ทบทวนกระบวนทัพฝ่ายประชาธิปไตยในพม่าหลังปฏิบัติการ 1027 โดย ลลิตา หาญวงษ์

หลังปฏิบัติการ 1027 หรือ Op 1027 ที่สะเทือนเลื่อนลั่นแผ่นดินพม่าไปตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม หลายฝ่ายประเมินว่ากองทัพพม่ามาถึงทางตัน ราวกับว่าฝ่ายต่อต้านรัฐประหารจะชนะในไม่ช้านี้ ชัยชนะของประชาชนในพม่าคงยังไม่เกิดในเร็วๆ นี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วอย่างแน่นอนมีอยู่ 3 ประเด็นใหญ่ ประเด็นแรก กองทัพพม่าอ่อนแอลง ทั้งด้านจำนวนทหารในกองทัพที่ลดลง ทั้งจากผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต และทหารที่ทิ้งกองทัพดื้อๆ ประเด็นที่สอง ความเสียหายของกองทัพพม่าเกิดจากการโจมตีแบบสงครามกองโจร เป็น surprise attack ที่กองกำลังหลายกลุ่มร่วมกันโจมตีกองทัพพม่าแบบตั้งตัวไม่ทัน และสร้างความเสียหายหนักในเวลาไม่กี่วัน ความเสียหายในสเกลนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว เพราะกองทัพพม่าจะเตรียมตัวรับมือได้ดีกว่าที่ผ่านมาแน่นอน และประเด็นสุดท้าย ปฏิบัติการ 1027 ไม่ได้เป็นจุดจบของปัญหา แต่ยิ่งจะทำให้หนทางการเจรจาล่าช้าออกไป ที่สำคัญคือสงครามในครั้งนี้จะไม่มีผู้แพ้ผู้ชนะที่ชัดเจน หากแต่จะยื้อยุดกันไปอย่างนี้อีกนานแสนนาน

คำถามที่ตามมาคือ แล้วพม่ามีโอกาสกลับไปสู่สภาพเดิมๆ ก่อนรัฐประหารหรือไม่?

คำตอบแบบกำปั้นทุบดินของผู้เขียนก็คือ…ยาก

กองทัพพม่านั้นเมื่อต้องตกเป็นผู้กระทำแล้ว ไม่มีทางจะถอดใจง่ายๆ แม้หลายคนจะประเมินว่าตอนนี้กองทัพพม่าอยู่ในจุดตกต่ำสุดๆ แต่เชื่อเถิดว่ากองทัพก็จะกลับมาได้ เริ่มจากสภาพรุ่งริ่งก่อน แต่ก็จะค่อยๆ ปรับกระบวนทัพพม่าก็จะกลับไปอยู่ในลูปการสู้รบเดิมๆ อีก หลายสัปดาห์มานี้ ข่าวการสู้รบในพม่าค่อนข้างเงียบ แต่ไม่ช้าไม่นาน ก็จะเกิดการสู้รบขึ้นอีก

Advertisement

ตัวละครสำคัญที่สุดในปฏิบัติการ 1027 คือกองกำลัง 3 ฝ่าย ในนาม Three Brotherhood Alliance อันประกอบไปด้วยกองกำลังของตะอาง โกก้าง และอาระกัน ที่รวมตัวกันเฉพาะกิจเพราะจีนไปกระซิบให้ช่วยเหลือขับจีนเทาออกไปจากรัฐฉานตอนเหนือ กลุ่มสามพี่น้องก็ใช้โอกาสนี้ร่วมกันตีกองทัพพม่าออกจากรัฐฉานตอนเหนือไปด้วยในตัว แต่อย่างที่กล่าวไปข้างต้น การโจมตีร่วมในลักษณะนี้จะลดลง แต่การสู้รบจะกระจายออกไปในหลายพื้นที่ ที่น่าจับตาเป็นพิเศษคือในรัฐยะไข่ พื้นที่ของกองทัพอาระกัน หรือ AA ที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสามพี่น้อง

ในเดือนพฤษภาคม รัฐยะไข่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากพายุไซโคลนโมคา และกองทัพพม่าพยายามกีดกันไม่ให้ความช่วยเหลือใดๆ เข้าไปในรัฐยะไข่ AA เองก็ต้องใช้ทรัพยากรทั้งเงินและเสบียงของตนเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ เมื่อมีข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศในปลายปี 2020 ตั้งแต่ในยุครัฐบาล NLD กองกำลัง AA เป็นกลุ่มแรกๆ ที่เข้าร่วมการเจรจา เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นแล้ว ผู้นำ AA ก็บอกประชาชนของตนให้ “ชิล” และไม่แนะนำให้ชาวยะไข่เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงเพื่อต่อต้านรัฐประหาร แม้ AA จะเป็นหนึ่งในกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่ให้ความช่วยเหลือกองกำลัง PDF ทั้งในด้านอาวุธและการฝึกทางทหารให้กำลังพลของ PDF ที่ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวจากในเมือง

