ระหว่าง (เพราะอย่างนั้น) ‘ได้แค่นี้ก็ดีถมแล้ว’ กับ ‘แล้วทำไมจะทำดีกว่านี้ไม่ได้’ ถ้า…

สฤณี อาชวานันทกุล ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการต่อสู้ทางความคิดในสังคมไทยไว้อย่างน่าสนใจ ว่าในวันนี้อาจจะเป็นการต่อสู้ระหว่างแนวคิด “ได้แค่นี้ก็ดีถมแล้ว” กับแนวคิด “แล้วทำไมจะดีกว่านี้ไม่ได้”

เพราะเมื่อมีประเด็นการขับเคลื่อนทางนโยบายบางอย่างของรัฐบาล ที่ “ฝ่ายประชาธิปไตย” รู้สึกว่ายังไม่ได้ดังใจ เช่น การปฏิรูปกองทัพ การแก้ปัญหาที่เกิดจากกลุ่มทุนผูกขาด การคืนสิทธิเสรีภาพให้ประชาชนที่ถูกลิดรอนไป การยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่การจัดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ทำให้เห็นแนวโน้มวิถีทางการบริหารประเทศผ่านการใช้งบประมาณตามพระราชบัญญัติดังกล่าวที่หลายฝ่ายมองว่าไม่ได้ผิดจากการรับไม้ต่อจากรัฐบาลที่แล้วสักเท่าไร กลุ่มที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ก็จะเห็นว่า “ทำไมจะดีกว่านี้ไม่ได้” โดยมองว่ารัฐบาลไม่พยายามแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง เดินหน้าฟื้นฟูประชาธิปไตย หรือไม่เด็ดขาดพอที่จะทำเช่นนั้น อาจจะเพราะเกรงใจอำนาจหรืออิทธิพลทางการเมืองที่ไม่ได้มีที่มาจากประชาชน ผู้ “อนุญาต” ให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลได้และผู้ที่พรรคสนับสนุนได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

ในขณะที่กองเชียร์ “นายแบก” และ “นางแบก” รวมถึงผู้สนับสนุนเอาใจช่วยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก็จะมองว่า “ได้แค่นี้ก็ดีถมแล้ว” ด้วยเห็นว่าเงื่อนไขข้อจำกัดต่างๆ ทั้งหมดทั้งมวลที่ดูไม่ได้ดังใจนั้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยทำได้ดีที่สุดในสถานการณ์นี้แล้ว

ข้อขัดแย้งทางความคิดระหว่างการตั้งคำถามว่า “ทำไมจะดีกว่านี้ไม่ได้” เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไปให้ไกลกว่านี้ กับการยอมรับความจริงทางการเมืองว่า “ได้แค่นี้ก็ดีถมแล้ว” (หรืออย่างน้อยก็ดีกว่าสมัยระบอบ คสช.) นี้พาให้นึกไปถึงข้อคิดผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือท่านหนึ่งที่ว่า เมื่อใดที่เกิดคำถามว่า เราสามารถทำสิ่งใดหรือเรื่องนั้นเรื่องนี้จะมีโอกาสความเป็นไปได้หรือไม่ หลายครั้งขึ้นกับวิธีการใช้ถ้อยคำของเรา ว่าจะมองเรื่องนั้นว่าเป็นเรื่องที่จะ “เป็นไปไม่ได้เพราะ” หรือ “เป็นไปได้ถ้า”

Advertisement

ภายใต้ข้อเท็จจริง เงื่อนไข และข้อจำกัดเดียวกัน การให้เหตุผลที่แตกต่างกันทั้งสองแบบ จะส่งผลต่อวิธีการมองปัญหาและหาหนทางแก้ไขต่อเรื่องนั้นไปคนละทาง ยกตัวอย่างที่น่าจะใกล้ตัวและเป็นปัญหาร่วมกันของคนทำงานในเมืองใหญ่ หลายท่านคงเคยได้รับคำแนะนำจากแพทย์ว่า “เพื่อแก้ปัญหาทางสุขภาพบางเรื่องที่เรื้อรังนี้ ควรออกกำลังกายให้ได้ไม่น้อยกว่าวันละ 30 นาที”

