การเดินทางของ‘ความคิด’ โดย…นพ.วิชัย เทียนถาวร

การคิดของคนทั่วไปในสังคมไทยเป็นเหมือนการเรียงหิน หรือการก่ออิฐ แบบสะเปะสะปะ เพราะ “คิดไม่เป็น” สิ่งที่เราคิดจำนวนมากมักสร้างปัญหามากกว่าก่อให้เกิดการพัฒนา ตั้งแต่ในระดับส่วนบุคคลหรือปัจเจกบุคคล บางครั้งลามไปถึงระดับผู้นำ บางความคิดในสังคมจึงเป็นเหตุให้สังคมไทยต้องอยู่ในภาวะอ่อนแอทางความคิด

คนไทยเป็นคนที่เชื่อง่าย ถูกหลอกง่าย เพราะเราไม่คิดหรือคิดไม่เป็น เรามักเชื่อตามบุคคลที่น่าเชื่อ เช่น ผู้อาวุโส นักวิชาการ สื่อมวลชน หนังสือพิมพ์ ฯลฯ หรือไม่ก็เชื่อตามโชคชะตาหรือคิดไปเองว่าใช่แน่ๆ หลายครั้งเราจึงถูกหลอกทางความคิดอย่างง่ายๆ เพราะไม่เรียนรู้ที่จะเสาะแสวงหาข้อเท็จจริงของสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง และไม่พยายามตั้งคำถามกับสิ่งที่ควรสงสัย

เรามักตัดสินใจเลือกในสิ่งที่ผิดเพราะคิดผิด เราไม่ได้คิดวิเคราะห์และคิดเปรียบเทียบผลดีผลเสียอย่างรอบคอบ ขาดการคิดอย่างบูรณาการ และการคิดเชิงอนาคต จึงทำให้คิดผิด โดยคิดมุ่งหวังเพียงผลประโยชน์เฉพาะหน้าหรือคิดอย่างไม่สมดุลและเข้าข้างตนเองอย่างอคติ บางครั้งเราเห็นคนอื่นทำบางสิ่งได้ก็มักคิดว่าสิ่งนั้นถูกต้อง และสมควรเลียนแบบ เช่น ในช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เรามุ่งรวยแบบเก็งกำไร ทั้งเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้น โดยไม่ได้คำนึงถึงผลเสีย ซึ่งหากวิเคราะห์ข้อเท็จจริง ย่อมเข้าใจได้ว่ามันน่าจะเกิดปัญหาขึ้นในที่สุด เป็นต้น

คนไทยเราไม่สามารถคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้ เช่น เราคิดเทคโนโลยีใหม่ๆ เองได้ เพราะเราไม่เคยลงทุนอย่างจริงจัง ในการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน เราไม่มีนักคิดสร้างสรรค์ “นวัตกรรม” อย่างเพียงพอภายในประเทศ ทำให้เราต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศอยู่ตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้เกิดจาก “ค่านิยมทางสังคม” ระบบและบริบทต่างๆ ในสังคมไทยไม่เอื้อให้คนคิด อาทิ

