ปีมะโรง เริ่มแล้วตั้งแต่ 13 ธันวาคม 2566 ไม่ใช่เริ่ม 2567 ตามข่าวของกรมศิลปากร โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

ไทยรับปีนักษัตรจากเขมร ส่วนเขมรรับจากจีน (ไม่มีในอินเดีย) ดังนั้นชื่อปีนักษัตรมีทั้งคำจีน และคำที่ได้จากเขมร (ภาพ) สัตว์รอบวงได้แก่สัตว์ประจำทิศทั้ง 4 คือ มังกร, หงส์, เสือ และเต่า ถัดออกมาคือสิบสองนักษัตร และวงนอกเป็นสัตว์ 28 ตัวบนคันฉ่องโลหะยุคราชวงศ์ถัง ค.ศ. 618-905 (พ.ศ. 1161-1448) จากหนังสือ สิบสองนักษัตร ของ ส. พลายน้อย สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่สาม พ.ศ. 2547 หน้า 2)

อธิบดีกรมศิลปากร บอกว่า “ปีมะโรงที่กำลังมาถึงใน พ.ศ. 2567” อยู่ในข่าวออนไลน์เปิดพิพิธภัณฑ์ฯ กรณีพิเศษ

แต่ปีมะโรง (ตามปฏิทินหลวง) เริ่มแล้วตั้งแต่ 13 ธันวาคม 2566

เรื่องนี้ไม่ควรปล่อยผ่านไปง่ายๆ เพราะเกี่ยวข้องหลักฐานประวัติศาสตร์ไทยโดยตรง แต่ที่สำคัญคือกระทบถึงความเป็นมาของสงกรานต์ที่รัฐบาลจะ “ขาย” เป็นเวิลด์ คลาส เฟสติวัล จึงขอให้อธิบดีฯ ทบทวนข้อมูลปีนักษัตร ซึ่งจะคัดข่าวออนไลน์แล้วต่อด้วยข้อมูลปีนักษัตรและปีใหม่มาให้อ่าน ดังนี้

  • เปิดพิพิธภัณฑ์ชมโบราณวัตถุความเชื่อ “ปีมะโรง”

นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวผ่านสำนักข่าวออนไลน์ว่า สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร จัดนำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์ เป็นกรณีพิเศษ ระหว่างวันที่ 29-31 ธ.ค. วันละ 1 รอบโดยเปิดรับลงทะเบียนเวลา 17.00 น. ที่บริเวณศาลาลงสรง และเริ่มนำชมเวลา 18.00 น.

Advertisement

โดยให้ความรู้ผ่านโบราณวัตถุ ศิลปะวัตถุ ที่เกี่ยวกับสัตว์ในตำนานทั้งงูหงอน นาค มกร มังกร และเหรา ในความเหมือนและแตกต่าง ซึ่งมีความสัมพันธ์กับปีมะโรงที่กำลังมาถึงใน พ.ศ. 2567 ประกอบด้วย—-(ชื่อสถานที่และของสำคัญทั้ง 9)—-

 

  • ขึ้นปีใหม่ในไทย สมัยดั้งเดิมถึงปัจจุบัน

1 มกราคม ขึ้นปีใหม่สากลตามวัฒนธรรมตะวันตก

Advertisement

13 เมษายน ขึ้นปีใหม่ทมิฬ อินเดียใต้ ตามวัฒนธรรมอินเดีย เรียกมหาสงกรานต์

ตามที่รับรู้และปฏิบัติทั่วไปว่า 13 เมษายน สงกรานต์ “วันขึ้นปีใหม่ไทย” มีเหตุจากถูกบังคับครอบงำหล่อหลอมกล่อมเกลาให้เชื่อตามชนชั้นนำไทยสมัยก่อนจนสมัยปัจจุบัน

ปีใหม่ไทยดั้งเดิมมีไหม? เมื่อไร?

ขึ้นปีใหม่ไทย (ถ้าไทยอยากให้มี) น่าจะมีครั้งแรกสมัยกรุงอโยธยา (ไม่ใช่กรุงสุโขทัย) เนื่องเพราะความเป็นคนไทยมีครั้งแรกในอโยธยา (ไม่ใช่สุโขทัย) ราว 900 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ. 1700 (ก่อนมีเมืองสุโขทัย)

ขึ้นปีใหม่ไทยกำหนดตามปฏิทินพื้นเมืองทางจันทรคติ ตรงกับขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย (ของทุกปี) ราวเดือนธันวาคม (ตามปฏิทินสากลทางสุริยคติ)

ปัจจุบัน ปีเก่าคือปีเถาะ

ปีใหม่ไทยคือปีมะโรง ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 (เดือนอ้าย) ตรงกับวันพุธที่ 13ธันวาคม พ.ศ. 2566 (ที่ผ่านมา)

