หลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี พระนั่งห้อยพระบาท แบบทวารวดี โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

หลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี (ภาพจาก ห้องสมุดภาพมติชน)

หลวงพ่อโต เป็นพระประธานวิหารวัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี แสดงปางป่าเลไลยก์ตั้งแต่แรกสร้าง ราว พ.ศ. 1700 พระหัตถ์ขวายกขึ้น พระหัตถ์ซ้ายหงาย ส่วนเบื้องล่างมีช้างกับลิง โดยทําสืบเนื่องตามประเพณีที่มีอยู่แล้วตั้งแต่ ราว พ.ศ. 1000

ครั้นนานไป (พระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ สูงราว 23 เมตร) ก็ชํารุดปรักหักพังบางส่วน จึงมีผู้บูรณปฏิสังขรณ์แล้วทําใหม่โดยแปลงพระหัตถ์วางเหนือหัวเข่า ดังพบจนทุกวันนี้

ปางป่าเลไลยก์ พระพิมพ์ดินเผาเก่าสุด

ปางป่าเลไลยก์ พบหลักฐานเก่าสุดในไทยเป็นพระพิมพ์ดินเผาขนาดใหญ่ นักประวัติศาสตร์ศิลป์อธิบายว่าอายุหลัง พ.ศ. 1300 (ปัจจุบันเรียกสมัยทวารวดี)

Advertisement

เชื่อว่าทําขึ้นในท้องถิ่นริมแม่น้ำท่าจีน (แม่น้ำสุพรรณ) บ้านสําเภาล่ม ต. นางบวช อ. เดิมบางนางบวช จ. สุพรรณบุรี

ดินเผาแผ่นใหญ่สลักรูปแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนบนกับส่วนล่าง

ส่วนบน เป็นพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ขวายกขึ้นทําท่าจีบเสมอหน้าอก (พระอุระ) พระหัตถ์ซ้ายหงายขึ้นเสมอสะดือ (พระนาภี)

Advertisement

ส่วนล่าง ทางขวารูปช้าง ทางซ้ายรูปลิง

พระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท (หรือ นั่งบัลลังก์ หรือนั่งเก้าอี้ขนาดใหญ่ ต้นแบบจากภาพสลักในถ้ำอชันตา อินเดีย) เป็นคติพระจักรพรรดิราชเพื่อสรรเสริญพระพุทธเจ้าราวพระจักรพรรดิ จึงทําพระพุทธรูปนั่งบัลลังก์เสมือนกษัตริย์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ในไทยพบหลายแห่ง ได้แก่ พระพุทธรูปศิลาขาว 4 องค์ และศิลาเขียว 1 องค์ (จากวัดพระเมรุ นครปฐม), ภาพสลักบนผนังถ้ำฤาษี (เขางู ราชบุรี), ภาพสลักบนผนังถ้ำ โพธิสัตว์ (ทับกวาง สระบุรี) ฯลฯ

ทางการเมืองการปกครองเท่ากับพระราชา (ขณะนั้นที่ให้ทําพระพุทธรูปเหล่านี้) มีอํานาจเหนือปวงผีท้องถิ่น และเหนือบุคคลอื่นๆ ในท้องถิ่นนั้น ซึ่งนับเป็นต้นทางอุดมการณ์ทางการเมืองแบบธรรมราชา

สมเด็จฯ ว่า นั่งห้อยพระบาท ได้แบบจากนครปฐม

สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพไม่ทันเห็นและตรวจสอบพระพิมพ์ดินเผาปางป่าเลไลยก์จากเดิมบางนางบวช เพราะเพิ่งมีผู้พบสมัยหลัง

แต่ทรงเชื่อว่าพระประธานในวิหารวัดป่าเลไลยก์ นั่งห้อยพระบาทแบบพระพุทธรูปศิลาขาว (วัดพระเมรุ นครปฐม แต่ที่เห็นเป็นอย่างทุกวันนี้ ซ่อมแปลงสมัยหลัง ดังเอกสารพระนิพนธ์ฯ ต่อไปนี้