Advertisement

อาวุโสนิยม สภาพสังคมไทยปลูกฝังให้เชื่อฟังผู้ใหญ่มากกว่าจะถูกฝึกให้คิดก่อนเชื่อ หรือพิสูจน์ก่อนจะแน่ใจ หรือมีบรรยากาศท้าทายให้ “คนคิด” เพื่อหาคำตอบ ผลอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ การยอมรับ “ระบบอาวุโส” อย่างตกขอบ คือเชื่อฟังคนที่วัยวุฒิสูงกว่า หรือมีประสบการณ์มากกว่า โดยเชื่อว่าสิ่งที่คนเหล่านี้พูด หรือทำ จะเป็นสิ่งที่ถูกต้องเสมอ โดยไม่ต้องสงสัยหรือหาข้อพิสูจน์ หรือตรึกตรองคิดอย่างรอบคอบ ไม่มีความตระหนักคิดว่าสิ่งที่รับมานั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ ทำไมต้องเป็นเช่นนั้น มีสำนวนหรือคำพังเพย และสุภาษิตไทยที่อาจยึดเป็นค่านิยมของสังคมมาเป็นเวลาช้านาน เช่น อาบน้ำร้อนมาก่อน ตีความหมายในเชิงบวก คือผู้พูดต้องการให้เด็กได้รับประโยชน์จากสิ่งที่ตนประสบมาก่อน จึงต้องการให้เด็กฟังตน แต่ในอีกมุมหนึ่งที่ผู้ใหญ่มักนำคำกล่าวนี้มาใช้ คือ ใช้กล่าวอ้างเพื่อที่ตนจะได้ไม่ฟังสิ่งที่เด็กพูด ไม่รับข้อเสนอ หรือความคิดเห็นของเด็กที่แตกต่างจากตน หรือปฏิบัติไม่ยอมรับในสิ่งที่เด็กทำ โดยแสดงตนว่ารู้ดีกว่า ตนทำสิ่งที่ถูกต้องมากกว่า เพราะมีความอาวุโสมากกว่า

ปากยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม มีความหมายใกล้เคียงกัน แต่แฝงความหมายการประชดประชัน เสียดสี ผู้ใหญ่กระทำต่อเด็กประมาณว่า ผู้พูดนั้นยังเป็นเด็ก ไม่สมควรที่จะเสนอความคิดเห็นออกมา ควรฟังมากกว่าที่จะพูด ปีกกล้าขาแข็ง สำนวนนี้มาจากลูกนกที่เติบโตขึ้นเต็มที่ พอที่จะออกจากอ้อมอกแม่บินไปหากินด้วยตนเองได้แล้ว มีความหมายเป็นกลาง แต่นำมาถูกใช้ในเชิงตัดพ้อ และเสียดสีสำหรับเด็กที่ไม่เชื่อฟัง เด็กอมมือ เป็นสำนวนเปรียบเปรยถึงคนอายุน้อยๆ ที่ยังไม่มีประสบการณ์ชำนาญ เช่นพูดว่า… “พูดเหมือนเด็กอมมือ” ความหมายเหมือนกับคำว่า เด็กเมื่อวานซืน หรือมีปัญญาแค่หางอึ่ง มักคิดใช้กับคนที่มีอายุอ่อนกว่าหรือเป็นเชิงเยาะเย้ยผู้ที่มีความรู้อ่อนกว่า

อย่าสอนหนังสือสังฆราช หมายถึงสอนสิ่งที่เขารู้ดีอยู่แล้ว มีความหมายใกล้เคียงกับ “สอนจระเข้ว่ายน้ำ” ผู้ใหญ่มักจะว่ากล่าวไม่ให้เด็กแนะนำผู้ใหญ่ด้วยการใช้สำนวนเหล่านี้ เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด สำนวนนี้หมายถึงการประพฤติตามผู้ใหญ่ย่อมปลอดภัย ผู้ใหญ่มักจะชอบที่จะให้เด็กเชื่อฟังและทำตาม เด็กที่ “ว่านอนสอนง่าย” อยู่ในโอวาทเชื่อฟังคำสั่งสอนจะได้รับคำชมเชยมากกว่าเด็กที่มีความคิดอ่านเป็นของตนเอง ส่วนเด็กที่มีความคิดเห็นขัดแย้งกับผู้ใหญ่จะถูกดุว่าอย่างไม่ฟังเหตุผล ผู้ใหญ่ที่คิดเช่นนี้มักสรุปว่าเด็กดีคือ เด็กที่เชื่อฟังผู้ใหญ่

