พลวัต แห่งคำ ปรองดอง รัฐประหาร สิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี

แล้วคำว่า “ปรองดอง” อัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้ามาบริหารจัดการ

ก็ถูก “โยง” เข้าไปอยู่กับคำว่า “รัฐประหาร”

ผลสะเทือนระหว่าง “ปรองดอง” กับ “รัฐประหาร” เช่นนี้ หากสรุปตามสำนวนภาษาที่ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ คุ้นเคย

ก็ต้องใช้คำว่า DYNAMIC

Advertisement

DYNAMIC อันเป็นศัพท์ที่ราชบัณฑิตยสถาน สาขารัฐศาสตร์ บัญญัติออกมาเป็นภาษาไทยว่า “พลวัต”

โดยพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานนิยาม

พลวัต ว. ซึ่งเกี่ยวข้องกับแรง, ซึ่งเกี่ยวข้องกับผลของแรง เช่น การเคลื่อนที่

Advertisement

ขณะที่ พจนานุกรม ฉบับมติชน ในส่วนอันเกี่ยวกับคำนาม คือ การไหวเคลื่อนตามกฎเกณฑ์ และในส่วนอันเกี่ยวกับคำวิเศษณ์ คือ เกี่ยวกับแรงทำให้เคลื่อนไหว

โดยสรุปของ DYNAMIC คือ การเคลื่อนไหว

เท่ากับบทบาทของคำว่า “ปรองดอง” ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวและโยงเข้าไปสัมพันธ์กับคำว่า “รัฐประหาร”

นี่คือ “เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว”

 

บทสรุปที่ว่า “เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว” ดำเนินไปตามทฤษฎี “ผีเสื้อขยับปีก” สะท้อนลักษณะอันเป็น พลวัต DYNAMIC

พลวัตแห่ง “ปรองดอง” สะเทือนถึง “รัฐประหาร”

ภาษาทางกลศาสตร์อาจเรียกว่า DYNAMIC ภาษาในทางรัฐศาสตร์อาจถอดออกมาเป็นพลวัต

ขณะที่ภาษาทางพระเรียกว่า “อิทัปปัจจยตา”

หนังสือพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของ พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) อธิบายอยางสั้นกระชับว่า

“ภาวะที่มีอันนี้ๆ เป็นปัจจัย”

ความเป็นไปตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย กระบวนธรรมแห่งเหตุปัจจัย และรวมถึงกฎที่ว่า “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี, เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น”

พุทธทาสภิกขุ สรุปว่า

คำว่า “อิทัปปัจจยตา” มีความหมายกว้างทั่วไป จะใช้กับรูปธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ในกรณีใดกรณีหนึ่ง ก็ยังได้

“เป็นกฎวิทยาศาสตร์ทั่วไปก็ได้”

 

ไม่ว่าจะมองลักษณะแห่ง “พลวัต” หรือกระบวนการแห่ง “อิทัปปัจจยตา” ด้วยมุมของวิทยาศาสตร์หรือสังคมศาสตร์

แต่นี่คือ กฎแห่ง “การเคลื่อนไหว”

พลันที่มีการเสนอคำว่า “ปรองดอง” ขึ้นต่อสาธารณะ ก็นำไปสู่การถกแถลงอย่างกว้างขวาง ได้เกิดคำถามตามมามากมาย

เป็นคำถามถึง “คู่แห่งความขัดแย้ง”

เป็นคำถามถึงมูลเชื้อหรือสาเหตุอันก่อให้เกิด “ความขัดแย้ง” รุนแรง ล้ำลึก กระทั่งเกิดความจำเป็นที่จะต้องมีการ “ปรองดอง” ตรงนี้แหละที่คำว่า “รัฐประหาร” ปรากฏขึ้น

บทสรุปร่วมก็คือ ความขัดแย้งในห้วงกว่า 1 ทศวรรษมีความสัมพันธ์อยู่กับสถานการณ์ใหญ่ 2 สถานการณ์ รัฐประหารเดือนกันยายน 2549 1 รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

สังคมไทยจะไม่สามารถ “ปรองดอง” กันได้อย่างเด็ดขาด หากไม่ทำความเข้าใจต่อสถานการณ์รัฐประหารนี้

เห็นหรือยังว่าผลสะเทือนจากคำว่า “ปรองดอง” แผ่ผาย ขยายไปอย่างกว้างขวาง ลึกซึ้งเพียงใด

เข้าทำนองวลีที่ว่า “ผีเสื้อขยับปีก” เข้าทำนองสำนวนยอดฮิตที่ว่า “เด็ดดอกไม้ สะเทือนไปถึงดวงดาว”

เพียงแต่ดวงดาวในที่นี้คือ รัฐประหาร และ ปรองดอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image