คนชั้นกลางไทยกับประชาธิปไตย(2) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

จํานวนคนชั้นกลางไทยจะเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่า เราจะเห็นคนกลุ่มใหม่จำนวนมากซึ่งเกิดขึ้นในสังคมไทยว่าเป็นคนชั้นกลางหรือไม่

อย่างน้อยนับตั้งแต่หลัง 14 ตุลาเป็นต้นมา รัฐบาลในกรุงเทพฯมีเจตนาที่จะโอนถ่ายทรัพยากรลงสู่ชนบท อย่างน้อยก็เพื่อแลกกับการสนับสนุนทางการเมืองของคนชนบท แม้แต่รัฐบาลที่ตั้งขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนฯก็ทำอย่างเดียวกัน หรือทำมากกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วยซ้ำ ในขณะเดียวกันก็มีเงื่อนไขหลายอย่างที่เกิดขึ้นจากนโยบายพัฒนา ที่บีบบังคับให้ครัวเรือนในชนบทต้องเข้าสู่การผลิตในตลาดสูงขึ้น แม้แต่รายได้เกินครึ่งของครัวเรือนเกษตรกรในชนบทก็มาจากนอกภาคเกษตรกรรม ส่วนหนึ่งของรายได้นี้มาจาก “โครงการ” ที่รัฐนำไปทำในชนบท (เช่น รณรงค์คุมกำเนิดก็ต้องมีชาวบ้านที่ถูกจ้างให้ทำอะไรสักอย่าง อาสาสมัครดูแลป่า ก็ได้รับค่าจ้าง ฯลฯ เป็นต้น)

ในทรรศนะของชาวบ้านในชนบท รัฐเป็นทั้งนายจ้าง, ตัวกระตุ้นการทำรายได้ในตลาด, ผู้ปกป้องระเบียบ
ของการแลกเปลี่ยนในตลาดระดับหนึ่ง (ไม่อย่างนั้นจะให้กู้เงินกันได้อย่างไร), แน่นอนเป็นผู้อุปถัมภ์ด้วย แต่เป็นผู้อุปถัมภ์ที่เข้าถึงไม่ง่ายนัก มักต้องอาศัยตัวกลาง

ฐานะเศรษฐกิจของคนกลุ่มใหญ่ในชนบทดีขึ้นมาก ทั้งจากบริการของรัฐและจากรายได้ที่มาจากการผลิตในตลาด ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไปสอดคล้องกับคนชั้นกลางในเมือง เช่น เอาใจใส่ด้านสุขภาพ, การศึกษาของบุตรหลาน, และมีความหวังอีกหลายอย่างในชีวิตแบบเดียวกัน ชีวทรรศน์และโลกทรรศน์ที่เปลี่ยนไปนี้ ยิ่งผลักดันให้คนชนบทผูกพันตัวเองเข้ากับเศรษฐกิจสมัยใหม่จนเป็นเนื้อเดียวกันยิ่งขึ้น แม้แต่ถิ่นที่อยู่อาศัยก็กลายลักษณะเป็น “เมือง” เกินครึ่งของประเทศไปแล้ว ยังไม่พูดถึงทุกครอบครัวมีสมาชิกที่ทำงานในเขต “เมือง” ทั้งสิ้น

Advertisement

คนเหล่านี้ไม่ใช่ “ชาวนา” ตามมโนภาพที่เราเคยมี ไม่ใช่ “คนจนใหม่” ที่ไม่มีทางเงยหน้าอ้าปากได้ มีเหตุผลที่จะจัดคนกลุ่มนี้เป็นคนชั้นกลาง แต่เนื่องจากยังมีรายได้ต่ำกว่าคนชั้นกลางในเมือง จึงเรียกหมายว่าคนชั้นกลางระดับล่าง ซึ่งประกอบขึ้นเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมไทยเวลานี้ ฉะนั้นหากรวมคนชั้นกลางระดับล่างเข้ากับคนชั้นกลางในเมือง ก็อาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยมีคนชั้นกลางเป็นประชากรส่วนข้างมากแล้ว

แม้คนชั้นกลางระดับล่างอาจมีวิถีชีวิตใกล้เคียงกับคนชั้นกลางในเมือง แต่ก็ยังมีส่วนที่ต่างอยู่ไม่น้อย เช่น หนทางทำมาหากินยังต้องอาศัยการโอนถ่ายทรัพยากรจากรัฐโดยตรงอย่างมาก (เช่น รถเมล์ฟรีเป็นการโอนถ่ายทรัพยากรโดยตรง การสร้างรถไฟฟ้าเป็นการโอนถ่ายทรัพยากรทางอ้อม) ได้รับการศึกษาระดับต่ำกว่า ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีทัศนคติทางการเมือง, ศิลปะ, ความบันเทิงเริงรมย์, และวัฒนธรรมเหมือนกับคนชั้นกลางในเมือง

