การเมืองไทยบทต่อไปในปีนี้ : การปะทะกันของฝ่ายผู้คนข้างมากในกระดาษ กับฝ่ายที่มีอำนาจตามความเป็นจริง

พุทธศักราช 2566 ที่เพิ่งผ่านพ้น เป็นปีที่บันทึกได้ว่าเป็นอีกหมุดหมายสำคัญหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะอาจกล่าวได้ว่า เป็นปีแรกของการสิ้นสุดยุคแห่งการปกครองและการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร คสช.อย่างเป็นทางการ ถ้าชี้วัดจากผลการเลือกตั้งทั่วไปที่พรรคการเมืองที่เป็น (หรืออย่างน้อยก็เคยเป็น) ปฏิปักษ์ต่อการทำรัฐประหารและคณะผู้สืบทอดอำนาจนั้นชนะการเลือกตั้งรวมกันอย่างถล่มทลายสิ้นสงสัย

นายกรัฐมนตรีผู้ที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาหลังจากนั้นก็มาจากพรรคการเมืองที่เคยเป็นอดีตพรรครัฐบาลที่ถูกทำรัฐประหารมาแล้วครั้งแล้วครั้งเล่าด้วย รวมถึงการพ้นจากบทบาทอำนาจทางการเมืองของบุคคลและพรรคการเมืองที่เคยสนับสนุนกลุ่มคนผู้ชิงอำนาจมาโดยมิชอบแล้ว ก็อาจถือได้ว่าเป็นความพยายามลงจากอำนาจของฝ่ายดังกล่าว

กระนั้นการที่ “พรรคก้าวไกล” อันเป็นพรรคการเมืองที่ถือว่าชนะการเลือกตั้ง และสามารถเจรจาจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลได้แล้วในเบื้องต้นนั้น กลับเกิดเหตุวินาศกรรมทางการเมืองจนต้องเป็นฝ่ายค้านในสภาพที่บอบช้ำ ตามด้วยมี “คดี” ติดตัว ซ้ำยังถูกสร้างภาพลักษณ์ให้เข้าใจว่าเป็นพรรคการเมืองที่ไม่มีพรรคใดยินดีร่วมสังฆกรรมทำงานด้วย ก็เป็นเหมือนการแบไพ่หน้าสำคัญให้ได้เห็นเช่นกันว่า “มติของประชาชน” อาจจะไม่ใช่เสียงชี้ขาด หรือเปลี่ยนเป็นอำนาจทางการเมืองที่จะกำหนดทิศทางแห่งอำนาจรัฐได้ในทางความเป็นจริง ด้วยยังมีเครือข่ายที่ถือครองอำนาจอยู่เดิมนั้นยังเข้ามาแทรกแซงได้อยู่ ผ่านกลไกของรัฐธรรมนูญ 2560 อันเป็นมรดกตกค้างอันหลงเหลืออยู่ของคณะรัฐประหาร คสช.ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 อย่างน้อยก็ในช่วงนี้

แต่การจะบอกว่า “พรรคก้าวไกล” ที่อาจต้องรวมเอาเครือข่ายกลุ่มการเมืองและประชาชนที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงนั้นพ่ายแพ้หมดพิษสง หรืออิทธิพลทางการเมืองไปแล้วก็เร็วเกินไป นั่นเพราะ “อำนาจ” ของพวกเขาเป็นเหมือนพลังงานศักย์ที่ได้รับการสนับสนุนโดยประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างมีสัดส่วนอันเป็นนัยสำคัญ

Advertisement

เครื่องชี้วัด สัญญาณล่าสุดนั้นปรากฏจากผลการเลือกตั้งคณะกรรมการ หรือบอร์ดประกันสังคมเมื่อช่วงสัปดาห์ก่อนสุดท้ายของปีก่อน ที่ในส่วนของผู้ประกันตน หรือฝ่ายลูกจ้าง ซึ่ง “กลุ่มก้าวหน้า” อันเป็นเหมือนอีก “หน่วยรบ” ของพรรคก้าวไกลได้ตำแหน่งกรรมการดังกล่าวไป 6 จาก 7 ที่นั่ง แม้กรณีนี้จะไม่ใช่การเลือกตั้งที่เปิดกว้างทั่วไป แต่ก็อาจพอสะท้อนภาพได้ว่า ในสนามการต่อสู้ทางการเมือง หรืออำนาจรัฐใดที่ตัดสินกันด้วยเสียงข้างมากของประชาชน หรือผู้คนที่มีสิทธิเลือกตั้งแล้ว กลุ่มการเมืองฝั่ง “ก้าวหน้า” ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองฝ่ายเดียวกับที่สนับสนุน “พรรคก้าวไกล” ก็จะแย่งชิงพื้นที่นั้นมาได้

