ดุลยภาพดุลยพินิจ : รากฐานการศึกษาของสิงคโปร์ (1) Political will

ดุลยภาพดุลยพินิจ : รากฐานการศึกษาของสิงคโปร์ (1) Political will

สวัสดีปีใหม่ครับ หมดไปแล้วอีกหนึ่งปีอย่างทุลักทุเลกว่าจะได้รัฐบาลใหม่ กว่า นช.ทักษิณจะได้กลับบ้าน ฯลฯ

ในวาระปีใหม่ ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลกจงช่วยดลบันดาลให้ท่านผู้อ่านกลับมามีความสุข ความเจริญอย่างพอเพียงถ้วนหน้าไม่ต้องรอพึ่งรัฐบาลครับ

ฉบับนี้ขอเริ่มปีใหม่ด้วยเรื่องเบาๆ เกี่ยวกับการศึกษาในประเทศสิงคโปร์ด้วยสาเหตุจากผลการประเมิน PISA (Programme for International Student Assessment) ล่าสุดปี 2565 ที่นักเรียนจากสิงคโปร์มีคะแนนเฉลี่ยทั้งด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่านสูงกว่าทุกชาติที่เข้าร่วมการประเมิน โดยประเทศ/เขตที่มีคะแนนสูงสุดห้าอันดับแรกในด้านคณิตศาสตร์ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเก๊า ไต้หวัน ฮ่องกง และญี่ปุ่น จึงน่าสนใจว่าเหตุใดสิงคโปร์จึงประสบความสำเร็จด้านการศึกษาถึงแม้ว่าคะแนน PISA จะเป็นการทดสอบนักเรียนอายุ 15 ปีซึ่งเป็นวัยการศึกษาภาคบังคับก็ตาม

Advertisement

อ่านแล้วก็ไม่ต้องคิดอะไรมากครับ เพราะประเทศ อื่นๆ ในโลกนี้ โดยเฉพาะในอาเซียนคงเอาอย่างสิงคโปร์ได้ยากด้วยปัจจัยหลายอย่าง

สถาบัน NCEE (National Center on Education and the Economy สหรัฐอเมริกา) ยกย่องว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างไม่ธรรมดา จากการเป็นเพียงรัฐเล็กๆ เกาะเล็กๆ ที่แยกตัวออกมาจากมาเลเซียในปี 2508 โดยไม่มีทรัพยากรธรรมชาติใดๆ และในขณะนั้นประชากรส่วนใหญ่ไม่รู้หนังสือ มาเป็นประเทศที่มีประชากร 5.8 ล้านคนที่มีมาตรฐานการครองชีพสูงพอๆ กับประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้วในระดับสูง

เนื่องจากเป็นประเทศที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ (แม้แต่น้ำจืดก็ขาดแคลน) ทรัพยากรมนุษย์จึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของสิงคโปร์ โดยนายลี กวน ยู ผู้นำสิงคโปร์ไปสู่ความสำเร็จถือว่ากำลังคนที่มีการศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้สิงคโปร์ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจตามเป้าหมาย และได้ดำเนินนโยบายพัฒนากำลังคนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

Advertisement

รากฐานการศึกษาของประเทศใดก็ตามมีองค์ประกอบมากมายหลายอย่าง แต่ที่ขาดไม่ได้คือ Political will ที่ผู้นำและรัฐบาลเข้าใจความสำคัญของการศึกษาและมีความตั้งใจจริงและทำจริงที่จะพัฒนาการศึกษาของประเทศอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งอาจดูสิงคโปร์เป็นตัวอย่าง

ย้อนหลังไปตั้งแต่สมัยก่อตั้งสาธารณรัฐสิงคโปร์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ลี กวน ยู ร่วมกับเพื่อน 2 คน (Toh Chin Chye และ Goh Keng Swee) ก่อตั้งพรรค Peoples Action Party : PAP เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2497 และนำสิงคโปร์ต่อสู้ฝ่าฟันปัญหาทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจตั้งแต่ยังเป็นอาณานิคมจนสามารถตั้งสาธารณรัฐปกครองตนเองได้เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2502 โดยมี ลี กวน ยู เป็นนายกรัฐมนตรี และต่อมาเพื่อให้ได้เอกราชตามมาเลเซีย สิงคโปร์จึงขอรวมตัวกับมลายา ซาราวัค และซาบาห์ (บอร์เนียวเหนือ) เป็น “สหพันธรัฐมาเลเซีย” โดยได้ทำประชามติเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2505 และได้รับมติท่วมท้น ในปีต่อมาจึงได้เข้าร่วมกับมาเลเซียอย่างเป็นทางการเมื่อ
วันที่ 16 กันยายน 2506

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัญหาเชื้อชาติและผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว มาเลเซียจึงขอให้มีการแยกประเทศโดยผ่านกฎหมายแยกทางกับสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2508 สิงคโปร์จึงประกาศตนเป็นประเทศเอกราชมีอำนาจอธิปไตยของตนเองภายใต้การนำของพรรค PAP

