ทั้งป้องกันมิให้เกิดการใช้อิทธิพลที่มิชอบด้วยความยุติธรรมต่อการฟ้องคดีของพนักงานอัยการ และเมื่อพนักงานอัยการฟ้องคดีอาญาต่อศาลแล้วจะถอนฟ้องมิได้ เพราะถือว่าคดีอาญาอยู่ในอำนาจของศาลแล้ว โดยประเทศในทางสากลที่นำหลักการดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายมาใช้ ได้แก่ ประเทศเยอรมนี อิตาลี และสเปน เป็นต้น

4.2 หลักการฟ้องคดีอาญาตามดุลพินิจ (Opportunity Principle)

หลักการฟ้องคดีอาญาตามดุลพินิจเป็นระบบที่ให้เจ้าพนักงานฝ่ายบริหารมีบทบาทเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในกระบวนการยุติธรรม เจ้าพนักงานฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานอัยการสามารถใช้ดุลพินิจสั่งคดีอาญาได้ โดยพิจารณาถึงการค้นหาความจริง (Finds Facts) ภูมิหลังของผู้ต้องหา พยานหลักฐาน พยานบุคคลสิ่งแวดล้อม ตลอดจนนโยบายของรัฐ การปรับข้อเท็จจริงเข้ากับหลักกฎหมาย (Applies Law) รวมทั้งการพิจารณาว่าอะไรเป็นสิ่งที่พึงประสงค์ในสถานการณ์นั้นๆ ภายหลังจากที่ทราบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว (Decides what is desirable in the circumstances after the facts and the law are known.) พนักงานอัยการอาจใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องในคดีอาญาบางคดี

แม้จะปรากฏว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอและมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดทางอาญาจริง โดยให้ใช้ดุลพินิจพิจารณาตามความเหมาะสมเป็นคดีๆ ไป โดยพิจารณาไม่ยิ่งหย่อนกว่าข้อพิจารณาด้านกฎหมาย โดยเห็นว่าการลงโทษจะต้องให้เหมาะสมกับความผิด และความชั่วของผู้กระทำความผิด เพื่อให้เขาได้มีโอกาสในการปรับปรุงตนเอง ไม่กระทำความผิดเช่นนั้นซ้ำขึ้นอีก และเพื่อให้กลับสู่สังคมอีกได้ โดยประเทศในทางสากลที่ใช้หลักการดำเนินคดีอาญาตามดุลพินิจ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น เป็นต้น

5.บทบาทพนักงานอัยการฝรั่งเศสกับการใช้ดุลพินิจในการสอบสวนและดำเนินคดีอาญา

ประเทศฝรั่งเศสเป็นชาติแรกที่ก่อตั้งสถาบันอัยการขึ้น โดยแยกองค์กรอัยการออกจากองค์กรตุลาการ จนกลายมาเป็นต้นแบบของระบบองค์กรอัยการในประเทศอื่นๆ ในภาคพื้นยุโรป รวมทั้งรูปแบบขององค์กรอัยการในประเทศเยอรมนีด้วย นอกจากนี้ ภารกิจการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายคดีในเขตศาลชั้นต้นนั้นก็จะอยู่ในความอำนวยการและควบคุมดูแลของพนักงานอัยการประจำศาลชั้นต้นนั้นๆ ซึ่งพนักงานอัยการมีอำนาจรับคำร้องทุกข์และคำกล่าวโทษคดีอาญา

โดยพนักงานอัยการประจำศาลชั้นต้นมีอำนาจการสอบสวนคดีอาญาในระดับความผิดอุกฤษฏ์โทษ และระดับความผิดมัชฌิมโทษด้วยตนเองได้ เช่น ร่วมไปดูที่เกิดเหตุ ร่วมในการค้น ร่วมในการสอบปากคำผู้ต้องหาหรือพยานบุคคลต่างๆ และมีอำนาจพิจารณาสั่งสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายคดีส่งมาให้ไต่สวนเบื้องต้น ในกรณีความผิดอุกฤษฏ์โทษซึ่งหน้า รวมทั้งยังมีอำนาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายคดี ทำการสืบสวนสอบสวน เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานประกอบการพิจารณาสั่งคดีอาญาได้ทุกกรณี

