คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : งบ‘หนังสือ’ที่แสนนุ่มนิ่ม กับปฏิบัติการIO โป๊ะแตก

บอกตรงๆ ว่าไม่อยากเขียนเกี่ยวกับเรื่องซอฟต์เพาเวอร์นี้อีกแล้ว หากก็เหมือนว่าผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จะพยายามยั่วให้เรื่องนี้มีประเด็นขึ้นมาอีกแทบไม่ว่างเว้น 

แต่เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วก็มีประเด็นสองเรื่องที่ทำให้ต้องวกกลับมาถึงเรื่องนี้อีก คือเรื่องกรอบงบประมาณกิจกรรมซอฟต์เพาเวอร์ด้านต่างๆ ที่ประกาศออกมา กับเรื่องบรรดา “IO นุ่มนิ่มที่โป๊ะแตกจนถูกล้อเลียนกันไปทั้งเมือง

เรื่องแรกคือ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติได้เห็นชอบกรอบงบประมาณ 5,164 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และทางวัฒนธรรมต่างๆ ทั้งหมด 11 ด้าน ตั้งแต่หลักพันล้านบาทไปจนถึงร้อยล้านบาท

หากสำหรับซอฟต์เพาเวอร์ด้านอุตสาหกรรมหนังสือกลับได้งบอุดหนุนมาเพียง 69 ล้านบาท ที่เทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ก็ชวนปวดใจเพราะไม่ถึง 2% ของงบทั้งหมด

Advertisement

ในความรู้สึกของผู้คนส่วนใหญ่ที่ยังให้ความสำคัญกับหนังสือซึ่งเป็นทั้งสื่อที่ให้ความรู้และความบันเทิงอันเป็นพื้นฐานเก่าแก่ที่สุดของมนุษยชาติ แต่เมื่อปรากฏว่างบประมาณเกี่ยวกับการสนับสนุนการสร้างซอฟต์เพาเวอร์ด้านหนังสือออกมาน้อยแค่นี้ก็รู้สึกกระทบกระเทือนต่อความรู้สึก ทั้งเมื่อเทียบกับงบประมาณในด้านอื่นๆ แล้วก็ต่ำกว่าเขาจนน่าเกลียด เช่น สาขาที่ได้รับงบประมาณน้อยรองจากหนังสือคือดนตรี ก็ได้รับการสนับสนุนถึง 144 ล้านบาท ซึ่งยังมากกว่าเกินสองเท่า 

คนทั่วไปยังบ่นกันขรม แล้วผู้คนที่ทำงานเกี่ยวกับหนังสือและวรรณกรรมยิ่งทัวร์ลงกันแบบไม่ต้องพูดถึง

สำหรับเหตุผลของเรื่องนี้ ธีรภัทร เจริญสุข กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) อนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านหนังสือของคณะกรรมการด้านพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ อธิบายไว้หลายที่ ทั้งในเฟซบุ๊กของเขาเอง และที่ให้สัมภาษณ์สื่อต่างๆ สรุปได้ว่า เนื่องจากปีงบประมาณ 2567 นี้เหลือเวลาทำงานอยู่จำกัดเพียง 10 เดือน คณะอนุกรรมการจึงมีเจตนาจะของบประมาณเพียงเพื่อให้พอนำไปใช้กับงาน หรือโครงการที่ดำเนินงานได้จริงภายใต้กรอบระยะเวลาและกรอบงบประมาณดังกล่าว และตัวเลขงบประมาณที่เห็นก็มาจากการเกลี่ยงบประมาณที่แทรกอยู่ในงบประมาณของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมซอฟต์เพาเวอร์ด้านต่างๆ เมื่อเกลี่ยงบประมาณมาแล้วจัดกลุ่มตามสาขาแล้วจึงทำให้ได้เห็นตัวเลขที่ดูน้อยจนน่าผิดหวัง แต่ก่อนหน้านี้การจัดสรรงบประมาณสำหรับอุตสาหกรรมหนังสือนั้นก็น้อยอยู่ก่อนแล้ว 

Advertisement

โดยงบประมาณซอฟต์เพาเวอร์ด้านหนังสือที่แยกแยะจัดสรรออกมาจากหน่วยงานของรัฐที่ได้รับงบประมาณที่เกี่ยวข้องไปแล้ว ก็เช่น กิจกรรมพาหนังสือไทยและนักเขียนไทยเพื่อไปขายงานในงานแสดงนิทรรศการหนังสือที่กรุงไทเป ไต้หวัน ที่มาจากงบประมาณของกระทรวงพาณิชย์ การจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติทั้งต้นปีและปลายปีจากกระทรวงวัฒนธรรม และงานปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์จัดหาหนังสือและการประชาสัมพันธ์จากกรุงเทพมหานคร