และดังที่เห็นกันอยู่แล้วว่า ในปัจจุบันคนชั้นกลางทั้งสองกลุ่มมีความขัดแย้งกันทางการเมืองอย่างแรง แต่ความขัดแย้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะสองฝ่ายมีความภักดีทางการเมืองที่ต่างกลุ่ม-ต่างอุดมการณ์กันเท่าไรนัก แท้จริงแล้วมาจากความแตกต่างอื่นๆ อีกมากที่อยู่ในสถานะชีวิตที่ต่างกัน เช่น คนชั้นกลางระดับล่างต้องการมีอำนาจต่อรองกับรัฐอย่างแน่นอนมั่นคงมากขึ้น ผ่านคนกลางน้อยลง ในขณะที่คนชั้นกลางในเมืองได้อำนาจต่อรองนั้นไว้นานแล้ว คนชั้นกลางในเมืองมีอุดมคติความสัมพันธ์ทางสังคมที่ให้ความสำคัญแก่ช่วงชั้น ในขณะที่คนชั้นกลางระดับล่างให้ความสำคัญแก่ความเท่าเทียม (น่าสนใจด้วยว่า ไม่ใช่ความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ เท่ากับความเท่าเทียมในความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ซึ่งแสดงออกผ่านการเมือง, วัฒนธรรม, เกียรติยศ และอัตลักษณ์)

Advertisement

จะกลับมาพูดถึงความแตกแยกทางการเมืองอีกครั้งข้างหน้า ในตอนนี้จะขอพูดถึงคนชั้นกลางไทยซึ่งจะเป็นตัวละครหลักก่อน

ไม่ว่าจะรวมคนชั้นกลางระดับล่างเป็นส่วนหนึ่งของคนชั้นกลางหรือไม่ อย่างไรเสียคนชั้นกลางของไทยก็จะเพิ่มจำนวนขึ้นในอนาคต จนกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ถึงรัฐบาล คสช.จะประสบความล้มเหลวในการนำประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจ 4.0 แต่เศรษฐกิจไทยย่อมต้องพัฒนาเทคโนโลยีไปสู่ระดับที่สูงขึ้นอย่างแน่นอน เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะหนีการแข่งขันของเศรษฐกิจเกิดใหม่ทั้งหลายรอบบ้าน

ว่าให้ถึงที่สุด เทคโนโลยีการผลิตคือต้นกำเนิดของคนชั้นกลาง เพราะทำให้ต้องการทักษะใหม่ของแรงงานซึ่งได้มาโดยผ่านการศึกษา ดังนั้น จึงต้องจ่ายค่าแรงเพิ่มขึ้น ค่าแรงที่มากขึ้นดึงดูดให้คนลงทุนในการศึกษาเพื่อรับค่าตอบแทนที่สูงขึ้น จำนวนของคนชั้นกลางจึงต้องเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (นี่เป็นประสบการณ์ที่เกิดในยุโรป)

สถาบันศึกษาด้านความมั่นคงของอียู ประเมินว่า คนชั้นกลางทั้งโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 1.8 พันล้านคนใน ค.ศ.2009 เป็น 4.9 พันล้านคนใน 2030 (ซึ่งโลกจะมีประชากร 8.3 พันล้าน) ส่วนใหญ่ของคนชั้นกลางเกิดใหม่เหล่านี้จะอยู่ในเอเชีย โดยเฉพาะจีนและอินเดีย อีกนัยยะหนึ่งก็คือเกินครึ่งของประชากรโลกจะกลายเป็นคนชั้นกลางหมด ดังนั้นอย่างไรเสียคนชั้นกลางไทยก็จะเป็นประชากรส่วนใหญ่จนได้

อย่างไรก็ตาม ประชากรเกินครึ่งที่เป็นคนชั้นกลางไม่เป็นหลักประกันว่า พวกเขาจะเป็นพลังหลักขับเคลื่อนประชาธิปไตยในไทยให้ก้าวหน้าได้ ดังที่ได้กล่าวถึงกรณีสิงคโปร์และมาเลเซียเป็นตัวอย่างไว้แล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น ความแตกแยกทางการเมืองระหว่างคนชั้นกลางในเมืองและคนชั้นกลางระดับล่างก็ยังอาจดำรงอยู่ต่อไป หากสองกลุ่มนี้ไม่อาจผสานรวมกันได้ ในกรณีที่แตกแยกกันอยู่เช่นนี้ พลังทางการเมืองของคนชั้นกลางไทยก็ไม่มีวันเพียงพอที่จะต้านทานกลุ่มปฏิกิริยาที่คอยขัดขวางการพัฒนาการเมืองไปสู่ประชาธิปไตยไปได้

