NUG กับนโยบายเข้าหาจีน โดย ลลิตา หาญวงษ์

รัฐบาลคู่ขนานของพม่า หรือที่รู้จักกันกันในนาม NUG (National Unity Government) ตั้งขึ้นมาหลังรัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ 2021 เพื่อต่อต้านรัฐประหารและยืนยันสิทธิอันชอบธรรมของพรรค NLD ที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย อย่างไรก็ดี NUG ไม่ใช่ตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าทั้งหมด ในทางตรงข้าม องค์กรและกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์เกือบทั้งหมดต่างไม่พอใจ NUG ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในประเด็นที่ NUG มักออกแถลงการณ์หรือมีนโยบายไปในแนวทางที่ขับเน้นบทบาทของคนพม่าแท้ หรือคน “บะหม่า” มากกว่าการส่งเสริมให้เกิดระบบสหพันธรัฐอย่างที่กลุ่มชาติพันธุ์ต้องการ จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น “NLD สาขาสอง” มาจนถึงปัจจุบัน

ประเด็นหนึ่งที่ NUG ถูก “ทัวร์ลง” บ่อยมาก คือทัศนคติที่ผู้นำ NUG มีต่อจีน สรุปสั้นๆ คือผู้นำ NUG เลือกเข้าข้างรัฐบาลจีน และสนับสนุนแนวทางจีนเดียวอย่างชัดเจน มีการประกาศเจตนารมณ์และย้ำจุดยืนนี้อยู่เนืองๆ นักวิเคราะห์จึงไม่ต้องคาดเดาและฟันธงว่า NUG นั้นโปรจีนอย่างแน่นอน อันที่จริง การเข้าหาจีนเป็นนโยบายหลักของ NLD และรัฐบาลด่อ ออง ซาน ซูจีมาเนิ่นนานแล้ว

เมื่อพรรค NLD ชนะการเลือกตั้งซ่อมในปี 2012 และการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2015 มีการคาดการณ์กันทั่วไปว่านโยบายของ NLD ต่อจีนจะเป็นอย่างไร NLD เองก็ประกาศนโยบายต่างประเทศของตนออกมา โดยประกาศจะยึดตามแนวทางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดเชิงบวก (positive non-alignment) คือไม่โน้มเอียงไปทางสหรัฐ หรือจีน แต่พร้อมจะร่วมมือกับประเทศมหาอำนาจเพื่อผลักดันให้เกิดความเจริญทางเศรษฐกิจและการพัฒนาด้านประชาธิปไตยที่ยั่งยืนในพม่า แต่เมื่อเกิดวิกฤต
โรฮีนจาขึ้นระหว่างปี 2016-2017 โลกตะวันตกพร้อมใจกันประณามการกวาดล้างชาวโรฮีนจา เป็นครั้งแรกๆ ที่ทั้งกองทัพและรัฐบาล NLD ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ประชาธิปไตยแห่งชาติพม่า ถูกนานาชาติวิจารณ์อย่างหนักว่าปล่อยให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ขึ้น

นับตั้งแต่กระแสโรฮีนจาในครั้งนั้น เราเริ่มเห็นท่าทีของรัฐบาล NLD ที่เริ่มถอยห่างจากชาติตะวันตก และไปให้ความสำคัญกับการผูกมิตรกับจีนมากขึ้น และในช่วง 2017 ต่อ 2018 ที่เราเห็นการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของผู้นำ NLD ที่หันไปหาจีนอย่างมีนัยสำคัญ ถึงขนาดที่นิกกี้ เฮลีย์ (Nikki Haley) เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติ กล่าวประณามพม่ากลางที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และยังวิจารณ์ท่าทีของจีนและรัสเซียที่ช่วยปกป้องความผิดของรัฐบาล NLD ไม่ให้สหประชาชาติลงโทษพม่าได้ด้วย

Advertisement

เมื่อช่วงฮันนีมูนระหว่างรัฐบาล NLD กับโลกตะวันตกจบไปพร้อมวิกฤตการณ์โรฮีนจาในรัฐยะไข่ จีนก็เปลี่ยนกระบวนทัศน์ต่อรัฐบาล NLD เช่นกัน ตั้งแต่ยุครัฐบาลเตง เส่ง จีนรู้ดีว่าประชาชนในพม่า ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใด มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อตนมากนัก เพราะจีนมีโครงการก่อสร้างมากมายในพม่า และหลายโครงการก็ก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และมีผลกระทบกับชีวิตของชาวบ้าน อีกทั้งจีนยังมีภาพลักษณ์ของการเข้าไปใช้ประโยชน์กับทรัพยากรของพม่า ดังนั้นความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ จึงเป็นไปในแบบทางเดียว มากกว่าที่สองฝ่ายได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน

การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของจีนเริ่มจากการกระชับความสัมพันธ์กับรัฐบาลและพรรค NLD การเข้าหาภาคประชาสังคมพม่ามากขึ้น ส่งเสริมการลงทุนที่มีธรรมาภิบาล โปร่งใส และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นตัวกลางแม่สื่อแม่ชักเชื่อมรัฐบาล NLD เข้ากับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ตามแนวชายแดนจีน-พม่า