Advertisement

แท้ที่จริงระบบอาวุโสเป็นสิ่งที่ดีมาก ถ้าหากมีความเป็นกลางในตนเอง หากนำมาใช้ในระดับที่เหมาะสม เช่น เด็กควรรับฟังคำแนะนำ ตักเตือนของผู้ใหญ่ เพราะผู้ใหญ่มีประสบการณ์มากกว่า ไม่ดูถูกความคิดของคนรุ่นก่อน แต่นำมาใช้โดยเข้าใจ เข้าถึงเหตุผลและสามารถอธิบายปรัชญาแนวคิดเรื่องจริงได้ จนสามารถปรับใช้ได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์แวดล้อมของตน

ผู้ใหญ่เองควรมีหน้าที่ส่งเสริมให้เด็กทุกคนมีโอกาสได้แตกแขนงทางความคิด ได้ลงรากลึกของต้นไม้แห่งเหตุผล เพื่อทำให้เขาเติบโตอย่างมั่นใจ เขาจะได้นำวิธีความคิด ความรู้ความสามารถ และศักยภาพทางปัญญา เพื่อสืบสานสังคมไทยสู่อนาคตที่สดใสได้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

อุปถัมภ์นิยม ระบบนี้ทำให้คนไม่ได้แข่งขันที่ใช้ “ความรู้ความสามารถ” แต่แข่งขันกับคนที่มีเส้นสายในระบบ ใครเส้นใหญ่ จะมีโอกาสได้รับการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งอย่างรวดเร็ว จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานหรือได้รับการประมูลสัมปทานใหญ่ๆ เป็นต้น คนที่ “คิดเป็น” มักอยู่ในระบบเช่นนี้ไม่ค่อยได้ เพราะเขาจะคิดขัดแย้งกับระบบที่ไม่ถูกต้องนี้ และการแสดงการต่อต้านย่อมมีสิทธิถูกโยกย้ายหรือต้องตกที่นั่งลำบาก เพราะไปขัดผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มนี้ ระบบราชการไทยเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในเรื่องนี้ เนื่องจากผู้บังคับบัญชามีอำนาจให้คุณให้โทษ เป็นผู้กำหนดอนาคตของข้าราชการชั้นผู้น้อยว่าจะเป็นอย่างไร ทำให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยไม่กล้าทำอะไร ต้องเชื่อฟัง นำไปสู่การพึ่งพากันในระบบอุปถัมภ์ ยอมตนรับใช้หัวหน้างานเพราะยิ่งใกล้ชิดยิ่งได้เลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง ช่วยทำให้ชีวิตรุ่งเรืองมากกว่าการมุ่งมั่นนำพาตนให้มีความรู้ความสามารถในทางตรงกันข้าม คนที่คิดต่างออกไปจากหัวหน้างาน หรือชอบเสนอความคิดเห็น แม้เห็นได้ชัดว่าสิ่งที่เสนอนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ของหน่วยงาน แต่หากขัดใจนาย เขาจะมีโอกาสประสบความสำเร็จได้ยากมาก ดังจะได้ยินสุภาษิตอยู่บ่อยๆ ว่า “จงทำดี แต่อย่าเด่น จะเป็นภัย ไม่มีใคร อยากเห็นเราเด่นเกิน” ค่านิยมเช่นนี้ส่งผลให้ระบบราชการขาดความคิดใหม่ๆ มีความล้าหลัง และขาดความโปร่งใส

ข้าราชการชั้นผู้น้อยบางคนหวังดีต่อองค์กร เมื่อถูกสะกิดความคิดบ่อยครั้งเข้า เขาอาจจะกลายเป็นผู้ทำงานตามคำสั่งย่อมปลอดภัยที่สุด ผลที่เกิดขึ้นคือ ทำให้ราชการขาดความคิดสร้างสรรค์ สิ่งเหล่านี้ทำให้บรรยากาศการใช้ “ความคิด” ในการต่อสู้เพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้า เพื่อโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า หรือความมีเกียรตินั้นไม่ได้รับการสนับสนุน ซึ่งนับว่าเป็นอุปสรรคสำคัญทำให้คนพึ่งพิงพวกพ้องมากกว่าพึ่งพิงความสามารถในการคิด