หนทางที่คนสองกลุ่มนี้จะผสานกันได้ในทางเศรษฐกิจก็คือ จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ของคนชั้นกลางระดับล่างที่พัฒนาทักษะในการผลิตของตนสูงขึ้น จนสามารถต่อรองในตลาดได้มากขึ้น (เช่น ผลิตอาหารปลอดภัยซึ่งมีความต้องการในตลาดทั้งภายในและภายนอกสูง หรือมีฝีมือแรงงานที่สูงจนเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมประณีต ทั้งในและต่างประเทศ หรือเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กหรือกลางที่ประสบความสำเร็จ หรือไปเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวมากกว่ามะพร้าวอ่อน) ดูน่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้อย่างยิ่ง หากย้อนกลับไปพิจารณาความสำเร็จทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาของคนระดับนี้ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เติบโตหลากหลายมากขึ้นในชนบทไทย

นอกจากนี้หากเอาชีวิตของคนภาคใต้เป็นตัวอย่าง ก็จะพบว่าวิถีการผลิตของคนภาคใต้สัมพันธ์กับตลาดโดยตรง และในสัดส่วนที่สูงมานานแล้ว ทำให้คนภาคใต้มีความต้องการจากรัฐแตกต่างออกไป นั่นคือต้องการให้รัฐพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ หรือถ่ายโอนทรัพยากรทางอ้อมมากกว่าทางตรง ดูเหมือนจะแสดงว่าเมื่อคนชั้นกลางระดับล่างเข้าไปเชื่อมโยงกับตลาดโดยตรงมากขึ้น ทรรศนะทางการเมืองดูจะคล้อยไปตรงกับคนชั้นกลางในเมืองมากขึ้น

สถานะที่มั่นคงขึ้นในเศรษฐกิจตลาดสมัยปัจจุบันของคนชั้นกลางระดับล่าง ทำให้เขาต้องพึ่งรัฐน้อยลง พอใจที่รัฐจะโอนทรัพยากรทางอ้อมให้แก่ตน อย่างเดียวกับที่คนชั้นกลางในเมืองได้รับอยู่ เสียงเรียกร้องรัฐก็จะใกล้เคียงกัน เช่นทั้งสองฝ่ายอาจเรียกร้องโรงเรียนดีจากรัฐเหมือนกัน ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งต้องการโรงเรียนฟรีมากกว่าโรงเรียนดี

จุดยืนทางการเมืองของสองฝ่ายอาจเข้ามาใกล้กัน เพราะในบรรดาการเรียกร้องทางการเมืองที่ฟังดูไร้เหตุผลและสติปัญญาของคนชั้นกลางในเมืองนั้น ที่จริงแล้วมีมิติที่มีความสำคัญต่ออนาคตของประชาธิปไตยเช่นกัน ในที่นี้จะยกตัวอย่างเพียงเรื่องเดียว

ความระแวงสงสัยและไม่ไว้วางใจต่อการเลือกตั้ง ไม่ใช่สิ่งผิดปกติของคนชั้นกลางทั่วโลกในปัจจุบัน คงไม่มีอะไรที่หักหลังประชาธิปไตยยิ่งไปกว่าการเลือกตั้งในประเทศประชาธิปไตยในทุกวันนี้ เพราะทำให้ ส.ส.กลายเป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์มากกว่าตัวแทนของประชาชน (ไม่เฉพาะแต่ในเมืองไทย แต่รวมถึงในสหรัฐอเมริกา, อังกฤษ และอีกหลายประเทศในอียู) ดังนั้นความคิดที่จะปฏิรูปกระบวนการสรรหาตัวแทนประชาชนใหม่จึงไม่ใช่ความคิดที่เลวร้ายอะไร แต่เพราะความแตกร้าวทางการเมืองที่รุนแรง และคนชั้นกลางในเมืองตกไปอยู่ภายใต้การนำของกลุ่มผลประโยชน์ที่แฝงตัวเป็นฝ่ายประชาชน จึงแทนที่จะคิดปฏิรูปกระบวนการเลือกตั้ง ให้รักษาอำนาจของประชาชนไว้เต็มร้อย แต่ถ่วงดุลอำนาจจากการเลือกตั้งด้วยอำนาจชนิดอื่นของประชาชน (ไม่ใช่ไปยกอำนาจถ่วงดุลให้แก่กลุ่มผลประโยชน์ ซึ่งยิ่งห่างไกลจากการเป็นตัวแทนของประชาชนขึ้นไปใหญ่) กลับไปยกอำนาจถ่วงดุลทั้งหมดให้แก่ชนชั้นนำตามประเพณี

