เข้าปีใหม่กับการเมืองใหม่? โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ผมเชื่อว่าปีนี้ 2567 จะเป็นปีที่อะไรที่ไม่เคยเห็นก็จะได้เห็น

คงมีสักสี่เรื่องที่ต้องจับตาในช่วงครึ่งปีแรก

เรื่องที่หนึ่ง เรื่องข่าวลือการปรับ ครม.ซึ่งมีการสอบถามความเห็นผมมา แต่ผมเรียนตรงๆ ว่าไม่เห็นมีอะไรน่าสนใจเท่าไหร่ เพราะประเด็นหลักที่ควรตั้งคำถามไม่ใช่ข่าวการปรับ ครม.

แต่อยู่ที่ความไม่ได้เข้มแข็งของสังคมในการจับตาการทำงานของรัฐบาลอย่างจริงจังมากกว่า

Advertisement

สื่อไทยถนัดตั้งฉายารัฐมนตรีปลายปี มากกว่าจับตาการทำงานของแต่ละกระทรวงอย่างเป็นระบบ

ยังดีที่ปลายปีที่ผ่านมาไม่มีข่าวงานเลี้ยงอย่างเป็นกันเองระหว่างนักข่าวกับรัฐบาลเหมือนปีก่อนๆ (หรืออาจมีแต่ไม่ค่อยเป็นข่าว)

ที่กล่าวมาไม่ได้ว่า สื่อไทย หรอกครับ แค่ตั้งข้อสังเกต เพราะสังคมเองก็ดูจะมึนๆ กับสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่การจัดตั้งรัฐบาลแล้วครับ

Advertisement

กล่าวโดยสรุปสิ่งที่อยากจะสื่อก็คือ จะพูดเรื่องข่าว ครม.ได้ มันต้องตั้งคำถามด้วยว่าเราเข้มแข็งในการตรวจสอบรัฐบาลมากน้อยแค่ไหน และก็ต้องตรวจสอบฝ่ายค้านด้วย ตรวจสอบตัวเองด้วยว่าเรากระตือรือร้นทางการเมืองมากน้อยแค่ไหน

ไม่งั้นแล้วการพูดเรื่องการปรับ ครม.นั้น มันเป็นการพูดที่ไปโยงกับเรื่องของการคาดการณ์บทบาทของคุณทักษิณมากกว่า

เพราะมันคือ อาการของสังคมที่เชื่อว่าคุณทักษิณจะยังมีอำนาจในการโยกย้ายตำแหน่งต่างๆ ได้ เหมือนที่เคยเป็นมาในช่วงที่คุณทักษิณมีอำนาจทางการเมืองเมื่อหลายปีก่อน

ซึ่งในขณะนี้ต้องถามถึงสองตัวแปรใหญ่ คือ ตกลงคุณทักษิณจะมีอำนาจในการโยกย้ายรัฐมนตรีได้แบบเดิมไหม ทั้งที่ตัวเองไม่ได้มีตำแหน่งที่เป็นทางการ

และอำนาจวันนี้ในการปรับ ครม.จะอยู่ที่ใคร อยู่ที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนปัจจุบันจริงๆ ไหม (เผื่อใครไม่ทราบว่าหัวหน้าพรรคเป็นใครก็นึกอีกทีแล้วกัน)

หรืออำนาจอยู่ที่คณะกรรมการบริหารพรรค อยู่จริงๆ หรือต้องรับสัญญาณจากใคร

หรืออำนาจอยู่ที่นายกรัฐมนตรี ที่เป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรค ซึ่งจนถึงวันนี้เราก็ยังงงๆ ระหว่างความสัมพันธ์ระหว่าง พรรคเพื่อไทยกับตัวนายกรัฐมนตรี และเมื่อย้อนกลับไปตั้งคำถามในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ก็คงต้องลองถามกันอีกทีว่ามีการบันทึกไหมว่า ตกลงจากวันนั้นจนถึงวันนี้ว่า นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันมีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินในเรื่องอะไรบ้าง?