แม้ว่าชัยชนะของ “ฝ่ายก้าวหน้า” ข้างต้นอาจจะยังไม่รวมถึงการเมืองระดับท้องถิ่น ซึ่งเป็นอีกสนามรบที่กลุ่มการเมืองดังกล่าวยังไม่เคยประสบความสำเร็จ หรือปักธงได้อย่างจริงจัง แต่ในทางกลับกันหากมีการเลือกตั้งท้องถิ่นขึ้นมาเมื่อไรแล้วผลการเลือกตั้งเริ่มให้สัญญาณว่ากลุ่มและพรรคดังกล่าวสามารถครองชัยชนะขึ้นมาได้อีก ก็จะเป็นตัวชี้ให้เห็นถึง “เสียง” “จำนวน” และ “สัดส่วน” ของประชาชนที่เห็นด้วย หรือสมาทานกับแนวคิดของพรรคและกลุ่มการเมืองนี้

กล่าวโดยสรุปได้ว่า หากเป็นสนามที่ตัดสินด้วยการเสียงของประชาชนแล้ว พรรคก้าวไกล กลุ่มก้าวหน้า รวมตลอดถึงกลุ่มแนวร่วมอื่นๆ นั้นก็ไม่ค่อยแพ้ใคร

Advertisement

ข้อเท็จจริงข้างต้นจึงเป็นหมอกเมฆแห่งความหวาดหวั่นพรั่นใจสำหรับกลุ่มอำนาจฝั่งฝ่ายที่อยู่ตรงข้าม รวมถึงอาจจะคาดการณ์เชื่อมโยงไปถึงการทำประชามติเรื่องการยกร่าง หรือเขียนรัฐธรรมนูญ รวมถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่คาดหมายว่าในปีนี้อย่างน้อยก็คงต้องมีการทำประชามติในคำถามว่า ประชาชนต้องการให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งเป็นกติกาที่เป็นปัญหาทางการเมืองที่แสดงออกมาอย่างชัดเจนในปีที่แล้วหรือไม่

เราจึงอาจจะได้เห็นกระบวนการสกัดกั้นการแสดงพลังของ “เสียงข้างมาก” ของประชาชนผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลและแนวทางของกลุ่มก้าวหน้านี้ได้ทั้งรูปแบบการ “ควบคุมก่อน” และการ “ควบคุมหลัง” ได้อย่างเข้มข้น

การ “ควบคุมก่อน” คือความพยายามออกแบบกติกาการเลือกตั้ง หรือการเลือกที่จะป้องกันไม่ให้เสียงส่วนใหญ่ที่น่าจะเลือกแนวทางของกลุ่มก้าวหน้า หรือพรรคก้าวไกลนั้นแปรผลไปเป็นจำนวนที่นั่ง หรือเสียงของ ส.ส.ร.ที่จะมีอำนาจในการกำหนดทิศทางในการร่างรัฐธรรมนูญ โดยการทำให้สัดส่วนของตัวแทน ส.ส.ร.ไม่ได้สะท้อนสัดส่วนของกลุ่มผู้มีความคิดเห็นและความเชื่อทางการเมืองในสังคมอย่างแท้จริง

การควบคุมก่อนนี้ยังรวมถึงกรอบเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่จะยกร่างขึ้นใหม่นี้ไว้ล่วงหน้าด้วย ดังที่เริ่มมีเค้าลางจาก “คำถามประชามติ” ที่แง้มออกมาว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นคำถามที่ก่อให้เกิดตรรกะประหลาดที่ส่อเป็นการมัดมือชก อีกทั้งผลประชามติไม่สามารถสื่อให้ชัดเจนได้ว่าประชาชนต้องการอะไรกันแน่ด้วย

