นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ : งูกินหาง

ความจริงเรื่องนี้ควรเขียนในวาระ “วันครู” ที่เพิ่งผ่านไปไม่นาน แต่เขียนหลังวันครู ก็อาจจะมีประโยชน์บ้างเหมือนกันสำหรับฉุกใจใคร่ครวญ

เรื่องที่ว่าคือการศึกษาในบ้านเรา ที่หลายคนพูดกันไปหลายครั้งแล้วว่า การที่เด็กไทยในภาพรวมดูเก่งน้อยกว่าเขาอื่นเมื่อเทียบความสามารถกันในเวทีระดับโลก หรือการที่เด็กไทย (อันที่จริงคือคนไทย) ในภาพรวม ดูจะไม่กล้าคิด ไม่กล้าสงสัย ไม่กล้าถาม ไปจนถึงไม่ใส่ใจใฝ่รู้นั้น มิใช่ความผิดของครูผู้สอนแบบเหมาโหล หากยังเป็นเรื่องของระบบคิดแบบไทยๆ ซึ่งนำไปสู่วิธีคิดเพื่อ “อยู่รอด” อย่างที่เรียกกันว่า “อยู่เป็น” แบบไทยๆ ด้วย

ในด้านหนึ่ง หลักใหญ่ใจความของระบบคิดแบบไทยๆ คือเน้นให้สุภาพอ่อนน้อม เชื่อฟังผู้ใหญ่ เชื่อว่าอาบน้ำร้อนมาก่อนต้องรู้ดีกว่ารู้ถูกกว่าแน่นอน เชื่อว่าชีวิตจะก้าวหน้าได้ด้วยระบบอุปถัมภ์จากพรรคพวกเพื่อนพ้องน้องพี่ รวมถึงเชื่อว่า คิดเหมือนทำเหมือนผู้ใหญ่และพรรคพวกเพื่อนพ้องน้องพี่ ชีวิตจะมั่นคงปลอดภัย เป็นต้น

เมื่อฐานคิดเป็นอย่างนี้ทั้งผู้เรียนผู้สอน หรือตั้งแต่พ่อแม่ของผู้เรียนผู้สอนไปจนถึงผู้ปกครองประเทศ จึงไม่มีประโยชน์ที่จะโทษว่าเด็กไทยไม่เก่งเพราะครูไทยสอนไม่เป็น เอาแต่ยืนพูดปาวๆหน้าห้อง

Advertisement

ความจริงครูในหลายๆประเทศก็สอนแบบยืนพูดหน้าห้อง และแม้ปัจจุบันที่มีเรียนการสอนแบบใหม่ๆ หลายวิธี ก็มีบางครั้งที่ครูยังต้องยืนบรรยายหน้าห้อง

การสอนแบบครูเป็นผู้บรรยาย ไม่ใช่เหตุผลหลักที่ทำให้สมองผู้เรียนไม่อยากทำงาน ที่สำคัญ หากอิงจากหลักการทำงานของสมอง การบรรยายที่สนุกสนานชวนฟัง จะช่วยกระตุ้นสมองผู้เรียนที่ “อิน” กับการฟัง ให้สามารถคิดต่อยอดได้มากขึ้น

มีการศึกษาวิจัยจำนวนมากทั้งของไทยและต่างประเทศชี้ชัดว่าการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้จริง จะต้องใช้ประกอบกันหลายวิธี มิใช่เพียงผู้สอนยืนบรรยายหน้าห้องฝ่ายเดียวโดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ฟังต่อยอดความคิดและแสดงออกผ่านการทำกิจกรรม

Advertisement

เอาเข้าจริงๆ ปัญหาการเรียนการสอนในสังคมไทยจึงมิใช่ปัญหาครูยืนพูดหน้าห้อง แต่เป็นปัญหาวิธีสอนรูปแบบเดียว ปัญหา “เนื้อหา” ที่ครูพูดซึ่งห้ามเด็กถามและเถียง (แม้ครูจะสอนผิด) ไปจนถึงกิจกรรมเสริมและบรรยากาศการเรียนรู้หลังจากนั้น โดยเราๆท่านๆ ต่างรู้กันว่าสังคมที่รัฐต้องการควบคุมความคิดคนในชาติให้ไปในทิศทางเดียวกัน ย่อมไม่ใส่ใจเนื้อหาอื่นหรือบรรยากาศการเรียนรู้อื่นนอกวัตถุประสงค์

สังคมไทยใหญ่อุดม เป็นสังคมที่ผู้คนและครูในโรงเรียนไม่ตกใจกับ “เนื้อหา” ทางวิชาการผิดๆ หรือแปลกๆ ที่ไม่เอื้อต่อการศึกษาหาความรู้ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น เช่น ไม่ตกใจเมื่อรู้ว่าครูภาษาอังกฤษระดับมัธยมสอนนักเรียนว่า lice แปลว่า ข้าว บังคับนักเรียนให้อ่าน allow ว่าออลโล่ ไม่ตกใจเมื่อรู้ว่าครูประวัติศาสตร์สอนนักเรียนว่าในอดีตทุกประเทศเพื่อนบ้านล้วนต่ำต้อยกว่าไทยมาก แถมยังเป็นศัตรูสำคัญที่ยกทัพมาทำลายกรุงศรีอยุธยา อีกทั้งเป็นเหตุให้ไทยเสียดินแดนในสมัยรัตนโกสินทร์ ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ปกครองประเทศเพื่อนบ้านในอดีตยัง “ทรยศ” “เลี้ยงไม่เชื่อง” (ขณะประเทศเพื่อนบ้านมองพวกเขาเป็นวีรบุรุษผู้กอบกู้เอกราช)

อาการตื่นตกใจไร้สุขจะเกิดขึ้น ก็เมื่อใครสักคนบอกพวกเขาว่าเด็กไทยกำลังให้ความสนใจกับประเด็นสิทธิเสรีภาพ หรือตั้งคำถามกับเนื้อหาต่างๆ ที่ดูไม่สมเหตุสมผลในแบบเรียน

ผู้คนเหล่านี้ ซึ่งมักคุยโวโอ้อวดว่าประสบความสำเร็จ มีทรัพย์สิน มียศมีตำแหน่งสูง มีสายสัมพันธ์อันดีกับบรรดาคนใหญ่คนโต โดยที่มีสายสัมพันธ์นั้นจริง อีกทั้งอยู่ในระบบสายสัมพันธ์นั้นจริง ล้วนเติบโตมาด้วยระบบคิดแบบไทยๆ ดังกล่าว และพยายามควบคุมสังคมไทยให้อยู่ในระบบคิดแบบเดิม เพื่อรักษาสถานะอันมั่นคงและความคุ้นชินแบบเดิมๆ ของตนไว้

การชี้นิ้วกล่าวหาครูแบบเหมาโหลว่าทำให้เด็กไทยโง่จึงไม่มีประโยชน์ เพราะระบบใหญ่ที่ครอบสังคมไทยอยู่ ได้ช่วยผลิตความโง่หล่อเลี้ยงสังคมเป็นงูกินหางมาตั้งแต่ต้นทางแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image