สำหรับมุมมองว่าเป็นไปไม่ได้เพราะนั้น อาจจะให้คำตอบว่า “เป็นไปไม่ได้เพราะ” ต้องออกจากบ้านตั้งแต่ยังไม่หกโมงเช้า และกลับเข้ามาอีกทีก็ดึกแล้ว จะเอาเวลาที่ไหนไปออกกำลังกาย ในขณะที่มุมมองเป็นไปได้ถ้า จะให้คำตอบว่า “เป็นไปได้ถ้า” สามารถหาเวลา 30 นาที หรือวิธีการออกกำลังกายใดๆ ที่เป็นไปได้ภายใต้ข้อจำกัดช่วงเวลาที่ต้องเดินทางหรือไปทำงานดังกล่าว

มุมมองที่มองว่าเรื่องนี้ “ทำไม่ได้เพราะ” นั้นจะให้เหตุผลแห่งความเป็นไปไม่ได้แล้วจบแค่นั้น แต่สำหรับมุมมองว่า “เป็นไปได้ (หรือทำได้) ถ้า” นั้นก็จะหาวิธีการเพื่อตอบสนองเงื่อนไข “ถ้า” เพื่อที่จะทำเรื่องนั้นได้
เช่น การออกจากบ้านได้ช้าลง กลับบ้านได้เร็วขึ้นสัก 30 นาที หรือมีวิธีการใดๆ ที่สามารถออกกำลังกายได้ในระหว่างเวลาที่ต้องไปทำงานและเดินทางนั้น

Advertisement

มุมมองวิธีคิดสองแบบนี้อาจจะเอามาช่วยอธิบายต่อมุมมองการต่อสู้ทางความคิดในทางการเมืองทั้งสองทางได้เช่นกัน

ก่อนอื่น เราอาจจะต้องยอมรับข้อหนึ่งที่ตรงกันก่อนว่า รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยนั้นบริหารประเทศภายใต้ข้อจำกัดอย่างหนึ่งอันเป็นที่รู้กันว่า “รัฐบาล” และ “พรรคการเมือง” ที่เป็นสถาบันการเมืองที่ควรมีอำนาจทางการเมืองเต็มที่ในการบริหารจัดการหรือกำหนดแก้ไขเรื่องใดๆ ก็ตามในประเทศเพราะได้รับอำนาจรัฐมาจากความเห็นชอบของประชาชนผ่านกระบวนการเลือกตั้งและกลไกรัฐสภาตามระบอบที่ควรจะเป็นนั้น ในทางความเป็นจริงแล้วไม่ได้มีอำนาจเต็มที่

นั่นเพราะ “สมการ” และ “ผู้เล่น” ทางการเมืองไทยนั้น ยังมีกลุ่มขั้วของผู้ทรงอำนาจในทางความเป็นจริงอยู่

โ ดยกลุ่มผู้ทรงอำนาจเหล่านั้นได้เผยตัวออกมาใช้อำนาจให้เห็นได้ชัดเจนผ่านการเลือกตั้งเมื่อกลางปีที่แล้ว ให้เห็นได้ว่าแม้แต่เสียงของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศจะชี้ออกมาว่าต้องการพรรคการเมืองและรัฐบาลที่จะมาขับเคลื่อนประเทศไปในทิศทางใด แต่พรรคการเมืองผู้ชนะการเลือกตั้งนั้นก็ไม่อาจเข้ามาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศได้ หากกลุ่มผู้ทรงอำนาจตามความเป็นจริงนั้นไม่ยินยอม ซึ่งความไม่ยินยอมของพวกเขาก็ส่งผลออกมาตามที่เห็นและรู้กัน ซึ่งเรื่องนี้ฝ่ายที่สนับสนุนพรรคก้าวไกลน่าจะเข้าใจได้ดีที่สุด

ผู้ทรงอำนาจในทางความเป็นจริงที่ว่านั้นก็ได้แก่ กลุ่มทุนรายใหญ่ที่ครอบงำธุรกิจและการประกอบการไปเกือบทุกอย่างในประเทศ อำนาจของกองทัพ รวมถึงอำนาจและอิทธิพลแบบรัฐราชการของเครือข่ายจารีตอนุรักษนิยมที่ไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจจะไม่มีอำนาจในทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายก็จริง แต่ก็ “มีอำนาจ” ตามความเป็นจริงด้วยกลไกทางอำนาจต่างๆ ที่นอกจากจะอนุมัติหรือยินยอมให้ฝ่ายการเมืองจัดตั้งรัฐบาลหรือส่งตัวแทนมาบริหารประเทศได้แล้ว กลุ่มนี้ยังมีอำนาจในการ “ถอดถอน” หรือลบล้างอำนาจของฝ่ายการเมืองได้เช่นกัน