แม้จะพอมีข้อแก้ต่างให้ได้ว่า จริงๆ นโยบายในการแก้ไข หรือเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ของพรรคเพื่อไทยก็ประกาศแสดงไว้ในหน้านโยบายของพรรคในเว็บไซต์ที่ชัดเจนมาตั้งแต่ต้นว่าทางพรรคจะ “…จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยคงรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนและผ่านขั้นตอนการออกเสียงลงประชามติโดยประชาชน…”

ต่อให้พลิกแพลงให้คำตอบไปในทางที่ว่าทางพรรคเพื่อไทยนั้นแม้จะมีนโยบายจะให้มี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจริง แต่ไม่ได้ระบุไว้ละเอียดว่าหมายถึงว่า ส.ส.ร.ทั้งหมดต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรง รวมถึงไม่ได้ชี้ชัดว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ว่าจะจัดทำนั้น จะจัดทำแบบครั้งเดียวทั้งฉบับ แต่ถึงอย่างนั้นในนโยบายข้างต้นก็มีข้อแม้ หรือเงื่อนไขเพียงว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญโดย “คงรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ไม่ใช่การแก้ไขโดยแตะต้องหมวด 1 และหมวด 2 อย่าลืมว่าในการร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์การเขียนรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาของไทยไม่ว่าจะจากตัวแทนของประชาชน หรือแม้แต่โดยคณะรัฐประหารก็ไม่เคยปรากฏว่ามีข้อกำหนดห้ามการแก้ไขรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้ รัฐธรรมนูญไทยที่ผ่านมาก็ยังคงรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเป็นราชอาณาจักรอันเป็นหนึ่งเดียวที่แบ่งแยกไม่ได้เสมอมา โดยที่เนื้อหาของหมวด 1 และหมวด 2 นั้นก็มีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละฉบับ หรือแม้แต่ในรัฐธรรมนูญ 2560 เองก็ไม่ได้มีบทบัญญัติห้ามการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสองหมวดนี้ นอกจากเงื่อนไขไว้ว่า หากจะมีการแก้ไขในเรื่องดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบโดยประชามติจากประชาชนเสียก่อน ยิ่งกว่านั้นคือที่ผ่านมาก็ไม่ได้แสดงว่ามีใครเสนอความคิด หรือแนวทางว่าจะมีการแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในส่วนนี้แต่อย่างใดด้วยซ้ำ

การออกมาตีปลาหน้าไซในการกำหนดคำถามประชามติรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้อาจจะแสดงให้เห็นถึงความกังวลใจบางอย่างจากการคาดหมายว่าถ้าให้ตัวแทนประชาชนที่จะผ่านการเลือกเข้ามาโดยเสียงข้างมากมีอำนาจในการกำหนดทิศทางในการเขียนรัฐธรรมนูญได้แล้ว อาจจะทำให้เนื้อหาบางประการในสองหมวดนี้นั้นเป็นไปในแนวทางที่ชวนให้ “ไม่สบายใจ” และถ้าเนื้อหาดังกล่าวยังได้รับการออกเสียงประชามติด้วยเสียงข้างมากซ้ำเข้าไปอีก ความไม่สบายใจนั้นก็จะยิ่งมีน้ำหนักถมทับทวีขึ้นไปได้

เราจึงอาจจะได้เห็นการ “ควบคุมหลัง” ขึ้นมาในกรณีที่การใช้กระบวนการควบคุมก่อน หรือการสกัดกั้นด้วยกติกาที่เป็นต้นทางนั้นไม่ได้ผล โดยอาจจะมีกระบวนการที่ทำให้ผลแห่งการใช้อำนาจโดยเสียงข้างมากถูกลบล้างไปโดยไม่มีผล เช่น หากในที่สุดตัวแทนจากกลุ่มก้าวหน้า หรือพรรคก้าวไกลสามารถใช้อำนาจตามที่มีนั้นยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาได้ ก็เป็นไปได้ที่จะมีปาฏิหาริย์ทางรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายปรากฏออกมาให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นไม่อาจผ่านออกมาใช้บังคับเป็นรัฐธรรมนูญก็ได้ ถ้าฝ่ายที่มีอำนาจตามความเป็นจริงนั้นไม่เห็นด้วย หรือหวาดระแวงต่อเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่ยกร่างขึ้นมานั้น