ก่อนปฏิบัติการ 1027 แทบไม่มีการสู้รบในรัฐยะไข่ AA เป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้านคณะรัฐประหาร แต่การสู้รบทั้งหมดที่ AA เข้าร่วมอยู่นอกรัฐยะไข่ ในรัฐคะฉิ่นบ้าง พม่าตอนบน หรือรัฐฉาน ในอนาคตอันใกล้ การสู้รบอาจเกิดขึ้นในรัฐยะไข่มากขึ้น แต่เมื่อใดก็ตามที่เกิดความไม่สงบในพื้นที่เปราะบางซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของจีน เราอาจเห็นบทบาทของจีนที่เข้าไปสนับสนุนกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อให้ช่วยปกป้องผลประโยชน์และโครงสร้างพื้นฐานของตนทั้งหมดในพม่าอีกครั้ง

Advertisement

อีกประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนอยากพูดถึง เพื่อเน้นว่าสภาพการณ์ในพม่าสำหรับปี 2024 ที่จะถึงนี้ ก็ยังจะเป็นสุญญากาศทางอำนาจอยู่ ยากที่จะพัฒนาไปเป็นการเจรจาสันติภาพที่ถาวร คือประเด็นเรื่องเอกภาพของฝ่ายประชาธิปไตย นอกจากกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มแล้ว กลุ่มปฏิปักษ์คณะรัฐประหารที่แอ๊กทีฟสุดในเวลานี้คือกองกำลังพิทักษ์ประชาชน หรือ PDF ที่ผ่านมา เรามักจะมองว่า PDF เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลคู่ขนาน NUG แต่ในความเป็นจริง PDF มีกองกำลังอยู่หลายร้อยกลุ่ม มีปฏิบัติการอยู่ทั่วพม่า โดยเฉพาะในพม่าตอนบนแถบมณฑลสะกาย มักก่วย และมัณฑะเลย์ PDF ส่วนใหญ่ได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มชาติพันธุ์ ดังนั้น PDF ที่อยู่ในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ จึงรับคำสั่งจากกลุ่มชาติพันธุ์ มากกว่ารัฐบาล NUG และมีวาระเป็นของตนเอง NUG ไม่สามารถควบคุม PDF ได้ทั้งหมด

กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์เองก็ไม่ไว้ใจรัฐบาล NUG เราต้องยอมรับก่อนว่า NUG คือร่างโคลนของรัฐบาล NLD เป้าหมายของ NUG ก็คือการล้มล้างอำนาจของคณะรัฐประหาร และนำรัฐบาล NLD กลับเข้ามาบริหารประเทศเหมือนก่อนปี 2021 แต่วาระของ NUG นี้มีปัญหามาก เพราะกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่แม้จะไม่ได้ขัดแย้งกับ NUG โดยตรง แต่ก็ไม่ได้ถือว่าเป็นเพื่อนที่จะมอบความจริงใจให้ได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ท้ายที่สุดแล้ว NUG ก็คือภาพแทนของ NLD ที่กลุ่มชาติพันธุ์มองว่าเป็นตัวแทนของคนพม่าแท้ และไม่ได้มีวาระหลักเพื่อผลักดันพม่าไปสู่สหพันธรัฐ ที่กลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มจะมีสิทธิเสรีภาพในการกำหนดชีวิตของตนเองอย่างเท่าเทียมกัน

พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ไว้ใจ NLD/NUG กรณีของ AA เป็นตัวอย่างชัดเจนของปรากฏการณ์นี้ ระหว่างที่รัฐบาล NLD ยังอยู่ในตำแหน่ง AA ทำสงครามกับกองทัพพม่าเพื่อขยายเขตอิทธิพลของตนในรัฐยะไข่ และได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากประชาชนในพื้นที่ของตน กองทัพพม่าโต้ตอบ AA และประชาชนที่สนับสนุน AA อย่างโหดเหี้ยม โดยที่ NLD ได้แต่ยืนดู และ NLD เองยังเคยเรียก AA ว่าเป็นองค์กรของผู้ก่อการร้าย ซึ่งสร้างบาดแผลในใจให้ทั้งระดับผู้นำ AA และประชาชนในรัฐยะไข่มาจนถึงทุกวันนี้

โอกาสที่ NUG จะลบภาพจำเก่าๆ นี้ และเข้าหากลุ่มชาติพันธุ์อย่างเท่าเทียมเป็นไปได้ยาก อนาคตที่ NUG มองและ AA มองก็ต่างกันอีก ในขณะที่ NUG พยายามสร้างระบบสหพันธรัฐ (federation) ที่รัฐบาลกลาง (ภายใต้การกำกับของคนพม่า) ยังมีบทบาทนำ AA และกลุ่มชาติพันธุ์อีกหลายกลุ่มกลับเรียกร้องระบบสมาพันธรัฐ (confederation) ที่จะทำให้รัฐยะไข่มีอิสระในทุกด้าน เว้นไว้เพียงด้านความมั่นคงบางส่วน ระบบเงินตรา และประเด็น
ย่อยอื่นๆ ไม่กี่ประเด็น

มาถึงจุดนี้ แม้กองทัพพม่าจะอ่อนแอลง แม้ฝ่ายต่อต้านรัฐประหารจะต่อสู้เพื่อยึดพื้นที่ให้มากที่สุด แต่ส่วนที่ยากคือจะมีการจัดสรรอำนาจกันอย่างไร ภายใน NUG และ PDF เองก็มีความคิดเห็นแตกต่างกันมากอยู่แล้ว ไม่ต้องพูดถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวาระเป็นของตนเอง ดังนั้น การหาทางลงเพื่อสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนในพม่าจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่ว่ากองทัพพม่าเริ่มอ่อนแอ แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ก็จะเกิดขึ้นทันที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image