คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ‘เงิน’ที่ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ แต่‘คนจ่าย’เอากระดูกแขวนคอ

คําชี้แจงของเลขาธิการคณะกรรมการ ป... ในฐานะโฆษกขององค์กรดังกล่าว ที่พยายามอธิบายว่า ทำไม นายชัยยศ สุขต้อ อดีตครูโรงเรียนบ้านยางเปา อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ถูกชี้มูลความผิดทางอาญาและวินัยนั้น ได้ดำเนินการไปโดยถูกต้องตามกฎหมายเพื่อกล่าวหาว่าอดีตคุณครูนั้นได้กระทำผิดจริงในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างและการตรวจรับ ก็คงจะถูกต้องและเป็นไปเช่นนั้น 

แต่ในอีกทางหนึ่ง ฝ่ายที่นำเสนอข่าวว่า ครูชัยยศได้ดำเนินการเพื่อประโยชน์ของเด็กนักเรียน และปฏิบัติหน้าที่ในฐานะครูที่ดีมาตลอดอายุราชการอย่างไร นั้นก็คงจะไม่ได้โกหกเช่นกัน 

ทางฝ่ายผู้สนับสนุนคุณครูชัยยศนั้นให้ข้อมูลว่า เรื่องนี้เป็นเพราะภาครัฐได้จัดงบประมาณค่าอาหารกลางวันให้เฉพาะเด็กนักเรียนชั้นอนุบาลและชั้นประถม ทำให้เด็กชั้นมัธยมต้น ไม่ได้รับงบประมาณอาหารกลางวันส่วนนี้ ทางผู้บริหารโรงเรียนจึงเห็นว่าเด็กนักเรียน ม.ต้นกลุ่มนี้ไม่ได้อยู่กับผู้ปกครองและส่วนใหญ่มีฐานะยากจนจึงได้มีการบริหารจัดการงบประมาณเพื่อให้จัดซื้อวัตถุดิบมาประกอบอาหารกลางวันให้ได้ปริมาณมากขึ้น เพื่อให้เด็ก ม.ต้น ได้มีส่วนรับอาหารกลางวันนี้ได้ด้วย

ส่วนเหตุผลของทาง ป...นั้นก็สรุปออกมาว่า เรื่องคือเจ้าหน้าที่จัดซื้ออาหารกลางวันทำการขออนุมัติยืมเงินเพื่อจัดหาอาหารกลางวัน และผู้อำนวยการโรงเรียนก็อนุมัติให้ยืมเงินโดยไม่ได้ขออนุมัติให้จัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบของทางราชการ และเจ้าหน้าที่ผู้จัดซื้อก็ทำใบรับรองการจ่ายเงินเป็นหลักฐานการใช้จ่ายเงินแทนใบเสร็จรับเงินที่ทางหน่วยงานดังกล่าวเห็นว่าเป็นเท็จ เมื่อครูชัยยศร่วมลงนามรับรองตรวจรับวัตถุดิบอาหารนั้นก็เป็นการลงชื่อรับรองอันเป็นเท็จ เป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว เชื่อว่ามีเจตนาที่จะไม่ให้มีการตรวจสอบในภายหลังว่ามีการจัดซื้อจัดหาอาหารกลางวันครบถ้วนหรือไม่ การไม่ดำเนินการจัดซื้อตามระเบียบย่อมเป็นการดำเนินการเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางโรงเรียนต้นสังกัด

Advertisement

ทำให้นึกไปถึงข่าวดังที่เป็นประเด็นกล่าวถึงกันเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า เรื่องของอาจารย์ผู้หนึ่งซึ่งได้รับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศจากทางมหาวิทยาลัย แต่ในการศึกษานั้นทำให้เธอต้องเจ็บป่วยด้วยอาการทางจิตเวชจนกระทั่งกลับมาทำงานใช้ทุนแล้วก็ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ จึงต้องออกจากมหาวิทยาลัย (ทั้งสองฝ่ายยังโต้แย้งกันอยู่ว่าเป็นการลาออกโดยสมัครใจหรือเป็นการให้ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงขอละที่จะกล่าวข้อเท็จจริงในส่วนนี้) นั่นทำให้เธอต้องรับภาระหนี้ที่จะต้องชดใช้ทุนการศึกษาพร้อมเบี้ยปรับและดอกเบี้ยต่างๆ ตามสัญญาและตามกฎหมายในระดับที่สิ้นเนื้อประดาตัว ซึ่งทางมหาวิทยาลัยก็ออกมาชี้แจงเช่นกันว่าเหตุใดจึงต้องดำเนินการเช่นนั้น

