คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ‘สมรสเท่าเทียม’ สัญญาณ ‘การเมืองดี’

กฎหมายว่าด้วยครอบครัวของไทยเป็นตัวอย่างชัดเจนมากๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในลักษณะที่เป็นระหว่างสังคมกับกฎหมายและกฎหมายกับสังคม 

จากเดิมที่สังคมไทยมีลักษณะเป็นสังคมผัวเดียวหลายเมีย และวัฒนธรรมครอบครัวในลักษณะนี้ก็ได้รับการยอมรับผ่านกฎหมายลักษณะผัวเมียที่รับรองว่า ชายจะมีเมียที่ชอบด้วยกฎหมายกี่คนก็ได้ แต่หญิงนั้นจะมีสามีมากกว่าหนึ่งไม่ได้ กระทั่งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี พ..2478 ก็ได้มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครอบครัวซึ่งเป็นกฎหมายหลักที่กำหนดรูปแบบของครอบครัวไทยให้กลายเป็นครอบครัวแบบผัวเดียวเมียเดียวคือชายและหญิงที่สมรสกันเป็นสามีภรรยา ต่างฝ่ายต่างมีคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายได้เพียงครั้งละหนึ่งคนเท่านั้น 

การประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งว่าด้วยครอบครัวนี้ เป็นการใช้บรรทัดฐานทางกฎหมายลงไปปรับรูปแบบวัฒนธรรมครอบครัวของไทยผ่านกลไกทางกฎหมายโดยส่งสัญญาณว่า ไม่ว่าความเป็นผัวเมียครอบครัวตามวัฒนธรรมจะเป็นอย่างไรก็ตาม หากในสายตาของกฎหมายแล้ว ยอมรับให้บุคคลมีคู่สมรสได้เพียงหนึ่งคนโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น

ผลของกฎหมายนี้ในที่สุดทำให้สังคมเกิดศีลธรรมใหม่โดยมองว่าการที่ผู้ชายมีภรรยามากกว่าหนึ่งคนไม่ใช่เรื่องถูกต้องที่สังคมยอมรับได้อีกต่อไปแล้ว เพียงแต่จะติฉินนินทาหรือแสดงอาการไม่ยอมรับหรือไม่ อันนี้อาจจะขึ้นกับสถานะเชิงอำนาจทางสังคมในทางความเป็นจริง

Advertisement

หลังจากนั้นกฎหมายครอบครัวของไทยก็มีพัฒนาการที่สอดคล้องไปกับศีลธรรม จริยธรรมและคุณค่าใหม่ในเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวและความเสมอภาคระหว่างชายหญิงตามยุคสมัย ครั้งสำคัญที่น่าสนใจก็เช่น แม้ว่ากฎหมายแพ่งว่าด้วยครอบครัวนี้จะไม่ยอมรับระบบผัวเดียวหลายเมียแล้วก็ตาม กระนั้นก็ยังคงเหลือร่องรอยของกฎหมายที่มีลักษณะชายเป็นใหญ่อยู่ เช่น กำหนดให้สามีคือฝ่ายชายเป็นหัวหน้าครอบครัว มีอำนาจในการเลือกที่อยู่และอำนาจในการจัดการทรัพย์สินในครอบครัวได้ โดยหญิงมีสามีจะจัดการทรัพย์สินใดอันเป็นสินสมรสโดยสามีไม่ยินยอมมิได้ 

เมื่อมีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 นี้ครั้งหนึ่งในปี พ..2519 ที่เป็นการอนุวัตรตามรัฐธรรมนูญปี พ..2517 ที่ยกร่างและตราขึ้นหลังเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย 14 ตุลาคม 2516 ที่ได้ชูไว้ซึ่งหลักแห่งความเสมอภาคระหว่างชายหญิง บทบัญญัติลักษณะชายเป็นใหญ่ดังกล่าวก็พลันเป็นเรื่องที่น่าจะขัด หรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญที่มีหลักการดังกล่าวได้ จึงมีการแก้ไขให้ไม่มีแล้วตำแหน่งหัวหน้าครอบครัวและการจัดการทรัพย์สินในครอบครัวหรือที่เรียกว่าสินสมรสนั้น เป็นหน้าที่และอำนาจร่วมกันระหว่างสามีและภรรยา