“สังเกตดูลักษณะพระป่าเลไลองค์นั้น ดวงพระพักตร์เป็นแบบทวารวดี และทํานั่งห้อยพระบาทเหมือนอย่างแบบพระทวารวดีที่พระปฐมเจดีย์”

“สร้างในสมัยเมื่อนับถือแบบทวารวดี และของเดิมคงทําเป็นพระปางปฐมเทศนา คือจีบพระหัตถ์ข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างที่ตรงพระอุระ เหมือนอย่างพระประธานในพระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ เพราะสมัยนั้นยังไม่มีพระพุทธรูปปางป่าเลไลเช่นเรานับถือกัน ชั้นหลังมีรูปช้างและรูปลิง ของเดิมที่วัดพระป่าเลไลที่เมืองสุพรรณบุรีก็ไม่มี แต่พระพุทธรูปองค์เดิมนั้นทิ้งชํารุดมาช้านานจนพระกรและพระหัตถ์หักพังหายไป ผู้ไปปฏิสังขรณ์ทีหลังไม่รู้ว่าพระหัตถ์ของเดิมเป็นอย่างไร จึงทําใหม่แปลงเป็นอย่างปางพระป่าเลไล สมัยชั้นหลัง”

[บันทึกประทานนายกิมฮวย มะลิทอง แห่งกรมธรรมการ (ปัจจุบัน คือ กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม) ในบทความเรื่อง “ประวัติวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร” โดยพระศรีธวัชเมธี (ชนะ ป.ธ.9) พิมพ์รวมอยู่ในหนังสือ พระกฐินพระราชทาน ณ วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร พระอารามหลวง ธนาคารกรุงเทพ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2551 หน้า 41-42]

(ซ้าย) พระพิมพ์ดินเผา อายุหลัง พ.ศ. 1300 บ้านสําเภาล่ม ต. นางบวช อ. เดิมบางนางบวช จ. สุพรรณบุรี (อ. ศรีศักร วัลลิโดม พบอยู่ในครอบครองของชาวบ้าน ราวพ.ศ. 2510 ภาพจากหนังสือ (ศรี) ทวารวดี ของ ธิดา สาระยา สํานักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2532), (ขวา) ลายเส้นโดย ธัชชัย ยอดพิชัย (ศิลปวัฒนธรรม มติชน)

พระหัตถ์หลวงพ่อโต

ดั้งเดิม พระหัตถ์หลวงพ่อโต “ยอกร” หมายถึง ยกขึ้นทําปางอย่างใดอย่างหนึ่งตามประเพณีที่มีมาก่อน (เหมือนพระพิมพ์ดินเผาเดิมบางนางบวช)

มีหลักฐานสนับสนุน ได้แก่ โคลงนิราศสุพรรณ ของสุนทรภู่ แต่งตอนบวชเป็นภิกษุ สมัย ร.3 (กรมศิลปากรสันนิษฐานว่า แต่งราว พ.ศ. 2384) บอกว่าเรียก พระป่าเลไลยก์ “ยอกรหย่อนบาท” หมายถึงยกมือและนั่งห้อยพระบาท โดยมีลิงเผือกถวายลูกสมอพวา ส่วนช้างเผือกถวายรวงผึ้งจับกิ่งไม้

พระหัตถ์ “ยอกร” หมายถึงอะไร? ขึ้นกับองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย จึงน่าจะแปลความได้หลายอย่าง เช่น เทศนา, ประทานพร เป็นต้น ไม่ควรผูกมัดอย่างเดียว

หลังจากนั้น เมื่อไรไม่ทราบ พระหัตถ์หลวงพ่อโตถูกซ่อมแปลงเปลี่ยนจากดั้งเดิมทั้ง 2 ข้าง ดังนี้

พระหัตถ์ขวา หงายเหนือหัวเข่าขวา พระหัตถ์ซ้าย คว่ำเหนือหัวเข่าซ้าย นอกนั้นคงเดิมสืบจนทุกวันนี้