เรื่องนี้อยากช่วยอธิบายในมุมมองทางกฎหมายภาครัฐว่า ตามหลักแล้วการใช้เงินงบประมาณของรัฐจะต้องใช้ผ่านหน่วยราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่เป็นนิติบุคคล แต่ในตอนนี้แม้จะมีการตั้งคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ขึ้นมาแต่ก็ไม่ถือเป็นนิติบุคคลของรัฐที่จะถือจะมีงบประมาณใช้เองได้ ดังนั้น การใช้เงินงบประมาณจึงต้องใช้ผ่านหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง แต่หลังจากนี้จะมีการจัดตั้งองค์กรขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนซอฟต์เพาเวอร์นี้คือ Thailand Creative Content Agency หรือ THACCA ที่จะต้องได้รับการจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติและมีสถานะเป็นนิติบุคคลของรัฐ สำหรับซอฟต์เพาเวอร์ด้านหนังสือก็จะมีการจัดตั้งสถาบันเกี่ยวกับงานสร้างสรรค์ด้านหนังสือที่ยังเรียกชื่อลำลองว่าสถาบันหนังสือขึ้นมาดูแลงานด้านนี้อย่างจริงจังต่อไป

ส่วนเหตุผลต่อไปนี้ที่ต้องขอย้ำตัวหนาๆ ไว้ว่านี่คือความคิดเห็นส่วนตัว คือต้องเข้าใจว่านโยบายซอฟต์เพาเวอร์ทั้งหลายทั้งปวงของรัฐบาลไม่ใช่นโยบายเพื่อการส่งเสริมการสร้างสรรค์อุตสาหกรรมและกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมในด้านต่างๆ เสียทีเดียว แต่จุดมุ่งหมายหลักอันแท้จริงคือส่งเสริมการขายสินค้าและกิจกรรมในลักษณะนั้นต่อชาวโลก เพื่อในที่สุดแล้ววัฒนธรรมเหล่านั้นจะได้กลายเป็นซอฟต์เพาเวอร์ในความหมายเคร่งครัดทางวิชาการอย่างที่ชอบอ้างศาสตราจารย์ไนย์ (Joseph S. Nye) นั่นแหละ 

ดังนั้น การจะสนับสนุนซอฟต์เพาเวอร์ในด้านใดมากน้อยเพียงไรนั้น สิ่งที่จำเป็นต้องพิจารณาอย่างมีนัยสำคัญคือสินค้าทางวัฒนธรรมประเภทนั้นขายได้หรือมีศักยภาพที่จะขายได้ต่อชาวโลกหรือไม่ พูดง่ายๆ คือซอฟต์เพาเวอร์ด้านใดจะได้รับการสนับสนุนก็ควรจะต้องมีดัชนีชี้วัดความสำเร็จ หรือ KPI เป็นยอดขายเป็นสำคัญ

เมื่อเอาตัวเลขของซอฟต์เพาเวอร์ด้านต่างๆ มากางดูก็จะเห็นว่าซอฟต์เพาเวอร์ในหมวดหมู่ที่ได้รับงบประมาณอุดหนุนในส่วนนี้มากที่สุดคืออุตสาหกรรม หรือกิจกรรมทางวัฒนธรรมของไทยที่ขายได้ ขายดี หรือมีศักยภาพที่จะขายได้อยู่แล้ว เช่น ด้านเฟสติวัล หรืองานเทศกาลทางวัฒนธรรม ซึ่งได้ไปมากที่สุด 1,009 ล้านบาท รองลงมาคืออุตสาหกรรมอาหาร 1,000 ล้านบาท อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 711 ล้านบาท ภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ 545 ล้านบาท และกีฬาโดยเฉพาะมวยไทย 500 ล้านบาท ซึ่งเมื่อมาไล่เรียงเช่นนี้แล้วก็จะเห็นได้ว่างบประมาณสนับสนุนเกลี่ยไปตามความขายได้” (หรือน่าจะขายได้) นี้จริงๆ

เกณฑ์การเลือกว่าจะสนับสนุนกิจกรรมทางวัฒนธรรมด้านใดมากน้อยเพียงไรจากความสามารถในการขายต่อตลาดโลกอาจจะดูโหดร้ายและฟังดูทุนนิยมไม่มีหัวใจ แต่ถ้าจะว่าไป การสนับสนุนซอฟต์เพาเวอร์ตามความเห็นของคุณ ช่อ พรรณิการ์ วานิช แห่งคณะก้าวหน้า ก็เข้มงวดโหดร้ายยิ่งกว่าเสียอีก กล่าวคือ เธอเชื่อว่าการจะสนับสนุนซอฟต์เพาเวอร์อันถูกทางในความเห็นของเธอควรโฟกัสแล้วสนับสนุนด้านใดด้านเดียว เช่น ด้านอาหารไทยก็มุ่งเน้นไปเรื่องนั้นเรื่องเดียว ส่วนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ด้านอื่นๆ ก็สามารถได้รับการสนับสนุนจากรัฐได้ผ่านทางอื่นกันไป 

