ปรองดอง-เลือกตั้ง โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

แฟ้มภาพ

กําลังถกเถียงกันว่า ตกลงจะเลือกตั้งกันได้เมื่อไหร่ การเมืองก็พลิกไปอีกฉาก

มีชื่อของ “ป.ย.ป.” ปรากฏออกมาเรียกเสียงฮือฮา

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช.เซ็นคำสั่ง 3/2560 ใช้อำนาจมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ 2557 ให้มี “คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง” หรือ ป.ย.ป.

โดยมีกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอ ป.ย.ป. 4 คณะ ได้แก่ 1.คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ 2.คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ 3.คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ 4.คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง

Advertisement

ชุดที่สังคมให้ความสนใจ คือ คณะเตรียมการปรองดอง ที่ประกอบด้วย กรรมการ 19 คน มีปลัดกลาโหม กับปลัดมหาดไทย นั่งประธานร่วมกัน กับกรรมการอื่นๆ ซึ่งมาจากกองทัพ

และยังมีอนุกรรมการอีก 4 ชุด รวมแล้ว 98 คน

ดูจากโครงสร้างและจำนวนกรรมการแล้ว ถือว่าเป็นโปรเจ็กต์ใหญ่ยักษ์ผู้คนเดินกันขวักไขว่เลยทีเดียว

Advertisement

เท่าที่มีการเปิดเผย กรรมการที่ตั้งกันขึ้นมานี้ จะทำงานหลายแง่มุม รวมถึงจะนำเอาพรรคการเมืองต่างๆ มาประชุมหารือ เมื่อสรุปแนวทางปรองดองได้ จะมีลงเอ็มโอยู หรือบันทึกความเข้าใจเอาไว้

ก็น่าสนใจว่า การปรองดองเกิดขึ้นหรือไม่ และหน้าตาจะหล่อเหลา หรือขี้ริ้วขี้เหร่อย่างไร

ขณะที่แวดวงนักวิชาการ นักการเมือง และผู้สนใจ พากันวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา

โดยเฉพาะองค์ประกอบของกรรมการ ซึ่งมาจากทหารและภาคราชการเป็นส่วนมาก

และมีเสียงสะท้อนว่า องค์กรที่จะมาสร้างการปรองดอง แก้ไขความขัดแย้ง ปกติจะต้องใช้คนกลางที่ไม่ได้เกี่ยวข้องหรืออยู่ในความขัดแย้ง

บางครั้งถ้าขัดแย้งระดับรบกันเลือดตกยางออก หาคนกลางไม่ได้ ต้องนำเอาองค์การระหว่างประเทศเข้ามาด้วยซ้ำ

สังคมไทยเราพูดถึงการปรองดองกันมาหลายปี โดยเฉพาะหลังจากขัดแย้งจนเกิดปะทะมีการสลายม็อบ มีคนเสียชีวิตเป็นร้อยศพ

ตั้งกรรมการกันมาแล้วหลายชุด มีที่มาหลากหลาย

เชิญผู้สันทัดกรณีจากต่างประเทศมาร่วมคิดร่วมผลักดัน ก็ทำกันมาแล้ว

สุดท้ายจะสรุปข้อเสนอ เนื้อหามักจะเน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในความขัดแย้ง การให้อภัย การสร้างความเป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย

แต่การปรองดองไม่เกิดขึ้นจนแล้วจนรอด เพราะแก้ไม่ถึงขั้นพื้นฐาน กลายเป็นเรื่องการเมืองไป

รอบนี้ก็เหมือนกัน การปรองดองเลยโดนโยงไปถึงการเลือกตั้งอีกจนได้

ฝ่ายที่เรียกร้องการเลือกตั้ง ออกมาถามว่า ตั้งโครงสร้างใหญ่โตขนาดนี้ จะไปเบียดการเลือกตั้งหรือเปล่า

ขณะที่ฝ่ายต่อต้านเลือกตั้งก็เสนอว่า น่าจะจัดให้การปรองดองเกิดขึ้นก่อน แล้วค่อยเลือกตั้ง

ฟังคล้ายๆ ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เมื่อต้นปี 2557 จนการเลือกตั้งล้มไปในที่สุด

รอบนี้การปรองดองจะทำให้การเลือกตั้งง่ายขึ้น หรือยากขึ้น ต้องจับตาดูกันไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image