ที่พูดแบบนี้ไม่ได้บอกว่า ไม่มี แต่ควรต้องพิจารณาอย่างละเอียดว่าตัวของนายกรัฐมนตรีวันนี้ทำอะไรได้จริงบ้าง เขารู้ข้อจำกัดไหม และพยายามทำอะไรบ้าง ซึ่งผมคิดว่าตัวนายกรัฐมนตรีนั้นพยายามอย่างเต็มที่และได้เรียนรู้อะไรมากมายในเวลาไม่กี่เดือนมานี้ว่าการบริหารประเทศที่ตัวเขาเองไม่ได้มีอำนาจเต็มนั้น มันยากเย็นแค่ไหน

เรื่องที่สอง ตกลงปีที่ผ่านมาเราจะมองเรื่องการข้ามขั้วทางการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาลอย่างไร? ตรงนี้ผมคิดว่าการข้ามขั้วนั้นมีทั้งคนวิจารณ์ และปกป้องกันมาเยอะแล้ว สิ่งที่สำคัญคือ การจัดตั้งรัฐบาลจนเป็นผลสำเร็จนั้นมีราคาที่ต้องจ่ายมากมาย

เอาเข้าจริงทั้งเพื่อไทย และก้าวไกลมีราคาที่ต้องจ่ายทั้งคู่

และราคาที่ต้องจ่ายนี้ยังไม่นิ่ง คงจะต้องดูต่อไป

ส่วนฝ่ายอำนาจเก่านั้นก็มีราคาที่ต้องจ่าย เพราะไม่สามารถมีอำนาจอย่างเปิดเผยได้เหมือนเดิม จำเป็นต้องจัดทัพสู้ใหม่ และร่วมใช้อำนาจกับเพื่อไทย แต่ออกหน้าไม่ได้เหมือนเดิม

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การกลายสภาพของการเมืองไทยที่อย่างจะไม่เคยปรากฏมาก่อน ก็คือลักษณะของการเมืองสามขั้ว แต่ต้องถามว่าการเมืองสามขั้วเป็นการเมืองที่ว่าด้วยเรื่องของอุดมการณ์หรือไม่ แค่ไหน?

ผมคิดว่าการเมืองสามขั้วในห้วงเวลาปัจจุบันนี้ เป็นการเมืองที่เพิ่งก่อตัวขึ้น และเมื่อมองว่าเป็นสามขั้ว มันจึงไม่ใช่เรื่องของการข้ามขั้วอีกต่อไป แต่มันเป็นการเมืองของพลวัตในการกำหนดว่าใครเป็นมิตร ใครเป็นศัตรู

ในอดีตเราเคยได้ยินกันมาตลอดอยู่แล้วว่า การเมืองไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร

แต่เรื่องคราวนี้ไม่ใช่ประเด็นง่ายๆ ว่า ใครเป็นมิตรแท้ หรือศัตรูถาวร

แต่เป็นเรื่องที่ว่าการกำหนดมิตร และศัตรูนั้นใช้เงื่อนไขอะไรในการกำหนด

ตรงนี้แหละคือ หัวใจของการเมืองใหม่ของไทยที่จะเกิดขึ้น (และเอาจริงมันเกิดขึ้นแล้ว)

ที่มันไม่ง่ายก็เพราะแม้จะมีนักคิดบางคนเชื่อว่าหัวใจของความเป็นการเมือง คือ การกำหนดมิตรและศัตรู แต่เอาเข้าจริงในวันนี้การกำหนดมิตรและศัตรูมันเป็นสมรภูมิที่ไม่ง่ายเอาเสียเลย เพราะรัฐที่มีอยู่มันไม่สามารถลงหลักปักฐานและแสดงอำนาจอย่างแข็งขันได้เหมือนยุคสมัยเผด็จการเต็มรูป หรือเผด็จการฟาสซิสต์ที่รัฐกับชนชั้นกลางผนึกประสานกันอย่างแน่นแฟ้นเหมือนเยอรมนีก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง

จะใช้คำเท่ๆ ก็คือ สภาวะที่ระบอบเก่าเสื่อมสภาพลง แต่ระบอบใหม่ยังลงหลักปักฐานไม่ได้เต็มที่นี้เอง ที่สภาวการณ์ของการกำหนดมิตร-ศัตรูมันถึงได้รุนแรงเป็นพิเศษ ความโกรธแค้น การปะทะกันทางความคิดและวาจา โดยเฉพาะในระดับของวาทกรรมและอุดมการณ์มันถึงได้เข้มข้น เพราะต่างฝ่ายต่างยึดกุมพื้นที่ทางการเมืองและทางความคิดไม่ได้เต็มที่