ถ้าเอาตามนั้นหนังสือที่ความสามารถด้านการแข่งขันและการขายต่อโลกต่ำกว่าใครเพื่อน ก็คงไม่มีโอกาสได้เป็นหนึ่งในซอฟต์เพาเวอร์ที่รัฐบาลสนับสนุนแน่ๆ

เราอาจจะต้องยอมรับความจริงบางเรื่องอย่างตรงไปตรงมาว่าหนังสือเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมไทยที่มีศักยภาพในการแข่งขัน หรือการขายในระดับโลกต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมและกิจกรรมอื่นๆ เรามีนักเขียนไทยที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นนักเขียนที่วงการวรรณกรรมระดับโลกรู้จัก หรือเคยได้ยินชื่อไม่น่าจะเกิน 3 คน ส่วนหนังสือนิยายไทยที่อาจจะถูกแปลไปขายในต่างประเทศในช่วงหลังก็จะเป็นนิยายบอยเลิฟ ที่ถูกนำไปดัดแปลงเป็นซีรีส์และเป็นที่นิยมในหลายประเทศ 

มิตรสหายที่พยายามนำงานเขียนภาษาไทยไปขายในตลาดต่างประเทศบอกเล่าว่า การเอาหนังสือนิยายไทยไปขายนั้น ลูกค้าคือสำนักพิมพ์ที่สนใจ หรือที่เราจะขายของให้เขาจะถามก่อนว่า นิยายเรื่องนี้เคยได้รับการดัดแปลงเป็นซีรีส์หรือไม่ ถ้าไม่เคยก็ปิดการขายที่หมายถึงการไม่ต้องนำมาขายกันเลยทีเดียว 

เมื่อหนังสือและวรรณกรรมไทยยังต้องอาศัยสื่อ หรืออุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมอื่นช่วยขายให้แบบขายพ่วง ก็อาจจะต้องยอมรับว่าแม้ในปีต่อๆ ไปซอฟต์เพาเวอร์ด้านหนังสืออาจจะได้งบประมาณมากขึ้น แต่ถ้าสุดท้ายจะน้อยกว่าด้านอื่น หรือยังคงได้น้อยที่สุดอยู่ก็อาจจะต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ต้องเป็นเช่นนั้น หากย้อนกลับไปพิจารณาว่าวัตถุประสงค์ของนโยบายนี้เน้นการขายตลาดโลกเพื่อสร้างอิทธิพลโน้มนำทางวัฒนธรรม หรือซอฟต์เพาเวอร์ในความหมายที่ถูกต้องตามหลักวิชาการดังที่กล่าวไปข้างต้น

แต่เรื่องที่ว่าเราควรสนับสนุนกิจกรรมการเขียน การอ่าน หรืออุตสาหกรรมหนังสืออยู่หรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องแยกไปพิจารณากัน

ส่วนเรื่องที่สองคือ “IO นุ่มนิ่มนั้น คืออยู่ดีๆ ก็มีกลุ่มผู้ใช้สื่อโซเชียลจำนวนหนึ่งเข้าไปแสดงความเห็นในทางเชลียร์เชียร์ชมการดำเนินนโยบายซอฟต์เพาเวอร์กันแบบไม่เป็นธรรมชาติ ทั้งด้วยการตั้งชื่อที่มีรูปแบบใกล้เคียงกันแบบถอดรหัสได้ การใช้คำพูดที่ตรงกันทุกประโยคถ้อยคำ แม้แต่จุดที่เขียนผิดก็ยังผิดเหมือนกัน 

แล้วที่ทำให้กลายเป็นเรื่องตลกระดับชาติก็คือ การที่บรรดาบัญชีผู้ใช้งานเหล่านั้นต้องแสร้งเนียนทำตัวให้เหมือนมนุษย์ธรรมดาทั่วไปให้มากที่สุด ก็ต้องมีการโพสต์ข้อความกาไก่ไร้สาระบ้าง ก็ดันโพสต์ข้อความเดียวกันอีกอย่างแก้มเราก็นิ่มซะด้วย ก็ว้าวุ่นเลยและคิดถึงแฟนจังเมื่อไรจะมี555.” ซึ่งอันหลังนี้เป็นไวรัลขนาดที่เพจของคุณสรยุทธ์ยังเอาไปล้อเลียน เพราะคนอะไรจะคิดถึงแฟนที่ยังไม่มีได้เหมือนกันขนาดที่หัวเราะ 555 แล้วปิดด้วยจุดมหัพภาคตรงกันเสียอย่างนั้น

