ปี่กลองชนะ โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

ปี่ไฉนกลองชนะประโคมในพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ดร. เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ รองประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ศาลา 4 วัดโสมนัสราชวรวิหาร กรุงเทพฯ เย็นวันพุธที่ 3 มกราคม 2567

ปี่กลองชนะประโคมก้องฌาปนสถานวัดโสมนัส กรุงเทพฯ เมื่อเชิญน้ำหลวงอาบศพ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ตอนเย็นวันพุธที่ 3 มกราคม 2567

ข้างเมรุที่วันนั้นเวลานั้นไม่มีเผาศพ ผมยืนฟังปี่กลองชนะเพื่อจับทำนองที่ “จ่าปี่” เป่าด้วยลมหายใจเก็บในทรวงไม่ขาดห้วงตั้งแต่ต้นจนจบหลายรอบซ้ำแล้วซ้ำอีก จนการประโคมเลิกราถอนวงไป ก็จับทำนองไม่ได้ เพราะไร้เดียงสาทางดนตรีมีทำนอง

“ปี่กลองชนะ” มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานมากจากประเพณีเป่าปี่ตีกลอง ซึ่งเป็นเครื่องประโคมในราชสำนักโบราณตั้งแต่ก่อนอโยธยา-อยุธยา ครั้นถึงราชสำนักอโยธยา-อยุธยา เรียกเป็นภาษาไทยว่าปี่ไฉนกลองชนะ หรือปี่ชวากลองแขก ซึ่งผมเคยตรวจค้นข้อมูล (เมื่อ พ.ศ. 2563) จากเอกสารเก่า และจากประสบการณ์ตรงในงานต่างๆ

  • เป่าปี่ตีกลอง เครื่องประโคมราชสำนักโบราณ

เป่าปี่ตีกลองเป็นเครื่องประโคมในพิธีกรรมของราชสํานักอโยธยา-อยุธยา เรียกปี่ไฉน

Advertisement

กลองชนะ, ปี่ชวากลองแขก แล้วสืบเนื่องถึงกรุงธนบุรี, กรุงรัตนโกสินทร์ มีต้นแบบจากเครื่องประโคมศักดิ์สิทธิ์ในเทวสถานของอินเดีย

อินเดีย เครื่องประโคมทางพิธีกรรมในเทวสถานและนอกเทวสถาน เรียก ปัญจตุริยะ หรือปัญจวาทยะ มีความหมายเดียวกันว่าเครื่องตีเป่า 5 อย่าง ประกอบด้วยเครื่องตี 4 อย่าง กับเครื่องเป่า 1 อย่าง

เครื่องตี 4 อย่าง หมายถึง กลองต่างชนิด 4 ใบ ประกอบด้วยกลองตีด้วยมือ 3 ใบ และใช้ไม้ตี 1 ใบ (สมัยหลังๆ ถูกปรับเปลี่ยนโดยเพิ่มเครื่องตีโลหะคล้ายฉาบ 1 คู่)

Advertisement

เครื่องเป่า 1 อย่าง คือ สังข์ หรือปี่สฺรไน ได้จากวัฒนธรรมเปอร์เซีย (อิหร่าน)

ลังกา รับจากอินเดียในเรื่องเครื่องประโคมตีเป่า 5 อย่าง แล้วเรียกด้วยคําบาลีว่า มังคลเภรี กับ อวมังคลเภรี

งานมงคล เรียก มังคลเภรี ใช้ประโคมเมื่อพระราชาเสด็จ และใช้ประโคมยามในวิหารพระเขี้ยวแก้ว ส่วนงานอวมงคล เรียก อวมังคลเภรี ใช้ประโคมงานศพ

