โรงเรียนนายร้อย…กองทัพเมียนมา

โรงเรียนนายร้อย…กองทัพเมียนมา

ก องทัพเมียนมา มี 2 สถาบันหลัก ที่ผลิตนายทหารสำหรับ 3 เหล่าทัพ กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ

มีเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศมาต่อเนื่อง รัฐบาลทหารมีคำสั่งปิดโรงเรียน มหาวิทยาลัยบ่อยครั้ง กองทัพขาดแคลนกำลังพล กระทรวงกลาโหม ตั้งสถาบันผลิตบุคลากรเองเพื่อทำงานในกองทัพ

ใช้ระบบการศึกษา 2 แบบ ทั้งอเมริกาและอังกฤษ

Advertisement

สถาบันผลิตนายทหารของกลาโหม (Defence Services Academy : DSA : หรืออาจจะเรียกว่า ร.ร.นายร้อย) ของกองทัพเมียนมา อยู่ในเมืองพิน อูลวิน (Pyin Oo Lwin) ซึ่งโดยทั่วไปรับสมัครนักเรียนนายร้อยอย่างน้อย 500 คนต่อปี

กลาโหมเมียนมา นำโรงเรียนนายร้อย และโรงเรียนทหาร หน่วยทหารมารวมกันไว้ในเมืองนี้

ในปี พ.ศ.2440 เมืองพิน อูลวิน ในรัฐมัณฑะเลย์ เคยเป็นค่ายทหาร ต่อมาจึงจัดตั้งหน่วยทหารถาวรขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่ดี ท้องฟ้าแจ่มใส มีภูเขาที่สวยงาม อังกฤษที่ปกครองเมียนมา ขอมาปักหลัก กลายเป็น “เมืองหลวงฤดูร้อน” ของชาวอังกฤษในเมียนมา เพราะผู้ดีอังกฤษ “ไม่ชอบ” ย่างกุ้งที่แออัด จอแจ เต็มไปด้วยร้านค้า ร้อนชื้น ประชากรทยอยเข้ามาอยู่เพิ่มขึ้น หากแต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นเข้ามาขับไล่อังกฤษออกจากพม่าประชากรลดลง

Advertisement

มหาอำนาจอังกฤษไปปกครองดินแดนทั่วโลก ชอบตั้งโรงเรียน เพื่อลูกหลานของตน ในเมียนมาอังกฤษตั้งเมืองนี้เป็นศูนย์กลางการศึกษาที่สำคัญในช่วงยุคอาณานิคม โดยใช้ระบบ GEHS (Government English High Schools) เช่น St. Marys St. Michaels St. Alberts St. Josephs Convent และ Colgate ผู้บริหารอาณานิคมส่งลูกมาศึกษาที่นี่

(นี่เป็นรากฐานที่ชาวพม่าในหลายพื้นที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดี)

เมืองนี้มีชาวอินเดียอยู่ประมาณ 10,000 คน และชาวกูร์ข่า ราว 8,000 คน ซึ่งตั้งรกรากอยู่ระหว่างการปกครองของอังกฤษ

เมืองนี้มีความเจริญรุ่งเรือง ชุมชนส่วนใหญ่ประกอบด้วย แองโกลพม่าและแองโกลอินเดีย นอกจากนี้ยังมีการผสมผสานที่หลากหลายของชาว จีน ชิน คะฉิ่น กะเหรี่ยง ฉาน บามาร์ (พม่า) และกลุ่มต่างๆ

ภูมิประเทศอันตระการตาตรงนี้ ยังเคยเป็นสนามรบที่เด็ดขาดของกองทัพพม่าภายใต้การนำของ Maha Thiha Thura เอาชนะกองทัพจีนในการรุกรานพม่าครั้งที่ 3

กลับมาคุยกันเรื่องโรงเรียนนายร้อยเมียนมา…

แต่ละปี…เด็กหนุ่มสามารถยื่นใบสมัครจากเมืองที่ตนเองกำเนิด (ในแผ่นดินเมียนมามี 8 กลุ่มชาติพันธุ์ 7 รัฐ) มีการตรวจสอบถิ่นฐานอย่างละเอียด เมื่อมีเหตุการณ์ความไม่สงบ มีรัฐประหารเมื่อปี 2564 รัฐกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ชอบกองทัพที่ส่งกำลังไปปราบปรามเผ่าพันธุ์ของตน ก็แทบจะไม่มีใครสมัครเข้าเรียน มีเด็กหนุ่มยื่นใบสมัครเพียง 22 ใบ จากเมืองมัณฑะเลย์เมื่อปี 2564 เพราะประชาชนในเมืองนี้ไม่ปลื้มกับกองทัพ

