อนาคตของเด็กไทยในสังคม(ไทย)ที่ไร้อนาคต? โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ประเทศไทยเป็นสังคมอุดมดราม่าที่แท้ทรูครับผม สัปดาห์ที่ผ่านมาก็จัดไปสองเรื่องเต็มๆ คือ เรื่องของผลสอบ PISA ที่เราตกต่ำ และเรื่องการโพสต์ภาพหมอกนรกในกรุงเทพฯ

ส่วนมากคนที่บ่นเรื่องนี้คือคนที่อาจจะไม่ได้ให้ลูกเรียนในโรงเรียนที่คุณภาพตกต่ำ และอาจจะโพสต์ภาพหมอกนรก/ฝุ่นนรกในห้องที่มีระบบปรับอากาศก็ได้ หรืออย่างน้อยมีโอกาสที่จะเลือกมากกว่าคนที่หาเช้ากินค่ำทั่วไป

อย่างผมเมื่อเช้าผมไปเดินตลาดสดแถวบ้าน ทุกคนก็ก้มหน้าทำมาหากินกันต่อไป ไม่ได้มีเวลาโพสต์รูปฝุ่นและหมอกนรกเหล่านั้นหรอกครับ

ไม่ใช่เพราะเขาไม่รู้ แต่เขาอาจจะรู้สึกไม่มีทางเลือกอะไรเท่าไหร่กับเรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบตัวเขา

Advertisement

มาคุยเรื่องของผลการสอบ PISA ดีกว่า เพราะเหมือนข่าวจะลงกันอยู่หลายวัน

แล้วก็คงจะเงียบไปอีกหลายปี จนกว่าผลการสอบรอบหน้าจะออกมาใหม่ซึ่งก็คงอีกหลายปีครับ น่าจะสามปีครั้ง

ก็โชคดีไปครับ ที่พอมีเวลาให้หายอกหายใจกันบ้าง ก่อนจะโดนรอบใหม่

Advertisement

สำหรับภาพรวมของการแถลงเรื่องผลสอบ PISA นั้นแนะนำให้อ่านจาก PISA THAILAND (https://pisathailand.ipst.ac.th/news-21/) ในส่วนของการแถลงข่าวผลการประเมิน PISA 2002 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 นั่นแหละครับ

อย่างไรก็ตาม ต้องตั้งหลักกันนิดหนึ่งก่อนในสังคมอุดมดราม่า ว่ามันมีอะไรที่เราควรจะมองกันบ้าง นอกเหนือจากการบ่นเรื่องว่ามาตรฐานของเด็กไทยมันลดลง และระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ

ฟังจากหลายทางแล้วก็เหมือนมันมาจบลงที่สองเรื่อง คือเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพราะเอาเข้าจริงพวกโรงเรียนของชนชั้นนำ โรงเรียนของเด็กที่พ่อแม่เพิ่มโอกาสให้เขา คะแนนของเด็กระดับครีม หรือชนชั้นนำก็เกินมาตรฐาน PISA โลก นะครับ

แต่ช้าก่อน เรื่องไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะปีนี้ข่าวดีคือช่องว่างการศึกษาลดลง เพราะว่าเด็กรวย เด็กเก่ง ก็คะแนนลดลงมาก ทำให้ช่องว่างการศึกษาของเด็กที่ได้โอกาส กับเด็กด้อยโอกาส นั้นแคบลง

ซึ่งไม่ใช่ข่าวที่ดีนัก

และเรื่องที่สองก็คือ จะต้องพัฒนาระบบการศึกษาของไทยให้ดีขึ้น เพิ่มครู เพิ่มความรู้ ปรับให้ตรงกับความรู้ในโลก

ซึ่งคำถามก็คือ ทำไมมันทำไม่ได้สักที

จนเหมือนว่าใครที่ออกมาด่าเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ปกติ คนที่ไม่ด่าต่างหากที่ดูแปลกไป

โดยภาพรวมแล้ว PISA นี่เป็นหลักการที่น่าสนใจ เพราะเป็นเรื่องที่เขาต้องการจะวัดว่า เด็กของแต่ละประเทศตอนอายุสิบห้า หมายถึงว่าโดยมาตรฐานโลกแล้ว เด็กพวกนี้จะจบจากการศึกษาภาคบังคับ ว่าเมื่อเขาจบออกไปเขาจะอยู่ในโลกจากวันนี้ไปสู่อนาคตอย่างไร

อธิบายง่ายๆ ว่า การวัดนั้นมันวัดกันที่เรื่องใหญ่สามเรื่อง คือการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยรอบนี้วัดที่คณิตศาสตร์ รอบหน้าอีกสามปี คาดว่าจะวัดที่วิทยาศาสตร์ (ดูที่ PISA 2002 Assessment and Analytical Framework) รอบนี้ยังวัดด้วยเรื่องความคิดสร้างสรรค์ด้วย (creative thinking) ซึ่งโชคดีที่ประเทศไทยน่าจะเลิกเรื่องนี้ไปแล้ว เพราะตอนนี้เห็นไปทำเรื่อง soft power แทน ประเทศนี้คงไม่ต้องหนักใจเท่าไหร่