ปัญจวาทยะ (Panchavadya) หรือปัญจวาทยัม (Panchavadyam) หมายถึงวงที่ประกอบด้วยเครื่องดนตรี 5 อย่าง เป็นดนตรีในศาสนสถาน (Temple Music) ที่พัฒนาขึ้นในรัฐเคราล่า (Kerala) ทางอินเดียใต้ เครื่องดนตรี 5 อย่าง ประกอบด้วยเครื่องเคาะตี 4 คือ กลอง 3 ได้แก่ กลองทรงนาฬิกาทรายใช้มือตี (Timila), กลองสองหน้าทรงกระบอก (Maddalam), กลองขนาดเล็กสองหน้าทรงนาฬิกาทรายใช้ไม้ตี (Idakka), กับฉาบ (Ilathalam), และเครื่องเป่า 1 คือแตรงอน (Kombu) (ภาพจาก http://www.adityaorchestra.com/events.php)
(ซ้าย) วงปัญจวาทยะของรัฐโอริสสา (Orissa) ในอินเดีย ประกอบด้วยสังข์ (Sankh), กลองแบบ Frame Drum เรียก Changu, เครื่องเคาะจังหวะที่เรียกว่า Thiski, เครื่องตีคล้ายฆ้องไม่มีปุ่มขนาดเล็ก เรียกGhanta, กลองทรงถังขนาดใหญ่ เรียก Dhol และเครื่องเป่าโลหะ เรียก Mohori 1 คู่ Thiski ไม่ใช่เครื่องดนตรีประเพณี แต่ปัจจุบันถูกนํามาเล่นร่วมในวงจากมัธยประเทศ (Madhya Pradesh) (ภาพจาก B.Chaitanya Deva. Musical Instruments of India : Their History and Development. 2nd Edition. Delhi : Munshiram Manoharlal Publishers Pvt. Ltd., 1987.)
(ขวา) กลองสองหน้าทรงกระบอก (Maddalam)
(ซ้าย) กลองสองหน้าทรงนาฬิกาทรายขนาดเล็ก ตีด้วยไม้ (Idakka) (ขวา) กลองสองหน้าทรงนาฬิกาทรายใช้มือตี (Timila)
ปัญจตูรยะ เครื่องประโคมตีเป่าแบบปัญจวาทยะ หรือปัญจตุริยะของอินเดีย ในวิหารพระเขี้ยวแก้วนครแคนดี้ ศรีลังกา (ภาพถ่ายโดย อ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล)
  • อุษาคเนย์รับอินเดีย

ราชสํานักของภูมิภาคอุษาคเนย์รับวัฒนธรรมอินเดีย ตั้งแต่ราวก่อน พ.ศ. 1000 ต่างรับเครื่องมือและแบบแผนตีเป่าจากอินเดียแล้วปรับใช้ตามประเพณีของตนโดยจําแนกกว้างเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มภาคพื้นทวีป มีอาณาจักรเมืองพระนคร (กัมพูชา) เป็นแกนหลัก กับกลุ่มหมู่เกาะ มีอาณาจักรชวา (อินโดนีเซีย) เป็นแกนหลัก

รัฐอโยธยา-อยุธยามีต้นตอรากเหง้าเก่าแก่จากรัฐโบราณดั้งเดิมในวัฒนธรรมทวารวดีได้แก่ รัฐละโว้ (ลพบุรี) กับรัฐสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี)

ดังนั้น เครื่องมือและแบบแผนเครื่องประโคมเป่าปี่ตีกลองรับจากราชสํานักดั้งเดิมก่อนมีรัฐอยุธยา เมื่อรับมาแล้วเรียกเบญจดุริยางค์ ตามต้นแบบจากอินเดียขณะเดียวกันก็ปรับเปลี่ยนทั้งจากรัฐกลุ่มภาคพื้นทวีปแล้วเรียกปี่ไฉนกลองชนะ และรัฐกลุ่มหมู่เกาะแล้วเรียกปี่ชวากลองแขก

1.ปี่ไฉนกลองชนะ

ปี่ไฉนกลองชนะ จากรัฐกลุ่มภาคพื้นทวีป ใช้ประโคมภายในเมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จเข้า-เสด็จออก และงานเกียรติยศ เช่น ขบวนแห่พระบรมศพ, งานศพเจ้านาย