เ ด็กหนุ่มชาวมัณฑะเลย์ เคยเป็น “อันดับต้นๆ” ของการสมัครเรียนมาช้านาน แต่นับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จำนวนเยาวชนที่เลือกเข้าร่วมกองทัพลดลง

จำนวนเยาวชนที่สมัคร มาก-น้อย จะแปรผันไปตามสถานการณ์ เหตุบ้านการเมือง รวมถึงความบาดหมางระหว่างแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์

(ตั้งแต่เกิดรัฐประหาร เจ้าหน้าที่หลายพันนายขอลาออกจากกองทัพ ไม่ยอมรับราชการภายใต้สภาทหาร)

“ผู้สมัครจำนวนมากที่สมัครเข้าศึกษาใน DSA มาจากมัณฑะเลย์ลดน้อยลงมาก ส่วนที่มาจากภูมิภาคที่มีกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ แทบไม่มีใครมาสมัคร” อดีตนายทหารที่ลาออกกล่าว

กองทัพเมียนมากำลังขาดแคลนนายทหาร ส่งผลกระทบอย่างหนัก รวมถึงนายทหารที่แปรพักตร์จากกองทัพหลังการยึดอำนาจ

ปีการศึกษา 2564 รัฐบาลทหาร (SAC) ต้องประกาศ “ขยายกำหนดเวลารับสมัคร” ของสถาบันการศึกษาเป็น “ครั้งที่ 2” หลังจากขยายกำหนดเวลาเริ่มแรกในเดือนสิงหาคม และอาจจะเป็นผลการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

โรงเรียนทหาร 3 แห่งของเมียนมา เพื่อผลิตนายทหารสัญญาบัตร ได้แก่ สถาบันป้องกันประเทศกลาโหม (Defense Services Academy : DSA) และสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม (Defense Services Technological Academy :DSTA) และสถาบันการแพทย์กลาโหม (Defence Services Medical School : DSMS) ที่ผ่านมาแต่ละแห่งดึงดูดผู้สมัครได้ปีละประมาณ 12,000 คน

หากแต่ปัจจุบันมีผู้สมัครน้อยลงมากอย่างน่าตกใจ แนวโน้มว่าพ่อแม่ของพวกเขาจะห้ามไม่ให้เข้าร่วมสถาบันนี้

“ปีนี้มีผู้ส่งใบสมัครเข้าร่วมสถาบันการทหารน้อยมาก ผู้สมัครส่วนใหญ่มาจากครอบครัวทหาร”

DSA เรียน 4 ปี ผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับปริญญาตรี ในสาขาที่เลือกเรียน

ลองแยกแยะในรายละเอียดของ 3 สถาบัน ผลิตนายทหาร

DSA ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 1 สิงหาคม พ.ศ.2497 สอนนักเรียนนายร้อยด้วยหลักสูตรระดับปริญญาตรี ในสาขาศิลปศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และวิทยาการคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งผลิตนายทหารให้กับ 3 เหล่าทัพ ราว 33,065 คน

DSTA ตั้งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2536 ถือได้ว่า เป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชั้นนำของกองทัพพม่า สอนหลักสูตรปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมศาสตร์หลายหลักสูตรแก่นักเรียนนายร้อยชายเท่านั้น เมื่อสำเร็จการศึกษา นักเรียนนายร้อยจาก DSTA ส่วนใหญ่จะได้รับการบรรจุให้เป็นนายทหารช่าง หรือที่เกี่ยวกับงานวิศวกรรม ชั้นยศร้อยโท ในกองทัพบก หรือกองทัพเรือ หรือกองทัพอากาศ นักเรียนนายร้อยที่มีคุณสมบัติเหมาะสมบางคนอาจเลือก (หรือได้รับเลือก) เพื่อศึกษาต่อในระดับสูง

DSMS ผลิตนายทหารในเหล่าแพทย์ ทำงานใน 3 เหล่าทัพ

โรงเรียนนายร้อยประเภทที่ 2 เรียกว่า Officers Training School หรือ OTS (ซึ่งเป็นโรงเรียนฝึกทหารแห่งแรกในพม่า)

20 สิงหาคม พ.ศ.2485 ก่อตั้งขึ้นในเมือง มิงกะลาโดง ย่างกุ้ง (ปัจจุบันคือย่างกุ้ง) ก่อตั้งโดยกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น
พ.ศ.2491 หลังจากได้รับเอกราช กองทัพเมียนมาย้าย OTS ไปเมืองเมย์เมียว (ปัจจุบันคือเมืองพิน อูลวิน) มัณฑะเลย์

