จีนจะช่วยสร้างสันติภาพในพม่าได้จริงหรือ?  โดย ลลิตา หาญวงษ์

ในช่วงใกล้สิ้นปี ผู้เขียนมีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนที่เป็นนักข่าวชาวพม่า ตามปกติ ผู้เขียนอัพเดตประเด็นเกี่ยวกับพม่ากับเขาเป็นประจำ แต่ในคราวนี้ เขาดูจะมั่นใจกับข้อสังเกตของเขาเป็นพิเศษว่า “มิน อ่อง ลายเริ่มจะอยู่ยากขึ้น”

หลายเดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนพยายามย้ำกับสื่อที่มาร่วมพูดคุย และขีดเส้นใต้ในบทความหลายชิ้นในคอลัมน์ “ไทยพบพม่า” นี้ว่าพม่าไม่ได้จะแตกง่ายๆ เหมือนที่สื่อหลายสำนักลงความเห็นกัน เหตุผลง่ายๆ เพราะแม้จะมีการสู้รบในหลายพื้นที่ แต่กองทัพก็ยังสามารถรักษาฐานที่มั่นของตนเองในพม่าตอนล่างไปจนถึงพื้นที่หัวใจของคน “บะหม่า” อย่างมัณฑะเลย์ มาจนถึงเมืองหลวงอย่างเนปยีด่อได้ หากกองกำลัง PDF หรือกลุ่มชาติพันธุ์ต้องการตีหัวเมืองเหล่านี้ให้แตก ก็ต้องอาศัยสรรพกำลังและอาวุธยุทโธปกรณ์มหาศาล ที่สำคัญต้องมี “แบ๊ก” ที่ดี โดยเฉพาะชาติมหาอำนาจที่คอยส่งอาวุธและปัจจัยอื่นๆ ให้ หากแต่ในเวลานี้กองกำลังฝั่งประชาชนยังไม่ได้มีแบ๊กที่ดีและเป็นรูปธรรมขนาดนั้น

สภาพของ PDF และกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ในพม่าห่างไกลจากคำว่าเอกภาพ แม้ในช่วงหลัง PDF และองค์กรพี่อย่างรัฐบาลคู่ขนาน NUG จะระดมทุนได้เพิ่ม กำลังใจก็เพิ่ม และยึดเพิ่มได้อีกหลายเมือง แต่ก็ต้องยอมรับว่าสงครามครั้งนี้ยังต้องต่อสู้กันอีกยาวนาน

ก่อนหน้านี้ ผู้เขียนมองว่าสภาพการเมืองในพม่าจะเป็นสุญญากาศ ที่กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ มีอำนาจอยู่ในพื้นที่ของตนเอง เป็นเหมือน “รัฐซ้อนรัฐ” ที่ไม่มีใครชนะสงครามนี้แบบเด็ดขาด ต้องยอมรับว่าทั้งกองทัพและผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้ประโยชน์ในสภาพที่บ้านเมืองไร้ขื่อไร้แปก็ยังมีอีกมาก แต่ในปัจจุบัน ปัจจัยที่จะชี้ชะตากรรมของพม่าเริ่มส่อเค้าลางให้เห็น เมื่อจีนเข้าไปแทรกแซงการเมืองในพม่ามากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

Advertisement

ไม่ใช่ว่าจีนเพิ่งเริ่มเข้าไปแทรกแซงการเมืองในพม่า แต่ด้วยพม่าเป็นประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งยังมีที่ตั้งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในเชิงยุทธศาสตร์สำหรับจีน พม่าเป็นประตูการค้าสำหรับจีนตอนใต้ และยังเป็นแหล่งทรัพยากรมหาศาล ที่มหาอำนาจอย่างจีนไม่สามารถมองข้ามได้ จุดเปลี่ยนที่จีนต้องลงมาแทรกแซงการเมืองภายในพม่าอย่างจริงจังคือกรณีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือที่เรียกว่าแก๊งจีนเทา

เมื่อเศรษฐกิจทุกภาคส่วนในจีนมีพรรคคอมมิวนิสต์ควบคุมอย่างเข้มงวด นักธุรกิจจีนจึงต้องออกไปหาความท้าทายและรายได้นอกประเทศ ธุรกิจที่สร้างเม็ดเงินให้กับนักธุรกิจจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคือธุรกิจกาสิโน ที่ผุดเป็นดอกเห็ดในประเทศที่ไร้เสถียรภาพทางการเมือง เปิดช่องให้ธุรกิจสีเทาๆ เบ่งบาน เริ่มตั้งแต่ในกัมพูชา เมื่อรัฐบาลกัมพูชาเริ่มปราบปราม กลุ่มจีนเทาจึงต้องยักย้ายทุนเข้าไปในประเทศใกล้เคียงอย่างพม่า