“มโหระทึก” ชื่อที่พบในกฎมณเฑียรบาล (สมัยอยุธยาตอนต้น) คือกลองขึงหนังจากอินเดีย เป็นเครื่องประโคมเป่าสังข์ตีกลองในพิธีกรรมราชสํานัก ส่วน “มโหระทึก” ที่รับรู้ทั่วไปในหมู่นักวิชาการไทยปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มโบราณคดี มีความหมายเพิ่งสร้างใหม่ว่ากลองสําริดหรือกลองกบสมัยก่อนประวัติศาสตร์

มโหระทึกในกฎมณเฑียรบาลเป็นกลองอินเดียแบบหนึ่ง ถูกนําเข้าสู่ราชสํานักก่อนสมัยอยุธยาจากทมิฬอินเดียใต้ เพื่อประโคมเป่าสังข์ตีกลองในพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู หลังจากนั้นผสมกับเครื่องประโคมพื้นเมืองอุษาคเนย์ เช่น ฆ้อง ฯลฯ แล้วถูกยกเป็นเครื่องประโคมในราชสํานักรัฐโบราณก่อนสมัยอยุธยา กระทั่งสืบเนื่องถึงราชสํานักอยุธยา

ประโคมเครื่อง 5 พิธีพราหมณ์ในอินเดียต้องบรรเลงประโคมเครื่อง 5 นําโดยพราหมณ์เป่าสังข์ แล้วตามด้วยพราหมณ์ตีกลองพร้อมกัน 4 ใบ เรียก “ปัญจวาทยะ” แต่บางแห่งเรียก“ปัญจตุริยะ” ในบรรดากลองเหล่านั้นมีใบหนึ่งเมื่อตีด้วยไม้จะมีเสียงดังมากกว่ากลองใบอื่น ภาษาทมิฬเรียกกลองแบบนี้ว่า “อึฎึกกิ” (Udukki หรือบางเมืองเรียก Idakka) เป็นกลองสองหน้า ขึงหนังรอบตัว มีเอวคอด บรรเลงโดยใช้ไม้ตีหรือใช้มือตีก็ได้

ครั้นอยู่ในราชสํานักอยุธยานานไป (ชวนให้เดาว่า) ก็หล่อหลอมคําทมิฬ “อึฎึกกิ” กลายคําเป็น “อึกทึก” แล้วมีความหมายเพิ่มขึ้นในภาษาไทยว่ากึกก้องอื้ออึงโครมคราม ครั้นนานไปเพื่อยกย่องความสําคัญยิ่งใหญ่ของเสียงจึงเพิ่ม “มหา” เข้าไปให้อลังการเรียก “มหาอึกทึก” แล้วแผลงคําเป็น “มโหระทึก” (ตามแนวทางคําที่มีอยู่ก่อนคือ มโหรสพ หรือ มหรสพ)

“ปัญจวาทยะ” หรือ “ปัญจตุริยะ” ในอินเดีย หมายถึงเครื่องประโคมรวม 5 สิ่ง ได้แก่ ปี่กับกลองต่างชนิด 4 ใบ (รวมเป็น 5) ส่วนลังการับจากอินเดียที่แพร่กระจายลงไปแล้วเรียก “มังคลเภรี” (มัง-คะ-ละ-เพ-รี)

ไทยรับทั้งจากอินเดียและลังกาในช่วงเวลาต่างกัน สมัยแรกสุดรับจากอินเดีย มีชื่อในจารึกไทยว่า “เบญจดุริยางค์” เป็นต้นตอเครื่องประโคมปี่กลองขบวนเสด็จสมัยอยุธยาทั้งสถลมารคและชลมารค รวมถึงยกทัพ (พบตามภาพสลักปราสาทในกัมพูชา เช่น นครวัด) แต่ภาษาปากเรียก “กลอง 4 ปี่ 1” ใช้ประโคมเล่นกระบี่กระบอง, ชกมวย และเผาศพ สมัยหลังรับจากลังกา เรียกวงมังคละ (ปัจจุบันยังพบบริเวณสุโขทัย, พิษณุโลก), วงกาหลอ (ปัจจุบันยังพบในท้องถิ่นภาคใต้)