ค่านิยมไตรภาวะ : ค่านิยมนี้มีลักษณะที่ “กด” คนไม่ให้โดดเด่นขึ้นมาในสังคมได้ หากคนนั้นมีความคิดที่ขัดแย้ง ขัดผลประโยชน์บางส่วนของตนหรือพวก และหากคนนั้นผ่านพ้นขั้น “กด” ขึ้นมาได้ จะผันเข้าสู่ภาวะ “ลองของ” คือ เริ่มมีโอกาสแสดงฝีมือมากขึ้น แต่สังคมจะตั้งคำถามและข้อสงสัยเสมอว่า “จะไปได้สักกี่น้ำ เก่งจริงหรือ” เป็นต้น และถ้าหากยังสามารถผ่านไปได้อีกก็จะก้าวสู่ภาวะ ใช้ประโยชน์ คือมีคนเข้าร่วมเป็นพวก แอบอิงใช้ประโยชน์ร่วมด้วยมากมาย ซึ่งหากผ่านพ้นมาได้ถึงขั้นนี้ จะพูดหรือทำในสิ่งใดย่อมจะเป็นที่ยอมรับและสร้างอิทธิพลได้ง่าย แต่มักพบว่าคนส่วนใหญ่ไม่สามารถผ่านพ้นตั้งแต่ภาวะแรกของการ “กด” ได้

ค่านิยมนี้ปิดกั้นโอกาสทุกคน ที่จะก้าวขึ้นมาสมัครทำสิ่งดีๆ ในสังคม คนที่เป็นคนที่มีความสามารถแต่ขาดฐานที่สนับสนุนที่เพียงพอในสังคม ทำให้ไม่มีโอกาสทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ตามความรู้ ศักยภาพ ความสามารถที่มี เพราะไม่มีเวทีให้แสดง ซ้ำบางรายยังถูกเหยียบย่ำให้รับสภาพที่แย่ลงไปอีก ทำให้โอกาสในสังคมสำหรับคนเหล่านี้ยิ่งน้อยลงไปอีก เพราะอิทธิพลมืดในการพยายาม “กด” คนในสังคมไทยครอบไว้

“ค่านิยมชอบเรื่องโชค รวยทางลัด งานหนักไม่เอาเบาไม่สู้” : สังคมไทยในวันนี้มีปัญหาเรื่องกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม (Paradigm) ต้นตอของความถดถอยทางเศรษฐกิจของไทย ไม่ได้มาจากปัญหาด้านเทคนิคทางเศรษฐกิจเท่านั้น ส่วนหนึ่งที่สำคัญ มาจาก “วิธีคิด” ของเรา เช่น ชอบรวยทางลัด การเก็งกำไร การมีความหวังลมๆ แล้งๆ การไม่ใช้เหตุผล ไม่ทำการศึกษาความเป็นไปได้ก่อน เห็นใครทำอะไรทำตาม นี่คือความอ่อนแอทางสังคมไทย อันเกิดจากการไม่ใช้ “ปัญญา” เป็นตัวนำ มักจะเกิดปัญหา เพราะคนพึ่งโชคลาภ ฝากความหวังไว้กับสิ่งง่ายๆ จนเป็นเหตุให้นักการตลาดใช้กลยุทธ์ในการหลอกคนไทยให้ซื้อของได้ง่ายที่สุด คือ ชิงโชค คนซื้อหวังจะได้โชค ถูกหวย รวยไป

การมีค่านิยมเช่นนี้ จะทำให้คนไม่เห็นความสำคัญของ “การคิด” แต่จะชอบเสี่ยงโชคแบบไม่ต้องลงแรง การพร้อมที่จะช่วยสร้างบรรยากาศทางความคิดจึงมีส่วนน้อยตามไปด้วย

