รัฐแบบไทยๆ กับปัญหาหนี้นอกระบบ โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

รัฐแบบไทยๆ กับปัญหาหนี้นอกระบบ

นั่งดูความพยายามของรัฐไทยในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบรอบใหม่นี้แล้ว ก็ไม่ได้สงสัยกับความตั้งใจของรัฐบาลที่พยายามจะทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และเชื่อว่าความพยายามรอบนี้จะประสบความสำเร็จ

แต่คำถามก็คือจะกำหนดความสำเร็จของเรื่องการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้อย่างไร

ดูเหมือนว่าสูตรที่รัฐบาลพยายามจะทำก็คือพยายามใช้โอกาสนี้เพื่อทราบปัญหาหนี้นอกระบบ มากกว่ารู้ว่าหนี้นอกระบบจริงๆ มันมีเท่าไหร่ อาจจะด้วยธรรมชาติของความเป็นหนี้นอกระบบเองนั่นแหละ

คือตั้งต้นด้วยการให้ประชาชนมาลงทะเบียนก่อน แล้วก็ให้เจ้าหนี้มาลงทะเบียน จากนั้นก็มีการเจรจา หรือมีการปรับโครงสร้างหนี้

Advertisement

อีกภาพลักษณ์ที่พยายามนำเสนอก็คือเรื่องของการชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลนั้นคือทางออกของปัญหา ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของปัญหา

และมีการชี้ให้เห็นว่าการที่เจ้าหนี้ข่มขู่ลูกหนี้มากเกินไป คิดดอกเบี้ยแพงเกินไปนั้นมันไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสม

อีกทั้งประชาชนจะต้องลืมตาอ้าปากได้

Advertisement

ส่วนหนึ่งสถาบันการเงินภาครัฐจะเข้ามาปล่อยกู้ให้กับประชาชนเพิ่มเติมเข้าไปอีก

กล่าวอีกอย่างหนึ่ง สิ่งที่เห็นชัดเจนที่สุดก็คือความพยายามที่จะให้คำมั่นสัญญาและสร้างความน่าเชื่อถือกับประชาชนว่า “รัฐ (บาล) ไทยคือทางออกของการแก้หนี้” ของประชาชน

คำถามคือ ประชาชนหรือสังคมเชื่อมั่นในเรื่องนี้แค่ไหน เชื่อมั่นว่ารัฐบาลคือทางออก หรือเชื่อมั่นว่ารัฐบาลคือทางตันในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ

สิ่งที่เห็นก็คือ รัฐบาลพยายามแสดงออกให้เห็นว่ารัฐบาลเข้าใจว่าประชาชนเป็นหนี้นอกระบบ

รัฐบาลพยายามคุ้มครองประชาชนจากเจ้าหนี้นอกระบบที่อาจใช้กำลังบังคับประชาชน โดยไม่เห็นหัวรัฐซึ่งควรจะเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการใช้กำลังบังคับประชาชน

รัฐพยายามจะเป็นทางออกให้ประชาชน โดยแสดงบทบาทเป็นผู้ให้กู้กับประชาชนโดยตรง แม้ว่าจำนวนที่รัฐให้กู้อาจจะไม่มากนั้น

ประการแรก ที่ควรตั้งข้อสังเกตก็คือลักษณะพิเศษ “ความนอกระบบ” ของหนี้นั้นมีหน้าตาอย่างไร มันมีขึ้นมาแต่แรกเริ่มได้อย่างไร

คำตอบที่สำคัญมันก็ต้องลงลึกลงไปว่าหนี้ในระบบกับนอกระบบนั้นมันไม่ใช่แค่เรื่องของแหล่งเงินเท่านั้น

แต่มันเป็นเรื่องของคนกู้ด้วย คนกู้นั้นมีลักษณะทางเศรษฐกิจสังคมอย่างไร

ทำไมเขาเข้าไปกู้ในระบบไม่ได้ตั้งแต่แรก

และทำไมรัฐไทยถึงปล่อยให้เกิดการกู้นอกระบบตั้งแต่แรก

หรือเอาเข้าจริงแล้ววิธีคิดเรื่องในระบบกับนอกระบบนั้นมันไม่ใช่เรื่องโดยธรรมชาติ และขาดที่มาทางประวัติศาสตร์