เงื่อนไขสำคัญที่ต้องมานั่งคิดก็คือ ประเทศไทยนั้นจะสร้างกี่หลักสูตรก็เท่านั้น ถ้าคนไทยทั้งหมดยังไม่รู้ว่าจะเรียนไปทำไม และปรัชญาการศึกษามันคืออะไรกันแน่

อย่างเรื่องที่เป็นประเด็นในรอบนี้ของ PISA มันอยู่ที่ว่าเราจะผลิตเด็กอย่างไร สิ่งที่เขาต้องการวัดว่าเด็กคนนั้นผ่านมาตรฐานคืออะไร

เหมือนตอนเด็กที่เวลาพ่อแม่เราดูคะแนนสอบแล้ว เขาอาจไม่เข้าใจว่าคะแนนมันหมายถึงอะไร อาจจะรู้แค่คะแนนสูงสุด ต่ำสุด และเฉลี่ย

โดยสรุปแล้วในหลักการวัด PISA ในภาพรวมมันคือเรื่องของว่า เด็กนั้นไม่ใช่แค่ท่องจำ ซึ่งหมายถึงการตอบเราว่าสิ่งที่เราให้ไปนั้นเขาส่งคืนเรามาได้เท่าไหร่ ซึ่งนั่นคือรากฐานที่เราชอบเชื่อกันว่าคนเก่งคือ จำเก่ง สรุปเก่ง เล่าเรื่องกลับมาหาเราเก่ง

เหมือนที่ชอบฟังอะไรง่ายๆ สั้นๆ เพราะมองว่าไม่มีเวลา และเชื่อว่านี่คือความรู้รอบตัว หรือคนเก่งต้องอธิบายอะไรง่ายๆ ให้เราเข้าใจได้

ทีนี้สิ่งที่ PISA เขาวัด หรือพูดอีกแบบคือโลก หรือนานาชาติเขามองว่าคนเก่งคืออะไร หรือถ้าอยากมีความรู้มากกว่าเด็กอายุ 15 ก็คือเด็กนั้นจะสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ไปสู่สถานการณ์ที่ต่างออกไปได้ไหม ทั้งในโรงเรียน และนอกห้องเรียน

พูดง่ายๆ ว่า เมื่อสู่โลกกว้าง เมื่อเด็กจบการศึกษาภาคบังคับแล้ว เราจะวัดว่าเขารู้อะไรนั้นมันต้องวัดว่า เราทำอะไรได้จากสิ่งที่เขารู้บ้าง

เรื่องแบบนี้แหละครับที่จะทำให้เด็กที่จบมานั้นพร้อมที่จะปรับตัวเข้าสู่โลกที่เปลี่ยนแปลงได้ และทำให้สามารถเสริมความรู้ความชำนาญในอนาคตได้

เรื่องนี้มันก็ลามไปถึงเรื่องการใช้เทคโนโลยีในการศึกษาด้วย เช่นตกลงเทคโนโลยีมันจะมาแทนที่คนได้ไหม

คำถามมันก็คงต้องเปลี่ยนว่า เทคโนโลยีต่างๆ มันจะช่วยให้เด็กได้ความรู้เพิ่มได้อย่างไร และเอาเทคโนโลยีมาช่วยให้เอาความรู้ของเด็กออกมาใช้ในสถานการณ์ใหม่ๆ ได้อย่างไร

เรื่องที่สำคัญอีกอย่างคือผลของ PISA มันมีนัยยะอะไร คำตอบก็คือมันมีไว้ให้รัฐบาลและภาคส่วนอื่นของประเทศต่างๆ จะได้คิดว่าอยู่ตรงไหนในมาตรฐานโลก และอยู่ตรงไหนเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง และประเทศเพื่อนบ้าน

ทีนี้ในส่วนของคณิตศาสตร์นั้น แม้ว่าเรื่องตัวเลขอาจจะซับซ้อนสักนิด อย่างผมเองก็อ่อนเลข และกลัวเลขมาตั้งแต่เด็ก แต่โดยหลักการก็คือ Mathematical Literacy หรือความฉลาดรู้ทางคณิตศาสตร์ หมายถึงความสามารถของนักเรียนในการใช้เหตุผลทางคณิตศาสตร์ และในการสร้าง ใช้ และตีความคณิตศาสตร์ในการแก้ปัญหาสิ่งที่เกิดขึ้นในบริบทที่เขาเผชิญในโลกแห่งความเป็นจริง