ถึงอย่างนั้น ข้อกฎหมายที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ยังปรากฏเหลืออยู่หลังจากการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งในครั้งนั้นก็ยังมี เช่น ในเรื่องเหตุหย่าที่เดิมตามกฎหมายนั้น ภรรยาจะหย่าสามีได้ ต้องเป็นกรณีที่สามีอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาจึงจะฟ้องหย่าได้ แต่หากว่าสามีจะฟ้องหย่าภรรยานั้น เพียงภรรยามีชู้ หรือมีการผิดประเวณีกับชายอื่นแม้เพียงครั้งเดียวโดยไม่เปิดเผยก็เป็นเหตุให้ฟ้องหย่าได้ 

Advertisement

พูดง่ายๆ คือ กฎหมายปกป้องเกียรติของฝ่ายชายผู้เป็นสามีมากกว่าฝ่ายหญิง จึงทำให้น้ำหนักความร้ายแรงของเหตุหย่าแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อปี พ..2550 ก็มีการแก้ไขเหตุหย่านี้ใหม่ตามมาตรา 1516 (1) เป็นว่า ไม่ว่าจะสามีหรือภริยา หากอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง

ผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้ หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงพลวัตของกฎหมายนี้ที่ปรับเปลี่ยนไปตามสังคมที่มองว่าคู่สมรสแต่ละฝ่ายนั้นไม่ควรมีฝ่ายใดจะสิทธิหรือศักดิ์ศรีเหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง

สำหรับเรื่องใหญ่ที่สุดที่กำลังจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ คือการปรับเปลี่ยนรูปแบบของครอบครัวไทยไปอย่างมีนัยสำคัญที่สุดในทางประวัติศาสตร์กฎหมาย นั่นคือ ระบบกฎหมายแพ่งว่าด้วยครอบครัวของประเทศไทยกำลังจะยอมรับว่าครอบครัวไม่จำเป็นต้องมีลักษณะเป็นครอบครัวสองเพศสภาพ มีผู้ชายเป็นสามีมีผู้หญิงเป็นภรรยาอีกต่อไปแล้ว 

ด้วยมติประวัติศาสตร์ ที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการในวาระที่ 1 เห็นชอบในหลักการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สภาผู้แทนราษฎร ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) .. … หรือที่เรียกกันว่ากฎหมายสมรส

เท่าเทียมรวม 4 ฉบับ โดยมีคะแนนเสียงเห็นด้วย 369 เสียง ไม่เห็นด้วย 10 เสียง งดออกเสียง 0 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง พร้อมตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาในวาระที่ 2 จำนวน 39 คน โดยใช้ร่างกฎหมายฉบับที่คณะรัฐมนตรีเสนอเป็นร่างหลักในการพิจารณาชั้นกรรมาธิการ

อาจจะมีคนติงว่าอย่าเพิ่งรีบเจิม หรือออกตัวแรงไป ยังเหลืออีกตั้งสองวาระให้ลุ้นกัน แต่เมื่อเรื่องนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเสียงเอกฉันท์ของสภาผู้แทนราษฎรที่ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลก็ล้วนเห็นด้วยตรงกัน โดยเสียงที่ไม่เห็นด้วยนั้นก็มาจากพรรคที่ปรากฏชัดว่าเป็นพรรคที่เป็นตัวแทนของกลุ่มศาสนาที่เชื่อว่าการแต่งงานจะต้องเป็นเรื่องหญิงชายเท่านั้น เช่นนี้การรับรองว่าการกระทำอันขัดต่อหลักความเชื่อทางศาสนานั้นเป็นการชอบด้วยกฎหมายก็เป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ ซึ่งเป็นเหตุผลที่แม้ใครจะไม่เห็นด้วย แต่ก็ควรยอมรับและเข้าใจ 