พราหมณ์ตีกลองมโหระทึก “ขุนดนตรี ตีหรทึก” ข้อความในกฎมณเฑียรบาลหมายถึงเชื้อสายพราหมณ์ ราชทินนาม “ขุนดนตรี” เป็นผู้มีหน้าที่ใช้ไม้ตีมโหระทึก เป็นหลักฐานสําคัญมาก ยืนยันว่ามโหระทึกเป็นกลอง “อึฎึกกิ” ของอินเดียใต้ เพราะคําว่า “ดนตรี” เกี่ยวข้องกับตระกูลพราหมณ์อยุธยาที่สืบสายจากพราหมณ์ทมิฬอินเดียใต้

“อึฏึกกิ” กลองสองหน้าขึงหนัง มีเอว ตีด้วยไม้ คือ “มโหระทึก” กลองอินเดีย ในกฎมณเฑียรบาล สมัยอยุธยาตอนต้น [ภาพจากหนังสือ ดนตรีอุษาคเนย์ โดย เจนจิรา เบญจพงศ์ (รวบรวม) วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2555 หน้า514-515]

พราหมณ์ราชสํานักอยุธยาเจตนาให้พราหมณ์ตีมโหระทึกซึ่งเป็นกลอง “อึฎึกกิ” มีราชทินนาม “ขุนดนตรี” สืบเนื่องจากประเพณีพราหมณ์ทมิฬอินเดียใต้ในระบอบตันตระที่ยกย่องดนตรี

[คําอธิบายละเอียดอยู่ในบทความเรื่อง “ความลี้ลับของเกระละ ภาคที่ 2” ของ ไมเคิล ไรท์ ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 18 ฉบับที่ 10 (สิงหาคม 2540) หน้า 52-55 และมีรวมอยู่ในหนังสือ ฝรั่งหายคลั่ง (หรือยัง) สํานักพิมพ์มติชน พ.ศ. 2551 หน้า 41-42]

“ดนตรี” สมัยอยุธยา มีอย่างน้อย 2 ความหมาย ได้แก่

1.หมายถึงนักดนตรี, นักร้อง (จากภาษาสันสกฤตว่า ตนฺตรินฺ) ความหมายนี้มีสืบเนื่องถึงปัจจุบันโดยขยายขอบเขตรวมถึงทํานองเพลงดนตรีด้วย

2.หมายถึงเครื่องมีสาย (จากภาษาบาลีว่า ตนฺติ มีคําอธิบายอยู่ในหนังสือดนตรีใน พระธรรมวินัย ของ ธนิต อยู่โพธิ์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2498 หน้า 13-16) พบหลักฐานบอกเป็นลายลักษณ์อักษรเรียกเครื่องมีสายบรรเลงมีเสียงเบา ได้แก่ พิณ, ซอ ฯลฯ ใช้เห่กล่อมในที่รโหฐานว่า “ดนตรี” อยู่ในอนิรุทธคํา ฉันท์ (สมัยอยุธยาตอนต้น) กับร่องรอยหลายแห่งในกฎมณเฑียรบาล เช่น พระราชนุกิจว่า “6 ทุ่มเบิกเสภาดนตรี” และนอกจากนั้นยังพบในภาพปูนปั้น (สมัยทวารวดี) กับภาพแกะสลักไม้ (สมัยอยุธยา) รวมถึงภาพจิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่ง พุทไธสวรรย์ (ในวังหน้า สมัย ร.1 กรุงรัตนโกสินทร์)

“มโหระทึก” ในพิธีพราหมณ์ พิธีพราหมณ์ในราชสํานักสมัยอยุธยาตอนต้นมีเครื่องประโคมบรรเลงโดยพระครูพราหมณ์ (หรือมิฉะนั้นก็ขุนนางในตระกูลพราหมณ์) พบหลักฐานในกฎมณเฑียรบาลว่าพระราชพิธีดุลาภารมีคณะพราหมณ์พิธีทําหน้าที่ประโคมบรรเลงสังข์ ฆ้อง, กลอง ดังนี้ (1.) ขุนศรีสังขกร เป่าสังข์ (2.) พระอินทโร ตีอินทเภรี (3.) พระนนทิเกษ ตีฆ้องชัย (4.) ขุนดนตรี ตีมโหระทึก