หลังจากนั้นสิงคโปร์มี ลี กวน ยู เป็นนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวเป็นเวลาถึง 25 ปี โดยสิงคโปร์ให้ความสำคัญต่อการศึกษามาตั้งแต่การตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อ 6 ปีก่อน (30 พฤษภาคม 2502) ด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นการพัฒนาการศึกษา การส่งเสริมความคิดริเริ่มและสมรรถนะของนักเรียน และนโยบายการสร้างความ
เข้มแข็งทางการศึกษาเป็นนโยบายสำคัญอย่างต่อเนื่องของสิงคโปร์ทุกรัฐบาล

ทั้งนี้ Yianannouka (2515) ผู้เชี่ยวชาญสิงคโปร์ ให้ข้อสังเกตว่าระบบการศึกษาของสิงคโปร์นั้นไม่ได้ออกแบบใหม่ โดย ลี กวน ยูกับทีมของเขา แต่พัฒนามาจากรากฐานที่มั่นคงที่สิงคโปร์ได้รับจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ โดยที่ลี กวน ยูไม่กลัวที่จะยอมรับสิ่งที่เขาเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างชาติสิงคโปร์ แต่ผู้เขียนเดาเอาเองว่าเหตุผลหนึ่งในการยอมรับระบบการศึกษาแบบอังกฤษอาจจะมาจากการที่ ลี กวน ยู กับภรรยาของเขา (กวา เกี๊ยก ชู) และเพื่อนร่วมอุดมการณ์ 2 คน (Toh และ Goh) สำเร็จการศึกษาจากอังกฤษ

แต่ผู้เขียนก็เถียงเองว่า นายโก๊ะ จ๊ก ตง นายกรัฐมนตรีคนที่สองของสิงคโปร์ (2533-2547) ก็ไม่ได้จบจากอังกฤษแต่จบชั้นปริญญาตรี (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) ด้านเศรษฐศาสตร์จาก University of Singapore และปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์พัฒนา จาก Williams College ในอเมริกาในปี 2510 ขณะที่ นายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีคนที่สามของสิงคโปร์ (2547-ปัจจุบัน) เรียนที่ Trinity College, มหาวิทยาลัย Cambridge อังกฤษ แต่ต่อมาไปเรียนต่อปริญญาโทด้านพัฒนบริหารศาสตร์ที่ John F. Kennedy School of Government มหาวิทยาลัย Harvard ในอเมริกาในปี 2523 มิหนำซ้ำ ลูกชายของ ลี เซียน ลุง ก็ไปเรียนที่ MIT อเมริกา หลังจากจบ Raffles Junior College ในสิงคโปร์ จึงไม่มีผลต่อนโยบายหรือระบบการศึกษาของสิงคโปร์ที่จะเห็นได้ชัด

ย้อนเวลากลับไปเมื่อพรรค PAP เข้ามาบริหารประเทศเมื่อปี 2502 นั้น สิงคโปร์เผชิญกับปัญหาทางการศึกษาหลายประการ เพราะระบบการศึกษาที่มีอยู่ในขณะนั้นไม่ได้เอื้ออำนวยให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศเลย โรงเรียนมีหลายรูปแบบ มีทั้งโรงเรียนที่สอนภาษาจีน โรงเรียนที่สอนภาษามาเลย์ โรงเรียนที่สอนภาษาทมิฬ และโรงเรียนที่สอนภาษาอังกฤษ ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้ต่างก็สอนภาษาและค่านิยมของพวกตน ก่อให้เกิดอคติต่อพวกอื่น ทำให้เกิดการแบ่งแยกเชื้อชาติต่างๆ ในสิงคโปร์ อันเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ แต่รัฐบาลของ ลี กวน ยู ก็ได้ใช้ความพยายามและกุศโลบายแก้ปัญหาทางการศึกษาต่างๆ ด้วยดีตลอดมา

คุณลักษณะสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลของ ลี กวน ยู สามารถปรับปรุงการศึกษาให้ดีและสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจเสมอมาก็คือ การยอมรับว่ามีปัญหา และพยายามจะขจัดปัญหานั้นๆ เขาสั่งให้ผู้บริหารการศึกษาของเขาเลิกยึดติดอยู่กับทฤษฎีการศึกษาใดทฤษฎีการศึกษาหนึ่ง แต่ให้ถือหลักปฏิบัติเป็นสำคัญ ดังนั้น แผนการศึกษาของสิงคโปร์จึงมีการวิเคราะห์และปรับปรุงเป็นระยะๆ ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อใดที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมเปลี่ยนไปแล้ว แผนการศึกษาก็จะต้องเปลี่ยนไปด้วย

ลี กวน ยู ให้ความสำคัญต่อการศึกษามาก เพราะเป็นเครื่องมือที่จะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด และเป็นจักรกลสำคัญที่จะทำให้การพัฒนาประเทศดำเนินไปได้

