ความ(ไม่)เปลี่ยนแปลง ของการอภิปรายงบประมาณ โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

สิ่งที่จะนำเสนอท่านผู้อ่านนี้มาจากประสบการณ์ส่วนตัวของคนที่ใกล้วัยเกษียณอายุ ดังนั้น น่าจะไม่ได้เหมือนกับคนอื่นไปเสียทั้งหมด

ประการแรก ในวงสนทนากับเพื่อนร่วมรุ่น และกับรุ่นอาวุโสกว่า พวกเรามีข้อสังเกตตรงกันว่า การอภิปรายในช่วงหลัง อย่างน้อยนับตั้งแต่ช่วง 2562 เป็นต้นมา (ภายหลังจากการทำรัฐประหาร 2557 และมีการเลือกตั้งทั่วไป 2562) มีความแตกต่างไปจากการอภิปรายในสภายุคก่อนหน้านั้น

กล่าวคืออาจจะไม่ได้เป็นไปตามข้อสมมุติฐานเดิม ที่เชื่อกันว่า เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงในโลกของการสื่อสาร มีสื่อสมัยใหม่แล้ว จะมีความสนใจในการรับฟังรับชมการอภิปรายในแบบเดิม คือฟังตลอดเวลาเหมือนช่วงถ่ายทอดวิทยุ และถ่ายทอดโทรทัศน์เมื่อสมัยก่อน ที่ชมกันห้าวันห้าคืน

กลับกลายเป็นว่า เมื่อมีเทคโนโลยีการสื่อสารมากขึ้น มีหลายช่องทางขึ้น คนกลับติดตามการถ่ายทอดสดแบบตลอดเวลาน้อยลง

Advertisement

ผมคิดว่าเรื่องนี้น่าสนใจ เพราะว่าคนติดตามน้อยลงคงมีหลายสาเหตุ แต่ที่อาจเป็นไปได้ก็คือ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับผลสะเทือนของการอภิปรายไม่ไว้วางใจมีความน่าสนใจด้วยนัยอื่นมากขึ้น

หมายถึงว่า การอภิรายนั้นมีความกระชับขึ้น ไม่มีการประท้วงงี่เง่า หรือถ้ามีก็ไม่เป็นข่าวมากนัก

แม้ว่าการอภิปรายในสภาแบบสดจะไม่ได้เป็นที่สนใจแบบ real time ตลอดเวลาเหมือนเดิม แต่กลายเป็นว่าฝ่ายค้านเองกลับได้ประโยชน์จากการนำเอาการอภิปรายนั้นมาถ่ายทอดใหม่ในช่องทางสื่อของตัวเองมากขึ้น

Advertisement

เรื่องนี้มีมาตั้งแต่สมัยยุคที่แล้ว ทั้งก้าวไกลและเพื่อไทย

และในรอบนี้ก้าวไกลก็คงจะใช้แนวทางนี้ต่อไป

นอกจากนี้ จะพบว่ารูปแบบเดิมๆ นั้นน่าเบื่อ คือ ต่างฝ่ายต่างพูดกันไป แม้ว่าจะมีการแบ่งเวลา และใช้เวลากันอย่างมีประสิทธิภาพ

แต่กระนั้น สื่อออนไลน์ก็สามารถนำมาเล่นประเด็นได้น่าสนใจขึ้น เช่น ส่วนรายการออนไลน์
ของคุณสรยุทธ กรรมกรข่าว ก็สามารถนำเอาตัวแทนหลักของฝ่ายค้านกับรัฐบาลมาออกรายการของตน เพื่อให้เกิดความกระชับ และตอบคำถามที่ประชาชนสนใจ