ซึ่งหมายถึงทั้งการประเมินสถานการณ์ การเลือกใช้ทางเลือกทางยุทธศาสตร์ การวาดข้อสรุปโดยคิดอย่างมีเหตุผลและตรรกะ การพัฒนาและอธิบายทางออกของปัญหา และตระหนักว่าทางออกของปัญหานั้นจะถูกนำมาประยุกต์ใช้เมื่อไหร่ สิ่งเหล่านี้นอกจากเรื่องของโจทย์ สูตร ระบบตัวเลขแล้ว สิ่งที่ต้องมีคือการเข้าใจอำนาจของการคิดในเชิงนามธรรม และการแทนที่เรื่องต่างๆ ด้วยระบบสัญลักษณ์ มองเห็นโครงสร้าง และความสม่ำเสมอของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น มองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องราวเชิงปริมาณบางอย่าง และแทนที่เรื่องราวที่เป็นจริงด้วยตัวแบบทางคณิตศาสตร์

อย่างน้อยพอเข้าใจประมาณนี้ ถ้าตัดคำว่าคณิตศาสตร์ที่เหมือนจะน่ากลัวออก ก็คงพอจะเข้าใจได้ว่า การศึกษาที่เตรียมคนไปสู้โลกที่เป็นจริงมันเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง การคิดเรื่องของตัวเลข การลงทุน การใช้จ่ายต่างๆ ในชีวิตก็จะเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แหละครับ

ทีนี้มาสู่อีกด้านหนึ่งก็คือ เราต้องมามองก่อนว่า รัฐบาล และชนชั้นนำไทยนั้นต้องการให้เด็กไทยเป็นไร

มีช่องว่างไหมระหว่างแผนยุทธศาสตร์ชาติในยุคที่แล้ว และนโยบายใหม่ๆ ในวันนี้ เช่นการลงทุนจากต่างชาติ โดยมองว่าแรงงานไทยจะต้องมีคุณภาพและความชำนาญในการแข่งขันกับตลาดลงทุนอื่นๆ

อธิบายง่ายๆ คือจากการท่องจำแล้ว ตอนนี้ต้องประยุกต์ และวิเคราะห์ได้

คำถามก็คือวันๆ เห็นแต่กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหมคาดหวังอะไรจากเยาวชนไทย?

เห็นคำสั่งต่างๆ ที่ครูและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องเจอจากส่วนกลางนั้นมันไม่ได้เอื้อให้อนาคตของประเทศไทยมันดีขึ้นในมาตรฐานโลก

ต้องถามก่อนว่ารัฐบาลไทย ชนชั้นนำไทยนั้นเขามองอนาคตของประเทศยังไง

เขาต้องการให้เด็กพร้อมที่จะเผชิญอะไร

นอกเหนือจากเรื่องการให้คนมีงานทำแต่ไม่รู้ว่างานที่ทำมันจะพ้นจากแรงงานขั้นต่ำอย่างไร จะเป็นอะไรมากกว่าผู้บริโภคสินค้าเพื่อให้เศรษฐกิจมันโต เป็นผู้ผลิตจากสิ่งที่มี แต่จะพัฒนาสิ่งอื่นอย่างไร ที่ไม่ง่ายแค่ว่าไปสอนเขาแบบอบรมตามยุคสมัย

เรื่องนี้ยากครับ

การจะไปให้พ้นจากความตกต่ำทางการศึกษานั้นมีราคาที่ต้องจ่ายครับ ในแง่ของปัจเจกบุคคล คนรวยก็ต้องจ่าย คนจนก็ต้องจ่าย พึ่งพาวาสนากันไปว่าจะมีคนเก่งแบบช้างเผือกซึ่งมีเสมอ

และคนที่อาจไม่ได้รวยและไม่ได้จนแต่คิดต่างจากคนอื่น เขาก็มีราคาที่ต้องจ่ายเหมือนกัน

สรุปที่อยากจะชวนคิดในสัปดาห์นี้นั้นไม่ใช่แค่ว่าเด็กไทยเก่งน้อยลงหรือไม่ หรือระบบการศึกษามีคุณภาพพอไหม

ต้องถามว่าประเทศนี้ คนที่ไม่ใช่เด็กแต่กุมอนาคตของเด็กมีคุณภาพพอที่จะคิดระบบที่มีคุณภาพไหม และวางอนาคตของประเทศไว้อย่างไร

ถ้าเอาจริงๆ เขาไม่ได้อยากให้อนาคตของประเทศมันมีความเท่าเทียมจริงๆ ให้ทุกคนร่วมมือกันพาประเทศไปได้ แต่มองว่าคนกลุ่มมากนั้นต้องขึ้นมาเท่ากับคนอื่นๆ และอนาคตของประเทศมันแบ่งปันกันได้

ก็ไม่ต้องกังวลหรอกครับว่าวังวนของการแก้ปัญหาก็คือตั้งคณะกรรมการ ออกแบบหลักสูตรใหม่ มีดราม่าการโวยวาย

แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือการออกแบบบริบทของประเทศ การออกแบบอนาคตของประเทศนี้ยังไม่มีความหวังเลย จะมาวัด มาออกแบบ มาบ่นอะไรกับระบบการศึกษากันนักกันหนา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image