สังข์ เป่าโดยขุนศรีสังขกร นามนี้เป็นตําแหน่งอธิบดีโหรดาจารย์ (ศักดินา 300) หมายถึง ผู้เป็นใหญ่ในหมู่พราหมณ์พิธี

ฆ้อง ตีโดยพระนนทิเกษ เรียก “ฆ้องชัย”

ฆ้องชัย คือ ฆ้องที่มีลายรูปขวัญเป็นแฉกอยู่ล้อมปุ่มกลางบนหน้าฆ้อง สืบเนื่องตกทอดจากหน้ากลองสํา ริดหรือกลองกบของอุษาคเนย์ 2,500 ปีมาแล้ว ไม่เป็นเครื่องดนตรีอินเดีย แต่ได้รับยกย่องเป็นของ “เฮี้ยน” จึงถูกผนวกเข้าไปอยู่ในพิธีพราหมณ์สมัยอยุธยาตอนต้น เพราะฆ้องใช้ไม้ตีมีเสียงดังไกล ยิ่งฆ้องขนาดใหญ่ เสียงยิ่งดังก้องกังวานไกลมาก (เรียกฆ้องหุ่ย) ดังนั้นฆ้องจึงมีบทบาทหน้าที่สําคัญในรัฐใหญ่ (ส่วนกลองสําริดถูกเลิกใช้ เพราะใช้ไม้ตีมีเสียงดังไม่ก้องและไม่ไกล)

ฆ้องชัย (เป็นชื่อเรียกที่สมมุติขึ้นสมัยหลัง) ใช้ตีประโคมในพิธีศักดิ์สิทธิ์ มักตกแต่งด้วยการทาสีเป็น แฉกรอบปุ่มฆ้อง (เหมือนรูปขวัญหน้ากลองสําริด เพราะมีที่มาร่วมกัน) พบเก่าสุดจากเรือจมในฟิลิปปินส์ ราวเรือน พ.ศ. 2000 (มีข้อมูลในหนังสือ ขวัญเอ๋ย ขวัญมาจากไหน? สํานักพิมพ์นาตาแฮก พ.ศ. 2562 หน้า 49)

กลอง มี 2 ใบ ได้แก่ กลองอินทเภรี ตีโดยพระอินทโร กับ กลองมโหระทึก ตีโดยขุนดนตรี (อินเดียได้รับการกล่าวขวัญยกย่องจากทั่วโลกว่า “ราชาแห่งเครื่องหนัง” (หมายถึงกลอง) จึงมีกลองหลากหลายรูปแบบและตีสองมือด้วยลีลาพลิกแพลงโลดโผน)

“อินทเภรี” เป็นชื่อท้องถิ่นตั้งขึ้นตามประเพณีราชสํานักอยุธยา ส่วน “มโหระทึก” เป็นชื่อกลายคําจากภาษาทมิฬว่า “อึฎึกกิ”

กลองตะโพน สมัยอยุธยาแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ มีสายคล้องคอให้คนเดินตีได้ (ลายเส้นได้จากบันทึกของลาลูแบร์ ราชทูตจากราชสํานักฝรั่งเศส)

“อินทเภรี” แปลว่า กลองพระอินทร์ เป็นชื่อตามประเพณีดั้งเดิมที่ยกย่องเครื่องมือศักดิ์สิทธิ์เป็นของพระอินทร์ แต่ในที่นี้เชื่อว่าน่าจะหมายถึงกลองอินเดีย (แบบหนึ่ง) มีสองหน้า ใช้มือตีมีสายคล้องคอเดินไปตีไป (มีภาพลายเส้นในหนังสือลา ลูแบร์) ต่อมาถูกเชิญเป็น “ครูใหญ่” เรียก “ตะโพน” แล้วทําขาตั้งและนั่งตีในวงปี่พาทย์ ได้รับยกย่องเป็นกลองศักดิ์สิทธิ์ก่อนบรรเลงต้องจุดธูปบูชาพร้อมดอกไม้