ในประเทศฝรั่งเศสนั้น การฟ้องคดีอาญาเป็นอำนาจของรัฐแต่เพียงผู้เดียว โดยพนักงานอัยการจะเป็นผู้ใช้อำนาจนี้ในนามของสังคม ปัจเจกชนจะฟ้องคดีอาญาโดยตรงต่อศาลเองไม่ได้ และการฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการใช้หลักการฟ้องตามดุลพินิจ (Opportunity Principle) กล่าวคือ พนักงานอัยการจะฟ้องคดีอาญาก็ต่อเมื่อเห็นสมควรและเพื่อประโยชน์ของสังคมอย่างแท้จริง

5.1 สถานะของพนักงานอัยการในประเทศฝรั่งเศส

ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมประเทศฝรั่งเศส “ข้าราชการตุลาการ” หมายความรวมถึงพนักงานอัยการด้วย และพนักงานอัยการกับผู้พิพากษาสามารถสับเปลี่ยนหน้าที่กันได้ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตุลาการ มีอัตราเงินเดือนและสถานะเท่ากันทุกตำแหน่ง เมื่อทำหน้าที่พนักงานอัยการเรียก “ตุลาการฝ่ายอัยการ” แต่ในขณะเดียวกัน พนักงานอัยการก็เป็นผู้แทนของอำนาจบริหารในศาลยุติธรรม คุณสมบัติของพนักงานอัยการและผู้พิพากษาเหมือนกัน โดยต้องสำเร็จการศึกษาและฝึกอบรมจากศูนย์ศึกษาทางการยุติธรรมแห่งชาติ “C.N.E.J.” อย่างไรก็ดี แม้ว่าพนักงานอัยการและผู้พิพากษาถือเป็นข้าราชการตุลาการด้วยกัน โดยมีอำนาจและสิทธิต่างๆ ในทางกฎหมายที่เท่าเทียมกัน แต่พนักงานอัยการก็มีอิสระจากฝ่ายตุลาการ โดยไม่ว่าจะเป็นอัยการแห่งสาธารณรัฐ ผู้ช่วยอัยการแห่งสาธารณรัฐ รวมทั้งอธิบดีอัยการประจำศาลฎีกา และผู้ช่วยอธิบดีอัยการประจำศาลฎีกา พนักงานอัยการประจำศาลชั้นต้นและศาลสูง ผู้พิพากษา และตุลาการผู้ช่วยล้วนแต่เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรตุลาการ ซึ่งอยู่ภายใต้บทบัญญัติของรัฐกฤษฎีกา ฉบับลงวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ.1958 ว่าด้วยสถานะของตุลาการทั้งสิ้น

5.2 ความเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร

ประเทศฝรั่งเศสถือว่าพนักงานอัยการเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมและมีฐานะเป็นข้าราชการตุลาการเหมือนกับผู้พิพากษา เพียงแต่ปฏิบัติหน้าที่ต่างกันเท่านั้น โดยสามารถโยกย้ายสลับหน้าที่กันได้ แต่พนักงานอัยการกับผู้พิพากษาจะมีหน้าที่ต่างกันไปตามลักษณะเฉพาะของตำแหน่ง ดังนี้ ประการแรก พนักงานอัยการเป็นตัวแทนของอำนาจบริหาร ทำให้พนักงานอัยการมีการบังคับบัญชาตามลำดับอาวุโส โดยพนักงานอัยการต้องฟังคำสั่งและคำบังคับบัญชาของหัวหน้าพนักงานอัยการ เช่น ผู้บังคับบัญชามีคำสั่ง

ฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาพนักงานอัยการต้องปฏิบัติตามนั้น นอกจากนี้พนักงานอัยการเป็นอิสระไม่ขึ้นกับศาล ประการที่สอง พนักงานอัยการเป็นคู่ความที่จำเป็นและสำคัญในคดีอาญา ทำให้ไม่อาจถูกคัดค้านได้ แต่ผู้พิพากษาอาจถูกคัดค้านได้

5.3 ความเป็นอิสระจากฝ่ายตุลาการ

พนักงานอัยการเป็นตัวแทนของอำนาจทางฝ่ายบริหาร จึงไม่ขึ้นกับอำนาจตุลาการ ศาลไม่มีอำนาจกำหนดควบคุมการปฏิบัติของพนักงานอัยการ ไม่ว่าจะเป็นโดยทางวาจาหรือโดยกล่าวไว้ในคำพิพากษา และคำพิพากษาที่กล่าวหาหรือตำหนิการปฏิบัติหน้าที่พนักงานอัยการ จะต้องถูกยก โดยถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจของพนักงานอัยการ (คำพิพากษาศาลฎีกาลงวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ.1938) นอกจากนี้ ศาลจะไม่รับพิจารณาฟ้องของพนักงานอัยการไม่ได้ และศาลจะปฏิเสธไม่ให้พนักงานอัยการแถลงด้วยวาจาไม่ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาลงวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1892)