ปัญหาจีนเทาเป็นปัญหากวนใจรัฐบาลที่ปักกิ่งมานาน แต่จีนก็พยายามปราบปรามแบบละมุนละม่อม จนกระทั่งเมื่อเกิดเหตุจีนเทาในฝั่งพม่าลักพาตัวคนจีนไปเรียกค่าไถ่ เกิดเหตุฆาตกรรม และการค้ามนุษย์ ทำให้รัฐบาลจีนเริ่มทนไม่ไหว และยื่นคำขาดให้รัฐบาลของมิน อ่อง ลายจัดการปัญหานี้ แต่เมื่อพม่าไม่สามารถแก้ไขได้ จีนก็ต้องลงมือเอง ถึงกับนำตำรวจของตนเองข้ามมาในฝั่งพม่าและนำนักธุรกิจจีนเทาจำนวนหนึ่งกลับเข้าไปในจีน หรือสนับสนุนกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า โดยเฉพาะกลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพ อันประกอบไปกองกำลังฝั่งอาระกัน ปะหล่อง และพันธมิตรที่เหนียวแน่นของจีนอย่างโกก้าง ให้ช่วยปราบปรามแก๊งจีนเทาให้เด็ดขาด

Advertisement

ที่ผ่านมา นโยบายพม่าของรัฐบาลปักกิ่งนั้นมีลักษณะระมัดระวังอย่างสูง รัฐบาลจีนไม่เคยออกมาประกาศอย่างเป็นทางการว่าสนับสนุนรัฐประหารหรือกองทัพพม่า เพราะจีนให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนมากที่สุด ในขณะเดียวกันก็รักษาความสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยมกับกลุ่มชาติพันธุ์ตามแนวชายแดนพม่า-จีน อย่างว้าและโกก้าง

รัฐบาลจีนไม่พอใจอย่างยิ่งที่กองทัพพม่ารัฐประหารในต้นปี 2021 เพราะจีนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาล NLD ของ ด่อ ออง ซาน ซูจี แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างตั๊ดมะด่อกับรัฐบาลจีนจะไม่ได้ตึงเครียด แต่ด้วยสงครามกลางเมืองที่กัดกินพื้นที่ส่วนใหญ่ในพม่าอยู่ในปัจจุบัน เท่ากับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของจีนก็ลดน้อยลงไปด้วย

ความไม่พอใจกองทัพพม่าเพิ่มขึ้นชัดเจน เพราะกองทัพพม่าก็อยู่เบื้องหลังนักธุรกิจจีนเทา หรือกลุ่ม “ขุนศึก” (warlords) ชาวจีน รวมทั้งกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ที่ตั้งตนเป็นมาเฟียคุมเมืองหน้าด่านชายแดนจีน-พม่า ปฏิบัติการ 1027 ที่เปิดทางให้กองกำลังสามภราดรภาพยึดเมืองหลวงของจีนเทาในรัฐฉานตอนเหนืออย่างเล้าก์ก่ายได้ มีจีนหนุนอยู่อย่างไม่ต้องสงสัย

ปฏิบัติการ 1027 เป็นที่พูดถึงในวงกว้าง เพราะเปิดเผยจุดอ่อนของกองทัพพม่าว่าแท้จริงแล้วไม่ได้มีแสนยานุภาพหรือกำลังพลเข้มแข็งอย่างที่คิด นับจากเหตุการณ์นั้น กองทัพพม่ามีท่าทีอ่อนลงไปในระดับหนึ่ง และเปิดโอกาสให้จีนเป็นตัวเชื่อมเพื่อเจรจาหยุดยิงกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์

มีการวิเคราะห์ต่อว่าที่จีนหันมาผลักดันให้เกิดการเจรจาหยุดยิงและนำตัวแทนกองทัพพม่ากับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ไปพบกันที่ปักกิ่ง เพราะต้องการให้การค้าชายแดนจีน-พม่ากลับเข้าสู่ภาวะปกติเร็วที่สุด และไม่ต้องการให้การสู้รบมีผลกระทบกับโครงการและโครงสร้างพื้นฐานที่จีนไปลงทุนไว้ในพม่า

เมื่อต้นเดือนธันวาคม ทางการจีนประกาศรายชื่อผู้นำเครือข่ายจีนเทาชาวโกก้างที่จีนต้องการตัว 10 คน ขุนศึกโกก้างเหล่านี้มีเครือข่ายกับกองทัพพม่า และเป็นส่วนหนึ่งของ BGF ในเขตปกครองพิเศษโกก้าง ในจำนวน 10 คนนี้ ไป่ โส่วเฉิน (Bai Suocheng) อดีตผู้นำของ MNDAA หรือกองทัพของฝ่ายโกก้าง ที่ร่วมมือกับมิน อ่อง ลายปกครองพื้นที่โดยรอบเมืองเล้าก์ก่ายมาตั้งแต่ปี 2009

เป็นไปได้เหมือนกันว่าหมายจับทั้ง 10 คนนี้เป็นสัญญาณที่รัฐบาลจีนต้องการส่งไปถึงมิน อ่อง ลายว่าให้กองทัพพม่าถอนตัวออกจากเขตโกก้างไปเสีย กองทัพพม่าเองก็มีทางเลือกไม่มากนอกจากปล่อยเขตโกก้างไปก่อนตามความปรารถนาของจีน เพราะนี่ขนาดจีนไม่ได้ประกาศสนับสนุนกองกำลังสามภราดรภาพอย่างเป็นทางการ ยังเล่นกองทัพพม่าจนน่วม หากจีนเอาจริงขึ้นมาเมื่อไหร่ เก้าอี้ของมิน อ่อง ลายจะยิ่งสั่นคลอนกว่านี้อย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image