แต่ประเด็นมันก็คือเรื่องหนี้มันมีมาตั้งแต่ก่อนจะมีระบบรัฐสมัยใหม่แล้ว ไม่นับรวมว่าเมื่อก่อนรัฐอาจจะพึ่งพาพวกเจ้าหนี้นี้และให้คนพวกนี้มีอำนาจรัฐด้วยซ้ำ ในการปล่อยอำนาจให้เจ้าหนี้หรือคนรวยเหล่านี้เป็นคนเก็บเงินส่งเข้ารัฐเสียเองด้วยหรือเปล่า

เราก็เลยยังไม่ค่อยเข้าใจว่าหนี้นอกระบบมันเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และรัฐนั้นเอาจริงเอาจังกับการแก้หนี้นอกระบบแค่ไหน

ไม่ได้บอกว่าไม่เอาจริงเอาจัง แต่ต้องถามว่าเส้นแบ่งสำคัญว่าจะเริ่มเอาจริงเอาจังในระดับท้องถิ่นและในระดับชาตินั้นอยู่ตรงไหน เมื่อไหร่คือปล่อยให้เป็นไปเรื่อยๆ

รวมทั้งรัฐมีศักยภาพและพละกำลังแค่ไหนในการเอาจริงเอาจังกับเรื่องหนี้นอกระบบ

และรัฐ (บาล) ที่มาจากการเลือกตั้ง และรัฐ (บาล) ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมองปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ประการต่อมา การเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องหนี้นั้นผูกพันกับเรื่องสำคัญคือสภาวะการตัดสินใจว่าจะวางน้ำหนักลงไปในเรื่องใดแค่ไหน ระหว่างการเป็นหนี้แล้วต้องชดใช้ กับอะไรคือเส้นที่มองว่าหนี้นั้นไม่เป็นธรรม หมายถึงว่าเส้นของดอกเบี้ยอยู่แค่ไหน และเส้นของการผิดสัญญาอยู่แค่ไหน ใครคือคนตัดสิน

การแก้ปัญหาเรื่องหนี้จึงเป็นเรื่องที่มักจะวนกันอยู่ในเรื่องของการพักหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ มากกว่าการรณรงค์ไม่ใช้หนี้ (หรือไม่มองว่าเป็นหนี้เช่นเรื่องของ กยศ.)

เรื่องความเป็นธรรมและความพอดีในการกำหนดดอกเบี้ยการกู้ยืมนั้นเป็นเรื่องใหญ่ จนถึงวันนี้ข้อถกเถียงในสังคมว่าอัตราดอกเบี้ยทั้งในระบบและนอกระบบนั้นควรจะมีสักเท่าไหร่ก็ไม่ค่อยชัดเจนมากนัก ในระบบยังดีหน่อยเพราะมีการประกาศอย่างชัดแจ้ง อาจจะมีการแข่งขันบ้าง

แต่นอกระบบนี้คือหาความแน่นอนไม่ได้จริงๆ ว่าจะมีแค่ไหน สิ่งที่พบคือการจ่ายได้แต่ดอกเบี้ย แล้วทบต้นทบดอก ก็ต้องไปกู้อีกรายมาแก้ปัญหารายแรก เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ

ประการที่สาม เอาเข้าจริงแล้วรัฐไม่ได้อยู่นอกระบบของหนี้ และหนี้นอกระบบทั้งหมด เป็นไปได้ไหมว่าการบริหารของภาครัฐในเรื่องเศรษฐกิจทำให้คนจำนวนหนึ่งหลุดจากระบบ หรือเข้าระบบไม่ได้ เพราะเขาถูกนับมาตั้งแต่แรกว่าไม่มี “เครดิต” ในการเข้าระบบ