ยังไม่ต้องกล่าวถึงคดีที่ยังค้างคาอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญสองคดีที่อาจส่งผลอย่างในทางไม่เป็นคุณอย่างน้อยคือทำให้อดีตหัวหน้าพรรคและผู้ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกลต้องพ้นจากความเป็น ส.ส. หรือกรณีร้ายแรงที่สุดก็อาจนำไปสู่การยุบพรรคด้วยเหตุที่ว่าการดำเนินนโยบายของพรรคนั้นเป็นการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญและระบอบการปกครองก็ได้

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อพรรคก้าวไกลสามารถชนะการเลือกตั้งได้ แต่ก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ หากก็ไม่ได้มีความเคลื่อนไหวแสดงความไม่พอใจอะไรจากประชาชนผู้สนับสนุนอย่างมีนัยสำคัญนอกจากแสดงความโกรธแค้นในเครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือให้นับรวมเรื่องราวฮือฮาที่ประชาชนร่วมสองแสนคนเข้าชื่อกับเครือข่ายไอลอว์ เสนอคำถามประชามติต่อคณะรัฐมนตรีภายในเวลาเพียงสามวันที่ตื่นเต้นดีใจว่าเป็นชัยชนะของประชาชนนั้น แต่เมื่อคำถามประชามติที่มีเสียงสนับสนุนท่วมท้นรวดเร็วดังกล่าวถูกปัดตกทิ้งไปอย่างไม่ไยดี ก็กลับไม่มีอะไรเกิดขึ้น กรณีศึกษาทั้งสองเรื่องนี้อาจปลอบใจฝั่งฝ่ายที่ “ไม่สบายใจ” ได้ว่า แม้ประชาชนที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงนี้จะมีจำนวน หรือสัดส่วนเป็นเสียงข้างมากอย่างมีนัยสำคัญ แต่พวกเขาก็เพียงทำได้แค่ชัยชนะในทางการเมืองผ่านช่องทางการออกเสียงเลือกตั้ง หรือลงชื่อในกระดาษ หรือออนไลน์เท่านั้น แต่ไม่อาจแปรเป็นพลังอำนาจกดดันทางการเมืองใดๆ ได้ในทางความเป็นจริง

ในขณะที่ฝั่งฝ่ายของพวกเขาที่อาจจะมีจำนวนคนประชาชนที่สนับสนุนน้อยกว่า แต่ก็ยังมีตำแหน่ง หรือสถานะที่ใช้อำนาจได้ตามความเป็นจริงอยู่ เช่นนี้ ไม่ว่าพวกเขาจะใช้มาตรการ “ควบคุมก่อน” หรือ “ควบคุมหลัง” ให้ไม่เข้าท่าน่าเกลียดอย่างไรก็ไม่มีน้ำหนักใดมาถ่วงการตัดสินใจให้ต้องคิดบ้างว่าควรจะทำหรือไม่

แต่การกระทำที่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดนั้นก็ยังอยู่บนความเสี่ยงของการวัดใจว่า ฝ่ายประชาชนอันมีจำนวนและสัดส่วนเป็นเจตจำนงข้างมากนั้น จะอดทนให้เสียงของฝ่ายตนที่เป็นคนส่วนใหญ่ในประเทศ ถูกคว่ำทำแท้งไปได้โดยไม่หือไม่อือ นอกจากบ่นก่นด่าผ่านช่องทางออนไลน์ หรือยังพอใจเพียงการแสดงพลังออนไลน์ หรือล่ารายชื่ออีกกี่ครั้งกี่หน

เมื่อใดกันที่ความโกรธเกรี้ยวไม่พอใจของผู้คนส่วนใหญ่นั้นจะระเบิดออกมาจนนำไปสู่แรงกดดันทางการเมืองที่มีพลังในทางความเป็นจริงได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image