บทสรุปและข้อเสนอแนะ

หากพิจารณาในแง่มุมของการพัฒนาและการยกระดับของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทยผ่านจากการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ว่า การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้เพื่อนำไปใช้กับประชาชนทั้งประเทศ โดยยึดตามกรอบที่กำหนดไว้ตามมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2557 และภายใต้หลักการและแนวความคิดในส่วนที่ว่า ต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นที่ยอมรับนับถือของสากล แต่ขณะเดียวกันต้องสอดคล้องกับสภาพปัญหา ประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิตของประเทศและคนไทย ที่มีอยู่หรือเป็นอยู่ และต้องการให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการปฏิรูปและสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นให้ได้ รวมทั้งต้องการให้มีการสร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพในอันที่จะปกป้อง

ผลประโยชน์ของประเทศ และร่วมกันรับรู้และรับผิดชอบต่อความเจริญและการพัฒนาประเทศและสังคมนั้น เมื่อมีการพิจารณาภารกิจตามอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการทางสากลและในประเทศฝรั่งเศส สำหรับการสอบสวน การพิจารณาสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องคดีอาญา และการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญานั้น จะเห็นได้โดยชัดเจนว่าในทุกระบบและทุกสกุลกฎหมายหลักของโลกต่างก็ยอมรับใน “หลักประกันความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการ” โดยไม่ยอมให้ฝ่ายการเมือง องค์กร หรือบุคคลใด สามารถเข้ามามีบทบาทแทรกแซงหรือใช้อิทธิพลเหนือดุลพินิจในการปฏิบัติงาน ในการรวบรวมพยานหลักฐานและในการพิจารณาสั่งคดีอาญาของพนักงานอัยการในทางสากลได้เลย

เช่นนี้ เมื่อพิจารณาจากกรอบการทำงานและการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในหมวด 13 ขององค์กรอัยการดังกล่าวของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งกำหนดให้มีหมวดขององค์กรอัยการขึ้นในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งสอดคล้องกับประเทศในทางสากล รวมทั้งการสร้างมาตรการป้องกันไม่ให้พนักงานอัยการกระทำการหรือดำรงตำแหน่งใด ซึ่งขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงธรรม หรือทำให้มีส่วนได้เสียที่ขัดกันในการปฏิบัติหน้าที่นั้น ผู้เขียนจึงขอสนับสนุนและเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งดังได้กล่าวไปแล้ว

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะและขออนุญาตฝากไปถึงคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ตามหลักการทางวิชาการว่า ในปัจจุบันมาตรฐาน กระบวนการยุติธรรมทางอาญาในทางสากลและในประเทศฝรั่งเศสนั้น ล้วนต่างยอมรับว่าการสอบสวนคดีอาญาที่สำคัญนั้น จำเป็นที่พนักงานอัยการจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการสอบสวนร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานสอบสวนด้วยเสมอ

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือพยานบุคคลต่างๆ ต้องได้รับความคุ้มครองและความช่วยเหลือที่จำเป็นและเหมาะสมจากรัฐ รวมทั้งได้รับการสอบสวนอย่างถูกต้องรวดเร็ว เป็นธรรม และมีมาตรฐานที่ชัดเจนตามลำดับ

เพราะพนักงานอัยการที่เข้าร่วมการสอบสวนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานสอบสวนนั้นจะรับรู้และรับทราบ รวมทั้งได้เข้าใจถึงข้อเท็จจริงในคดีอาญา และสามารถแก้ไขปัญหา หรือขจัดข้อสงสัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนได้สำเร็จและรวดเร็วเสียตั้งแต่ต้น ตลอดจนทำให้ปัญหาความล่าช้าของขั้นตอนการรวบรวมพยานหลักฐานในชั้นสอบสวนก็จะลดน้อยลงไป พยานหลักฐานที่เป็นเท็จหรือพยานหลักฐานที่แอบแฝงและปะปนมาด้วยความไม่สุจริตหรือไม่ตรงกับความจริง

เช่น การสอบสวนพยานหลักฐานที่เน้นหนักหรือเข้าข้างไปในข้างใดข้างหนึ่งก็จะไม่มีเกิดขึ้น จึงส่งผลดีกับประชาชนและสังคมไทยอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะตกอยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหาย หรือผู้ต้องหา หรือพยานบุคคล หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในทุกกรณี ดังเช่นในประเทศฝรั่งเศสที่ให้พนักงานอัยการฝรั่งเศสซึ่งมีหลักประกันความเป็นอิสระในการทำงานดังเช่นศาลฝรั่งเศส เข้าไปมีส่วนร่วมในการสอบสวนคดีอาญาในทางใดทางหนึ่ง อันเป็นประโยชน์ต่อการใช้ดุลพินิจให้เกิดความเป็นธรรม