ยังมีอีกเรื่องหนึ่งในประเด็นนี้ก็คือ การอภิปรายในสภาที่ยังดำเนินไปนั้น อาจไม่ได้เป็นที่สนใจต่อประชาชนเท่ากับที่ตอนก่อนปิดการอภิปรายคุณศิริกัญญา ของก้าวไกล ออกมาแถลงแล้วว่าก้าวไกลจะไม่ยกมือให้งบประมาณของรัฐบาลผ่านสภาตั้งแต่ก่อนอภิปรายสิ้นสุดลงด้วยซ้ำ แล้วสื่อก็เล่นข่าวนั้นหนักกว่าตอนปิดอภิปรายเสียอีก

ประการที่สอง วิวัฒนาการและรูปแบบที่สำคัญของการอภิปรายงบประมาณในรอบนี้ มีความโดดเด่นที่สามารถแบ่งแยกออกมาเป็นสักสามประเด็นหลัก

1.รูปแบบดั้งเดิมแบบแรก หมายถึงการอภิปรายของฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลเอง ซึ่งหลายคนก็ตั้งคำถามว่าจะอภิปรายทำไม เสียเวลา แต่เราสามารถแยกย่อยออกมาได้สองส่วน

ส่วนแรก คือ การอภิปรายสนับสนุนการจัดทำงบประมาณของรัฐ โดยเน้นไปที่การขอบคุณรัฐบาล หรือ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลบางคนถึงกับเอ่ยชื่อกระทรวงและรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบของกระทรวงนั้นๆ ในการให้ความสำคัญในงบประมาณบางด้าน และที่สำคัญเน้นไปที่จังหวัดที่ตัวเองเป็นตัวแทน

ส่วนที่สอง คือ การอภิปรายตอบโต้กับฝ่ายค้านในบางประเด็น รวมทั้งการประท้วงในเชิงยุทธวิธี เพื่อให้การอภิปรายลดความร้อนแรงลง

2.รูปแบบดังเดิมแบบที่สอง หมายถึงการอภิปรายของพรรคฝ่ายค้านบางคนที่เจาะไปเรื่องการโจมตีแนวโน้มการทุจริต และการมุ่งเน้นไปที่การอภิปรายงบกลางที่มีจำนวนมากขึ้น ในฐานะที่เป็นการตีเช็คเปล่า

นอกจากนี้ การอภิปรายจาก ส.ส.ฝ่ายค้านบางท่านบางพรรคที่เน้นว่า ภูมิภาคของตน หรือพื้นที่ของตนนั้นไม่ได้รับความสนใจจากการจัดสรรงบประมาณในครั้งนี้

3.รูปแบบใหม่ หมายถึงการอภิปรายลงประเด็นเฉพาะ พร้อมข้อมูลที่กระชับ ซึ่งก้าวไกลให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยเฉพาะการนำเสนอหลักการประเมินภารกิจของรัฐบาลและการใช้จ่ายทางงบประมาณด้วยแนวคิดมากมาย ซึ่งชนชั้นกลางอาจจะเข้าใจได้ง่าย แต่สีสันและอารณ์อาจจะน้อยไปหน่อยหากวัดจากความคาดหวังของประชาชนอีกหลายกลุ่ม แต่กระนั้นก็ตาม ก้าวไกลก็สามารถนำไปปรับเพื่อลงในช่องทางการสื่อสารของตัวเองได้มากขึ้น และทำให้ดูย้อนหลังได้ง่าย

แต่จะเป็นประเด็นท้าทายอีกด้วยว่า พรรคก้าวไกลนั้นแม้จะได้คะแนนนิยมทั้งในส่วนของบัญชีรายชื่อ และรายเขต ได้จัดแบ่งวาระของการอภิปรายได้อย่างครบถ้วนในสองส่วนอย่างลงตัวหรือไม่