หมายความง่ายๆ ว่า เมื่อพูดถึงหนี้นั้นไม่ได้มีแค่เรื่องของการชดใช้หนี้ และความเป็นธรรมในเรื่องหนี้เท่านั้น แต่หมายถึงว่า การจะเป็นหนี้ได้นั้นมันหมายถึงสัญญาบางประการของทั้งสองฝ่าย และมันพูดเรื่องชุมชนของระบบพันธสัญญาบางอย่าง หนี้ในระบบนั้นมันมีระบบที่ชัดเจนในแบบหนึ่ง คือไปผูกพันกับการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจหลัก มีการค้ำประกันด้วยตำแหน่งหน้าที่การงาน หรือองค์กรของตัวเองนั่นแหละปล่อยให้กูได้เลย

แต่ถ้าเป็นหนี้นอกระบบมันก็มีการให้กู้ได้ และก็สร้างเครดิตให้กู้ได้เช่นเดียวกัน แต่รัฐอาจไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขของระบบนั้นทั้งหมด

หรืออาจจะอยู่บางส่วน เช่น การใช้บัตรประชาชนที่ออกโดยรัฐมาเป็นส่วนหนึ่งของสัญญากู้ หรือสุดท้ายก็มีสัญญาการกู้อีกแบบหนึ่งที่อิงกับเงื่อนไขหรือหลักฐานที่รัฐออกให้เช่นเดียวกัน แต่อาจจะซับซ้อนกว่า

ในอีกด้านหนึ่งรัฐเองก็เข้าไปมีส่วนในกระบวนการหนี้ และอาจได้ประโยชน์จากกระบวนการดังกล่าว อาทิ การบริหารจัดการหนี้ครู (จากข้อมูลของลูกศิษย์ผมที่ทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้อยู่) พบว่ารัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำให้หนี้ครูเพิ่มขึ้น จากการขยายเงินกู้ และอีกทางก็ปล่อยให้ระบบครูนั้นต้องทำงานแบบวิ่งหาตำแหน่ง และค่าใช้จ่ายมากมาย ทุกรัฐบาลจึงเข้ามาเพิ่มอุปทานในตัวเงิน แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ไปส่งเสริมให้สหกรณ์ครูไปซื้อหุ้น หรือพันธบัตรรัฐบาล แบบนี้บางครั้งแล้ว ไปลงทุนในกิจการของรัฐที่ไม่ได้มีประสิทธิภาพมากนัก และอาจจะจบลงที่ล้มละลาย หรือทุจริตในหมู่ผู้บริหารสหกรณ์

ประการสุดท้าย ความสำเร็จในการแก้หนี้นอกระบบในรอบนี้จะถูกวัดและประกาศได้แค่ไหน เมื่อไหร่? เรื่องนี้ก็สำคัญ เพราะในอดีตรัฐไทยมักมองทุกเรื่องเป็นเรื่องของ “สงคราม” เช่น สงครามกับความยากจน

คำถามคือ ถ้าจะเป็นสงครามกับหนี้นอกระบบ เราจะเข้าใจ “ชัยชนะ” ของสงครามนี้อย่างไร

และถ้าไม่ใช่สงคราม แต่เป็นการปลดปล่อย “ทาสสมัยใหม่” เราจะอธิบายการเลิกทาสครั้งนี้ได้อย่างไร ได้แค่ไหน และจริงหรือไม่ที่รัฐและนักการเมืองจะสามารถปลดปล่อยทาสเหล่านี้ออกจากหนี้นอกระบบได้

และจะได้สักกี่วัน

แต่ที่เขียนมาทั้งหมดก็ยังดีที่รัฐไทยกับการจัดการหนี้นอกระบบรอบนี้ไม่ได้เริ่มจากการพูดเรื่องศีลธรรมว่าคนเป็นหนี้นอกระบบนั้นคือพวกหลงใหลในการบริโภค ขาดศีลธรรมกำกับการใช้จ่าย

แม้ว่าในสถิติของไทย หนี้บุุคคลส่วนมากเป็นหนี้บริโภคมากกว่าหนี้เพื่อการลงทุน (หรือว่าเราไม่ควรแยกขาดอะไรเช่นนั้น?)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image