เรื่องของอาจารย์ท่านนี้จะว่าไปก็พอเข้าใจเหตุผลของทางมหาวิทยาลัยได้ เพราะสัญญาทุนการศึกษา ถือเป็นสัญญาทางปกครองซึ่งเป็นรูปแบบนิติกรรมที่อยู่ตรงกลางระหว่างกฎหมายเอกชนคือกฎหมายแพ่งกับกฎหมายปกครองซึ่งเป็นกฎหมายมหาชน สำหรับคู่สัญญาฝ่ายเอกชน (คืออาจารย์ผู้รับทุน) นั้นอาจจะตกลงใจทำสัญญาหรือปฏิบัติการใดๆ ในทางสัญญาได้อย่างมีเสรีภาพในฐานะของบุคคลธรรมดา แต่สำหรับคู่สัญญาอีกฝ่ายคือมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐนั้นไม่สามารถที่จะแสดงเจตนาหรือปฏิบัติการใดๆเกี่ยวกับสัญญาได้โดยอิสระ เพราะจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ หรือระเบียบ ในเรื่องนั้น 

เมื่อคู่สัญญาฝ่ายผู้รับทุนไม่สามารถชำระหนี้ตามสัญญาคือการปฏิบัติงานตามที่กำหนดไว้ได้ ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเพราะเหตุใด หน่วยงานผู้ให้ทุนก็ต้องฟ้องเรียกเงินค่าทุนคืนพร้อมเบี้ยปรับ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของทางราชการเช่นกันที่จะไม่ทำก็ไม่ได้ 

Advertisement

แม้แต่ความพยายามหาช่องทางของระเบียบกฎหมายเพื่อช่วยเหลือด้วยในข้อเท็จจริงที่ควรเห็นใจและเข้าใจ แต่ความเสี่ยงก็จะมาตกแก่ผู้รับผิดชอบของทางมหาวิทยาลัยว่าเป็นฝ่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือทำผิดกฎหมายเสียเอง ซึ่งจากข่าวที่เกิดขึ้นกับคุณครูชัยยศ อาจจะทำให้ผู้รับผิดชอบเรื่องนี้ของฝ่ายมหาวิทยาลัยรู้สึกโล่งใจก็ได้ว่า โชคดีแล้วที่ตนเองตัดสินใจดำเนินการให้ยุติสัญญาและฟ้องร้องไปเช่นนั้น ถึงจะโดนสังคมประณามก็อาจจะดีกว่าถูกไล่ออก ปลดออก หรือถูกฟ้องคดีอาญา

แล้วมันเกิดอุบัติเหตุหรือมีรูบนเนยแข็งแห่งการใช้บังคับกฎหมายอย่างไร จึงเกิดผลลัพธ์ที่สังคมรับไม่ได้หรือกังขาขึ้นมาเช่นนี้ ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากวาทกรรมเรื่องเงินแผ่นดินและทรัพย์สินของราชการตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ ขาดหายไปต้องตามกลับคืนได้นั่นเองที่อาจจะเป็นปัญหาของเรื่องนี้ และก่อปัญหาทำร้ายข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐแทบทุกระดับมาแล้วโดยไม่เลือกหน้า แม้ว่าจะไม่ได้มีเจตนาทุจริตประพฤติมิชอบใดๆ ก็ตาม

นอกจากสองกรณีที่เป็นข่าว ก็ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่จบลงแบบเงียบๆ โดยผู้ที่ต้องสังเวยรับเคราะห์คือข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้ถึงกับมีเจตนาไม่สุจริตหรือมุ่งหวังประโยชน์อันมิชอบอะไร เพียงแต่ทำผิดระเบียบไม่ตรงขั้นตอนไปบ้าง และความไม่รู้หรือความไม่รอบคอบ หรือแม้แต่เข้าใจว่าสามารถเลือกที่จะปรับลดหรือเฉลี่ยเกลี่ยใหม่ที่จะเป็นประโยชน์ต่อทางราชการหรือส่วนรวมมากกว่าก็ได้ แต่การกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบนั้นเองที่ส่งผลย้อนกลับมาให้ต้องรับบาปเคราะห์จากความตั้งใจที่ดีนั้น

ก่อนอื่น เราต้องยอมรับในทางหลักการเบื้องต้นร่วมกันว่า กระบวนการทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับเงินแผ่นดินเป็นเรื่องจำเป็น เพราะเงินงบประมาณของหน่วยงานของรัฐ ไม่ใช่เงินของหน่วยงานนั้นหรือของผู้มีอำนาจพิจารณาสั่งจ่ายเงินนั้นแต่อย่างใด แต่ถือเป็นเงินแผ่นดินหรือเงินอันเป็นทรัพยากรของรัฐที่จะต้องใช้จ่ายไปเพื่อประโยชน์สาธารณะเท่านั้น เช่นนี้ในการที่จะจ่ายเงินดังกล่าวไม่ว่าทางใด จึงต้องมีกระบวนการที่กำหนดไว้ในกฎหมายและระเบียบเพื่อไม่ให้มีการใช้จ่ายเงินดังกล่าวไปโดยอำเภอใจของผู้มีอำนาจในการอนุมัติจ่ายเงิน และจะต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้ให้ใช้จ่ายเงินงบประมาณก้อนนั้นด้วย