พ.ศ.2531 OTS ถูกย้ายอีกครั้งไปที่เมือง “บาทู” ในรัฐฉาน เพื่อเปิดทางให้กับ ร.ร.นายร้อย DSA ซึ่งเป็นสถาบันการทหารหลักของประเทศ

OTS จะรับบุคคลพลเรือนที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีมาแล้วเป็นส่วนใหญ่ รับการฝึกอบรม เพื่อเป็นนายทหารในโรงเรียนหลักสูตรประมาณ 9 เดือน และยังเปิดให้การศึกษานายทหารชั้นประทวนและทหารที่มีวุฒิการศึกษาที่มีคุณสมบัติพิเศษในการเป็นนายทหารเท่านั้น

ศิษย์เก่าจากสถาบัน OTS เช่น นายพล ตาน ฉ่วย อดีตผู้นำสูงสุดของพม่า รวมถึงนายพล ขิ่น ยุนต์ อดีตนายกรัฐมนตรีของพม่า

มีข้อสังเกตถึง “การต่อสู้แย่งชิงอำนาจ” ที่มีมายาวนานระหว่าง 2 สถาบัน ระหว่าง OTS และ DSA มีเรื่อง “รักสถาบันการศึกษา” เข้ามาเกี่ยวข้อง กล่าวคือ สมาชิกสภา ที่ได้รับการแต่งตั้งจากกองทัพไปนั่งในสภาสูงของสภานิติบัญญัติแห่งชาติของเมียนมา (Amyotha Hluttaw) ส่วนมากเป็นผู้สำเร็จการศึกษาจาก OTS

ในขณะที่ไม่มีผู้แทนที่ได้รับการแต่งตั้งจากทหารคนใดในสภาล่างของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (Pyithu Hluttaw) ซึ่งเป็นของเมียนมาเป็นผู้สำเร็จการศึกษา OTS

ส มาชิกของ SAC (สภาบริหารประเทศโดยรัฐบาลทหารหลังยึดอำนาจ) 7 ใน 8 คน เป็นผู้สำเร็จการศึกษาจาก DSA มีเพียงพลโทเย วิน อู เลขาธิการร่วมของ SAC เท่านั้นที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนฝึกนายทหาร OTS

โรงเรียนนายร้อย OTS บางครั้งก็เรียกกันว่า โรงเรียนนายร้อยบาทู เพราะตั้งอยู่ที่เมืองบาทู รัฐฉาน ผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับการบรรจุเป็นนายทหารสัญญาบัตรในกองทัพ มีข้อสังเกตว่า โดยทั่วไปแล้ว นักเรียนนายร้อย OTS มีประสบการณ์ในชีวิตพลเรือนมากกว่านักเรียนนายร้อย DSA เพราะศึกษาในระดับปริญญาตรีมาจากมหาวิทยาลัย

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย สำเร็จการศึกษาจาก DSA เมื่อ พ.ศ.2520

แทบทุกคน พอจะจำกันได้ว่าใคร รุ่นไหน รุ่นเดียวกับใคร

นอกจากนี้…กองทัพพม่ามีหลักสูตร 1 ปี สำหรับผู้หญิงที่ต้องการเป็นนายทหารสังกัดเหล่าทัพต่างๆ แต่ละปีจะมีผู้หมวดหญิงที่เรียนจบเข้าประจำการเกือบ 100 คน เรียกว่าโรงเรียนนายทหาร หม่อบี่ ภาคย่างกุ้ง ในหลักสูตร 1 ปี หลังเรียนจบหลักสูตรจะได้รับยศเป็น “ผู้หมวด” แยกย้ายไปบรรจุเป็นนายทหารประจำตามเหล่าทัพต่างๆ

การศึกษาในระดับสูง กองทัพเมียนมาส่งนายทหารไปศึกษาในรัสเซียเป็นหลัก เพราะใช้อาวุธของรัสเซีย ที่สำคัญ คือ การศึกษาพลังงานนิวเคลียร์ที่กองทัพหมีขาวสนับสนุน บางส่วนก็ไปศึกษาในจีน

สงครามกลางเมืองในประเทศดำเนินมาอย่างต่อเนื่องราว 70 ปี ในฐานะเพื่อนบ้านใกล้ชิด มีพรมแดนติดต่อกันราว 2,401 กิโลเมตร มีพี่น้องแรงงานจากเมียนมาเข้ามาทำงานมหาศาล มากกว่า 3 ล้านคน และกำลังทยอยเข้ามาอีก รวมถึงที่ตกค้างตามแนวชายแดนอีกราว 9 หมื่นคนตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 เราห่วงใย อาทรต่อกันเสมอ

อยากเห็นการหยุดยิง (อีกครั้ง)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image