  1. ปี่ชวากลองแขก

ปี่ชวากลองแขก จากรัฐกลุ่มหมู่เกาะ ใช้ประโคมในขบวนเสด็จพยุหยาตราทั้งทางบกและทางน้ำ แต่ที่มีประจําคือทางน้ำ เพราะอยุธยาเป็นเมืองน้ำ มีเส้นทางหลักในการคมนาคมเป็นแม่น้ำลําคลอง

เครื่องประโคมเป่าปี่ตีกลอง ล้วนมีต้นแบบจากปัญจตุริยะของอินเดีย เมื่ออยู่ในรัฐอยุธยาเรียกปัญจดุริยางค์ หรือเบญจดุริยางค์ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ มีลายพระหัตถ์อธิบายว่า “อันเครื่องประโคมทั้งหลายไม่ว่าสิ่งไร เห็นจะมาแต่ ‘ปัญจดุริยางค์’ ทั้งสิ้น คือมีเสียงเป็น 5 อย่าง เสียงกลองใหญ่ กลาง เล็ก กับเสียงเครื่องลม เครื่องทองเหลืองจะเป็นเครื่องมากอย่างหรือน้อยอย่างก็มีเท่านี้เอง” [ลายพระหัตถ์ใน สาส์นสมเด็จ ฉบับลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2483]

วงบัวลอย ปี่ชวากลองแขกต่อมาปรับจากปี่ชวา 1 เลา กลองแขก 4 ลูก (หรือ กลอง 4 ปี่ 1) ให้ลดเหลือกลองคู่เดียว (มี 2 ลูก) ปี่ชวา 1 ฆ้องเหม่ง 1 เรียก วงบัวลอย ใช้ประโคมทั้งงานศพกับงานมหรสพที่ท้องสนามหลวง (กรุงรัตนโกสินทร์) เช่น ไต่ลวด, ลอดบ่วง, นอนหอกนอนดาบ [สาส์นสมเด็จ ฉบับลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2483]

ปี่พาทย์นางหงส์ ขุนนางทําเลียนแบบเจ้านาย วงบัวลอย ต่อมาก็ประสมกลมกลืนกลายเข้ากับวงปี่พาทย์พิธี เพื่อใช้ประโคมเพลงนางหงส์งานศพคนชั้นสูงในราชสํานักเรียก ปี่พาทย์นางหงส์ [สาส์นสมเด็จ ฉบับลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2483]

ครั้นสังคมก้าวหน้าขึ้น และพิธีกรรมโบราณคลายความศักดิ์สิทธิ์ลงเรื่อยๆ บรรดาขุนนางระดับสูงๆ ตลอดจนเจ้าสัวมีทรัพย์ ต่างพากันเลียนแบบเจ้านายยุคก่อนๆ ทํางานศพโดยมีปี่พาทย์นางหงส์กับวงบัวลอย

เรื่องนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ทรงเล่าถึงงานศพหม่อมเฉื่อย (ชายาใหญ่ของกรมดํารงฯ) ว่า “เมื่อครั้งงานศพหม่อมเฉื่อยของหม่อมฉัน เจ้าพระยาเทเวศร์ท่านจัดปี่พาทย์นางหงส์อย่างประณีต ไปช่วยที่สุสานหลวง ณ วัดเทพศิรินทร์…” [สาส์นสมเด็จ ฉบับลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2483]

เป็นพยานว่าเครื่องประโคมอย่างปี่พาทย์นางหงส์ สมัย ร.5 (และหลังจากนั้น) เป็นสมบัติของขุนนางชั้นสูงอย่างเจ้าพระยาเทเวศร์ (โดยมีสามัญชนบ่าวไพร่เป็นนักดนตรี แต่ไม่ใช่เจ้าของเครื่องดนตรีปี่พาทย์นางหงส์)