วันขึ้นปีใหม่ หมายถึงวันแรกในเดือนแรกของทุกปี

ประเพณีดั้งเดิมในไทย ขึ้นปีใหม่ไม่ตรงกันทั้งหมด เนื่องจากภาคเหนือนับเร็วกว่าภาคกลางราว 2 เดือน (ภาคกลางลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขึ้นปีใหม่วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 คือ เดือนอ้ายของทุกปี)

เดือนอ้าย แปลว่า เดือนที่หนึ่ง หรือเดือนแรกของ 12 เดือน (ใน 1 ปี) ตามปฏิทินจันทรคติ หมายถึงเริ่มต้นฤดูกาลใหม่ เริ่มปีนักษัตรใหม่ ตั้งแต่หลังลอยกระทง เดือน 12 (เทียบปฏิทินสากลทางสุริยคติ จะอยู่ราวหลังกลางเดือนพฤศจิกายน ต่อเนื่องถึงเดือนธันวาคม)

เดือนอ้าย ราวธันวาคมของทุกปี เป็นช่วงขึ้นฤดูกาลใหม่ เทียบปัจจุบันคือขึ้นปีใหม่ของชุมชนดึกดำบรรพ์สุวรรณภูมิในอุษาคเนย์ (จะเทียบว่าปีเก่า, ปีใหม่ ก็ได้ แต่ไม่ควรยึดถือจริงจังว่าปีเก่า, ปีใหม่ เพราะเป็นคำในวัฒนธรรมสังคมสมัยใหม่ตามแบบแผนตะวันตก ซึ่งไม่มีในสังคมตะวันออกยุคก่อนๆ)

[สงกรานต์ (อยู่ในเดือนห้าทางจันทรคติ) เป็นช่วงเปลี่ยนราศีตามปฏิทินสุริยคติ จากราศีมีนสู่ราศีเมษ (ถือเป็นมหาสงกรานต์) เทียบสากลเป็นขึ้นปีใหม่ของอินเดีย แต่ไทยและเพื่อนบ้านรับสงกรานต์จากอินเดีย แล้วต่างเหมาเป็นขึ้นปีใหม่ของตน]

อ้าย ในภาษาไทยแปลว่าหนึ่ง เป็นคำเรียกลำดับและนับจำนวนที่เป็นเพศชาย

ในภาษาไทยมีใช้ต่างกันเมื่อเรียกลูกสาวกับลูกชาย เรียงลำดับลูกสาวว่า เอื้อย อี่ อ่าม ไอ อัว อก เอก แอก เอา อัง ฯลฯ ลูกชายว่า อ้าย ญี่ สาม ไส งัว ลก เจด แปด เจ้า จ๋ง ฯลฯ

[คำว่า อ้าย แผลงเป็น ไอ้ เช่น ไอ้เบิ้ม, ไอ้ห่า ฯลฯ คำว่า อี่ แผลงเป็น อี เช่น อีบัว, อีดอกทอง ฯลฯ]

เดือน เป็นคำเรียกดวงจันทร์ ที่ทำให้มีน้ำขึ้น-น้ำลง หล่อเลี้ยงพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหาร

ดวงจันทร์เห็นได้ชัดตอนกลางคืน เรียกว่าค่ำ มีความเปลี่ยนแปลงเรียกเดือนขึ้น (หรือข้างขึ้น) สลับกับเดือนแรม (หรือข้างแรม) รวมกันได้ราว 30 วันบางครั้ง 31 วัน คนเราเลยยอมรับเรียกชื่อเวลาทั้งหมดว่าเดือนหนึ่ง หรือหนึ่งเดือน

คำว่าเดือนจึงหมายถึงระยะเวลา 30-31 วันตามจันทรคติ (แปลว่าคติที่มีดวงจันทร์เป็นแกนกลาง)

ปีนักษัตร ได้แก่ ชวด, ฉลู, ขาล, เถาะ ฯลฯ มีรูปประจำปีเป็นสัตว์ต่างๆ เช่น ชวด หนู, ฉลู วัว, ขาล เสือ, เถาะ กระต่าย ฯลฯ เป็นวัฒนธรรมจากจีน (ไม่มีในอินเดีย) เข้าสู่อุษาคเนย์ ผ่านกัมพูชา ถึงไทย

ปี หมายถึงช่วงเวลาที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ ครั้งหนึ่งประมาณ 365 วัน แบ่งเป็น 12 เดือน

คนแต่ก่อนไม่เรียกปี แต่เรียกเข้า (ที่ปัจจุบันเสียงเป็นข้าว) ตามการเพาะปลูกทางกสิกรรม ทำนาปลูกข้าวแล้วได้ข้าวปีละครั้ง

  • ภาคเหนือเร็วกว่าภาคกลาง

เดือนอ้ายของล้านนาอยู่ภาคเหนือ เริ่มก่อนภาคกลาง 2 เดือน (ขณะนั้นภาคกลางยังเป็นเดือน 11)

