ดุลยภาพดุลยพินิจ : การคลังเพื่อการศึกษาอัตราการพึ่งตนเองในมหาวิทยาลัยของรัฐ

ดุลยภาพดุลยพินิจ : การคลังเพื่อการศึกษาอัตราการพึ่งตนเองในมหาวิทยาลัยของรัฐ

งบประมาณและการคลังของมหาวิทยาลัยของรัฐไทยอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ โดยดำเนินการอย่างเงียบๆ ถ้าไม่สังเกตอาจไม่รู้ เนื่องจากสาเหตุบางประการ หนึ่ง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 ระบุให้มหาวิทยาลัยของรัฐต้องแสดงฐานะการเงิน คือเงินนอกงบประมาณ ตลอดจนรายได้และเงินอื่นที่มีอยู่ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 สอง โครงสร้างประชากรเด็กลดลง ทำให้ผู้เข้าเรียนระดับอุดมศึกษาลดลงตามไปด้วย (ในภาพรวม แต่ในส่วนย่อยจำนวนผู้เรียนบางสถาบันอาจจะเพิ่มขึ้น บางสถาบันลดลง ขึ้นอยู่กับชื่อเสียงและความนิยม) สาม มหาวิทยาลัยของรัฐพยายามปรับตัวโดยการหารายได้มาเลี้ยงตนเองจากงานวิจัย การบริการทางวิชาการ จัดตั้งบริษัทลูกและร่วมมือกับภาคธุรกิจ ในโอกาสนี้ขอนำผลงานวิจัยเล็กๆ ว่าด้วยอัตราการพึ่งตนเองของมหาวิทยาลัยของรัฐมาเล่าสู่กันฟัง

ก่อนอื่นขอแสดงความขอบคุณแหล่งข้อมูล คือ สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง และกระทรวง การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หน่วยวิเคราะห์ในที่นี้หมายถึง 76 สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ จำแนกออกเป็น 4 กลุ่ม คือ มหาวิทยาลัยทั่วไป มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยี และอื่นๆ โดยประมวลข้อมูล 6 ปี ช่วงปี พ.ศ.2561-2566 เน้น 3 ตัวแปร A คือรายได้จากงบประมาณแผ่นดิน B รายได้นอกงบประมาณ เช่น ค่าธรรมเนียมการศึกษารายได้วิจัย C คือเงินสมทบเพื่อการลงทุนของแต่ละสถาบัน นำมาคำนวณหา “อัตราส่วนการพึ่งตนเอง” ได้จาก (B+C หารด้วย A+B+C)

ตารางที่ 1 แสดงสถิติการคลังและงบประมาณของสถาบันอุดมศึกษา (ค่าเฉลี่ย 6 ปี 2561 ถึง 2566) พอสรุปได้ว่า หนึ่ง รัฐบาลอุดหนุนเงินจากงบประมาณแผ่นดิน 1 แสนล้านบาทโดยประมาณ มีรายได้นอกงบประมาณจากค่าธรรมเนียมการวิจัยและบริการทางวิชาการ 1.8 แสนล้านบาท สอง ความแตกต่างของความสามารถพึ่งตนเองโดยที่มหาวิทยาลัยทั่วไปซึ่งส่วนใหญ่มีสถานะ “มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ” เลี้ยงตนเองได้ 69% รองลงมาคือ กลุ่มเทคโนโลยี 45% และกลุ่มราชภัฏ 34% ตามลำดับ

Advertisement

สถิติข้างต้นสะท้อนว่า อัตราการพึ่งตนเองมีความแตกต่างกันพอสมควร ในลำดับต่อไปต้องค้นคว้าสาเหตุที่ทำให้การพึ่งตนเองแตกต่างกัน? เบื้องต้นนักวิจัยสันนิษฐานว่า ประการแรก มหาวิทยาลัยฯ ที่มีโรงพยาบาล มีการวิจัยที่เข้มข้นและการให้บริการต่อภาคธุรกิจ ไม่ใช่แค่สอนหนังสือ รายได้นอกงบประมาณและอัตราการพึ่งตนเองทางการคลังสูง ประการที่สอง ชื่อเสียงและความเป็นมายาวนานหมายถึงการเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาสูง เงินสะสมหรือทรัพย์สินสร้างรายได้จากดอกเบี้ยค่าเช่าค่าลิขสิทธิ์ ประการที่สาม สถาบันที่สามารถรับนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียน ทำให้ฐานรายได้ไม่ลดลงและช่วยพัฒนางานวิจัยจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท/เอก ในขั้นต่อไปจะทดสอบข้อสันนิษฐานโดยใช้แบบจำลองที่ระบุตัวแปรตาม ตัวแปรอิสระ วัดค่าสหสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร ซึ่งจะนำมารายงานในโอกาสต่อไป

แนวโน้มอนาคตสถาบันอุดมศึกษาของรัฐต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ คล้ายคลึงกับหน่วยงานภาคเอกชน คือเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเพื่อความอยู่รอด ขณะที่เยาวชนที่เข้าเรียนระดับปริญญาตรีขึ้นไปลดน้อยลง เท่าที่สังเกตมีวิธีการปรับตัวหลายแบบ หนึ่ง เพิ่มสัดส่วนนักศึกษาต่างชาติ คือโปรแกรมการเรียนเป็นภาษาอังกฤษ/ภาษาจีนหรืออื่นๆ สอง เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเงินสะสม จัดตั้งสำนักบริหารทรัพย์สินหรือบริษัทลูกเพื่อให้ได้ดอกเบี้ย ค่าเช่าหรือค่าลิขสิทธิ์เพิ่มขึ้น สาม ร่วมมือกับภาคเอกชนผ่านกระบวนการวิจัยและพัฒนา (R&D) ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมที่ขายได้ และมีส่วนแบ่งในกำไร สี่ การให้บริการชุมชนหรือร่วมมือกับองค์กรปกครองท้องถิ่น
ซึ่งเป็นผลดีร่วมกัน ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมาองค์การบริหารส่วนจังหวัดรับถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหลายพันองค์กร อาจต้องการความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัย

และก่อนหน้ากระทรวงการอุดมศึกษาฯ จัดทำโครงการให้สถาบันอุดมศึกษาลงไป “คลุกคลี” กับชุมชน อดีตรัฐมนตรีกระทรวง (ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์) เสนอให้รัฐบาลอุดหนุนโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล การจ้างงาน และให้คนมหาวิทยาลัยลงไป “ทำงานพื้นที่” ส่งเสริมเศรษฐกิจตำบล/อำเภอ หวังว่าคงได้รับการสนับสนุนในรัฐบาลปัจจุบัน (นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน) และในอนาคต

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image