งานหลักไม่มี งานดีๆ ยังไม่ได้ทำ โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

ชาติพันธุ์สองฝั่งโขง (ภาพถ่ายเก่าโดยชาวยุโรป)

งานหลักไม่มี ส่วนที่ยกมาอวดเป็นงาน “อีเวนต์” ของข้าราชการประจำ

“เสริมศักดิ์” อวดผลงานวัฒนธรรมเด่นรอบ 90 วัน

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้สรุปผลการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัด โดยมีผลงานสำคัญในช่วง 90 วัน ดังนี้

(1.) กิจกรรมเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ (2.) การดำเนินงานตามแนวทางประชาชนจิตอาสาพระราชทาน มีการบริจาคโลหิต (3.) การส่งเสริมทุกศาสนาให้เป็นกลไกสร้างคุณธรรมและจริยธรรมในการดำเนินชีวิต โดยขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (4.) การส่งเสริมการสร้างรายได้ด้วยการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ดำเนินโครงการ 10 ตลาดบก 6 ตลาดน้ำ สืบสานวัฒนธรรมไทย ผลักดันเมืองโบราณศรีเทพให้เป็นมรดกโลก ส่งเสริมการท่องเที่ยวแหล่งโบราณสถานยามราตรี (5.) การสนับสนุนให้ภาคธุรกิจและทุกภาคส่วน เป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงสินค้า งานเทศกาลระดับโลก (6.) ปรับปรุงกฎหมาย ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และกฎหมายส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (7.) ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการทำงานด้านวัฒนธรรม (8.) การนำซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศมาพัฒนาแรงงาน สร้างมูลค่าและรายได้ อาทิ อบรมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย เข้าสู่ตลาดค้าปลีกสมัยใหม่ (9.) การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาต่อยอดศิลปะ วัฒนธรรม และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อนำมาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม (10.) การเสริมสร้างศักยภาพผู้เรียนตามความถนัด พร้อมต่อการเปลี่ยน แปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของโลก (11.) การสนับสนุนให้เกิดความเท่าเทียมทั้งคนพิการ ผู้สูงอายุ และกลุ่มชาติพันธุ์ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และ (12.) การนำวัฒนธรรมเป็นกลไกหนึ่งในการเชื่อมและสร้างความสัมพันธ์ทางการทูต

Advertisement

(ที่มา : ไทยรัฐ ฉบับวันศุกร์ที่ 12 มกราคม 2567 หน้า 7)

ผลงานสำคัญ 90 วัน ที่อ้างมาทั้งหมด เป็นงาน “อีเวนต์” ของข้าราชการที่ทำประจำทุกปี จึงยังไม่ใช่งานหลักของรัฐบาล

งานหลักที่ต้องทำคือประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งต้องชำระปรับปรุงสม่ำเสมอตามข้อมูลหลักฐานที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะ “ประวัติศาสตร์โบราณ” สมัยก่อนอยุธยา เกี่ยวกับคนไทยและความเป็นไทยคือใคร? มาจากไหน? ยังไง? เมื่อไร? ฯลฯ

Advertisement

ประวัติศาสตร์ไทยที่ใช้งานนับร้อยปีมาแล้วเป็นประวัติศาสตร์ “ชนชาติไทย เชื้อชาติไทย สายเลือดบริสุทธิ์” ซึ่งไม่มีจริง แต่ยังใช้งานถึงปัจจุบัน ทำให้เรื่องราวเกี่ยวข้องคลาดเคลื่อน ได้แก่ ขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีค่าต่างๆ ซึ่งจะเป็นปฏิปักษ์ต่องานสร้างสรรค์

ประวัติศาสตร์ไทยต้องเป็นเรื่องราวความเป็นมาของดินแดนและผู้คนในประเทศไทยทุกชาติพันธุ์โดยไม่จำกัด ซึ่งเป็นหลักการสากล

ปัจจุบันประวัติศาสตร์ไทยยกชาติพันธุ์ไทยเป็นใหญ่เหนือชาติพันธุ์อื่น (ซึ่งไม่เป็นหลักการสากล) ทำให้เกิดความบาดหมางสร้างบาดแผลไม่จบสิ้นจนทุกวันนี้ มีหลักฐานชัดเจนคือสามจังหวัดชายแดนใต้

ประวัติศาสตร์ไทย “แห่งชาติ” กระแสหลักด้อยค่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ดูจากการกระทำปู้ยี่ปู้ยำต่อหลักฐานจากอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) ว่ามี “เมืองร้อยเอ็ดประตู” แต่ความอ่อนแอของ วธ. ร้อยเอ็ด ร่วมบิดเบือนว่า “เมืองสิบเอ็ดประตู”

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นแรงกระตุ้นการท่องเที่ยวท้องถิ่น ซึ่งเท่ากับกระจายรายได้เข้าชุมชนอย่างสม่ำเสมอ

ความอ่อนแอของ วธ. เรื่องข้อมูลวิชาการ แต่ไม่ยอมพัฒนา ผมว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อระบบการศึกษาที่กระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของสังคมไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image