แม้รัฐบาล NLD จะไม่ได้บริหารประเทศอยู่ในขณะนี้ และกองทัพรวมทั้งผู้บริหาร SAC มีท่าทีระมัดระวังจีนอย่างมาก แต่รัฐบาล NUG ก็สานต่อแนวทางของ NLD คือพยายามเข้าหาจีนอย่างจริงจัง เมื่อช่วงปีใหม่ NUG ออกเอกสารฉบับหนึ่งในเว็บไซต์ www.nugmyanmar.org บรรจุนโยบายที่ NUG มีต่อจีน 10 ข้อ โดยรวมเอกสารชิ้นนี้ชี้ให้เห็นความพยายามของ NUG ที่จะให้จีนช่วยกดดันคณะรัฐประหารและกองทัพพม่ามากขึ้น ต้องยอมรับว่าเมื่อเกิดรัฐประหารปี 2021 รัฐบาลปักกิ่งเองก็ไม่พอใจ เพราะมองว่าตนสร้างสะพานเชื่อมกับรัฐบาล NLD ไว้อย่างดีแล้ว แต่ทั้งหมดต้องพังทลายลงเมื่อ SAC เข้ามา เมื่อมีปัญหาที่มีผลกระทบกับความมั่นคงของจีน โดยเฉพาะในกรณีความเคลื่อนไหวของกลุ่มจีนเทาในเมืองเล้าก์ก่ายและบริเวณใกล้เคียง จีนพยายามกดดันรัฐบาล SAC ให้ช่วยแก้ปัญหาหลายครั้ง แต่ไม่เป็นผล จนจีนจำเป็นต้องยืมมือของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ 3 กลุ่มในรัฐฉานเหนือเพื่อให้ร่วมกันตียึดเมืองเล้าก์ก่ายจากกลุ่มจีนเทาและเครือข่ายมาเฟียโกก้างที่สวามิภักดิ์ต่อรัฐบาล SAC

Advertisement

รัฐบาล NLD ถือเป็นหนึ่งใน “ลูกรัก” ของจีนมาตั้งแต่ปี 2016 เพราะรัฐบาลของออง ซาน ซูจีสนับสนุนนโยบายจีนเดียวชัดเจน รวมทั้งเห็นดีเห็นงามกับนโยบายทั้งหมดที่จีนมีต่อไต้หวัน ทิเบต และซินเจียง ท่าทีล่าสุดของ NUG ไม่น่าแปลกใจเท่าใดนัก เพราะ NUG เองก็ไม่ได้มีความเข้มแข็งและยังไม่มีรัฐบาลโลกตะวันตกใดที่ประกาศให้การยอมรับ NUG เป็นตัวแทนพม่าอย่างเป็นทางการ แน่นอนว่านโยบายต่างประเทศของจีนนั้นรัดกุม และจีนจะไม่มีทางประกาศรับรอง NUG อย่างแน่นอน NUG เพียงแต่หวังว่าท่าทีนี้จะช่วยทำให้รัฐบาลปักกิ่งมีท่าทีต่อ SAC แข็งกร้าวขึ้น อีกทั้งจะเข้าไปแทรกแซงการเมืองภายในพม่ามากขึ้น เมื่อพิจารณาความสำเร็จจากปฏิบัติการ 1027 ที่มีมาตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2023 จีนเป็นปัจจัยภายนอกที่สำคัญยิ่งที่จะชี้เป็นชี้ตายอนาคตของพม่า เริ่มจากจุดเล็กๆ ตามแนวชายแดนจีน-พม่า ขอเพียงปักกิ่งกดปุ่ม กองกำลังที่จีนให้การสนับสนุนอยู่ก็พร้อมปฏิบัติการ

ท่าทีของจีนกับปัญหาในพม่าเป็นประเด็นที่น่าจับตาอย่างยิ่ง ที่ผ่านมาจีนไม่ได้มีท่าทีว่าสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างชัดเจน แต่ก็พอจะรู้ๆ กันอยู่ว่าจีนไม่ได้ชื่นชอบ SAC และผู้นำทหารพม่าชุดนี้เท่าใดนัก และยังมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าจีนอาจกดดันพม่าให้เปลี่ยนตัวผู้นำกองทัพ แต่สำหรับเรื่องนี้ ผู้เขียนยังเชื่อมั่นว่าผู้นำกองทัพและ SAC จะรักษาอำนาจของตนไว้ให้นานที่สุด แม้จีนจะไม่ได้หลงใหลได้ปลื้มมิน อ่อง ลายนัก แต่ตราบใดก็ตามที่รัฐบาล SAC ปล่อยให้จีนยังเข้าไปหาผลประโยชน์ในพื้นที่ชายแดนได้ และยอมรับเงื่อนไข เช่น กองทัพจะไม่บุ่มบ่ามเข้าไปโจมตีพื้นที่ในเขตชายแดนพม่า-จีน ในลักษณะที่จะสร้างผลกระทบให้กับธุรกิจและโครงสร้างพื้นฐานที่จีนไปลงทุนไว้

ดังนั้นถ้าจะพูดว่าอนาคตของ SAC ในเวลานี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะการกดดันของจีน ก็คงไม่ผิดนัก ฝ่าย NUG เองก็เห็นโอกาสนี้ และเดินหน้าสรรเสริญเยินยอจีนแบบออกนอกหน้า แต่จีนจะไม่มีทางสนับสนุน NUG อย่างเป็นทางการอย่างแน่นอน เพราะจีนก็คงรู้ว่า NUG ไม่ได้เป็นตัวแทนของคนในพม่าทั้งประเทศแต่อย่างใด

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image