ด้วยมติที่ท่วมท้นแบบแทบไม่มีใครค้านจึงกล่าวได้ว่าอย่างไรเสีย กฎหมายแพ่งว่าด้วยการสมรสของไทยจะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามแนวทางข้างต้น ถ้าจะมีปรับเปลี่ยนแก้ไขบ้างในรายละเอียด โดยไม่อาจผิดไปจากสาระสำคัญที่สภาผู้แทนราษฎรได้ให้ความเห็นชอบไปแล้วในวาระหนึ่งนี้ไปแล้วได้

สาระสำคัญของการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าวนี้จะทำให้ไม่มีคำว่าสามีภรรยาในกฎหมายครอบครัวของไทยอีกต่อไป โดยจะมีเพียงคำว่าคู่สมรสแต่ละฝ่าย และผู้ที่จะทำการสมรสได้ ก็คือบุคคลตามกฎหมาย (ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องเป็นบุคคลธรรมดา) โดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ ในเรื่องเพศสภาพหรือเพศวิถี 

อย่างไรก็ตาม กฎหมายก็ไม่ได้ถึงขนาดจะเท่าเทียมเสียจนละทิ้งข้อเท็จจริงทางกายภาพชีวภาพที่แตกต่างกันระหว่างชายหญิงไปก็หาไม่ เช่น กรณีที่ต้องการสมรสใหม่ หญิง (ซึ่งตามข้อเท็จจริงในทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีปัจจุบันนี้เป็นเพศเดียวที่อาจตั้งครรภ์ได้) นั้นจะต้องสามารถพิสูจน์ได้ว่ามิได้ตั้งครรภ์ค้างอยู่กับคู่สมรสเดิมของตนก่อนจึงจะสมรสใหม่ได้ 

การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่า พลวัตรทางสังคม ความคิด ความเชื่อของค่านิยมนั้นในที่สุดก็ต้องส่งผลให้กฎหมายต้องเปลี่ยนแปลงตามได้ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ผู้ออกกฎหมายนั้นจะต้องเป็นตัวแทนอันแท้จริงของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมด้วย 

พูดให้ตรงกว่านั้น คือกฎหมายที่จะเปลี่ยนแปลงตามพลวัตของสังคมได้ จะต้องมาจากกระบวนการสภาที่เป็นประชาธิปไตย

เพราะหากยังจำกันได้ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการเสนอกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่มีลักษณะเป็นการแก้ไขปรับปรุงหลักการของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่แล้วก็เคยมีการเสนอร่างกฎหมายในลักษณะนี้มาก่อนแล้วโดยพรรคก้าวไกล แต่แล้วร่างกฎหมายนี้ก็ตกไปโดยง่ายดาย โดยที่สภาในขณะนั้นเลือกเอาร่างกฎหมายคู่ชีวิตที่กำหนดให้บุคคลที่ไม่ใช่เพศหญิงชายโดยกำเนิดจะต้องจดทะเบียนครอบครัวกันในลักษณะของคู่ชีวิตที่ไม่ใช่การสมรส ซึ่งแม้ว่าสิทธิหน้าที่อาจจะพอใกล้เคียง แต่ก็มีจุดแตกต่างกันที่สาระสำคัญ

แล้วทำไมกฎหมายที่เคยไม่ผ่าน หรือผ่านไม่ได้ในสภาสมัยที่แล้วเมื่อราวสองปีก่อน แต่กลับมาผ่านได้แบบแทบจะเป็นมติเอกฉันท์ได้ในสมัยสภานี้ เพราะสังคมมีพลวัตมีความเปลี่ยนแปลงไปในเวลาเพียงเท่านั้นอย่างมีนัยสำคัญนั้นหรือ 