ชาวบ้านเลียนแบบขุนนาง ปี่พาทย์นางหงส์ กับ วงบัวลอย นานเข้าก็แพร่ลงถึงงานศพสามัญชนชาวบ้านในกรุงเทพฯ ที่เป็นเครือญาติเครือข่ายข้าเก่าเต่าเลี้ยง หรือเป็นพวกมีอาชีพรับจ้างทําปี่พาทย์ ซึ่งเคยอยู่มาก่อนกับเจ้านายขุนนาง ซึ่งต้องถือเป็นงานพิเศษ ไม่มีทําทั่วไปพ้นออกไปจากกรุงเทพฯ ชาวบ้านไม่มีใครรู้จักปี่พาทย์นางหงส์กับวงบัวลอย

บ้านนอกไม่มีปี่พาทย์นางหงส์ ยิ่งบ้านนอกขอกนาออกไปไกลๆ ยิ่งไม่รู้จักปี่พาทย์นางหงส์

ครูพินิจ ฉายสุวรรณ (พ.ศ. 2474-2560) ศิลปินแห่งชาติทางดนตรีปี่พาทย์ เกิดที่บ้านนา ต. บ้านนา อ. มหาราช จ. พระนครศรีอยุธยา เคยเขียนเล่าไว้ว่าบ้านนอกที่อยุธยา ไม่เคยได้ยินว่ามีปี่พาทย์นางหงส์ เพิ่งรู้จักเมื่อเข้ากรุงเทพฯ หลังสงครามโลก จะคัดมาดังนี้

“ในตอนที่ผู้เขียนมีอายุประมาณ 13-14 ปี ตอนนั้นพอที่จะรู้ถึงเรื่องปี่พาทย์และภาษาปี่พาทย์บ้างแล้ว แต่ก็ไม่เคยได้ยินได้ฟังบรรดาครูทั้งหลายพูดถึงวงปี่พาทย์นางหงส์เลย เห็นมีแต่วงปี่พาทย์ที่ชาวบ้านชาวช่องรู้จักกันทั่วไป ที่ตีในงานสวดมนต์เย็นฉันเช้า ตีรับลิเกละครโขนเท่านั้น ส่วนปี่พาทย์นางหงส์ไม่เคยได้ยินได้ฟังการเรียนในลักษณะนี้มาก่อน”

“ผู้เขียนมาได้ยินชื่อ ‘วงปี่พาทย์นางหงส์’ ก็ตอนที่เข้ามาเรียนปี่พาทย์อยู่ในกรุงเทพฯ แล้วนี่เอง แต่ก็ยังไม่รู้จักวงปี่พาทย์นางหงส์ว่าวงปี่พาทย์นางหงส์คืออะไร”

[ข้อเขียนเรื่อง “ปี่พาทย์นางหงส์” โดย พินิจ ฉายสุวรรณ ใน วารสารเพลงดนตรี ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปีที่ 9 ฉบับที่ 12 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2546]

ตามหลักฐานที่แสดงมาแต่แรก จะเห็นว่าตรงข้ามกับคำอธิบายของกรมศิลปากร

กรมศิลปากร บอกในเอกสารว่าปี่พาทย์นางหงส์กับวงบัวลอย เป็นประเพณีบรรเลงงานศพสามัญชนมาก่อน ดังนี้

“แต่เดิม วงปี่พาทย์นางหงส์ เป็นวงดนตรีที่บรรเลงในงานพระศพของสามัญชน ต่อมาในรัชกาลที่ 5 ได้นํามาบรรเลงในงานสวดพระอภิธรรมศพเจ้านาย และใช้ในตอนถวายพระเพลิงพระบรมศพ และพระศพ—-”

“ที่มาของวงปี่พาทย์นางหงส์ เกิดจากการนําวงปี่พาทย์ไทย ได้แก่ ปี่ใน ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ตะโพน กลองทัด ฉิ่ง ประสมกับวงบัวลอย (ซึ่งใช้ในงานเผาศพของสามัญชน)—-”

[จากบทความเรื่อง “แบบแผนการประโคมดนตรีในราชสํานัก และในงานพระบรมศพและพระศพ” พิมพ์ในเอกสารประกอบการเสวนา การมหรสพ และแบบแผนในการประโคมดนตรีในงานพระเมรุ ณ ห้องประชุมอาคารดํารงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร วันเสาร์ที่ 2 กันยายน 2560 หน้า 21]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image