สังคมชอบใช้ “กล้ามเนื้อ” ไม่ชอบใช้ “กล้ามสมอง” : ลองคิดดูว่าสังคมไทยให้คุณค่าสิ่งใดได้มากกว่ากัน นางงามจักรวาล หรือนักคณิตศาสตร์โอลิมปิก, ละครโทรทัศน์ หรือหนังสือ, นักมวย หรือนักวิทยาศาสตร์, นักร้อง นักแสดง หรือนักวิชาการ, นักบันเทิงคดี หรือสารคดี, เงินตรา อำนาจ ยศถา หรือปัญญา
คงไม่ต้องตอบก็น่าจะทราบกันดีว่าคนในสังคมสนใจสิ่งใดมากกว่ากัน… เรื่องที่สังคมไทยให้คุณค่ากลับไม่ใช่การให้คุณค่าทาง “ปัญญา” มากนัก จะเห็นได้จากการประโคมข่าวผ่านสื่อมวลชนทุกรูปแบบวันแล้ววันเล่า คืนแล้วคืนเล่า จนกว่าจะมีการประกวดเสร็จ ขณะที่เด็กนักเรียนไทยเข้าระดมสมอง แข่งขันคณิตศาสตร์ชีวะ ฟิสิกส์ โอลิมปิกระดับโลก และได้รางวัลเหรียญทอง กลับได้รับความสนใจต่างกัน แม้กระทั่งการเสนอข่าวของสื่อมวลชน ประชาชนอาจไม่ต้องตาม เพราะไม่รู้ไม่สนใจไม่ตามข่าวอยู่แล้ว การให้ข่าวจะเป็นเพียงสื่อ
มีกรอบเล็กๆ หรือออกทีวีแป๊บเดียว ไม่น่าสนใจ

พูดเจ็บๆ ว่าคนในสังคมชอบใช้ “กล้ามเนื้อ” มากกว่าใช้ “กล้ามสมอง” ให้คุณค่าการออกแรง ความงาม พลังความสามารถร่างกาย มากกว่า “สมอง” สังคมไทยให้คุณค่าแก่สิ่งเหล่านี้ ละเลยคุณค่าทาง “ปัญญา” คุณค่าทางความรู้ ไม่ให้เกียรติคนมีปัญญา แต่ไปให้เกียรติคนมีตำแหน่งใหญ่ ให้เกียรติคนมีเงินมาก ย่อมส่งผลร้ายต่อคนรุ่นใหม่ที่จะตามมา เพราะพวกเขาจะไม่ให้คุณค่าการพัฒนาด้านความคิด จะส่งผลให้เกิดวิกฤตทางปัญญาแก่สังคมไทยรุ่นหลัง ภายใต้ที่กำลังเคลื่อนด้วยพลังแห่งความรู้ พลังแห่งปัญญา

ผู้เขียนเกือบลืมค่านิยมที่ได้เห็น ได้ยิน ได้พบบ่อยๆ ที่ฟังจากสังคมไทยมานานมี 2 อย่าง คือ ค่านิยมการศึกษาแบบนกแก้วนกขุนทอง ค่านิยมการศึกษาแบบเลียนแบบ และที่สำคัญคือ สังคมไทยมีความอ่อน
ด้อยทางวัฒนธรรมการคิด-การเขียน เพราะว่าคนส่วนใหญ่เน้นทาง “การฟัง การพูด” ทำให้เราขาดการ “คิด” และการ “เขียน” คนไทยจึงไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือเหมือนคนอังกฤษ คนญี่ปุ่น แต่ชอบดูละครทีวี ฟังรายการวิทยุ มักชอบท่องจำ และลอกเลียนแบบกันเป็นส่วนใหญ่

“ค่านิยม” ต่างๆ เหล่านี้ มีทั้งส่วนดีและก็มีทั้งส่วนเสีย อุปสรรคอาจจะมีบ้างในด้านการคิด เหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไข เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยทุกคนได้รับการเรียนรู้ “วิธีคิด” และมี “เสรีภาพ” ในการใช้ความคิด เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพมากที่สุดไงเล่าครับ

 

นพ.วิชัย เทียนถาวร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image