ผู้เขียน | ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช |
---|
เลือกตั้งไต้หวัน
การเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันและสมาชิกสภานิติบัญญัตวันที่ 13 มกราคม ผลปรากฎ
ไม่เกินความคาดหมาย “ไล่ ชิงเต๋อ” พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าได้รับเลือด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 40 “โหว โหยวอี๋” พรรคก๊กมินตั๋ง และ “เค่อ เหวินเจ๋อ” พรรคประชาชนมาเป็นอันดับที่ 2 และ 3 ตามลำดับ ผลการเลือกตั้ง เป็นการสะท้อน ให้เห็นว่า ความนิยมพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าลดลง
เนื่องจาก “ไล่ ชิงเต๋อ” ได้รับเลือกด้วยคะแนนเสียงที่ต่ำ อีกประการหนึ่ง สมาชิกสภานิติบัญญัติก็ได้ไม่เกินกึ่งหนึ่ง จึงกลายเป็นฝ่ายบริหารที่มีเสียงข้างน้อย การปะทะกันระหว่างพรรคการเมืองภายในเกาะ น่าเชื่อว่าจะต้องดุเดือด สถานการณ์ทางการเมืองน่าจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้ายังทำลายระบบการเมือง อันเกี่ยวกับการหมุนเวียนทุก 8 ปีระหว่างพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าและพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) อีกด้วย และอาจอยู่ยาว ซึ่งเป็นประเด็นก่อให้เกิดความสั่นคลอนในช่องแคบไต้หวันและภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก
ความพ่ายแพ้ของพรรคก๊กมินตั๋งในครั้งนี้ ควรต้องศึกษาหาสาเหตุ หากย้อนมองตั้งแต่ ปี 2016 ในสนามการเลือกที่สำคัญหลายครั้งล้วนต้องเสียรังวัด ล่าสุดจึงได้มุ่งเน้นความสำคัญไปที่นโยบายสองฝั่งช่องแคบ ปรับเล่น “เมโลดี้” เดียวกับพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า จึงยิ่งกลายเป็นตัวเร่งก่อให้สังคมไต้หวันเกิดบรรยากาศทางการเมือง “ไม่เอาประเทศจีน” แม้ประกาศว่าปฏิรูปพรรค แต่ไม่เปลี่ยนอุดมคติและคงไว้ซึ่งหน้าตาเดิม โดยไม่สามารถทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเป็น Brand New เป็นต้นว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้ง “โหว โหยวอี๋” แม้สีสันท้องถิ่นเข้มข้น แต่ละอ่อนในรัศมีแห่งตน เช่น การหาเสียงเลือกตั้ง โดยชูธงเลือกตั้งเกี่ยวกับ “อนาคตไต้หวัน” ก็ยังต้องลอกเลียนรูปแบบการหาเสียงของ “หม่า อิงจิ่ว” เมื่อปี 2008 กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ “ซีดีแผ่นเดียวกัน”
ส่วนกลยุทธ์การหาเสียงของพรรคประชาชน เริ่มตั้งแต่ระดับรากหญ้า ถึงคนรุ่นหนุ่มตลอดจนผู้สูงอายุ สะท้อนให้เห็นว่าใช้ “ตำราซุนวู” แม้เป็นการเรียกแขกที่ดีสำหรับแฟนรุ่นหนุ่มสาว เป็นบรรยากาศที่สนุกครื้นเครง แต่กลับกลายเป็นจุดอ่อนสำหรับสื่อมวลชนตามประเพณีที่มีมาแต่เก่าก่อน แม้ว่า “เค่อ เหวินเจ๋อ” ได้รับคะแนนถึงร้อยละ 27 แต่สะท้อนให้เห็นว่าบัตรของแฟนหนุ่มสาวยังไม่สัมฤทธิผล จึงต้องตกมาเป็นอันดับ 3 และแม้เขาเป็นนายกเทศมนตรีไทเปถึง 8 ปี ก็ยังต้องพ่ายแพ้ จึงไม่แปลกที่เขาเปรยขึ้นมาว่า “อย่าคิดว่าทำงานดีแล้วจะได้รับเลือก” จนกลายเป็น “วลีทอง” สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีในครั้งนี้