และที่สำคัญรัฐเองก็อยู่ในสภาพที่มีอำนาจแต่ขาดความชอบธรรมในบางระดับ

การจับกุมคนขัง และลงโทษผู้คนให้เกิดความหวาดกลัวยังดำเนินต่อไป แต่คนยังสู้ ยังไม่จำนน แม้จะยังไม่ได้ชัยชนะที่เป็นรูปธรรม

แม้กระทั่งสิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่นอย่างความเป็นชาติ ความเป็นไทย ความเป็นอะไรอีกมากมาย จนถึงวันนี้ความศักดิ์สิทธิ์ก็คลายลงไปมาก เมื่อเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นหลายปีก่อนหน้านี้

แต่กระนั้นก็ตามสิ่งที่จะต้องระวังและตั้งข้อสังเกตก็คือ ในการต่อสู้เพื่อยึดกุมที่มั่นทางการเมืองในปัจจุบัน มิติด้านอารมณ์จะเพิ่มความเข้มข้นขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้หมายความว่าเหตุผลจะต้องดีกว่าอารมณ์เสมอไป เพราะบางครั้งเหตุผลก็ถูกพัฒนาจากสถาบันทางความรู้ที่ลงหลักปักฐาน แต่ไม่ได้รับใช้ หรือเปิดกว้างให้กับทุกกลุ่ม หรือกลับรองรับอำนาจและระบอบที่มีอยู่มากกว่าความเท่าเทียม ความเสมอภาค และเสรีภาพด้วยซ้ำ

ประการที่สาม แนวรบเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นสมรภูมิที่ไม่ง่าย เพราะการแก้รัฐธรรมนูญในรอบนี้มีการให้ความหมาย ความสำคัญกับมันในหลายเรื่องมากเกินไป จนดูวุ่นวายซับซ้อนไปหมด

ที่สำคัญกระบวนการตั้งต้นพิจารณาเรื่องประชามติที่กำลังดำเนินอยู่ในตอนนี้สะท้อนว่าไม่สามารถโอบรับเอาความหลากหลายของเรื่องราวต่างๆ ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญมาอยู่ในกระบวนการตั้งแต่เดินทางไปด้วยกันได้เลย

จนถึงวันนี้สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น คือ การยอมรับกันก่อนว่าสังคมนี้พร้อมจะเดินหน้าเปิดโอกาสให้มีการร่วมกันร่างกติกาใหม่ทางการเมืองร่วมกันโดยสันติ

แค่นั้นก็พอแล้ว

นั่นหมายความว่าจะมีการยอมรับสองเรื่อง หนึ่งก็คือ ทุกคนในสังคมนี้ควรจะเปิดใจยอมรับว่าสังคมนี้ควรจะมีความใฝ่ฝันได้ในทุกรูปแบบ

และเรื่องที่สอง คือ ควรมีการหารือกันว่าใครจะเป็นตัวแทนในการรวบรวมเอาความใฝ่ฝันนี้มาจัดทำแนวทางที่เปิดกว้างที่สุด

ส่วนอะไรจะรับได้รับไม่ได้ อะไรแตะได้แตะไม่ได้ ตัวรัฐธรรมนูญเองโดยระบบมันไม่ได้ห้าม ถึงห้ามมันก็ไม่เคยศักดิ์สิทธิ์ เพราะมันถูกรัฐประหารมาหลายครั้ง ดังนั้นอะไรจะเอาไม่เอา ก็ควรไปอยู่ในขั้นต่อไป

และจะมีอีกครั้งเพื่อรวบรวมเอาข้อเสนอแต่ละเรื่องมามัดรวมแล้วเกิดการตอกย้ำว่าเราจะเดินไปในกติกาใหม่ร่วมกันก็ว่ากันอีกที