ที่น่ายกย่องคือ รัฐบาลสิงคโปร์ทุกยุคให้ความสำคัญต่อการสร้างทรัพยากรมนุษย์อย่างต่อเนื่อง แม้แต่ผู้นำรุ่นใหม่ อย่าง โก๊ะ จ๊ก ตง นายกรัฐมนตรีคนที่สองของสิงคโปร์ (2533-2547) และลี เซียน ลุง (บุตรชายคนโตของ ลี กวน ยู) นายกรัฐมนตรีคนที่สาม ต่อจาก โก๊ะ จ๊ก ตง (2547-ปัจจุบัน)

ก้าวสำคัญของการพัฒนาการศึกษาของสิงคโปร์ส่วนหนึ่งมาจาก โก๊ะ จ๊ก ตง ซึ่งเมื่อปี 2540 ได้ประกาศวิสัยทัศน์ที่มุ่งเน้นการสร้างประเทศมีโรงเรียนที่สอนให้นักเรียนคิดและให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ (Thinking Schools, Learning Nation (TSLN)) ที่ส่งเสริมให้เยาวชนสิงคโปร์มองการศึกษาเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมกับพัฒนาทักษะการคิดและความอยากเรียนรู้ตลอดชีวิต TSLN สอดคล้องกับความพยายามปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจบนฐานความรู้ซึ่งจะทำให้เกิดกำลังคนที่มีความคิดและใฝ่รู้ โดย TSLN จะสร้างระบบการศึกษาที่สนองความต้องการของการแข่งขันในศตวรรษที่ 21 ที่เชื่อมโยงทุกชุมชน-นักเรียน พ่อแม่ สถานประกอบการ องค์กรชุมชน และรัฐบาล โดยนายเตียว ชี เฮียน รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการขณะนั้น (2540-2546) เห็นว่าเยาวชนสิงคโปร์ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานต้องมีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) เพื่อสามารถเอาตัวรอดในภูมิภาพเศรษฐกิจสมัยใหม่โดยกระทรวงศึกษาธิการได้ทำการปฏิรูปหลักสูตรและการประเมินผลให้สอดรับกับแนวคิดดังกล่าว (เดือนมิถุนายน 2540 โก๊ะ จ๊ก ตง ลงมาดูแลการปรับหลักสูตรเองร่วมกับคณะกรรมการทบทวนหลักสูตรที่เขาตั้งขึ้น)

และต่อมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 ลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันได้ประกาศนโยบาย Smart Nation โดยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดของโลกมาเป็นประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ และให้สิงคโปร์มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและมีกำลังคนที่มีคุณภาพ สร้างโอกาสให้แก่ประชาชน และให้สังคมมีความมั่นคงและยั่งยืน โดยนโยบายการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่โดดเด่น คือโครงการ SkillsFuture Initiative ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของสภาเศรษฐกิจในอนาคต (The Future Economy Council : FEC) เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ทักษะใหม่ของคนสิงคโปร์ทุกเพศทุกวัย โดยมีวัตถุประสงค์ให้คนสิงคโปร์สามารถขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยีและรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคตได้

SkillsFuture ออกแบบหลักสูตรทักษะต่างๆ โดยแบ่งเนื้อหาการเรียนรู้ออกเป็น 8 ด้านคือการวิเคราะห์ข้อมูล การเงิน งานบริการที่ใช้เทคโนโลยี สื่อดิจิทัล ความปลอดภัยไซเบอร์ หลักสูตรผู้ประกอบการ การผลิตด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง และการแก้ปัญหาเมือง พร้อมให้สถาบันการศึกษาอุดมศึกษาเข้ามามีบทบาทดูแลการสอนในห้องเรียนด้วย

จากนั้นรัฐบาลจึงออกโครงการ SkillsFuture Credit เพื่อลดช่องว่างทักษะอาชีพด้วยการแจกเครดิตมูลค่า 500 ดอลลาร์สิงคโปร์ (1 ดอลลาร์สิงคโปร์ = 26 บาท) ให้คนสิงคโปร์ตั้งแต่อายุ 25 ปีขึ้นไป เป็นเครดิตตลอดชีวิต สำหรับใช้จ่ายในการฝึกอบรมกับโครงการ SkillsFuture ในหลักสูตรต่างๆ ที่เน้นความหลากหลายตามความถนัดหรือสนใจของแต่ละบุคคลราว 12,500 หลักสูตร โดยรัฐบาลจะเติมมูลค่าเครดิตให้เรื่อยๆ แต่เครดิตนี้แลกเป็นเงินหรือโอนให้กับคนอื่นไม่ได้ และตั้งแต่ปี 2560 คนสิงคโปร์ทุกคน ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาจะมีบันทึกการเรียนออนไลน์เป็นของตนเองที่จะประเมินลักษณะเฉพาะของบุคคล และช่วยแนะนำด้านการวางแผนการศึกษา

ในภาพรวม รัฐบาลสิงคโปร์ ได้วางรากฐานการศึกษาไว้อย่างดีหลายประการ

สำหรับประเด็นเพิ่มเติมขออนุญาตต่อตอนหน้าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image