จารึกศรีจนาศะ เมืองเสมา (สูงเนิน โคราช) สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของอโยธยา-อยุธยา โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

จารึกศรีจานาศะ สถานที่พบบริเวณเทวสถาน ใกล้สะพานชีกุน อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ลักษณะแผ่นศิลา ภาษาข้อความ 2 ด้าน ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 1-18 ภาษาสันสกฤต ด้านที่ 2 บรรทัดที่ 1-17 ภาษาเขมรโบราณ ศักราช ม.ศ. 859 (พ.ศ. 1480)

“ศรีจนาศะ” เป็นชื่อในศิลาจารึก พ.ศ. 1480 เชื่อกันว่าเป็นชื่อดั้งเดิมของเมืองเสมาและเครือข่าย (เมืองศรีเทพ)

ศิลาจารึกมีชื่อศรีจนาศะ คือ “หลักที่ 117 ศิลาจารึกหลักใหม่ ค้นพบในพระนครศรีอยุธยา” (พิมพ์อยู่ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 4 โดยคณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สํานักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2513 หน้า 216-220)

ศิลาจารึกหลักนี้พบโดยบังเอิญในพระนครศรีอยุธยา [เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2482 ขณะขุดถนนตรงเนินดินใกล้โบสถ์พราหมณ์ (เทวสถาน) บริเวณสะพานชีกุน ข้ามคลองชีกุน (ชีกุน มาจาก ชีกูณฑ์ หมายถึง พราหมณ์ทําพิธีโหมไฟบูชาพระเป็นเจ้า เป็นพิธีกรรมในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู)] ศ. ยอร์ช เซเดส์ เขียนอธิบายเป็นภาษาฝรั่งเศส (พ.ศ. 2487) ต่อมาแปลเป็นภาษาไทยโดย ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล (และตรวจแก้โดย มหาฉ่ำ ทองคําวรรณ) ความว่า

“ไม่ทราบว่าศิลาจารึกหลักนี้มาจากไหน ตามสถานที่ค้นพบก็อาจกล่าวได้ว่าคงอยู่นั่นมาตั้งแต่ครั้งพระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานี

Advertisement

“เราไม่สามารถทราบได้ว่าศิลาจารึกนี้อยู่ที่นั่นมาตั้งแต่แรกสร้าง หรือนำมาจากที่ อื่น แต่ก็คงจะนำมาจากที่อื่นมากกว่า

จนาศะ รากศัพท์คำว่า “จัน” หรือ “จน” (อ่าน จะ-นะ) มีความหมายว่า ดีใจ พึงพอใจ ปีติ โดยเมื่อใช้ในหน้าที่และบริบทที่แตกต่างออกไป จะเป็นศัพท์ต่างๆ ดังนี้

  1. จนัศ เป็นคำนาม หมายถึง ความดีใจ ความพึงพอใจ ความปีติ
  2. จนัศยะ ใช้เมื่อแสดงความเป็นเจ้าของของความดีใจ ความพึงใจ ความปีติ เช่น ความดีใจของ…(บุคคล)…
  3. จนัศศิตา เป็นคำที่ใช้ในคัมภีร์พระเวท ในความหมายว่า พึงพอใจ และมีน้ำใจ (คำวิเศษณ์)

[พจนานุกรมภาษาสันสกฤต-อังกฤษ ของ เซอร์ โมเนียร์ วิลเลียมส์ (Sanskrit-English Dictionary by Sir Monier Monier-Williams) โดยสำนักพิมพ์ The Clarendon Press มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ พิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503) (พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. 1851 (พ.ศ. 2394) สมัย ร.4 เป็นหนังสืออ้างอิงที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก มีพิมพ์ซ้ำอย่างต่อเนื่อง ค้นคว้ามาอธิบายโดย รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล (มหาวิทยาลัยรามคําแหง) และ พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร (มติชน)]

Advertisement
  • ศรีจนาศะกับอยุธยา

ศรีจนาศะเป็นเครือญาติสืบทอดถึงอยุธยา ดังนี้

  1. ศิลาจารึกหลักที่ 117 มีชื่อ “ศรีจนาศะ” เดิมอยู่เมืองเสมา อ. สูงเนิน จ. นครราชสีมา
  2. ถูกขนย้ายไปพระนครศรีอยุธยา (โดยชนชั้นนําอยุธยา) ตั้งแต่แรกสถาปนากรุง ศรีอยุธยา พร้อมพระขรรค์ชัยศรี (ที่พ่อขุนผาเมืองรับพระราชทานจากกษัตริย์กัมพูชา) ในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของวงศ์กษัตริย์ที่สืบทอดถึงอยุธยา

เป็นหลักฐานสําคัญมากแสดงว่าเมืองเสมาสืบเนื่องความสัมพันธ์ทางการเมืองแบบเครือญาติกับรัฐละโว้ถึงรัฐอโยธยา และรัฐอยุธยา

[มีข้อมูลและข้อถกเถียงอีกมากอยู่ในหนังสือ ศรีจนาศะ รัฐอิสระที่ราบสูง รวมบทความวิชาการเกี่ยวกับเมืองศรีจนาศะ (สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ) สํานักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2545]

  • ศรีจนาศะกับกัมพูชา

ศรีจนาศะมีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติใกล้ชิดกับกัมพูชา เมื่อพบข้อความภาษาสันสกฤตว่า “กัมพุเทศานตเร” ในจารึก พ.ศ. 1411 “หลักที่ 118 ศิลาจารึกบ่ออีกา” (ประชุมศิลาจารึก ภาคที่  4 พ.ศ. 2513 หน้า 221-228)

“บ่ออีกา” เป็นชื่อชาวบ้านเรียกสระน้ำกลางเมืองเสมา

“กัมพุเทศานตเร” นักปราชญ์ฝรั่งเศส 2 ท่าน แปลต่างกัน ดังนี้

(1.) ศ. ยอร์ช เซเดส์ แปลว่านอกอาณาเขตกัมพุเทศะ และสรุปว่าศรีจนาศะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกัมพูชา

(2.) ศ. โคลด ชาร์ด แปลว่าภายในประเทศกัมพูชา แล้วอธิบายว่าเนื้อความในจารึก
เป็นเรื่องในพุทธศาสนา แต่ทบทวนการสร้างศิวลึงค์ แสดงว่าในช่วงเวลานั้นชาวเขมรจากกัมพูชาเข้ามาถึงแล้ว

[ดูในหนังสือ ศรีจนาศะ รัฐอิสระที่ราบสูง พ.ศ. 2545 หน้า 109-111]

ไม่ว่าจะแปลเป็น “นอกกกัมพุเทศ” หรือ “ในกัมพุเทศ” ล้วนแสดงความสัมพันธ์เชิงเครือญาติใกล้ชิดระหว่างศรีจนาศะกับกัมพูชา จึงไม่น่าจะหมายถึงเขตแดนทางการเมือง แต่มีความหมายเชิงวัฒนธรรม เ ช่น เครื่องแต่งกายในพิธีกรรมไม่เหมือนกัน เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image