พระหัตถ์วางเหนือเข่า 2 ข้าง พบต้นแบบในพระพุทธรูปจีนกับจาม หลัง พ.ศ. 1000 (ตรงกับไทยเรียกสมัยทวารวดี)

ในไทยพบในพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท (เรียก พระคันธารราฐ) ในวิหารน้อย วัดหน้าพระเมรุ (อยุธยา) เดิมอยู่เมืองนครปฐม ถูกเคลื่อนย้ายซ่อมแปลง (ไม่รู้เมื่อไร) ไปไว้วัดมหาธาตุ แล้วเชิญไปอีกครั้งหนึ่ง ไว้วัดหน้าพระเมรุ สมัย ร.3 ตราบจนทุกวันนี้

สุนทรภู่กับเสมียนมี กวีสมัย ร.3 เห็นหลวงพ่อโต ปางป่าเลไลยก์

สมัย ร.3 กรุงรัตนโกสินทร์ หลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ มีผู้เห็นเป็นปางป่าเลไลยก์ (เหมือนพระพิมพ์ดินเผาเก่าสุด) แม้จะปรักหักพังแล้วหลายส่วน

สุนทรภู่ ไปวัดป่าเลไลยก์ สมัยต้น ร.3 ราว พ.ศ. 2384 (คํานวณเวลาโดยกรมศิลปากร) เขียนบอกในโคลงนิราศสุพรรณว่าเรียกแล้วว่า “พระป่าเลไลยก์” แสดงปางยกมือ นั่งห้อยพระบาท บอกไว้ในโคลง (บท 146) ว่า “ยอกร หย่อนบาท” แล้วบอกไว้ในโคลง (บท 147) ว่ามีรูปลิงเผือกกับช้างเผือกถวายของ

เสมียนมี (กวีร่วมสมัยสุนทรภู่) ไปวัดป่าเลไลยก์เมืองสุพรรณ ราว พ.ศ. 2387 (หลังสุนทรภู่ 3 ปี) เห็นหลวงพ่อโต จึงพรรณนาไว้ในกลอนนิราศสุพรรณว่า “พระปั้นปิดทอง” พระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทแขนหักทั้งซ้ายขวา มีลิงกับช้างหมอบข้างละตัว

โคลงนิราศสุพรรณ ของสุนทรภู่

“หลวงพ่อโต” พระประธานในวิหารหลวง วัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี แต่เดิมทําปางเทศนา (แบบทวารวดี) เรือน พ.ศ. 1000 อย่างเดียวกับพระพุทธรูปศิลาขาว 4 องค์ จากวัดพระเมรุ (จ. นครปฐม), พระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท สลักบนผนังถ้ำฤาษีเขางู (จ. ราชบุรี), พระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท ท่ามกลางมหาเทพของศาสนาพราหมณ์ สลักบนผนังถ้ำพระโพธิสัตว์ (จ. สระบุรี)

มีบอกเป็นเค้ามูลไว้ในโคลงนิราศสุพรรณของสุนทรภู่ แต่งสมัย ร.3 ว่า ทําปาง  “ยอกร” หมายถึง ยกพระหัตถ์ (ทําปางปฐมเทศนา) แต่ถูกซ่อมแปลงสมัยหลังเป็นปางวางพระหัตถ์สองข้างไว้เหนือเข่า

สุนทรภู่จอดเรือท่าสิบเบี้ย ฝั่งแม่น้ำสุพรรณ (แม่น้ำท่าจีน) อยู่ในตัวเมือง แล้วเดินดงไปวัดป่าเลไลยก์ (โคลงบท 140) ดังนี้

นอนค้างข้างคุ้งถัด      วัดตระไกร
ครั้นรุ่งมุ่งเดินไพร        พรั่งพร้อม
ไหว้พระป่าเลไลยก์      ร่มระรื่น ชื่นเอย
ริมรอบขอบเขื่อนล้อม   สะล่างไม้ไพรพนม