ส่วนสภานิติบัญญัติในอดีต สำหรับพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าล้วนได้รับเลือกเกินกว่ากึ่งหนึ่งถึงสองสมัย บรรลุการบริหารแบบครอบคลุม แต่ครั้งนี้ ต้องขาดไปซึ่งอำนาจการควบคุมในสภา จึงกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่จะต้องประสบพบพานกับอุปสรรคในการทำงาน เช่น บรรดากฎหมายและนโยบาย รวมทั้งความสัมพันธ์ของสองฝั่งช่องแคบ ตลอดจนบัญญัติขออนุมัติงบประมาณ ล้วนต้องประสบอุปสรรคขัดขวางอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น กรณีจึงไม่ต่างไปจากที่ “เฉิน สุยเปี่ยน” ประสบในปี 2000
อย่างไรก็ตาม พลันที่ “ไล่ ชิงเต๋อ” ทราบข่าวการได้รับเลือกอย่างไม่เป็นทางการ จึงประกาศว่าจะร่วมมือกับพรรคฝ่ายค้าน ทำการปรึกษาหารือกัน แต่ “เค่อ เหวินเจ๋อ” ได้ประกาศว่า การทำงานในสภา ต้องพิจารณาญัตติ ไม่พิจารณาพรรค จึงเป็นความกังวลในดวงหทัยของคนไต้หวัน
หากย้อนมองการเลือกตั้งไต้หวันเมื่อ 4 ปีก่อน คือปี 2019 บังเอิญเกิดวิกฤตการเมืองที่ฮ่องกงอันเกี่ยวกับการแก้กฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน กลายเป็นวัตถุดิบอันโอชา “ไช่ อิงเหวิน” พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าได้ชูประเด็นดังกล่าวเป็นการเรียกแขกที่ประเสริฐสุด ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีด้วยคะแนน 8.17 ล้านเสียง ได้คะแนนเสียงสูงสุดทำลายประวัติศาสตร์ แต่คราวนี้ การชูธง “ต่อต้านจีนปกป้องไต้หวัน” ของ “ไล่ ชิงเต๋อ” ไร้ผล นอกจากนี้ ยังใช้บุคลากรด้านบริหารโน้มน้าวจูงใจสื่อให้เป็นเครื่องมือในการหาเสียง อีกทั้งกล่าวหาโจมตีประเทศจีนแทรกแซงการเลือกตั้งโดยปราศจากพยานหลักฐาน ตลอดจนใช้กลไกทางรัฐสภาสร้างความชอบธรรมบางประการเพื่อช่วยพรรครัฐบาล ล้วนเป็นเหตุให้ “ไล่ ชิงเต๋อ” ได้รับเลือกแบบทุลักทุเล กอปรกับสมาชิกสภานิติบัญญัติมีเสียงไม่เกินกึ่งหนึ่ง จึงกลายเป็นประธานาธิบดีที่มีเสียงข้างน้อย อันเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่า 4 ปี บนเส้นทางการบริหารของเขาจะต้องลำบากยากยิ่งกว่า “ไช่ อิงเหวิน” อันเป็นประจักษ์ขณะที่ให้สัมภาษณ์สื่อ ซึ่งมีใบหน้าไม่ต่างไปจากคนที่มีทุกข์หนัก
การเลือกตั้งไต้หวันครั้งนี้ อัตราการลงคะแนนเสียงอยู่ที่ร้อยละ 71.86 จำนวนต่ำกว่าคราวที่
แล้วคือร้อยละ 74.9 แสดงว่าคนไต้หวันให้ความสนใจต่อการเลือกตั้งลดลง และที่สำคัญคือ ประชากรเพียงร้อยละ 40 ก็สามารถตัดสินชะตาชีวิตในอนาคตของไต้หวัน
อย่างไรก็ตาม บัดนี้ “ไล่ ชิงเต๋อ” ได้ถูกปักกิ่งหมายหัวไว้แล้วคือ “ตัวการเอกราชไต้หวัน” การขึ้นแท่นประธานาธิบดีของเขายังถูกมองว่า มีความเสี่ยงในการปฏิบัติการ “เอกราช” ทางนิตินัย แม้ว่าเขาให้คำมั่นต่อหน้าสื่อว่า จะเจริญรอยตาม “ไช่ อิงเหวิน” ธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญปัจจุบันเคารพซึ่งกัน “เชื่อมั่นในความร่วมมือกับประเทศจีน” แต่ก็ยังยืนยันการ “การตัดสินใจการปกป้องไต้หวัน” ทว่า “ไล่ ชิงเต๋อ” คงหลงลืมคำพูดตอนหาเสียงที่ว่า รัฐธรรมนูญสาธารณรัฐจีน คือ ความเสี่ยง ย่อมต้องถือเป็นเนื้อแท้ของเขา ดังนั้น เมื่อเข้าประจำตำแหน่ง การเผชิญหน้ากันระหว่างสองฝั่งช่องแคบคงจะต้องรุนแรงยิ่งขึ้น
หากจะกล่าวว่า 8 ปีของ “ไช่ อิงเหวิน” เป็นเหตุให้ความสัมพันธ์ช่องแคบถูก “แช่แข็ง”
ก็น่าจะกล่าวได้ว่า 4 ปีของ “ไล่ ชิงเต๋อ” สถานการณ์ช่องแคบมีความเป็นได้คือ “เผ็ดร้อน”