เมื่อมีการตรวจสอบการใช้เงินงบประมาณของหน่วยงานของรัฐ หากเป็นกรณีที่ได้ดำเนินการไปโดยถูกต้องตามระเบียบขั้นตอนทุกอย่างไม่บกพร่องแล้ว แต่เนื้อหาสาระของการใช้จ่ายเงินนั้นไม่ตรงกับเรื่องที่ของบประมาณไว้หรือที่เรียกว่าเป็นการใช้จ่ายเงินผิดประเภท ผู้ที่มีส่วนร่วมในการสั่งจ่ายเงินงบประมาณนั้นก็อาจต้องชดใช้เงินก้อนนั้นคืนให้ทางรัฐ แต่ถ้าเรื่องเป็นว่าการใช้จ่ายเงินงบประมาณไม่ได้ดำเนินการไปตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎหมายและระเบียบ เรื่องก็อาจจะบานปลายไปสู่การชี้มูลทางวินัยและดำเนินคดีอาญาได้

ทั้งศาลเองก็มีแนวโน้มที่จะตัดสินพิพากษาไปในแนวทางที่ว่า การเบิกจ่ายใช้เงินงบประมาณของรัฐโดยผิดวิธี ข้ามขั้นตอน ไม่เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการนั้น ถือว่ามีเจตนาทุจริตที่จะต้องลงโทษทางอาญาอย่างจริงจังไม่รอการลงโทษด้วย เช่นนี้การใช้จ่ายเงินงบประมาณของรัฐผิดวิธีก็มีความเสี่ยงระดับติดคุกติดตะรางกันจริงจัง

ทั้งนี้เพราะการทุจริตหรือประพฤติมิชอบวงราชการนั้นเป็นปัญหาสำคัญที่กัดกร่อนบ่อนเซาะประเทศ ปัญหาสังคมที่เรื้อรังหลายเรื่องตลอดจนความเสื่อมโทรมผุพังของสาธารณูปโภคต่างๆ ตลอดจนบริการสาธารณะที่ไม่ได้มาตรฐานล้วนมาจากปัญหาที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐอาศัยหาประโยชน์ส่วนตนจากทรัพยากรส่วนรวมและเวลาของประชาชนคนอื่นในประเทศชาติ แต่ถึงอย่างนั้นการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่ปรากฏในระยะหลังก็เริ่มเป็นไปแบบไม่ได้สัดส่วนมากขึ้น จนราวกับว่าข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นต้องถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจะกระทำการโดยทุจริตหรือหาประโยชน์เข้าตัว

นอกจากนั้น กฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินของรัฐนี้ก็มักจะมีขั้นตอนกระบวนการที่ละเอียดยิบและยุ่งยากซับซ้อน อุปมาว่าเหมือนการเขียนกฎหมายและระเบียบที่มีความมุ่งหมายให้เจ้าหน้าที่ผู้อยู่ใต้บังคับนั้นเดินไปให้ตรงทาง จึงต้องกำหนดละเอียดในระดับการก้าวเท้าทีละข้างหรือกำหนดองศาที่จะก้าวเท้ากันเลยก็ว่าได้ และมองว่าการไม่เดินตามจังหวะทิศทางที่กำหนดไว้ เท่ากับมีเจตนาที่จะเดินไม่ตรงทางไปในตัว