แต่กระนั้นก็ตาม การที่มีการแบ่งกันพูดอย่างไม่ซ้ำซ้อนนั้น แม้จะเป็นส่วนที่ดีและก้าวหน้าขึ้น ซึ่งก็มีมาตั้งแต่ครั้งที่แล้วนั้น ก็ยังจะมีประเด็นท้าทายที่สำคัญอีกเรื่องก็คือ การไม่สอดคล้องต่อเนื่องกัน ว่าจะอภิปรายอะไรในหัวข้อไหนในช่วงไหน ซึ่งผมคิดว่าหากมีการจัดผังรายการให้ดีว่าในสี่วันนี้ จะอภิปรายภาพรวมกี่คนในวันไหน จากนั้นเวลาไหนถึงเวลาไหนจะว่าด้วยกระทรวง หรือภารกิจด้านไหนเป็นพิเศษ ก็น่าจะดีในแง่ของการติดตาม และทำให้ฝ่ายรัฐบาลเองก็มีโอกาสได้ตอบข้อสงสัยได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น และรัฐมนตรีที่ดูแลในเรื่องเหล่านั้นก็จะได้รับผิดชอบและทำงานได้อย่างเต็มที่

ประการสุดท้าย ในภาพรวมของการอภิปรายในครั้งนี้ ผมคิดว่ามีแนวโน้มที่ดี แม้ว่าจะไม่เร้าใจมาก เพราะว่าในความเป็นจริงประชาชนควรจะได้รับทราบและมีความเข้าใจการเมืองประชาธิปไตยในระบอบรัฐสภามากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง ที่มีความหมายที่คับแคบมาก เพียงแค่มองว่าประชาชนมีหน้าที่เลือกผู้แทน และปล่อยให้ผู้แทนทำงาน

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การเมืองประชาธิปไตยในระบอบรัฐสภานั้น ยังมีส่วนรายละเอียดของการทำงานในรัฐสภาที่ประชาชนควรจะได้ทำความเข้าใจร่วมกัน เช่น ระบบกรรมาธิการ ระบบการจัดทำงบประมาณและการตรวจสอบงบประมาณ ระบบการร่างกฎหมายว่ามีกี่ขั้นตอน มีกี่ประเภท ระบบการตรวจสอบการทำงานและร้องเรียนของประชาชนที่มีต่อรัฐสภา

ยังไม่นับระบบของบรรยากาศที่การเมืองประชาธิปไตยในระบอบรัฐสภาพึงมี ได้แก่เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และการใช้สิทธิเสรีภาพเหล่านั้น รวมทั้งการเมืองนอกรัฐสภาที่ตรวจสอบ กำกับดูแล และเป็นอีกช่องทางในการเสนอความเห็นเข้าสู่รัฐสภา อาทิ สื่อ การชุนนุมประท้วง และการเสนอกฎหมาย การทำประชามติ

คำถามต่อจากนี้ก็คือ การเมืองหลังการอภิปรายงบประมาณจากวันนี้ไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะมาถึงแน่ๆ ในปีนี้

เพราะไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ฝ่ายค้านจะไม่อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อสบช่องโอกาสทางกฎหมาย

แน่นอนว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นแตกต่างจากการอภิปรายงบประมาณเพราะมันจะเป็นทางการเมืองล้วนๆ ไม่ใช่เรื่องเฉพาะตัวเลขเหมือนในครั้งนี้

และแม้ว่าการโค่นรัฐบาลนี้ผ่านการอภิปรายจะไม่มีทางเกิดได้จากฝ่ายค้าน แต่การสั่นคลอนของรัฐบาลนี้จะเกิดได้จากสองส่วน

หนึ่งคือ ฝ่ายค้านเปิดบาดแผลของรัฐบาลให้ประชาชนรับรู้ และสื่อต่างๆ จะวิ่งตาม เพื่อลดทอนความชอบธรรมของรัฐบาล

สองคือ เงื่อนไขหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่พรรคร่วมรัฐบาลจะต่อรองตำแหน่ง อำนาจ และผลประโยชน์กับเพื่อไทยในฐานะแกนนำของรัฐบาลมากขึ้น

คงต้องจับตาดูกันต่อไปครับผม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image