ดุลยภาพดุลยพินิจ : สถิติ ข้อมูล และโกหกคำโต

ดุลยภาพดุลยพินิจ : สถิติ ข้อมูล และโกหกคำโต

มาร์ค ทเวน นักประพันธ์ชาวอเมริกันผู้มีชื่อเสียงได้เปรียบเปรยไว้อย่างน่าฟังว่า คำโป้ปดมดเท็จมี 3 ระดับ (There are lies, damned lies and statistics.) คือมีลำดับจากขั้นต่ำไปถึงขั้นสูง จากคำโป้ปดมดเท็จเป็นการโกหกแบบมหัศจรรย์ และสูงสุดก็คือสถิติ คำเปรียบเปรยนี้มีข้อพิสูจน์จากผลกระทบอย่างมหาศาลของการใช้สถิติที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตของผู้คนจากทุพภิกขภัยหรือภาวะข้าวยากหมากแพงในจีนในช่วงปลายทศวรรษที่ 1950 ขณะที่รัฐบาลจีนกำลังดำเนินนโยบาย The Great Leap Forward หรือการก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้าโดยมีนโยบายย้ายแรงงานออกจากภาคเกษตรไปสู่ภาคอุตสาหกรรม ทำให้ผลผลิตภาคเกษตรลดลง แต่เจ้าหน้าที่ทางการของจีนก็ยังรายงานสถิติของผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์เพื่อหวังที่จะได้ลดภาษีหรือได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ ต่อมาเมื่อมีภัยแล้งตามมาปรากฏว่าไม่ได้มีผลผลิตมากดังที่เข้าใจ ในขณะนั้นระบบขนส่งและการ
กระจายสินค้าของจีนยังล้าหลังอยู่มากทำให้การดำเนินการช่วยเหลือส่งเสบียงไปสู่เขตที่มีปัญหาไม่เพียงพอ ผลก็คือว่าหลังจากนั้นประชาชนเสียชีวิตเพราะความอดอยากไปถึงกว่า 20 ล้านคน เรื่องนี้จึงเป็นอุทาหรณ์ที่ชัดเจนที่สุดของการใช้สถิติเพื่อโป้ปดมดเท็จจนเกิดผลที่ร้ายแรง ถึงกับสูญเสียชีวิตของประชาชนผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่อย่างที่ไม่สมควรที่จะเกิดขึ้น

ยกระดับขึ้นมาอีกหน่อยก็คือ ผลงานวิชาการที่มักอาศัยข้อมูลและสถิติ หากใช้ข้อมูลที่ผิดหรือประกอบมาเป็นผลงานเพื่อให้ผลประโยชน์บางประการก็มีปัญหา เมื่อเร็วๆ นี้ก็มีปัญหาที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ตรวจสอบพบว่า มีมหาวิทยาลัยและนักวิจัยจำนวนหนึ่งซึ่งอาจใช้การจ้างวานการตีพิมพ์ที่มิได้เกิดขึ้นจากการศึกษาของตนเองอย่างแท้จริง แม้ว่าอาจจะมีบางผลงานเป็นผลงานที่ถูกต้อง แต่ใช้วิธีจ้างวานทำ เพื่อรับผลประโยชน์ทางวิชาการและเงินรางวัลจากทางราชการก็ถือว่าเป็นการโกหกอย่างมหัศจรรย์

ล่าสุดได้มีนักวิจัยในต่างประเทศตรวจสอบเอกสารในฐานข้อมูลสกอปัส (Scopus) ตั้งแต่ปี 2000-2022 พบว่า มีการตีพิมพ์เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในหลายๆ วิชาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ เกษตร การประมง และการป่าไม้ การจัดลำดับการตีพิมพ์ (นอกเหนือจากวิชาฟิสิกส์) ในนานาประเทศ พบว่า อัตราการตีพิมพ์เอกสารทางวิชาการในวารสารต่างประเทศของหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนาได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด บางคนตีพิมพ์ถึง 60 บทความต่อปี หรือสามารถตีพิมพ์ได้ทุกๆ 5 วัน ประเทศไทยได้ถูกยกตัวอย่างว่ามีอัตราเพิ่มของการตีพิมพ์เอกสารทางวิชาการสูงเป็นลำดับ 2 รองจากประเทศซาอุดีอาระเบีย ในระหว่างปี 2559-2565 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ผลิตเอกสารทางวิชาการเพิ่มสูงเป็นพิเศษและเป็นการเพิ่มอย่างรวดเร็ว (รูปที่ 1)

