กับดัก ความคิด ชุมนุม “พุทธมณฑล” สอง มาตรฐาน

ไม่ว่าเรื่องการชุมนุมของพระและฆราวาสบริเวณ “พุทธมณฑล” ไม่ว่าเรื่องการตรวจสอบ “รถหรู” ที่พิพิธภัณฑ์รุ่นเก่า วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

มากด้วย “ความละเอียดอ่อน”

เป็นความละเอียดอ่อนและ “อ่อนไหว” ที่จะก่อให้เกิดความรู้สึกและนำไปสู่ความเข้าใจในลักษณะอันสรุปได้อย่างรวบรัดว่า

“ดับเบิล สแตนดาร์ด” หรือ “2 มาตรฐาน”

Advertisement

เหตุที่มากด้วย “ความอ่อนไหว” เพราะว่าเป็นสภาพการณ์อันมิได้ดำรงอยู่อย่างโดดๆ ตรงกันข้าม กลับดำเนินไปในลักษณะอันมี “คู่เปรียบเทียบ”

เป็นการเปรียบเทียบกับสิ่งที่รับรู้ว่าเป็น “คู่” แห่ง “ความขัดแย้ง”

เป็นการเปรียบเทียบอันสะท้อนและยืนยันว่ามิได้เกิดขึ้นอย่างเป็นเอกเทศ เทิ่ง-เทิ่ง หากแต่ยิ่งพินิจยิ่งพิจารณายิ่งมองเห็นความสัมพันธ์และยึดโยง

Advertisement

แทนที่จะเป็น “คนละเรื่อง” กลับกลายเป็นคนละเรื่อง “เดียวกัน”

ไม่ว่าจะเป็นในกรณีของการชุมนุมของพระและฆราวาส บริเวณพุทธมณฑล ไม่ว่าจะเป็นในกรณีดีเอสไอเข้าไปตรวจสอบรถหรู วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

เป็นไปตาม “แยกกันเดิน” แต่เป้าหมายคือ “รวมกันตี”

ถามว่าการชุมนุมของพระและฆราวาสจำนวนหลายพันคน ณ บริเวณพุทธมณฑล นำไปสู่การเปรียบเทียบกับกรณีอะไรในทางการเมือง

ตอบได้เลยว่า กรณีของ พระสุวิทย์ ธีรธมฺโม

จำได้หรือไม่ว่าก่อนหน้านี้ พระสุวิทย์ ธีรธมฺโม แห่งวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ได้เคยพามวลชนไม่ต่ำกว่า 200 คนเดินทางไปบริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำกรุงเทพมหานคร

เป็นการแสดงปฏิกิริยา แสดงความไม่พอใจ “สหรัฐ”

คำถามก็คือ กรณีของ พระสุวิทย์ ธีรธมฺโม ผิด พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 หรือไม่ คำถามก็คือกรณีของ พระสุวิทย์ ธีรธมฺโม ขัดคำสั่งของ คสช.ที่ห้ามการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนหรือไม่

ตอบได้เลยว่า “ผิด” ตอบได้เลยว่า “ขัด”

แล้วทำไมจึงมิได้มีหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเจ้าของพื้นที่ แล้วทำไมจึงมิได้มีการประชุมคณะเจ้าพนักงานสอบสวนและชุดสืบสวน เหมือนที่ พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวส ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 7 ได้ดำเนินการในกรณีของ พระเมธีธรรมาจารย์ (ประสาร จนฺทสาโร)

บทบาทเช่นนี้สะท้อนถึงบทบาทของการละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่ผิดต่อประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 อย่างแน่นอน คำถามก็คือเหตุใดเจ้าหน้าที่ตำรวจมุ่งกระทำแต่กับ พระเมธีธรรมาจารย์ (ประสาร จนฺทสาโร) แต่ละเลยในกรณีของ พระสุวิทย์ ธีรธมฺโม

เท่ากับ “ดับเบิล สแตนดาร์ด” เท่ากับ “2 มาตรฐาน”

เมื่อท่าทีของเจ้าหน้าที่ตำรวจในกรณีการชุมนุมบริเวณพุทธมณฑลเป็นเช่นนี้ แล้วท่าทีของเจ้าหน้าที่แห่งกรมสอบสวนคดีพิเศษในกรณีของ “รถหรู” เป็นอย่างไร

เรื่องนี้ยิ่งมากด้วย “ความละเอียดอ่อน” ยิ่งมากด้วย “ความอ่อนไหว”

ปมเงื่อนอยู่ตรงที่ “สถานะ” และ “สภาพ” ของ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ในขณะนี้

1 ท่านเป็น “สมเด็จพระราชาคณะ”

1 ท่านเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากมหาเถรสมาคมและรัฐบาลให้เป็น “ผู้ปฏิบัติหน้าที่” ในฐานะสมเด็จพระสังฆราช

1 ท่านได้รับการเสนอชื่อจากมติของมหาเถรสมาคมให้เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลที่จะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อสถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่งเป็น “สมเด็จพระสังฆราช” องค์ที่ 20

หากจะประเมินว่าการตรวจสอบ “รถหรู” ก็เพื่อจะทำความกระจ่าง อันเท่ากับเป็นการเคลียร์ให้กระบวนการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชดำเนินไปอย่างศักดิ์สิทธิ์

ก็ย่อมได้

กระนั้น ท่าที ท่วงทำนอง และกระบวนการในการสืบสวนและสอบสวนก็เสี่ยงต่อความรู้สึกของพระและฆราวาสเป็นอย่างสูงว่า ดำเนินไปด้วย “ความเคารพ เอื้อเฟื้อ” หรือไม่ อย่างไร

หรือจะอาศัย “เรื่องนี้” เป็นเครื่องมือในการสกัดและขัดขวางกระบวนการ “สถาปนา”

ต้องยอมรับว่าพลันที่ “มหาเถรสมาคม” มีมติอย่างเอกฉันท์ แล้ว “รัฐบาล” รีๆ รอๆ เก้ๆ กังๆ ไม่ดำเนินการ

ตรงนี้ไม่เพียงแต่ 1 ท้าทายต่อความศักดิ์สิทธิ์และอำนาจอันมหาเถรสมาคมมีอยู่ในฐานะองค์กรสูงสุดแห่งศาสนจักร หากแต่ 1 ยังสะท้อนศักยภาพในเชิงบริหารจัดการของ คสช.และของรัฐบาล

ที่คิดว่ากำลัง “แก้ปัญหา” อาจกลับกลายเป็น “สร้างปัญหา” จึงเหลื่อมซ้อนอย่างแหลมคมยิ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image