เมื่อภาคกลางถึงเดือน 12 มีลอยกระทง แต่ทางภาคเหนือล่วงหน้าเป็นเดือนยี่ (เดือน 2) แล้ว จึงเรียกคืนวันเพ็ญลอยกระทงว่ายี่เป็ง (เป็ง คือ เพ็ญ)

เหตุที่ภาคเหนือเรียกประเพณีลอยกระทงว่ายี่เป็ง ก็เพราะรับพิธีลอยกระทงขึ้นไปจากภาคกลาง (ที่มีในกลางเดือน 12) เลยต้องปรับกำหนดให้ตรงกับภาคกลางด้วย แต่ขณะนั้นภาคเหนือเป็นเดือนยี่แล้ว จึงเรียกลอยกระทงว่ายี่เป็ง หมายถึง เพ็ญเดือนสอง (ไม่ใช่เพ็ญเดือนสิบสอง) พอภาคกลางเริ่มปีใหม่เดือนอ้าย ทางภาคเหนือก็เข้าเดือนสามแล้ว

ทั้งนี้มีเหตุจากประเทศไทยมีพื้นที่เป็นรูปยาวตั้งแต่เหนือลงใต้ ทำให้แต่ละพื้นที่รับมรสุมจากมหาสมุทรไม่พร้อมกัน

ภาคเหนือรับมรสุมก่อนภาคกลางและภาคใต้ ฝนจึงตกทางภาคเหนือแล้วเริ่มฤดูทำนาก่อนภาคกลางและภาคใต้ เป็นเหตุให้ข้าวทางภาคเหนือออกรวงสุกเต็มที่ ต้องเก็บเกี่ยวก่อนภาคกลางและภาคใต้ โดยเฉลี่ยราว 60 วัน หรือ 2 เดือน

  • สงกรานต์-ขึ้นปีใหม่ของทมิฬ-อินเดียใต้

สงกรานต์-เมษายน ขึ้นปีใหม่ (หมายถึงเปลี่ยนศักราช) ของอินเดียใต้ (ทมิฬ) หลายพันปีมาแล้ว เป็นพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เมื่อพระอาทิตย์โคจรย้ายจากราศีมีนสู่ราศีเมษ

ราว 1,500 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ. 1000 ชนชั้นนำบ้านเมืองในภูมิภาคอุษาคเนย์ (SEA) รับวัฒนธรรมทมิฬอินเดียใต้ เป็นพิธีเปลี่ยนศักราช (ขึ้นปีใหม่) มาไว้ในราชสำนักของบ้านเมืองนั้นครบถ้วนเหมือนกัน

นับแต่นั้นทุกบ้านเมืองในอุษาคเนย์มีขึ้นปีใหม่ 2 ระดับ ดังนี้

ชนชั้นนำในราชสำนัก ขึ้นปีใหม่ เปลี่ยนศักราช ตรงกับสงกรานต์ เมษายน เป็นพิธีพราหมณ์ (หลังจากนั้นปรับเป็นพุทธ)

ประชาชนทั่วไปในชุมชน ขึ้นปีใหม่ เปลี่ยนปีนักษัตร เดือนอ้าย (ราวธันวาคม) เป็นพิธีผี (หลังจากนั้นปรับเป็นพุทธ)

รัฐอโยธยา-อยุธยา สืบเนื่องวัฒนธรรมจากรัฐรุ่นก่อน จึงมีขึ้นปีใหม่ 2 ระดับ และไม่พบว่าเรียก “ปีใหม่ไทย” เพราะรู้ว่าไม่เป็นสมบัติเฉพาะ “ไทย” พวกเดียว แต่เป็นวัฒนธรรมร่วมทั้งภูมิภาคอุษาคเนย์

กรุงรัตนโกสินทร์ แผ่นดิน ร.3 ให้ความสำคัญสงกรานต์ทั้ง 2 ระดับ แต่ไม่พบเรียก “ปีใหม่ไทย” และไม่พบ “สาดน้ำ” ดูได้จากนิราศเดือน ของ เสมียนมี (หมื่นพรหมสมพัตสร) เมื่อพรรณนาเดือนห้าสงกรานต์ ขึ้นต้นว่า

โอ้ฤดูเดือนห้าหน้าคิมหันต์

พวกมนุษย์สุดสุขสนุกครัน               ได้ดูกันพิศวงเมื่อสงกรานต์

ทั้งผู้ดีเข็ญใจใส่อังคาส                      อภิวาทพุทธรูปในวิหาร

ล้วนแต่งตัวทั่วกันวันสงกรานต์        ดูสะคราญเพริศพริ้งทั้งหญิงชาย

สงกรานต์ของทมิฬอินเดียใต้ถูก “ตู่” แล้วถูก “กระพือ” เรียก “ปีใหม่ไทย” ด้วยอำนาจชาตินิยม “คลั่งเชื้อชาติ” ที่ไม่ควรทำตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image