วัดป่าเลไลยก์ สุนทรภู่เดินขึ้นเนินโบสถ์เก่า แล้วเข้าไปกราบพระประธาน ปางป่า เลไลยก์ ทํามุมปากเหมือนยิ้ม พระหัตถ์ทําปาง “ยอกร” ประทับนั่งห้อยพระบาทมีดอกบัวรองรับ (โคลงบท 146) ดังนี้

ขึ้นโขดโบสถ์เก่าก้ม      กราบยุคล
พระป่าเลไลยก์ยล        อย่างยิ้ม
ยอกรหย่อนบาทบน     บงกช แก้วเอย
ปลั่งเปล่งเพ่งพิศพริ้ม   พระหนั้งดั่งองค์

จุดธูปเทียนบูชา สุนทรภู่อธิษฐานเสมือนพระเสด็จมารับสิ่งบูชา มีรูปลิงเผือกถวายสมอพวา กับช้างเผือกถวายรวงผึ้งเกาะกิ่งไม้ (โคลงบท 147) ดังนี้

เทียนธูปบุปผชาติบ้าง   บูชา
นึกพระเสด็จมา             ยับยั้ง
ลิงเผือกเลือกสมอพวา  ถวายไว่ ใกล้แฮ
ช้างเผือกเลือกผึ้งทั้ง     กิ่งไม้ไหว้ถวาย

กลอนนิราศสุพรรณ ของเสมียนมี

พรรณนาหลวงพ่อโต ปางป่าเลไลยก์ นั่งห้อยพระบาท มีลิงกับช้างหมอบข้างละตัว ดังนี้

ครั้นไหว้พระเสร็จสรรพคํานับน้อม             สะพรั่งพร้อมรายเรียงเคียงไสว
บ้างเที่ยวชมวัดวาป่าเลไลย                      บ้างกราบไหว้เวียนวงชมองค์พระ
สังเกตดูทั่วองค์ทรงสัณฐาน                      สูงประมาณเจ็ดวาสาธุสะ
ฝาผนังพังผุดูครุคระ                                เอาปูนปะปิดไว้พอได้การ
พระวัดป่าเลไลยนี้ใครสร้าง                       ดูรกร้างโรยราน่าสงสาร
เป็นพระปั้นปิดทองของบูราณ                   เห็นมานานหนักหนากว่าร้อยปี
พระพาหาขวาซ้ายทลายหัก                      วงพระพักตร์ทองหมองไม่ผ่องศรี
ห้อยพระชงฆ์ลงเรียบระเบียบดี                 แล้วก็มีลิงช้างข้างละตัว
ช้างหมอบม้วนงวงจ้วงจบอยู่                     ลิงก็ชูรวงผึ้งขึ้นท่วมหัว
พื้นผนังหลังคาก็น่ากลัว                           ฝนก็รั่วรดอาบเป็นคราบไคล

[เสมียนมี ชํานาญงานช่าง มีหลักแหล่งอยู่บ้านบุ (แหล่งทําขันลงหิน ในคลองบางกอกน้อย) เป็นนายอากรรับสัมปทานเก็บภาษี แล้วเป็นกวีและเป็นช่างเขียนรูป เคยรับจ้างเขียนรูปผนังวัดเครือวัลย์ ปากคลองมอญ กรุงเทพฯ]

ทางการคลาดเคลื่อน

แต่ทางการเผยแพร่ข้อมูลเรื่องหลวงพ่อโตคลาดเคลื่อนดังนี้

“หลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์ สันนิษฐานกันว่าพระพุทธรูปป่าเลไลยก์ เดิมสร้างตามแบบทวารวดี เป็นปางประทานปฐมเทศนา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ในหนังสือตํานานพระพุทธเจดีย์ว่า …พระพุทธรูปป่าเลไลยก์องค์ใหญ่ที่เมืองสุพรรณบุรี เดิมก็สร้างตามแบบทวารวดี เป็นปางประทานปฐมเทศนา ครั้นนานมาหักพัง มาปฏิสังขรณ์ในสมัยลังกาวงศ์ จึงแปลงเป็นพระป่าเลไลยก์…”

[จากหนังสือ วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ฯ จังหวัดสุพรรณบุรี คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุฯ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2542 หน้า 173]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image