สิ่งที่ผมเสนอมานั้นน่าจะเป็นแนวทางในการจัดทำรัฐธรรมนูญที่เปิดกว้าง ไม่ใช่แค่เป็นเรื่องการเอาการจัดทำรัฐธรรมนูญมาดักทางเพื่อสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยที่ยังไม่ได้ร่างร่วมกันเลย เพราะคณะกรรมการประชามติไม่ได้มีที่มาจากประชาชนอย่างเต็มรูปแบบ

สรุปง่ายๆ คือ ความต้องการและไม่ต้องการของประชาชนต่อสังคมการเมืองในวันนี้หลากหลายเกินกว่าการตั้งโจทย์ประชามติแบบร่างคำถามที่พูดถึงกันตอนนี้จะโอบรับได้หมด และถ้ายังฝืนเดินหน้ากระบวนการนี้ต่อไป น่าจะนำไปสู่ความวุ่นวายและขาดความชอบธรรมต่อตัวรัฐบาลเองมากขึ้นโดยไม่จำเป็น

ประการที่สี่ การหมดอายุของ ส.ว.ในกลางปีนี้จะกลายเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะกติกาการเลือกตั้งใหม่ที่ล็อกเอาไว้นั้นจะไม่ง่ายอย่างที่คิดอีกต่อไป

ยังมีหลายคนที่ไม่ได้ตามรายละเอียดว่าการเลือกตั้ง ส.ว.ในครั้งนี้อาจจะคล้ายกับสมัยรัฐธรรมนูญ 2540 คือ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่อาจมีเงื่อนไขไม่ให้หาเสียโจ๋งครึ่ม

เอาเข้าจริงไม่ใช่เลย ส.ว.จะมาจากการเลือกกันเองของกลุ่มยี่สิบกลุ่ม ที่ยังไม่มีการประกาศในรายละเอียด และต้องผ่านการเลือกกันเองถึงสามรอบ และสิบอันดับแรกจะได้รับเลือก
เป็น ส.ว. ซึ่งจะมีจำนวน 200 คน จากตอนนี้ที่มี 250

แม้ว่า ส.ว.ใหม่จะไม่สามารถเลือกนายกฯได้ แต่ก็จะมีบทบาทในเรื่องของการเป็นที่มาของการเลือกองค์กรอิสระต่างๆ ที่มีผลต่อรัฐธรรมนูญ และการทำงานของรัฐสภาทั้งในด้านบวกและลบ

แต่เรื่องนี้มิใช่เรื่องที่จะผ่านไปได้ง่ายๆ เหมือนที่คนร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันคิดเอาไว้ เพราะว่า ความเชื่อในแบบที่ว่าระบบการเลือกกันเองนี้จะเป็นระบบที่เป็นทางเลือกจากระบบประชาธิปไตยแบบเสียงข้างมากเหมือนในอดีต

สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ระบบการเลือกกันเองสามรอบในครั้งนี้จะถูกแปรสภาพให้กลายเป็นระบบประชาธิปไตยเสียงข้างมากแบบเข้มข้นที่มาจากการจัดตั้งคะแนนเสียง ในความหมายที่ว่าหากมีใครถอดรหัสกติกานี้ได้

สิ่งที่จะเกิดขึ้นจะกลายเป็นระบบการเลือกตั้งที่มีการลงทะเบียนล่างหน้า เอาฝ่ายตัวเองเข้าไปลงทะเบียนมากที่สุด

คือ ถ้าเราต้องการให้คนฝ่ายเราชนะ ทุกคนในฝ่ายเราก็จะระดมกันไปสมัครเพื่อคัดเลือกพวกเราเองไปอีกสามขั้นเท่านั้นเอง ซึ่งนี่คือการถอดรหัสแบบง่ายๆ ทั้งยี่สิบกลุ่มอาชีพ

ในแง่นี้ความเชื่อที่ว่าการเลือก ส.ว.ในรอบนี้จะต่างจากการเลือกตั้งทั่วไปจะกลายเป็นประเด็นท้าทาย เพราะการล็อกผลเลือกตั้งนั้นทำได้ตั้งแต่เมื่อสิ้นสุดการลงสมัครเลือกตั้งด้วยซ้ำ

ที่เล่ามาทั้งสี่เรื่องน่าจะเป็นส่วนเสี้ยวเล็กๆ ที่น่าจับตาในครึ่งปีแรกของการเมืองในปี 2567 ครับผม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image