อุบายในกุศล โดย กล้า สมุทวณิช

ที่มาภาพ:www.offtherecord-banes.co.uk

 

มีเรื่องฮือฮาชั่ววูบที่น่าสนใจในโลกโซเชียลเมื่อต้นสัปดาห์ เกี่ยวกับประสบการณ์ของหญิงสาวผู้บริจาคเงินให้แก่องค์กรการกุศลแห่งหนึ่งที่มีจุดขายว่า ผู้บริจาคหนึ่งรายจะได้จับคู่รับอนุเคราะห์เด็กหนึ่งคน และผู้บริจาคกับเด็กก็จะได้ติดต่อสื่อสารกันผ่านทางองค์กรการกุศลนั้น

มีการส่งการ์ดอวยพรกัน มีจดหมายแสดงความก้าวหน้าในการศึกษาและชีวิตของเด็กมาให้ผู้อนุเคราะห์ได้ชื่นใจในทุกปี การมีอยู่และวิธีดำเนินการของมูลนิธิในลักษณะนี้ เป็นทางออกที่สะดวกใจสำหรับผู้ที่เชื่อในการเอื้อเฟื้อแบ่งปันแก่เพื่อนมนุษย์ มากกว่าการทำบุญทำทานในทางศาสนา

หากอวสานโลกสวยก็บังเกิด เมื่อเจ้าของประสบการณ์ผู้เล่าเรื่องได้ไปพบเด็กที่เธอได้จับคู่เป็นผู้อนุเคราะห์ จึงได้ทราบความจริงว่า เด็กที่รับอนุเคราะห์อยู่หลายปีกลับไม่รู้จักเธออย่างที่เธอเข้าใจว่าได้รู้จักเด็กคนนั้นอย่างดี และเพิ่งมาทราบว่า การบริจาคอนุเคราะห์เด็กหนึ่งคนที่ว่าเป็นเพียง “จุดขาย” หรือ “กิมมิค” ขององค์กรการกุศลนั้น แต่อันที่จริงแล้ว เด็กแต่ละคนเป็นเพียงสัญลักษณ์เชื่อมโยงกับผู้บริจาคเงินเท่านั้น ส่วนการบริหารจัดการเงินที่ได้นั้นเป็นหน้าที่ของมูลนิธิ ที่จะนำไปช่วยเหลือชุมชนในทางรูปธรรมมากกว่า ไม่ใช่ว่านำเงินที่ได้จากผู้อุปการะมอบให้แก่เด็กรายคน หรือมอบให้โรงเรียนไปจัดสรรแต่อย่างใด

Advertisement

หลังจากที่หญิงสาวคนดังกล่าวเขียนเล่าประสบการณ์ลงในเฟซบุ๊ก ข้อความก็ถูกแชร์ต่อกันไปนับร้อยนับพันในเวลาไม่กี่นาที และไม่นานหลังจากนั้น รูปภาพและเรื่องเล่านี้ก็หายไป ไม่แน่ว่ามาจากการที่เจ้าของข้อความต้นทางตัดสินใจลบหรือจำกัดการเข้าถึงข้อความ ด้วยเห็นว่า เรื่องจะไปไกลเกินคาดหมายก็ไม่ทราบ

ที่เรื่องเล็กๆ นี้ได้รับความสนใจอย่างรวดเร็ว ก็ด้วยหลายคนเคยได้รับฟังเสียงลือเสียงเล่าอ้างในลักษณะนี้มาเช่นกัน รวมถึงข้อสังเกตของหลายท่านเรื่องลายมือก็ดีหรือภาษาก็ตาม ในจดหมายที่เด็กๆ ส่งถึงผู้อนุเคราะห์นั้น บางคนรู้สึกว่ามีความไม่สม่ำเสมอทั้งรูปแบบของลายมือและภาษาที่ใช้

เพื่อความเป็นธรรม คงต้องรับฟังการชี้แจงจากองค์กรการกุศลต้นเรื่องด้วย ทั้งก็มีแง่มุมจากผู้บริจาคท่านอื่นชี้ว่า อันที่จริงแนวทางการดำเนินงานขององค์กรการกุศลดังกล่าวนี้ก็ค่อนข้างแจ้งไว้ในเอกสารและเปิดเผยไว้ชัดเจนพอสมควรแล้ว ว่าจะนำเงินไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ เพื่อช่วยอุดหนุนให้ชุมชนหรือโรงเรียนของเด็กนั้นได้รับการช่วยเหลือในภาพรวมอย่างยั่งยืน ไม่ใช่การจ่ายเงินให้เด็กคนไหนเป็นรายคน เพียงแต่ “รูปแบบ” ของการจับคู่เด็กกับผู้อนุเคราะห์ที่นำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ให้เห็นรูปธรรมของการช่วยเหลือนั้นอาจจะพาให้เข้าใจผิดกันได้ง่าย

Advertisement

ทั้งในแง่ของ “ผู้รับการอนุเคราะห์” ก็มีเด็กที่เคยได้รับทุนจากองค์กรที่เป็นข่าวนั้นได้เล่าประสบการณ์ว่า สมัยหนึ่งมีการจับคู่ผู้บริจาคกับเด็กแต่ละคนจริงๆ และเขาก็ได้รับการช่วยเหลือจากองค์กรการกุศลลักษณะนี้เป็นทุนการศึกษาและสิ่งจำเป็นแก่การศึกษาอย่างเพียงพอ ช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัวในระหว่างที่รับทุนได้มากทีเดียว