ผู้ที่รู้ดีและเข้าใจถึงอำนาจตามความเป็นจริงนี้ดีและมีประสบการณ์โดยตรงมาเป็นเวลานานก็คือ “พรรคเพื่อไทย” ที่ได้รับชะตากรรมต้องพ้นจากอำนาจด้วยวิถีทางที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการเมืองมาตลอดตั้งแต่สมัยเป็นพรรคไทยรักไทยไล่มาจนถึงพรรคพลังประชาชน ที่ในทุกครั้งความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไม่เคยมาจากกระบวนการทางการเมืองตามระบอบรัฐธรรมนูญเลย

ด้วยเหตุนี้เอง หลายเรื่องที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเหมือนจะทำไม่ได้ ไม่ว่าจะยอมรับตามตรงหรือเห็นได้ว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่ถ้าจะทำหรือถ้าจะแก้แล้ว จะเป็นการกระทบกระทั่งเกี่ยวเนื่องกับ “ผลประโยชน์” หรือ “ฐานอำนาจ” ของผู้ทรงอำนาจในทางความเป็นจริงของประเทศนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดงบประมาณ การปฏิรูปกองทัพ หรือแม้แต่การแก้ปัญหา PM2.5 โดยแนวทางในการแก้ปัญหาหรือปรับปรุงเปลี่ยนแปลง จึงต้องอยู่ในขอบเขตที่ฝ่ายผู้มีอำนาจในทางความเป็นจริงนั้นจะพอยอมรับปรับให้บ้างเพียงเท่านั้น

จนบรรดา “นายแบก” และ “นางแบก” ต้องมาแก้ต่างแก้ตัวให้ว่า เรื่องแบบนี้ “ได้แค่นี้ก็ดีถมแล้ว” นั่นเอง

การแก้ตัวว่ารัฐบาลหรือพรรคเพื่อไทยนั้น “ทำได้แค่นี้ก็ดีถมแล้ว” ก็เป็นมุมมองแบบ “ทำไม่ได้เพราะ…” เพื่อให้คำตอบว่า ทำไมเรื่องนั้นเรื่องนี้จึงเป็นไปไม่ได้แล้วจบแค่นั้น ซึ่งต้องระวังว่าการยอมรับว่าบางเรื่องที่ควรจะทำนั้นมีเหตุผลที่ทำไม่ได้ และพอใจในเหตุผลเพียงเท่านั้น ก็ตัดโอกาสในการทำหรือแก้ไขอื่นๆ ที่น่าจะทำให้เรื่องนั้นไปได้ดีกว่าการยอมรับง่ายๆ ว่าปัญหานั้นไม่มีทางแก้ไข

แต่กระนั้นฝ่ายที่พยายามตั้งคำถามต่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยตลอดจนกองแบกกองเชียร์ว่า “แล้วทำไมจะดีกว่านี้ไม่ได้” ก็ไม่ได้อยู่บนวิธีคิดหรือมีข้อเสนอที่ช่วยหาหนทางว่า เรื่องนั้นเรื่องนี้ “จะทำให้ดีกว่านี้ได้ ถ้า…” อย่างไรเช่นกัน โดยไม่พยายามที่จะยอมรับเรื่องข้อจำกัดของผู้ทรงอำนาจตามความเป็นจริง หรือมองอย่างอุดมคติว่าเมื่อเป็นรัฐบาลอันเป็นสถาบันการเมืองตามรัฐธรรมนูญที่ได้รับอำนาจไปจากประชาชนก็ต้องทำหรือแก้ปัญหาได้ทุกเรื่องสิ

ถ้าให้ยกตัวอย่างกลับไปเรื่องเดิม คือข้อแนะนำเรื่องการออกกำลังกายวันละ 30 นาที ฝ่าย “นายแบก และนางแบก” ได้บอกว่า “ทำไม่ได้ เพราะไม่มีเวลา” อีกฝ่ายหนึ่งก็บอกว่า “ก็แค่วันละ 30 นาที ทำไมจะทำไม่ได้ ไม่ตั้งใจทำเองหรือเปล่า”