เรื่องนี้กองแบกกองเชียร์รัฐบาลพยายามแก้ตัวว่า ไอ้ที่ทำไม่เนียนแบบนี้มันดูจงใจเกินไป ชะรอยจะเป็นกองกำลัง IO ไม่ทราบฝ่ายที่สร้างกลุ่มผู้ใช้ปัญญานุ่มนิ่มนี้ขึ้นมาเพื่อดิสเครดิตรัฐบาลหรือไม่ เอาจริงเรื่องนี้ถ้ารัฐบาลเห็นว่าเดือดร้อนจริง หรือเป็นการกลั่นแกล้งจากฝ่ายตรงข้ามก็ควรจะออกมาปฏิเสธให้เข้มแข็งไปจนถึงดำเนินคดีไปตามที่กฎหมายเปิดช่องด้วยอำนาจรัฐที่มี แต่ก็ไม่เห็นว่าจะมีความเคลื่อนไหวใดๆ ออกมาไม่ว่าจะเป็นการออกรับหรือปฏิเสธ

การใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารเชิงจิตวิทยาในลักษณะที่สร้างฝูงผู้ใช้งานปลอมขึ้นมาแล้วนำไปแสดงความเห็นตอบโต้ หรือสนับสนุนเรื่องใดประเด็นใดนั้นเป็นวิธีการที่ง่ายและดั้งเดิมที่สุด เพราะมนุษย์เรามีความเป็นสัตว์สังคมที่จะเชื่อว่าสิ่งที่คนส่วนใหญ่ในสังคมเห็นว่าดีก็น่าจะดี หรือต่อให้ไม่เห็นด้วย แต่ก็รู้ว่าไม่ควรทำตัวแปลกแยกแตกต่าง การสร้างกลุ่มความเห็นที่มีทิศทางไปในทางสนับสนุนความคิด หรือความเชื่อในทางใดทางหนึ่งนั้นส่งผลทั้งเพื่อให้กำลังใจกลุ่มคนที่คิดที่เห็นในแนวทางเดียวกัน ว่าคนส่วนใหญ่ยังเห็นด้วยกับพวกเขานั้น และสร้างความลังเลไขว้เขวไปจนขยาดหวาดกลัวให้กลุ่มคนคิดต่างว่ากำลังสวนกระแสของคนส่วนใหญ่ในสังคมอยู่ เพื่อให้หุบปากพับคีย์บอร์ดไปก่อนเพื่อปลอดภัยจากคณะทัวร์

แต่ในทางกลับกัน การที่ทำแล้วดันถูกจับได้ก็เป็นการประจานไปในตัวว่า ฝ่ายที่สั่งให้ทำ IO นั้นเองก็รู้แก่ใจ หรืออย่างน้อยก็ไม่แน่ใจว่าประเด็น หรือแนวทางที่ตัวเองยึดถือ หรือผลักดันเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่เลยต้องคิดสั้นสร้างความมั่นใจจอมปลอมด้วยวิธีนี้ 

ถ้ากลัวว่ากระแสพลังนุ่มนิ่มที่เป็นเหมือนนโยบายเดียวที่ขับเคลื่อนได้จริงของรัฐบาลในตอนนี้จะถูกลืมก็เลิกกลัวเถิด เพราะตอนนี้หน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นกระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานที่มีชื่อเรียกอย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ รวมถึงหน่วยงานอื่นที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจรัฐจะมากน้อยอย่างไรก็หายใจเป็นคำว่าซอฟต์เพาเวอร์ไปหมดแล้ว ทั้งกิจการใดๆ ที่เกี่ยวข้องออกสู่สายตาของสังคมก็ต้องมีคำนี้ปรากฏอยู่เพื่อถ่ายรูปให้นายเห็น 

ในฐานะของคนที่ยังเอาใจช่วยนโยบายนี้อยู่ ก็อยากขอร้องว่าการทำอะไรสิ้นคิดแบบนี้เลิกได้ก็ช่วยเลิกเถอะ อย่างน้อยก็เพื่อรักษาสุขภาพจิตของคนทำงานที่ตั้งใจจริงให้เขาทำงานได้สะดวกใจ ไม่ต้องถูกล้อเลียนไปทั้งบ้านทั้งเมืองแบบนี้

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image