คำตอบคือไม่ใช่ แต่น่าจะเป็นเพราะพรรคการเมืองต่างๆ ได้รู้และซาบซึ้งแล้วว่า ไม่ว่าจะอย่างไร ต่อไปนี้การตัดสินเรื่องอนาคตและอำนาจทางการเมืองอยู่ในมือผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกือบสมบูรณ์แล้ว ซึ่งแตกต่างจากในสมัยสภาก่อนที่ก็พอรู้กันว่า เสียงของประชาชนไม่ใช่เสียงชี้ขาดทางการเมืองเสียทีเดียวนัก ดังนั้นในตอนนั้น พวกเขาจึงสามารถเล่นเกมการเมืองกันได้โดยไม่จำเป็นต้องสนใจถึงความต้องการอันแท้จริงของประชาชนในสังคม เพียงแค่ไม่อยากผ่านกฎหมายให้พรรคการเมืองอีกฝั่งฝ่ายก็ไม่สนับสนุนกฎหมายของพรรคการเมืองนั้น แล้วรักษาเหลี่ยมทางการเมืองด้วยการเสนอกฎหมายที่ด้อยกว่าขึ้นมาแข่ง แล้วใช้เสียงข้างมากที่มียกเข็นให้ผ่านไป โดยไม่สนใจว่าจะเป็นประโยชน์และเป็นที่ต้องการของประชาชน หรือสังคมจริงหรือไม่

แต่สำหรับในสถานการณ์ บรรยากาศสังคมวันนี้ ถ้าพรรคการเมืองใดตั้งแง่กับกฎหมายสมรสเท่าเทียม ก็คงพอจินตนาการออกแล้วว่า อนาคตของการฝ่าฝืนมติของประชาสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วนั้น หากไม่ใช่พรรคที่มีแนวทางเชิงศาสนาที่ชัดเจน ก็คือ การฆ่าตัวตายทางการเมืองกันดีๆ นี่เอง 

ดังที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้นแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายครอบครัวของไทย มีหมุดเวลาที่สอดคล้องกับพัฒนาการทางประชาธิปไตยเป็นส่วนใหญ่ ทั้งในการยึดหลักครอบครัวแบบผัวเดียวเมียเดียวหลังการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง การยกเลิกบทบัญญัติลักษณะชายเป็นใหญ่ที่ให้สามีเป็นหัวหน้าครอบครัวและมีอำนาจจัดการเรื่องต่างๆ หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

กฎหมายสมรสเท่าเทียมที่อาจเรียกว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในทางประวัติศาสตร์กฎหมายครอบครัวของไทยนั้น ก็อาจจะเป็นหมุดหมาย หรือสัญญาณเริ่มต้นของการกลับคืนมาซึ่งประชาธิปไตยอย่างน้อยก็ก้าวหนึ่งก้าวน้อยก็ได้

เช่นเดียวกับที่ปิยบุตร แสงกนกกุลมองว่า นี่คือจุดเริ่มต้น คือสัญญาณ สัญลักษณ์ของการแสวงหาฉันทามติและสร้างแนวร่วมในการเมืองในระบบรัฐสภา โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของประโยชน์ประชาชนสูงสุด และในที่สุดก็จะมีกฎหมายดีเป็นประโยชน์แก่ประชาชน ที่จะผ่านความร่วมมือกันของทุกพรรคในสภาตราขึ้นมาบังคับใช้ได้อีกอย่างแน่นอน

สุดท้ายนี้ เนื่องจากคอลัมน์ตอนนี้จะเป็นตอนสุดท้ายสำหรับปี พ..2566 แล้ว เลยอยากเขียนเรื่องที่ชวนให้เห็นถึงความหวังบ้าง

แม้จะยอมรับแบบไม่เถียงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งใหญ่ในเดือนพฤษภาคมปีนี้ จะเป็นอีกครั้งที่แสดงให้เห็นว่า สุดท้ายแล้วเสียงของประชาชนก็ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในทางการเมือง เรื่องนั้นก็จริงในบางส่วน 

แต่ครั้นจะเหมาเอาอย่างมองโลกในแง่ร้ายว่า เช่นนี้ทุกอย่างยังเหมือนเดิม เพิ่มเติมแค่เปลี่ยนตัวนายกฯ และพรรคร่วมรัฐบาลไปบ้าง อันนี้ก็ดูจะมองโลกในแง่มืดมนจนเกินไป

ถึงเราอาจจะยังไม่ชนะเด็ดขาด ยังไม่สามารถไปถึงเป้าหมายประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ได้ แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ไม่ได้เดินถอยหลัง หรือยืนอยู่กับที่ อย่างน้อยก็ยังก้าวเข้าไปใกล้ขอบฟ้าอุดมคตินั้นบ้างสักสองสามก้าว

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image