ก็ไม่แปลกใจว่าทำไมสองกลุ่มนี้จะไม่ตีกันยับๆ ดังที่เห็น

อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่มองสถานการณ์ไปในทางเลวร้ายมากเกินไป อย่างน้อยเราก็ยังพอได้เห็นแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้นจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยอยู่ทีเดียว กล่าวคือในเรื่องใดก็ตาม ที่ไม่ได้กระทบกระเทือนต่ออำนาจและผลประโยชน์ของ “ผู้ทรงอำนาจในทางความเป็นจริง” แล้ว รัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทยก็พยายามผลักดันไปให้สุดทาง โดยบางเรื่องก็เป็นแนวทางเดียวกับที่พรรคก้าวไกลเองก็เคยเสนอไว้เช่นกัน ชัดเจนที่สุดและปรากฏไปแล้ว ก็เช่นการผลักดันการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามแนวทาง “สมรสเท่าเทียม” ที่จะทำให้บุคคลไม่ว่าจะเพศใดก็สามารถสมรสได้ตามกฎหมาย การปรับปรุงโครงสร้างภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นการสนับสนุนสุราพื้นบ้าน ก็อาจจะมองได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันอะไรที่คล้ายๆ กับ “สุราก้าวหน้า” ได้เช่นกัน หรือแม้แต่การผลักดันนโยบายซอฟต์เพาเวอร์ ที่ไม่ว่าจะหมายถึงอะไรก็ตาม แต่ก็เป็นการสนับสนุนให้เกิดแนวรบทางเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นเรื่องที่ประเทศไทยเรายังมีจุดแข็งและแข่งขันได้อย่างค่อนข้างสูสีในระดับสากล

โดยส่วนตัวแล้วจึงอยากจะมองสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศในแง่ดีบ้างเล็กน้อยว่า สถานการณ์ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในตอนนี้ คงไม่ใช่ทั้ง “ได้แค่นี้ก็ดีถมแล้ว” หรือ “แล้วทำไมไม่ทำให้ดีกว่านี้” แต่อาจจะเป็นคำอธิบายว่า “ด้วยเงื่อนไขในขณะนี้ อาจจะทำได้ดีเพียงเท่านี้ ถ้าเงื่อนไขหรือสถานการณ์เปลี่ยนไป ก็คงจะทำให้ดีกว่านี้ได้” ซึ่งเชื่อว่าหลายคนที่ไม่ได้สุดโต่งไปในทางใดทางหนึ่งก็อาจจะมองอย่างนี้อยู่เช่นกัน

เรื่องนี้ถ้ามีอะไรอยากจะกล่าวถึงกองเชียร์ “นายแบก” และ “นางแบก” พรรคเพื่อไทยอยู่บ้าง ก็เห็นจะเป็นเรื่องที่ว่า จริงอยู่ว่าพวกท่านจะยอมรับในสถานการณ์แห่งอำนาจตามความเป็นจริง แต่ก็ไม่ควรจะพอใจอยู่แค่เพียงยอมรับว่าเรื่องนี้เรื่องนั้น “ทำไม่ได้เพราะ” แล้วให้คำตอบเพียงว่า “ได้แค่นี้ก็ดีถมแล้ว” เพราะนั่นก็เป็นการยอมจำนนต่อศักยภาพของพรรคการเมืองที่ท่านสนับสนุนจนเกินไป ทั้งยังปิดกั้นความเป็นไปได้ที่จะทำให้มันดีขึ้นกว่านี้ด้วย

ส่วนฝ่ายตรงข้ามกับ “นายแบก และ นางแบก” ซึ่งไม่รู้จะนิยามว่าฝ่ายไหนนั้น แทนที่จะเพียงตำหนิหรือลงความเห็นว่ารัฐบาลของคนอีกฝั่งฝ่ายนั้นทำไมถึงทำได้แค่นี้ “แล้วทำไมไม่ทำให้ดีกว่านี้” ก็อยากจะขอให้ลองเสนอความเป็นไปได้ดูว่า แล้วจะทำให้ดีกว่านี้ได้ ถ้ามีเงื่อนไขหรือสถานการณ์ใดที่จะทำให้ฝ่ายการเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชนนั้นมีอำนาจแข็งแรงเพียงพอที่จะไม่ต้องเกรงกลัวต่อฝ่ายอำนาจจารีตที่มีอำนาจอยู่ตามความเป็นจริงด้วย

แต่ไอ้เรื่องเข้าชื่อออนไลน์หรือแสดงพลังในกระดาษเอาไปยื่นเป็นลังๆ แล้วคิดว่าได้ทำอะไรสักอย่างเพื่อต่อสู้ผลักดันแล้ว อะไรแบบที่เคยทำนั้นน่าจะเห็นได้แล้วว่ามันไม่ได้ผล ควรพอเสียเถิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image