ส.ว.ทิ้งหมัดเข้ามุม

ส.ว.ทิ้งหมัดเข้ามุม

วุฒิสมาชิกเคลื่อนไหวยื่นญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาลโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

มาตรา 153 บัญญัติว่าสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา มีสิทธิเข้าชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ

เป็นสิทธิหน้าที่ที่สามารถทำได้เพราะกฎหมายแม่บทของประเทศให้อำนาจไว้

Advertisement

แต่ควรหรือไม่ เหมาะสมหรือไม่ กฎหมายกับการเมืองเป็นคนละเรื่องหรือเรื่องเดียวกัน สุดแท้แต่ใครจะมอง

ความคิดของผู้คนจึงสะท้อนออกมาแตกต่างกัน มีทั้งเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย เฉยๆ ไม่ยินดียินร้าย เรื่องของคนมีอำนาจฟาดกัน ชาวบ้านไม่อยากยุ่ง อะไรทำนองนั้น

ฝ่ายเห็นด้วยก็มองว่าเป็นการทำหน้าที่ตามปกติของวุฒิสมาชิกในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ นอกจากกลั่นกรองและบัญญัติกฎหมายแล้ว ต้องติดตาม ควบคุม กำกับการทำงานของฝ่ายบริหารด้วย

Advertisement

ทำหน้าที่ให้คุ้มค่ากับเงินภาษีที่ประชาชนจ่ายให้จนถึงนาทีสุดท้าย ที่มา จะมาจากการแต่งตั้งหรือเลือกตั้ง ไม่สำคัญ

ฝ่ายไม่เห็นด้วยก็มองว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นเรื่องผิดปกติ เพราะรัฐบาลเพิ่งเข้ามาทำงานได้ไม่นาน แถลงนโยบายต่อรัฐสภาวันที่ 11 กันยายน 2566 เวลาผ่านมาแค่ 5 เดือน ควรเปิดโอกาสให้ทำหน้าที่ไปสักระยะหนึ่งก่อน ครบปีก็ยังดี

การอภิปรายทั่วไปแม้ไม่มีการลงมติก็ตาม แต่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์โดยรวม ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ เสถียรภาพและความเชื่อถือต่อรัฐบาล

บรรยากาศทางการเมืองกำลังดำเนินไปด้วยดี ความสามัคคี ปรองดอง สมานฉันท์ การก้าวข้ามความขัดแย้ง ยุติสงครามเสื้อสีเพิ่งเริ่มต้นอีกครั้ง

การเปิดอภิปรายจะตอกย้ำซ้ำเติม รื้อฟื้นบรรยากาศของความเกลียดชัง แบ่งขั้ว แบ่งฝ่าย ให้คุโชนขึ้นมาอีกหรือไม่ ความร้าวฉานในสังคมคงดำเนินต่อไปไม่มีวันสิ้นสุด

ในเมื่อการเปิดอภิปรายมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ทำให้เกิดคำถามทั่วไปว่า ฐานคิดของคนกลางๆ ต่อความเคลื่อนไหวนี้ควรเป็นอย่างไร

ตอบได้ไม่ยาก ยึดประโยชน์สาธารณะและประชาชนคนส่วนใหญ่เป็นที่ตั้ง

ตอบคำถามที่ ส.ว.เคยถามต่อการแก้ไขและยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่มาตลอดว่าชาวบ้านได้อะไรให้ชัดเจน

เกมการเมืองเรื่องอภิปรายทั่วไป จึงตัดสินกันที่เนื้อหาสาระ ท่าทีและลีลาที่แสดงออกในการอภิปราย จะเป็นคำตอบต่อสังคมว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ หรือเป็นรายการชำระแค้นส่วนตัว

ขอทิ้งทวน เปิดสงครามสั่งสอน ฝากรอยแผลไว้ให้จดจำเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนหมดวาระเดือนพฤษภาคมนี้

จิตเจตนาเบื้องลึกในใจของแต่ละคน เจ้าตัวรู้ดีที่สุด

สิ่งที่น่าติดตามสำหรับคนเฝ้าดูก็คือจะสำเร็จหรือไม่ ในเมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ใช้เสียง 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด คือ 84 คน ถึงจะยื่นเปิดอภิปรายได้ ขณะนี้ยังรวบรวมได้ไม่ครบ

หัวขบวนการขับเคลื่อน คือ กรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน

ถ้ารวมตัวสำเร็จสะท้อนอะไร ไม่สำเร็จสะท้อนอะไร อ่านได้ไม่ยาก

ครบหรือไม่ก็แล้วแต่ ที่แน่ๆ ความเห็นต่างในระหว่างวุฒิสมาชิกด้วยกัน สะท้อนออกมาบ้างแล้ว

ท่าทีแกนนำเป็นไปคนละทาง คนหนึ่งใส่เกียร์เดินหน้าเต็มตัว ดักคอรัฐบาลอย่าใช้วิธีการล็อบบี้ไม่ให้ลงชื่อ ควรปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ

อีกคนหนึ่งทักท้วงให้สติ ลดละเลิกความโกรธ ความเกลียด อาการคลุ้มคลั่งที่จะไปลุยโน่นนี่ให้น้อยลง

“เราจมอยู่กับความโกรธ ความเกลียด ความขัดแย้งอาฆาตมาเป็นสิบปี ฝังหุ่นจนประเทศเดินไม่ได้มาถึงขนาดนี้แล้ว วางใจให้เป็นกลาง เอาประเทศเป็นตัวตั้งไม่ดีกว่าหรือ ตกลงเกลียดทักษิณหรือตั้งตนเป็นเจ้าหลักการแห่งความถูกต้องกันแน่ วันนี้คนเบื่อการทะเลาะเบาะแว้งแตกแยก เลิกได้ควรเลิก จบได้ควรจบ ให้บ้านเมืองเดินต่อไปไม่ดีกว่าหรือ จะสร้างความขัดแย้งกันขึ้นมาทำไม”

กล่าวโดยรวมงานนี้ประชาชนคนกลางเป็นผุู้ตัดสิน

รอชมฉากสุดท้ายว่าจะบานปลายต่อไปถึงขั้นเปลี่ยนหัวหน้ารัฐบาล หรือโครงสร้างพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ เพราะมีอีกหลายประเด็นรอเป็นชนวนอยู่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำประชามติและยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งถูกยื่นคำขาดว่าต้องมีคำถามเรื่องห้ามแก้หมวด 1 หมวด 2 ไม่เช่นนั้นไม่มีทางแก้ไขหรือยกร่างใหม่ได้สำเร็จ ยังเป็นระเบิดเวลาอยู่ตอนนี้

อย่างไรก็ตาม มองมุมบวก ด้านกลับ การถูกเปิดอภิปรายเป็นโอกาสของรัฐบาลที่จะชี้แจงโต้ตอบ ให้ความจริงกับสังคม

ขณะเดียวกันต้องเตือนตัวเองและนายทุนพรรค ว่าอย่าเหลิงอำนาจ สองมาตรฐาน และทุจริตคดโกง

ตราบใดที่กลเกมการเมืองเป็นไปภายใต้กติกา ไม่ใช้ความรุนแรงแม้ทางวาจา จึงต้องยอมรับความจริง การทิ้งหมัดก่อนเข้ามุมของ ส.ว. เพราะรัฐธรรมนูญฉบับผู้มีอำนาจบอกมา เปิดช่อง

ชาวบ้านจะชื่นชม ปรบมือ เพราะทำให้ตาสว่าง หรือก่นสวดมากกว่า คงได้รู้กันอีกไม่กี่วัน ถ้าการอภิปรายเกิดขึ้นจริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image