ส่วนเรื่องของการให้ผู้อนุเคราะห์ติดต่อกับเด็กแต่ละคนนั้น กลับมีข้อเสียที่ฝ่ายผู้ให้อาจจะคาดไม่ถึงคือความเหลื่อมล้ำของการอนุเคราะห์ ซึ่งผู้ให้ข้อมูลเล่าว่า เกิดการเปรียบเทียบกันของเด็กบางคนที่ผู้อนุเคราะห์มักจะฝากส่งของเล่นของขวัญที่มีค่ามาให้บ่อยๆ ในขณะที่เด็กคนอื่นอาจจะได้เพียงการ์ดหนึ่งใบ แน่นอนว่าปัญหาที่ตามมาคือการอิจฉาริษยากันในหมู่เด็กที่ได้รับทุน ไปจนถึงการลักขโมยหรือกลั่นแกล้งกัน ที่เป็นผลอันไม่น่าพอใจที่มาจากเหตุอันเป็นกุศลเสียอย่างนั้น

หากจะกล่าวกันในเชิงของแรงจูงใจ หากมีใครสักคนมาขอรับบริจาคเพื่อนำไปทำสาธารณประโยชน์ในภาพใหญ่ เช่น เอาไปสร้างโรงเรียน หรือห้องสมุดชุมชนเพื่อการศึกษาที่ยั่งยืนแก่ทุกคน เชื่อว่าคงจะมีผู้สนใจร่วมบริจาคให้ไม่มากนัก เท่ากรณีการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือ “เด็ก” หรือ “ครอบครัว” ใครสักคนที่เห็นหน้าค่าตา จำเพาะเจาะจง และเห็นผลของการให้ได้ง่าย ซึ่งในแง่มุมของผู้ให้นั้นก็พอเข้าใจได้อยู่ว่า มนุษย์เรายินดีต่อผลอันเป็นรูปธรรมชัดเจนว่าเงินของเราปีละหมื่นบาท จ่ายค่าเทอมและซื้อเสื้อผ้าหนังสือให้เด็กคนนี้ๆ นะ (และเขาก็เขียนจดหมายมาขอบคุณเราด้วย)

มันเห็นภาพและน่าอิ่มใจกว่าการได้เห็นห้องสมุดประชาชนสักหลัง ซึ่งโอเคละ มีประโยชน์อยู่ แต่ส่วนเงินของเรานั้นอาจจะเป็นเพียงโต๊ะเก้าอี้สักชุด หนังสือสักกล่อง หรือเป็นค่ากระเบื้องปูพื้น สีทาผนัง ปนอยู่กับส่วนเงินส่วนกุศลของคนอื่นๆ

ด้วยเหตุผลทั้งหลายดังนี้ก็พอจะเข้าใจได้ ที่องค์กรการกุศลนั้นจะใช้วิธีการสร้างรูปแบบการอุปการะเด็กเชิงสัญลักษณ์ แล้วนำเงินที่ได้จากการอุปการะเด็กแต่ละคนไปรวมเป็นก้อนใหญ่นำไปช่วยเหลือส่งเสริมกิจกรรมของโรงเรียน ชุมชน ให้ได้รับความช่วยเหลือที่เป็นระบบและยั่งยืน น่าจะดีกว่าการช่วยเหลือเด็กให้เรียนจบเป็นคนๆ ไป เหมือนการลงทุนสร้างเรือข้ามฟากไปเลยลำหนึ่ง มันแก้ปัญหาได้ยั่งยืนกว่าการพายเรือส่งคนข้ามแม่น้ำไปทีละคน

แต่นั่นแหละ การที่สร้างความรับรู้ให้ผู้บริจาคและผู้ที่สนใจเข้าใจไปเองจาก “พิธีกรรม” ต่างๆ เช่น การจับคู่ผู้บริจาคให้เกิดความผูกพันกับเด็ก แจ้งข่าวสารทุกข์สุกดิบในชีวิต ก็อาจจะทำให้ผู้บริจาคหลายคน (อย่างน้อยก็หญิงสาวต้นเรื่อง) รู้สึกว่าถูกหลอกได้อยู่เหมือนกัน แต่จะว่าเป็นการหลอกลวงโดยมิชอบก็ไม่เชิง อาจจะคล้ายๆ สิ่งที่เราเรียกกันว่า “กุศโลบาย”

กุศโลบายอันมีที่มาจาก “กุศล” อันแปลว่าความดีงาม สิ่งดี สนธิกับ “อุบาย” ที่แปลว่าเล่ห์กล

กุศโลบายจึงหมายถึงเล่ห์กลเพื่อผลแห่งความดี แต่กระนั้น ด้วยคำว่า “เล่ห์กล” มันจึงมีอะไรที่ออกจะเทาๆ ที่มีส่วนผสมของความไม่ตรงไปตรงมาเป็นองค์ประกอบอยู่ แต่โดยรวมแล้ว กุศโลบายเป็นคำที่ออกจะมีความหมายเป็นทางบวกมากกว่าทางลบ

ขึ้นกับว่าเรายอมรับกันได้ไหมกับการทำสิ่งดีๆ ได้ด้วยการทำให้เขาไขว้เขว หรือเข้าใจข้อเท็จจริงก่อนตัดสินใจไม่ถ่องแท้หรือถึงกับเข้าใจผิด เพราะถ้าเรารู้ข้อเท็จจริงชัดเจนโดยปราศจาก “กุศโลบาย” นั้นแล้ว เราอาจเลือกที่จะไม่ทำ “สิ่งดีๆ” นั้นก็ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image