ในปี 2540 ความคิดเรื่องสร้างองค์กรอิสระขึ้นถ่วงดุลก็เป็นวิธีหนึ่ง แต่ในที่สุดก็พบว่า องค์กรอิสระทำงานได้ไม่เต็มที่ กลุ่มผลประโยชน์ยังสามารถแทรกเข้ามากำกับควบคุมองค์กรเหล่านี้ได้ (ทั้งสองฝ่าย) แต่แทนที่จะมาช่วยกันคิดสร้างหรือปรับปรุงกลไกการถ่วงดุลอำนาจเลือกตั้ง กลับไปส่งเสริมการรัฐประหาร โอกาสที่คนชั้นกลางสองกลุ่มจะร่วมมือกันในการเสริมสร้างประชาธิปไตยจึงอันตรธานไปแต่บัดนั้นมา

โอกาสที่ทั้งสองฝ่ายจะได้เรียนรู้กันและกันในการจัดการศึกษา (ในความหมายที่กว้างคือทั้งในและนอกโรงเรียน) น่าจะทำให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจจุดยืนของกันและกันมากขึ้น แม้ยังมีจุดยืนทางการเมืองที่ต่างกัน แต่ทั้งสองฝ่ายก็อาจยอมรับกติกาให้การตัดสินใจให้เป็นไปตามเสียงข้างมาก โดยฝ่ายเสียงข้างน้อยยังมีสิทธิและโอกาสอันสมบูรณ์ที่จะเผยแพร่ความเห็นของตนภายใต้กติกา

ประเด็นสุดท้ายที่ควรพิจารณาก็คือ เป็นไปได้หรือไม่ที่เมื่อประเทศไทยมีประชากรส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางแล้ว ก็จะเหมือนสิงคโปร์และมาเลเซีย คือคนชั้นกลางก็ยังไม่ใช่พลังหลักในการผลักดันประชาธิปไตยอยู่นั่นเอง (ทั้งสลิ่มและเสื้อแดงกลับเป็นปราการด่านหน้าให้แก่ชนชั้นนำเดิม) โอกาสที่จะเป็นเช่นนี้ก็มีอยู่เหมือนกัน แต่น้อยมาก ไม่ใช่เพราะคนชั้นกลางไทยเป็นนักประชาธิปไตยหัวเห็ด แต่เพราะชนชั้นนำไทยไม่มีสมรรถภาพที่จะสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่แข็งแกร่งอย่างสิงคโปร์ กาลเวลาที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นว่าชนชั้นนำไทยสูญเสียความสามารถในการปรับตัวไปเสียแล้ว (หากเปรียบเทียบกับชนชั้นนำในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์) อำนาจนำที่มีอยู่เป็นมรดกจากอดีต และรักษาไว้ได้ด้วยกำลังทหารและระบบที่ฉ้อฉลมากขึ้นตามลำดับ ชนชั้นนำที่อ่อนแอเช่นนี้รักษาอำนาจนำเหนือคนชั้นกลางไม่ได้ในระยะยาว ยิ่งมีเงินและการศึกษามากขึ้น คนชั้นกลางก็ยิ่งรับอำนาจนำอย่างนี้ได้ยากขึ้น

ในขณะเดียวกัน ความต่างทางชาติพันธุ์, ศาสนา และอัตลักษณ์ของประชากรไทยไม่เด่นชัดเหมือนมาเลเซีย จึงยากที่ชนชั้นนำจะอ้างภัยคุกคามภายในใดๆ เพื่อเรียกร้องการยอมรับอำนาจนำของตนจากคนชั้นกลางกลุ่มใหญ่ได้ตลอดไป ในเวลานี้อาจทำได้ แต่ก็จะเป็นการชั่วคราวเท่านั้น ยิ่งเมื่อคนชั้นกลางระดับล่างรวมตัวเข้ากับคนชั้นกลางในเมืองมากขึ้น ชาตินิยมคับแคบและความเป็นไทยจะไม่เพียงพอที่จะรักษาอำนาจนำตามประเพณีนั้นไว้ตลอดไป

มีความเป็นไปได้มากกว่าที่คนชั้นกลางไทยจะเป็นหัวหอกสำคัญของประชาธิปไตยในอนาคต

(ประยุกต์ข้อมูลและความคิดบางส่วนจาก Francis Fukuyama ใน Political Order and Political Decay)

 

นิธิ เอียวศรีวงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image