แต่กระนั้น การที่เราจะมองว่าระเบียบทั้งหลายทั้งปวงในเรื่องนี้พึงยืดหยุ่นได้เพื่อประโยชน์ของทางราชการหรือส่วนรวมนั้นก็มีความเสี่ยงไปอีกทางหนึ่ง เพราะดังได้กล่าวไว้แล้วว่าการที่ต้องมีรูปแบบวิธีการในการใช้จ่ายเงินของรัฐนั้นเป็นไปเพื่อป้องกันการใช้จ่ายงบประมาณตามอำเภอใจหรือแม้แต่เพื่อประโยชน์ส่วนตน การไม่ปฏิบัติตามระเบียบขั้นตอนที่ถูกต้องโดยอ้างความจำเป็นหรือประโยชน์อื่นก็สุ่มเสี่ยงจะมีปัญหาว่าความไม่ถูกต้องนั้น เป็นไปโดยความจำเป็นที่สมเหตุสมผลได้สัดส่วน หรือเป็นประโยชน์อย่างอื่นจริงหรือไม่ ถ้าจะเปรียบตัวอย่างเดิมว่าหากต้องการให้เจ้าหน้าที่เดินไปให้ตรงทาง แต่มีระเบียบหลวมๆ ว่าอาจจะเดินเบี่ยงซ้ายเบี่ยงขวาไปบ้างก็ได้ สุดท้ายขอให้เดินเข้าสู่เป้าหมายที่ถูกต้องก็พอ มันก็เสี่ยงว่าสักวันอาจจะมีคนเดินเบี่ยงไปมาแล้วเดินลับหายออกไปจากเส้นทางและเป้าหมายอันถูกอันควรเช่นกัน

เพราะแม้ว่าเราจะมีครูที่เสียสละที่คิดและทำเพื่อลูกศิษย์ทุกระดับชั้นได้มีอาหารกินก็จริง แต่เราก็มีครูที่ทุจริตเบียดบังเงินค่าอาหารกลางวันของเด็กนักเรียนไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวแล้วให้เด็กวัยอนุบาลกินขนมจีนกับไข่ต้มคนละครึ่งฟองเพิ่งถูกศาลพิพากษาจำคุกกันไป กฎหมายและระเบียบขั้นตอนของทางราชการก็มีไว้เพื่อป้องกันและลงโทษครูแบบหลังนี่แหละ

การวางน้ำหนักระหว่างความเข้มงวดและความยืดหยุ่นยุติธรรมของกระบวนการใช้จ่ายเงินของรัฐจึงหาจุดดุลยภาพได้ยากยิ่งนัก

แต่ถึงอย่างนั้นถ้ากระบวนการตรวจสอบละเอียดยิบเช่นนี้มันสามารถบังคับใช้ได้อย่างทั่วถึงกับเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภทภาคส่วนโดยไม่กลัวเกรง สามารถทวงถามตามเงินแผ่นดินที่ใช้ไปโดยมิชอบที่ประชาชนกังขากลับมาได้จริง เช่นนี้แม้ความเข้มงวดของกฎหมายและกระบวนการนี้อาจจะเกินสัดส่วนไปบ้าง แต่สังคมและประชาชนก็อาจจะยอมรับก็ได้

หากความจริงที่สังคมได้เห็นกลับเป็นว่า หน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจเงินแผ่นดินและหน่วยงานผู้ชี้มูลความสุจริตทุจริตข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นก็ดูจะเก่งและแข็งขันเหลือเกินกับข้าราชการท้องถิ่น ครู แพทย์ และตำแหน่งชั้นผู้น้อยอื่นๆ แต่ก็ไม่เห็นจะเคยกล้าก้าวล่วงไปตรวจสอบการใช้เงินแผ่นดินหรืองบประมาณของทางราชการจากหน่วยงานของรัฐบางองค์กรที่ประชาชนตั้งคำถามเลย เช่นกรณีอื้อฉาวที่ผู้บัญชาการเหล่าทัพสามารถให้ลูกหลานตัวเองมาตั้งบริษัทในค่ายทหารแล้วรับงานโครงการต่างๆ ของกองทัพได้หน้าตาเฉย หรือที่ประชาชนเพิ่งรู้ว่าผู้นำเหล่าทัพทั้งหลายยังมีสิทธิในบ้านพักประจำตำแหน่งเพื่อเกียรติยศและประชาชนต้องรับภาระค่าใช้จ่ายแห่งเกียรติยศนั้นด้วยเงินภาษี ซึ่งแต่ละเดือนเผลอๆ จะแพงกว่างบประมาณค่าอาหารกลางวันคดีของครูชัยยศนี้ทั้งปีด้วยซ้ำ เรื่องแบบนี้เป็นการใช้จ่ายเงินแผ่นดินที่ถูกต้องเหมาะควรแล้วหรือ

สุดท้ายนี้ อยากขอสอบถามหน่วยงานผู้ทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่เที่ยวชี้มูลชาวบ้านว่า เรื่องการปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดกรณีเปิดเผยข้อมูลข่าวสารคดีนาฬิกายืมเพื่อนนั้นได้ดำเนินการไปแล้วหรือไม่อย่างไร

อย่าให้ชาวบ้านเขาอิดหนานินทาเอาว่า ดูสิ ตัวเองถ่ายราดอยู่เต็มกางเกงแท้ๆ แต่ยังเที่ยวลอยหน้าลอยตาไปชี้มูลว่าคนนั้นคนนี้เขาผายลมเลย

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image