Advertisement

การใช้ข้อมูลและสถิติในการตัดสินใจนับเป็นพื้นฐานหลักและเป็นก้าวสำคัญในการวางแผนของการพัฒนาประเทศ เพราะข้อมูลเป็นวัตถุดิบที่ใช้ซ้ำได้โดยไม่เกิดต้นทุนเพิ่ม รัฐจึงควรจะสนับสนุนให้มีการผลิตข้อมูลจำนวนมากและเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้ ดังนั้นรัฐบาลในนานาประเทศต่างก็จะสนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ผลิตข้อมูลและสถิติ แต่ก็เป็นที่น่าเสียใจว่าการให้แรงจูงใจที่สูงไปในการผลิตข้อมูลและสถิติ ทำให้เกิดการสร้างหรือใช้สถิติและข้อมูลที่เป็นจริงหรือใช้กลยุทธ์ที่ผิดจริยธรรมมาฉ้อฉลเพื่อเบียดบังเอาประโยชน์มาเป็นส่วนตัว ที่จริงแล้วการใช้ข้อมูลและสถิติในลักษณะนี้เพื่อนำมาขอรับผลประโยชน์กับทางการน่าจะถือว่าเป็นการสร้างหลักฐานเท็จเพื่อเอาประโยชน์จากราชการ

ที่จะสร้างปัญหามากขึ้นในอนาคตก็คือ มีการใช้ข้อมูลและสถิติต่างๆ ในการโฆษณาชวนเชื่อเกินจริงในการหาเสียงทางการเมือง ซึ่งจริงๆ กกต.มีหน้าที่จับเท็จเหล่านี้ แต่ก็ไม่มีองคาพยพที่จะมีปัญญาไปจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้ จนทำให้การโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองโดยใช้ข้อมูลและสถิติที่ไม่มีข้อยุติกลายเป็นกลยุทธ์สำคัญในการหาเสียงซึ่งจะมีผลต่อประสิทธิภาพการใช้งบประมาณในอนาคต เมื่อประชาชนเร่งเร้าให้พรรคที่หาเสียงสำเร็จนั้นไปกระทำให้ได้ตามที่ให้คำมั่นสัญญาไว้โดยที่ไม่เข้าใจว่าคำมั่นที่ให้สัญญานั้นมีหลักฐานความเป็นมาและข้อเท็จจริงอย่างไร

ยิ่งไปกว่านี้ก็คือ ในปัจจุบันรัฐบาลได้มุ่งมั่นให้เกิดการลงทุนในการวิจัยและพัฒนามากขึ้น และได้ให้แรงจูงใจโดยให้นักวิจัยที่เขียนข้อเสนอโครงการทั้งหลายอธิบายว่างานของตนจะก่อให้เกิดผลประโยชน์เป็นเท่าไหร่ แรงจูงใจทางการเงินในกรณีนี้ก็คือการได้รับทุนอุดหนุนจากรัฐ ทำให้บางคนถึงขั้นให้ใช้สูตรคำนวณออกมาเลยว่างานวิจัยของตนจะทำให้เกิดผลประโยชน์ของประเทศกี่เท่า บ้างก็เสนอว่าจะทำผลประโยชน์ได้เป็นร้อยล้านพันล้านบาท ข้อมูลเหล่านี้ทำให้การตัดสินใจจัดสรรงบประมาณบิดเบือนและทำให้เราอยู่ในโลกมายามากขึ้นไปกว่าเดิม

Advertisement

วิธีการหนึ่งที่ใช้ในการคำนวณว่าจะได้ผลประโยชน์อะไรจากงานวิจัยคือ การใช้สูตรคำนวณผลตอบแทนทางสังคม (SROI) ซึ่งเป็นวิธีการที่จะหาผลตอบแทนทางสังคมในกรณีที่โครงการนั้นเป็นโครงการที่ไม่มีความเด่นชัดด้านผลตอบแทนทางการเงิน แต่จะมีคุณูปการมากในเชิงสังคม เช่น จะทำให้ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินหรือคุณภาพสิ่งแวดล้อมดีขึ้น ที่จริงแล้วในขั้นตอนของการเสนอโครงการไม่จำเป็นต้องคำนวณเลยเพราะโครงการยังไม่เริ่มต้น แต่ควรจะเริ่มที่การทำแผนที่ผลลัพธ์เพื่อเป็นการบังคับให้นักวิจัยคิดว่างานของตนเองนั้นจะมีผลกระทบต่อกลุ่มต่างๆ ในด้านใด
บ้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เปราะบาง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการคิดให้รอบคอบไว้ล่วงหน้า แต่นักวิจัยต่างก็พยายามเค้นตัวเลขเหล่านี้ออกมาให้ได้เพื่ออวดอ้างแก่ผู้ให้ทุน ถ้าเอาข้อเสนอโครงการต่างๆ มารวมๆ กันแล้วก็อาจจะพบว่า ถ้าทำได้ตามที่เสนอไว้ ประเทศไทยตอนนี้คงมี GDP เทียบเท่าประเทศพัฒนาแล้ว ไม่ติดกับดักรายได้ปานกลางอยู่เช่นทุกวันนี้

แค่ติดกับดักรายได้ปานกลางก็สาหัสอยู่แล้ว อย่าพยายามทำตัวให้ติดกับดักมายาคติของข้อมูลและสถิติ จนทำให้ประเทศไทยเป็นโรคเคราะห์ซ้ำกรรมซัดอีกเลย!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image