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนยังเห็นว่าหลักนิติธรรมนั้น เป็นหลักนิติปรัชญาทางกฎหมายที่สำคัญยิ่งของรัฏฐาธิปัตย์สำหรับการปกครองและบังคับใช้กฎหมาย ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย เพื่อประกันให้เกิดความยุติธรรมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน ผู้อยู่ใต้การปกครองอย่างแท้จริง หากกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมทางอาญา หรือการกระทำใดๆ ของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ฝ่าฝืน ขัด หรือแย้งกับหลักนิติธรรมนั้น ย่อมไม่มีผลใช้บังคับ

อนึ่ง แม้แต่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น ถ้ามีบทบัญญัติใดที่ขัดต่อหลักนิติธรรมแล้วก็ไม่มีผลใช้บังคับ ดังนั้น ผู้เขียนจึงเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง หากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จะกรุณายกร่างหลักนิติธรรมไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ โดยบัญญัติความหมาย สาระสำคัญ และผลของการฝ่าฝืนหลักนิติธรรม (The Rule of Law) โดยมุ่งเน้นให้การปฏิบัติราชการตามอำนาจและหน้าที่ของทุกหน่วยงานในกระบวนยุติธรรมทางอาญาต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรมอย่างแท้จริงและโดยเคร่งครัด โดยยกร่างให้มีบทบัญญัติทั่วไปของ “หลักนิติธรรมและกระบวนการยุติธรรม” ให้ชัดเจนขึ้นมา เป็นอีกหนึ่งหมวดต่างหากขึ้นมาเลย

รวมทั้งบัญญัติให้ “การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ และองค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้งหมดนั้นต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ตามหลักนิติธรรมและกระบวนการยุติธรรม รวมทั้ง ตามกฎหมายอื่นใดโดยเคร่งครัด” เพื่อให้เป็นหลักประกันตามหลักสัญญาประชาคม (Social Contract) ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของแผ่นดิน (The Supreme Law of the Land) แก่ประชาชนผู้อยู่ใต้การปกครอง

ดังพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่พระราชทานแก่ผู้สอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตไทยตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตสภา ณ อาคารใหม่สวนอัมพร วันที่ 19 กรกฎาคม 2520 ตอนหนึ่งความว่า

“กฎหมายทั้งปวงจะธำรงความยุติธรรมและถูกต้องเที่ยงตรง หรือจะธำรงความศักดิ์สิทธิ์และประสิทธิภาพเต็มเปี่ยมอยู่ได้หรือไม่เพียงไรนั้น ขึ้นอยู่กับการใช้ คือ ถ้าใช้ถูกวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นๆ จริงแล้ว ก็จะทรงความศักดิ์สิทธิ์และประสิทธิภาพอันสมบูรณ์ไว้ได้ แต่ถ้าหากนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ โดยการพลิกแพลงบิดพลิ้ว ให้ผันผวนไปด้วยความหลงผิด ด้วยอคติ หรือด้วยเจตนาอันไม่สุจริตต่างๆ กฎหมายก็เสื่อมความศักดิ์สิทธิ์และประสิทธิภาพลงทันที และกลับกลายเป็นพิษเป็นภัยแก่ประชาชนอย่างใหญ่หลวง

ผู้ที่ต้องการจะใช้กฎหมายสร้างสรรค์ความผาสุก สงบ และความเป็นปึกแผ่นก้าวหน้าของประชาชนและบ้านเมือง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาวัตถุประสงค์อันแท้จริงของกฎหมายแต่ละฉบับไว้ให้แน่วแน่เสมอไป อย่างไม่มีข้อแม้ ประการใด พร้อมทั้งต้องรักษาอุดมคติ จรรยาความสุจริต และมโนธรรมของนักกฎหมายไว้โดยรอบคอบเคร่งครัด เสมอด้วยรักษาชีวิตของตนเอง กฎหมายไทยจึงจะทรงคุณค่าอันสมบูรณ์บริบูรณ์”

เช่นนี้ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดและมีประสิทธิภาพยิ่งในการพัฒนา และการยกระดับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย เฉกเช่นมาตรฐานกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศในทางสากลทั่วไปอย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image